แก้รัฐธรรมนูญน้ำลายท่วม 


เพิ่มเพื่อน    


    แก้รัฐธรรมนูญน้่ำลายยังท่วม พลังประชารัฐจับคู่ซดประชาธิปัตย์ "เทพไท" ด่า "สิระ" ส.ส.แดดเดียว หยามสมัยหน้าตก! "ชินวรณ์" แนะฝ่ายค้าน อยากตั้ง กมธ.เร็วๆ ทำไมไม่ถอนญัตติศึกษาผลกระทบตามมาตรา 44 ออกไป ขาใหญ่เพื่อไทยจ่อคิวนั่งเก้าอี้ กมธ. ขณะที่ ส.ว.บางส่วนไม่อยากมีส่วนร่วม
    เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการคัดเลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของพรรค พปชร. ว่าในส่วนของพรรคอยู่ระหว่างการติดต่อทาบทามบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมงาน ซึ่งมีทั้งคนในและนอกพรรค
    ส่วนตัวบุคคลที่จะเสนอเป็นประธาน กมธ.นั้น มีชื่อคนในพรรค เช่น นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง รวมทั้งบุคคลภายนอกที่ทาบทามไว้ หากได้ความชัดเจนจากบุคคลที่ทาบทามแล้ว พรรค พปชร.จะประชุมสรุปให้ชัดเจนว่าจะส่งใคร คาดว่าในช่วงสัปดาห์หน้าคงจะได้ความชัดเจน
    เขากล่าวว่า ขณะนี้มีการประสานงานเพื่อพูดคุยเรื่องการจัดตั้งกมธ.ดังกล่าวระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รองนายกรัฐมนตรี กับหัวหน้าและเลขาฯ พรรคร่วมรัฐบาล คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยจะดูช่วงเวลาที่เหมาะสมว่าจะเป็นวันใด เบื้องต้นอาจใช้ช่วงการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการในต้นสัปดาห์หน้า เพราะหัวหน้าและเลขาฯ พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่อยู่ในคณะรัฐมนตรีแล้ว หรืออาจจะหลังจากนั้น รอสรุปให้ชัดเจนก่อนว่าจะเป็นในวันใด เพื่อให้การพูดคุยและการตัดสินใจเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
    “คนที่มาเป็นประธาน ต้องควบคุมการประชุมและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของแต่ละพรรคได้ และคนนอกที่ทาบทามส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ พูดคุยกับ ส.ส.ได้ มีประสบการณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นคนกลาง ซึ่งถือว่าเหมาะสม” นายพุทธิพงษ์กล่าว
    ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องของรายชื่อเพราะยังมีเวลาในการพิจารณา และต้องมีการนำเสนอให้ที่ประชุมพรรค พปชร.ได้รับทราบด้วย ในขั้นนี้ยังเป็นเพียงการพูดคุยทาบทามขอความร่วมมือจากบุคคลต่างๆ ให้เข้ามาร่วมงานเท่านั้น ซึ่งบางรายชื่ออาจปรับเปลี่ยนได้ และคงมีการเปิดเผยในช่วงเวลาที่ใกล้จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาวาระในเรื่องดังกล่าว
    นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่ามีการเตะถ่วงญัตติคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นญัตติด่วน แต่อาจต้องไปพิจารณาในปลายเดือน พ.ย.ว่า เป็นการพูดแบบไม่มีความรับผิดชอบ เพราะการบรรจุระเบียบวาระก็เป็นไปตามข้อบังคับที่ประธานบรรจุไว้ เมื่อระเบียบวาระ ญัตติด่วนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ เลื่อนมาอยู่ในลำดับที่ 2 ในช่วงสมัยประชุมสภาที่ผ่านมา เมื่อเปิดสมัยประชุมมาใหม่ ญัตติดังกล่าวก็เป็นไปตามวาระ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 
    "ในการประชุมสภาสัปดาห์หน้าก็ต้องพิจารณาตามวาระ หากมีวาระเพื่อทราบค้างอยู่ก็ต้องพิจารณา และถ้ามีเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ก็ต้องนำมาพิจารณาก่อน ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับที่ต้องพิจารณาและนำข้อเสนอส่งต่อไปยังรัฐบาล หลังจากนั้นก็เข้าสู่ญัตติด่วนที่ 2 คือตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 ซึ่งในญัตติดังกล่าวก็เสนอเข้ามา 6 ญัตติ ก็มีของพรรคเพื่อไทยด้วย ซึ่งจำเห็นว่าไม่มีใครเตะถ่วง ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบวาระ"
แนะฝ่ายค้านถอดญัตติ ม.44
    รองประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า หากต้องการจะให้พิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ทำไมไม่ถอนญัตติศึกษาผลกระทบตามมาตรา 44 ออกไป อย่างไรก็ตามหากการอภิปรายในสภาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว การพิจารณาญัตติศึกษาแก้รัฐธรรมนูญอาจเป็นสัปดาห์หน้าก็ได้ถ้าทุกฝ่ายเร่งรัดการอภิปราย แต่ถ้าทุกฝ่ายยังอภิปรายกันมาก ก็ต้องรอไปตามระเบียบวาระ
    นายชินวรณ์กล่าวด้วยว่า สำหรับการประชุมวิปรัฐบาล ประธานวิปรัฐบาได้นัดประชุมในวันที่ 13 พ.ย.นี้ที่รัฐสภา เพื่อให้แต่ละพรรคมารายงานเรื่องการประชุมวิปรัฐบาลครั้งที่แล้วมอบหมายให้ไปพูดคุยกันในแต่ละพรรค เกี่ยวกับการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ตกผลึก รวมถึงข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าแต่ละพรรคคิดเห็นอย่างไร
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่าตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ อยู่ที่การโหวตเลือกของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งต้องให้เกียรติทุกท่าน รายชื่อที่ปรากฏเป็นข่าวนั้นเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ส่วนจะเหมาะสมกับตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ หรือไม่นั้น ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน สำหรับตนแล้วนายสุชาติมีความเหมาะสม 
    นอกจากนั้น ตนมองว่าเนื้อหาสาระในการศึกษารัฐธรรมนูญมีความสำคัญกว่าใครจะมานั่งเป็นประธานกรรมาธิการฯ และที่สำคัญคือ ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้างกับเรื่องนี้ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงประชาชน 16.7 ล้านเสียงที่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม วิปรัฐบาลจะต้องมีการหารือกัน ซึ่งตนเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถทำความเข้าใจกันได้
        นายธนกรเผยว่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐได้มีการหารือกันบ้างแล้ว แต่จะต้องมีการหารือในที่ประชุมพรรคอีกครั้ง แต่อยากจะฝากไปยังทุกพรรคการเมืองให้ระมัดระวังสิ่งที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีกด้วย เพราะเท่าที่ทราบ กำลังมีความพยายามจากบางกลุ่มการเมืองที่จะออกมาเคลื่อนไหวบนถนนอีก มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ขอให้เลิกเถอะ เพราะบ้านเมืองมาไกลแล้ว 
    "ขอบอกไว้เลยว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่หัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่งตกที่นั่งลำบากนั้นไม่ได้เกิดจากใคร แต่เกิดจากตัวของท่านเอง กรรมใครกรรมมัน ใครทำอะไรไว้ก็ต้องรับกรรมที่ก่อไว้ อย่าโยนให้ใครเลย อย่าไปโทษใครเลย" นายธนกรกล่าว
    ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองแรกที่ชูธงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล จนนำไปสู่การกำหนดไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล มีหลักการคิดเพื่อประโยชน์ของประเทศ เพื่อระบบประชาธิปไตยที่ดีขึ้น มีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้น และล่าสุดมติที่ประชุม ส.ส.ก็ชัดเจนว่าสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ และพร้อมสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว  
    แต่เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ มติที่ประชุม ส.ส.ก็ให้วิปของพรรคไปพูดคุยกับวิปรัฐบาล พรรคร่วม และพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อได้ข้อหารือความเห็นพ้องต้องกันว่าทุกพรรคการเมืองจะมีแนวทางอย่างไร ผลเป็นเช่นใด วันอังคารที่จะถึงนี้ก็จะมีการกลับมารายงาน ก็ว่ากันไปตามมติที่ประชุม ส.ส.พรรค มีกลไกเหล่านี้อยู่ ท้ายที่สุดก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภา
ฟัดกันเละ ส.ส.แดดเดียว
