จับ6คนก๊วนยิงชรบ. ค้นปัตตานี-ยะลา19จุดพบผ้าพันแผล-เป้สนาม/คุมเข้มหาดใหญ่


เพิ่มเพื่อน    


    สนธิกำลัง 200 นายปูพรมค้นพื้นที่ต้องสงสัยปัตตานี-ยะลา 19 จุด รวบผู้ต้องสงสัยสังหารหมู่ ชรบ.ได้ 6 คน มีทั้งหมายจับและมีหมาย พ.ร.ก. เจอหลักฐานผ้าพันแผล เป้สนาม   คุมเข้ม 3 ด่านก่อนเข้าหาดใหญ่ 24 ชั่วโมง หวั่นก่อเหตุซ้ำรับลอยกระทง
    เมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 9 พ.ย. พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม ผบก.ภ.จ.ปัตตานี, พ.อ.คมกฤช รัตนฉายา ผู้บังคับการกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้, พ.อ.หาญพล เพชรม่วง ผบ.ฉก.ทพ.43 ได้ร่วมปล่อยกองกำลังร่วม จำนวน 200 นาย เข้าทำการตรวจค้นเป้าหมายต้องสงสัย จำนวน 6 จุด ในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี รอยต่อเขต อ.เมืองยะลา ซึ่งมีกองกำลังเจ้าหน้าที่ จ.ยะลา เข้าทำการตรวจค้นเช่นเดียวกัน จำนวน 13 จุด 
    การตรวจค้นครั้งนี้เป็นการขยายผลสอบปากคำจากผู้ต้องสงสัยจำนวน 2 รายที่ถูกควบคุมตัวมาก่อนหน้านี้ และจากพยานหลักฐานที่สำคัญ กรณีเหตุคนร้ายถล่มยิงป้อมจุดตรวจชุดคุ้มครอง ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จนทำให้มีชาวบ้านซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเสียชีวิตจำนวน 15 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 5 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา
    ผลการปฏิบัติครั้งนี้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 9 ราย ทำประวัติพบไม่เกี่ยวข้อง 3 ราย จึงได้ปล่อยกลับ คงเหลือควบคุมผู้ต้องสงสัย จำนวน 6 ราย พร้อมของกลางเป็นผ้าพันแผล เป้สนามจำนวนหนึ่ง จึงได้นำตัวทั้งหมดไปควบคุมตัวที่กองอำนวยการร่วมชั่วคราวภายใน วัดลำใหม่ อ.เมืองยะลา ซึ่งจากการตรวจสอบบุคคลต้องสงสัยทั้ง 6 คนนั้น ปรากฏว่าบางรายมีหมายจับและมีหมาย พ.ร.ก.
    การปฏิบัติครั้งนี้ พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม ผบก.ภ.จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า เป็นการเปิดแผนปฏิบัติการร่วมในการบังคับใช้กฎหมายตามนโยบายของ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในการเร่งติดตามจับกุมผู้ที่ร่วมก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งการปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการขยายผลจากผู้ต้องสงสัยที่ได้ให้การที่เป็นประโยชน์ ทำให้การตรวจค้นถือว่าเป็นเป้าหมายที่ความชัดเจน จนนำไปสู่การควบคุมตัว 6 ผู้ต้องสงสัยตามเป้า แต่ยังมีอีกบางส่วนที่เชื่อว่าน่าจะไหลตัวหลบหนีไปก่อนหน้านี้ เชื่อว่าคงหนีได้ไม่ไกลและไม่มีทางหลบหนีได้
    สำหรับผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวนั้น จากการตรวจสอบจากแฟ้มประวัติคดีความมั่นคง บางรายมีหมายจับและมีหมาย พ.ร.ก. ซึ่งกำลังตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้ง โดยเน้นย้ำในการใช้หลักการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อหาความเชื่อมโยงกับพยานหลักฐาน ทั้งอาวุธปืน ปลอกกระสุนปืน ผลเลือดของคนร้ายที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ
คุมเข้ม 3 ด่านก่อนเข้าหาดใหญ่
    อย่างไรก็ตาม การเปิดแผนครั้งนี้ยังคงมีต่อเนื่อง ซึ่งทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้กำชับให้ติดตามไล่ล่าคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่าได้เบาะแสคนร้ายที่ได้รับบาดเจ็บและกำลังหลบซ่อนตัวในพื้นที่ของเป้าหมายที่กำลังจะตรวจค้น โดยพบว่ามีแนวร่วมในพื้นที่เตรียมการที่จะเคลื่อนย้ายหลบหนีพร้อมกับคนอื่นๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการกระจายกำลังปิดล้อมพื้นที่ทั้งหมดแล้ว เตรียมเข้าจู่โจมอีกครั้ง เชื่อว่าน่าจะสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่มแน่นอน
    ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังตรวจเข้มบริเวณด่านตรวจด้านความมั่นคงขาเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ทั้ง 3 แห่งที่ถนนเพชรเกษม ถนนกาญจนวนิช และถนนนิพัทธ์สงเคราะห์ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ รับเทศกาลลอยกระทงและป้องกันการเข้ามาก่อเหตุความไม่สงบเชื่อมโยงกับเหตุความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังจากเกิดเหตุยิงถล่มจุดตรวจในพื้นที่ จ.ยะลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 คน
    นอกจากนี้ ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.สงขลา ได้ประสานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วยให้ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยพื้นที่เสี่ยงของ จ.สงขลาสูงสุด ทั้งเมืองเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว เช่น อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา และ อ.เมืองสงขลา รวมถึงในพื้นที่ 4 อำเภอชายแดนสงขลา โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการลอบทำร้ายจากกลุ่มก่อความไม่สงบ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่มีการเผยแพร่เอกสารที่เป็น จดหมาย ที่อ้างว่าเป็นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น ที่ออกมารับว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ถล่มป้อม ชรบ. จนทำให้มี ชรบ.เสียชีวิต 15 ราย และบาดเจ็บสาหัส 5 ราย โดยมีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของบีอาร์เอ็นได้ทำการตรวจสอบลักษณะจดหมายของการขึ้นต้นและเนื้อความแล้ว เชื่อว่าเป็นเอกสารที่มือที่สามเป็นผู้ทำขึ้น หรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ทำขึ้นเพื่อหวังผลในทางทำ "ไอโอ" และต้องการที่จะให้คนในพื้นที่เห็นถึงความโหดเหี้ยมของบีอาร์เอ็นที่กระทำต่อกองกำลังประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นพลเรือน
    มีการตั้งข้อสังเกตว่า บีอาร์เอ็นยังต้องการดำรงความเป็นองค์กรลับต่อไป โดยที่ไม่รับว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่ไม่ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ เพราะบีอาร์เอ็นยังไม่มีความพร้อมในการที่จะเปิดหน้าชนหรือเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะมวลชนของบีอาร์เอ็นยังไม่มากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เกิดขึ้น
    ถ้าจดหมายเป็นของบีอาร์เอ็นจริง ต้องมีต้นฉบับเป็นภาษารูมี และถูกแปลเป็นภาษาไทย แต่เอกสารที่มีการนำมาเผยแพร่เป็นภาษาไทย และลักษณะของเนื้อความมีความ "แปลกแปร่ง" ที่เป็นความพยายามเลียนแบบให้เหมือนกับจดหมายที่บีอาร์เอ็นเคยส่งในโซเชียลเพื่อสื่อสารถึงผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ท่าทีบีอาร์เอ็น
    มีการตั้งข้อสังเกตว่าจดหมายดังกล่าวเป็นการเผยแพร่ของ หน่วยงานบางหน่วยในพื้นที่ เพื่อทำไอโอให้บีอาร์เอ็นเป็นจำเลยของสังคม และต้องการทดสอบว่าบีอาร์เอ็นจะออกมาปฏิเสธหรือไม่ ซึ่งหากบีอาร์เอ็นไม่ออกมาปฏิเสธ ก็จะกลายเป็นจำเลยของสังคม และจะมีผลต่อคนในพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งยังไม่เชื่อว่าบีอาร์เอ็น เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของการสร้างความรุนแรงในพื้นที่ เพื่อที่จะได้ไม่ให้การสนับสนุนแนวร่วมของขบวนการ
    แต่อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจดหมายที่มีการเผยแพร่และอ้างว่าเป็นของบีอาร์เอ็น ที่ยอมรับว่าเป็นผู้สั่งการให้แนวร่วมในพื้นที่เป็นผู้โจมตีชุด ชรบ.จริง ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่บีอาร์เอ็นออกมายอมรับว่าได้สั่งการให้ปฏิบัติการต่อกำลังภาคประชาชนจริง แสดงให้เห็นว่าบีอาร์เอ็นพร้อมที่จะเปิดหน้าชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ และมีแผนในการปฏิบัติทั้งในพื้นที่และในสหประชาชาติ
    ในขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ โดยแหล่งข่าวความมั่นคงกล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไม่ได้ให้ความสำคัญแต่อย่างใด
    สำหรับการติดตามสืบหาแหล่งของคนร้ายหรือแนวร่วมที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับ ชรบ. ซึ่งเชื่อว่ามีผู้บาดเจ็บ 2-3 คน และหนึ่งในนั้นบาดเจ็บสาหัสมีการตัดไม้ทำเปลหามเพื่อไปรักษาพยาบาล ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ทหารพรานในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอของ จ.สงขลา ยังไม่พบร่องรอย เบาะแส หรือ แหล่งที่กบดานของคนเจ็บที่ถูกนำไปรักษาพยาบาลแต่อย่างใด
    วันเดียวกันนี้ นายอาซิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พร้อมด้วยนายศักดิ์กรียา บินแสละ ประธานกรรมการอิสลาม จ.สงขลา,  ดร.วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ ผอ.ศูนย์ประสานสำนักจุฬาราชมนตรีประจำภาคใต้ และนายซากีย์ พิทักษ์คุมพล รองเลขานุการจุฬาราชมนตรี ได้เดินทางไปยังวัดสิริปุณณาราม หรือวัดลำพะยา เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ยิงป้อม ชรบ.ลำพะยา  
    ในโอกาสนี้ จุฬาราชมนตรีได้มอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอีกด้วย จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังบ้านเลขที่ 17/9 หมู่ที่ 5 ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เพื่อไปเยี่ยมครอบครัวของนายซัมซามี สามะ ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมพูดคุยและมอบเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง ต่อมาได้เดินทางไปยัง รพ.ยะลา เพื่อเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่ยังพักรักษาตัวอีกจำนวน 4 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บอีก 1 รายนั้น แพทย์ได้ส่งตัวรักษาต่อที่ รพ.มอ.หาดใหญ่
ความรักความสามัคคี 
    นายอาซิสกล่าวถึงการเดินทางในครั้งนี้ว่า ต้องการเดินทางมาให้กำลังใจกับครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ ทั้งประชาชนชาวไทยพุทธและประชาชนชาวไทยมุสลิม ในชีวิตของคนเรา จากเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจ ยากเกินบรรยาย เชื่อว่าหลังจากเหตุการณ์นี้ โดยปกติแล้วจะมีความดีงาม ความสุขก็จะเข้ามา ขอให้ทุกคนได้อดทน เข้มแข็งไว้ ทุกครอบครัวต้องยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ อยู่ให้ได้ และความดีก็จะตามมา ทุกคนเป็นห่วงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
    นอกจากนี้ จุฬาราชมนตรียังได้อยากฝากถึงพี่น้องประชาชนด้วยว่า เราต้องอยู่ด้วยความเข้าใจ อยู่กันด้วยความรักความสามัคคี ในฐานะของเพื่อนร่วมชาติ และให้แสดงน้ำใจต่อกัน และเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะดีขึ้น
    ด้านนางสาวธิดารัตน์ ยอดแก้ว อายุ 24 ปี เปิดเผยว่า ดีใจ และขอบคุณที่จุฬาราชมนตรีเข้ามาเยี่ยมเยียน เห็นใจผู้ที่ถูกกระทำ ซึ่งตนเอง พ่อและแม่ต้องสูญเสียจากเหตุการณ์นี้ ขอบคุณอีกครั้งที่ท่านเข้ามาเยี่ยมเยียน ช่วยเหลือ ถึงไม่มากมาย อย่างน้อยก็ดีใจ ไม่ว่าศาสนาไหนก็มีความห่วงใยเอื้ออาทรต่อกัน การสูญเสียที่เกิดขึ้น ยิ่งกว่าความสูญเสีย ซึ่งพ่อและแม่เป็นหัวแรงหลักที่บ้าน ไม่รู้จะบอกยังไง ทำอะไรไม่ถูก ก็ต้องอยู่ให้ได้ ชุมชนลำพะยาที่ผ่านมาการอยู่ร่วมกันทั้งพุทธ มุสลิม อยู่ร่วมกันได้ดีเสมอมา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็ไม่รู้จริงๆ ว่าสาเหตุคืออะไร และตอนนี้ไม่สามารถแก้ไขอะไร ก็หวังภาครัฐช่วยเหลือ ช่วยดูแล
    พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่เพื่อนเยี่ยมครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 2 ครอบครัว คือครอบครัวนายธวัชชัย สุพงษ์ ซึ่งเสียชีวิตในการปะทะที่บ้านเลขที่ 58/2 หมู่ 6 ต.ลำพญา  มีบุตรจำนวน 4 คน และครอบครัวนายสุนทร ยอดแก้ว และนางรัชนี ยอดแก้ว  2 สามีภรรยา ซึ่งเสียชีวิตทั้ง 2 คน ที่บ้านเลขที่ 56/1 หมู่ 4 ต.ลำพญา ซึ่งครอบครัวนี้มีบุตร 3 คนด้วยกัน
    โดยเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า ตั้งใจที่จะลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยือนครอบครัวผู้สูญเสียทุกครอบครัว เบื้องต้นเป็นการให้กำลังใจแก่ทุกครอบครัวที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวอันเป็นที่รัก และเป็นการขอบคุณทุกท่านที่ได้สละชีวิตในการปกป้องชุมชน สังคม และบ้านเมืองของเรา 
โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ 
    เขากล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ตลอดเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้ใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถในการที่จะแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ร่วมกันทุกเชื้อชาติ ศาสนาทุกเผ่าพันธุ์ อยู่ร่วมกันในดินแดนแห่งนี้อย่างเป็นสุข แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากผู้เห็นต่างที่ใช้วิธีผิดๆ ที่ทำให้ใน 16 ปี ต้องสูญเสียพี่น้องร่วมชาติมากมาย รวมทั้งกลายเป็นภาระหน้าที่ของประชาชน และอาสาสมัครในการดูแลปกป้องพื้นที่ เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ และครั้งนี้ได้รับความสูญเสียถึง 15 ศพ บาดเจ็บอีก 5 ราย 
    "ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าหลังจากนี้การเสียชีวิตของทั้ง 15 รายจะไม่สูญเปล่า  วีรกรรมของทุกท่านจะเป็นที่จดจำของทุกคนในพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้และคนทั้งประเทศ และจะทำให้คนในพื้นที่หันหน้าเข้าหากัน ทำให้แผ่นดินเกิดสันติสุขในอนาคตข้างหน้า"
    พล.ร.ต.สมเกียรติกล่าวว่า สำหรับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ภาครัฐจะไม่มีการทอดทิ้ง นอกจากการจ่ายค่าเยียวยาเบื้องต้น 500,000 บาทแล้ว ยังต้องดูแลบุคคลในครอบครัวอย่างสุดความสามารถ เช่น การส่งเสริมสนับสนุนด้านอาชีพ การศึกษา ให้เขาสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว และมีที่ยืนในสังคมอย่างภาคภูมิใจ
    พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า การแก้ปัญหาในระยะยาวจะต้องนำวาระการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่พอเกิดเหตุแล้วใช้อารมณ์ เรามีกฎหมาย เรามีงบประมาณ เราทุ่มเทซื้ออาวุธไปจำนวนมาก ใช้งบประมาณเป็นหมื่นล้าน แต่บางทีเราอาจจะต้องใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา โดยให้ประชาชนทั้งพุทธและมุสลิมมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง โดยเฉพาะพี่น้องชาวพุทธ เพราะจู่ๆ เขาก็ถูกฆ่าตาย เราต้องนำปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาของทุกคน ผมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหา เพราะหากใช้กำลังความมั่นคงอย่างเดียว เขาเป็นข้าราชการ สุดท้ายเขาก็ออกไปจากพื้นที่ แต่ประชาชนยังต้องอยู่ในพื้นที่ เพราะเป็นบ้านของเขา
    ผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องแนวคิดการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ พ.ต.อ.ทวีตอบว่า หากถอนกำลังทหารออกไป พี่น้องชาวไทยพุทธก็จะอยู่กันอย่างหวาดระแวง แต่เราจะต้องจัดรูปแบบ เช่น ในพื้นที่ให้มีกำลังของตำรวจเป็นหลักและทหารคอยสนับสนุน ส่วนเรื่องกฎหมายพิเศษจะต้องไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น บางครั้งจะจับกุมคนร้าย แต่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ผมคิดว่ารูปแบบกฎหมายที่เหมาะสมก็คือให้นำกฎหมายพิเศษทั้งสามฉบับมาบูรณาการกัน ว่าเจ้าหน้าที่จะทำได้แค่ไหน และจะทำอย่างไรหากประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จะมีช่องทางให้เขาได้เข้าถึงความยุติธรรมตรงนี้เรื่องสำคัญ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"