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์  กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ถึงกรณีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ระบุพาดพิงถึงตนและพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้รับความเสียหายว่า การที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ส่งสัญญาณถึงพรรคพลังประชารัฐเพื่อไม่ให้ขัดขวางนายอภิสิทธิ์ในการเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ก็เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ให้เป็นเรื่องของรัฐสภา ดังนั้นการที่นายสิระออกมาปฏิเสธว่า พรรคพลังประชารัฐไม่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์คือหัวหน้าพรรคตัวจริงของพรรคพลังประชารัฐ แม้แต่ชื่อพรรคพลังประชารัฐก็มาจากโครงการประชารัฐของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และที่พรรคพลังประชารัฐได้รับเลือกตั้ง ส.ส.เข้ามาจำนวนมาก ก็เพราะการแจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ซึ่งเปรียบเสมือนการซื้อเสียงล่วงหน้าของรัฐบาล 
    เขากล่าวว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ในตอนนี้ก็เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นผู้เสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐ เพราะฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์คือหัวหน้าพรรคตัวจริงของพรรคพลังประชารัฐ การที่ตนสัมภาษณ์ถึง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นการแสดงความเห็นทางการเมือง เป็นเรื่องของผู้ใหญ่คุยกัน เด็กๆ อย่างนายสิระก็ไม่ควรมายุ่งเกี่ยว  เหมือนกับการที่แม่ทัพนายกองเขาเจรจากัน ทหารเลวหน้าค่ายไม่ควรมาสอดรู้สอดเห็นหรือจัดการงานนอกสั่ง
    “คุณสิระไม่จำเป็นต้องมาสอนมารยาททางการเมืองกับผม เพราะผมเป็น ส.ส.มาหลายสมัย ซึ่งต่างกับคุณสิระที่เป็น ส.ส.สมัยแรก และไม่แน่ใจว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้เข้ามาในสภาอีกหรือไม่ คุณก็เป็นได้แค่ ส.ส.แดดเดียว ที่อาศัยใบบุญของ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาในสภา อยากจะบอกคุณสิระว่า เอาเวลาไปเตรียมตัวแก้ข้อกล่าวหาที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นต่อ ป.ป.ช.กรณีที่ไปมีพฤติกรรมกร่างใส่ตำรวจที่ภูเก็ต และเตรียมตัวขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะดีกว่า"
    นายเทพไทกล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคการเมืองที่ได้คืบจะเอาศอกตามที่ถูกกล่าวหา การเป็นประธานสภาฯ ของนายชวน หลีกภัย ก็เพราะความเห็นพ้องของทุกฝ่าย และเป็นการทำหน้าที่ได้ดีที่สุด หากดูองค์ประกอบของ ส.ส.ในสภาชุดนี้ ที่มีความหลากหลายเช่นนี้ ถ้าประธานสภาฯ ไม่ใช่คนที่ชื่อชวน หลีกภัย ไม่รู้ว่าสภาชุดนี้จะวุ่นวายขนาดไหน 
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันจับตาดูพฤติกรรมของแต่ละพรรคการเมืองในการตั้งกรรมาธิการนี้ให้ดี เพื่อส่งเสียงเรียกร้องความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ให้สำเร็จ 
    "พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะสื่อสารถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องมีการแก้ไข โดยมีเจตนารมณ์ให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาของประเทศ คือปัญหาความไม่ปรองดอง จากโครงสร้างที่เขียนในรัฐธรรมนูญ และไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่ไปยึดโยงกับกลุ่มอำนาจ ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นไปเพื่อให้คนกลุ่มเล็กสามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ ขณะที่คนกลุ่มใหญ่ของประเทศกลับไม่มีสิทธิ์มีเสียง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเมื่อมีการผูกขาดอำนาจ นโยบายต่างๆ จึงเอื้อแค่กลุ่มทุนใหญ่ สิทธิของประชาชน คนตัวเล็กที่จะเกิดโอกาสในการทำมาหากิน จึงถูกปิดกั้น การกระจายอำนาจลดน้อยลง ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจในลักษณะเช่นนี้เป็นเสมือนการรวมศูนย์ทุน จึงทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำอย่างที่เห็น" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ขาใหญ่ พท.จ่อคิวเพียบ
    นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการเสนอชื่อประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนของพรรคแกนนำรัฐบาล แต่ต้องเป็นบุคคลที่สังคมยอมรับ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญต้องอาศัยความร่วมมืออย่างกว้างขวาง ส่วนกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้หารือกันอย่างเป็นการ จะมีการพูดคุยในสัปดาห์หน้าก่อนญัตติดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภา รวมถึงประเด็นว่าเราจะเสนอบุคคลไปชิงตำแหน่งประธานด้วยหรือไม่
         ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า สำหรับกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย จะเป็นมือกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถและทำงานร่วมกับพรรคมานาน รวมถึง ส.ส.ที่คอยประสานงานกับพรรคร่วมในสภา อาทิ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาฯ, นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ, นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม, นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย, นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม
    นายชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า ตามสัดส่วนแล้วพรรคอนาคตใหม่จะได้ประมาณ 6 คน เบื้องต้นนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เสนอตัวเข้าร่วมแล้ว 1 คน แต่อีก 5 คนที่เหลือพรรคยังไม่สรุปว่าจะเป็นใครบ้าง แต่เท่าที่ปรึกษากัน ก็คิดว่าคนนอกที่เข้าร่วมด้วย จะเป็นคนที่มาจากแวดวงที่ทำเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ อาจจะประมาณ 1-2 คน เพราะคนในพรรคเรามีคนที่เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญหลายคน 
         เมื่อถามว่าหากฝ่ายรัฐบาลเสนอชื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 2560 และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 นายชำนาญกล่าวว่า ก็คงสยองขวัญ แต่ประเด็นคือต้องเข้าใจว่าเกมเขาเป็นอย่างไร คือการพยายามจุดประเด็นเรื่องตำแหน่งประธาน กมธ.บ้าง จุดประเด็นเรื่องคนนอก จุดประเด็นเรื่องอดีต กมธ. หรืออดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเขาพยายามที่จะทำให้เห็นว่า เห็นไหมว่าแค่เริ่มต้นแก้รัฐธรรมนูญก็ยุ่งแล้ว ทั้งยังจะนำไปสู่การแตกความสามัคคี และนำไปสู่ความไม่สงบ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะตามเกมฝ่ายรัฐบาลไม่อยากแก้ไขรัธรรมนูญอยู่แล้ว เราต้องอย่าหลงทางว่าใครจะมาเป็นประธาน กมธ.
         ถามต่อว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะเข้ามาร่วมด้วยหรือไม่ นายชำนาญตอบว่า ถ้าหากว่าการคัดเลือก กมธ.มันยากนัก หรือแสดงออกถึงการกันท่าไม่ให้นายธนาธรเข้าร่วม พรรคอนาคตใหม่ก็อาจจะเสนอชื่อนายธนาธรเข้ามาก็ได้ 
    ส่วนประเด็นที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอ ส.ว. 6 คนให้เข้ามาร่วมในกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่แสดงความเห็นว่า ตนไม่เห็นด้วยต่อการมีคนจากสัดส่วนของรัฐบาล เพราะ กมธ.ชุดนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายงบประมาณ ตามปกติสัดส่วน กมธ.ฝ่ายค้านจะมากกว่าสัดส่วนฝ่ายรัฐบาลอยู่ 1 เสียง ในครั้งนี้คือฝ่ายค้าน 19 คน และฝ่ายรัฐบาล 18 คน แต่เมื่อนำเอาสัดส่วนรัฐบาลมาเพิ่ม ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควร และไม่เห็นด้วยหาก ส.ว.มาจากโควตาฝ่ายรัฐบาล แต่หากจะเข้ามาร่วมจริงๆ ก็น่าจะดี อย่างน้อยก็จะได้ฟังความเห็นกัน
    สำหรับท่าทีจากสมาชิกวุฒิสภานั้น พล.อ.เจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา ปฏิเสธการเข้าร่วมเป็น กมธ.ตามที่มีกระแสข่าวระบุว่า เนื่องจากมองว่าเป็นประเด็นที่สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาเองฐานะผู้ที่เสนอญัตติ ขณะที่ส่วนตัวไม่ขอเข้าร่วม เนื่องจากยังไม่เห็นประเด็นหรือความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วน ส.ว.คนอื่นจะตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่นั้น เป็นดุลยพินิจของ ส.ว.แต่ละคน ทั้งนี้ หากการเข้าร่วมของ ส.ว.จะเกิดขึ้นจริง อาจต้องพิจารณาถึงระเบียบและข้อบังคับสำหรับการทำงานด้วย
แพ้เลือกตั้งอยากแก้มือ
      “ผมมองว่าเรื่องนี้ ส.ว.ไม่ควรเข้าไปร่วม เพราะเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร และที่ผมปฏิเสธไม่ใช่เพราะรังเกียจการทำงานร่วมกับ ส.ส. แต่การทำงานของแต่ละสภา ควรแยกออกจากกัน เรื่องนี้ ส.ส.ต้องการแก้ไข ควรให้สภาเป็นผู้พิจารณา”
         พล.อ.สมเจตน์กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่สภาจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น และให้ทุกฝ่ายยอมรับ ส่วนตัวเห็นว่า ต้องชี้ให้สังคมเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะให้สังคมได้ประโยชน์อย่างไร หรือแก้ไขในประเด็นใดเพื่อขจัดปัญหา รวมถึงแก้ไขแล้วมีผลดีอย่างไรต่อขบวนการประชาธิปไตย หากสภาตอบโจทย์ดังกล่าวได้
       “ผมเชื่อว่าสังคมจะให้การยอมรับ ส่วนการพิจารณาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ใน กมธ.ที่สภาเตรียมพิจารณานั้น ผมไม่ขอให้ความเห็น เพราะอาจถูกมองว่าก้าวล่วงการทำงาน ดังนั้นเป็นเรื่องของสภาที่ต้องพิจารณาเอง” พล.อ.เจตน์กล่าว
    ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภาและอดีตรองประธานสนช. กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าวันนี้ ส.ส.กำลังเถียงกันว่าจะตั้ง    กมธ.มาศึกษาช่องทางวิธีการแก้รัฐธรรมนูเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นบอกว่าจะแก้ประเด็นใดบ้าง จึงไม่อยากให้สังคมมองว่า ส.ว.จะตั้งธงค้านทุกเรื่อง จะแตะอะไรไม่ได้เลย หรือมองว่า ส.ว.นั้นสั่งได้ไปเสียทั้งหมด เพราะเป็นเเค่การศึกษา ยังไม่ได้บอกว่าจะเเก้ประเด็นไหน เชื่อว่า ส.ว.เเต่ละคนรอฟังเสียงชาวบ้านอยู่เเล้ว หากกระเเสสังคมเห็นไปทางใด ส.ว.คงเคารพและนำมาพิจารณา ตนอยากให้เรื่องนี้เป็นความเห็นร่วมกันของทุกฝ่าย คำนึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นตัวตั้ง
    นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ถ้าจะว่ากันแบบตรงไปตรงมา ไม่เอาการเมืองเข้ามายุ่ง จะเห็นว่าไม่มีประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ มีแต่นักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น ตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา 6 เดือนกว่า ไม่มีประเด็นใดเป็นอุปสรรคประเทศ คนที่อยากแก้รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เป็นพวกดัดจริตทางการเมืองคือ 1.พวกแพ้การเลือกตั้งอยากแก้มือ 2.พวกกระสันอำนาจ อยากมีอำนาจ สองพวกนี้ทำอะไรก็ได้ที่จะสั่นคลอนสถานการณ์บ้านเมือง รอไม่ไหวกับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 
    ที่สำคัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นความเห็นพ้องของทุกฝ่ายการเมืองและฝ่ายประชาชน ควรหารือกันในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ใช่เกิดจากสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายเดียวแล้วดึง ส.ว.ไปเป็นกรรมาธิการ เป็นเรื่องประหลาดมาก ปกติแต่ละสภาก็เป็นเรื่องแต่ละสภา ไม่ดึงคนแต่ละสภามาเป็นกรรมาธิการ หาก ส.ว.ตั้งคณะกรรมาธิการแล้วดึง ส.ส.มาเป็นกรรมาธิการจะแปลกไหม ข่าวที่เกิดขึ้นจึงแปลกใจว่ามีใครกำลังทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่  เรื่องนี้ กมธ.พัฒนาการเมืองวุฒิสภาได้ติดตามศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตลอดแบบไม่มีอคติ ซุ่มทำแบบเงียบๆ มานาน มีความรุดหน้าไปมากแล้ว แต่ไม่ต้องการสร้างประเด็น บอกได้เลยว่าทำเพื่อบ้านเมืองมากกว่าเล่นการเมือง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"