ขบเหลี่ยมซ่อนปม กลเกมแก้รัฐธรรมนูญ กลิ่นอายขัดแย้งรอบใหม่


เพิ่มเพื่อน    

        ขอแสดงความเสียใจต่อญาติมิตร ครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามบุกยิงถล่มป้อมจุดตรวจชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่บ้านทุ่งสะเดา ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย ที่เป็นทั้งพี่น้องชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม เมื่อคืนวันที่ 5 พ.ย.62 แม้ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พอรู้เบาะแส กำลังเร่งตรวจสอบ สืบหาคนร้าย ลากตัวมาลงโทษ ก็ขอให้ได้ตัวคนร้ายมาลงโทษโดยเร็ววัน และขอประณามต่อการกระทำของกลุ่มคนร้าย ที่ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใด กลุ่มใด ที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ไม่อยากเห็นความสงบเกิดขึ้นในประเทศไทย

        เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์เลวร้ายในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบหลายปี สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างมาก หันกลับมามองเรื่องราวการเมืองในประเทศก็ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวความวุ่นวาย ระหว่างซีกรัฐบาลกับซีกพรรคฝ่ายค้าน ที่จับจ้องเอาผิด กันตาต่อตาฟันต่อฟัน

        พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย มีมติเอกฉันท์ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างแน่นอน เพียงแต่ยังไม่ระบุถึงตัวบุคคล หากไม่นับนายกรัฐมนตรีที่จะโดนจองกฐินแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ส่วนรัฐมนตรีคนใด จำนวนกี่คน ยังไม่มีการระบุออกมา

        พรรคร่วมฝ่ายค้านยังอุบไต๋ มีเพียงคำขู่ออกมา มีข้อมูลเด็ด มีหลักฐานเชื่อมโยงที่น่าจะเชื่อได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมทั้งกางปฏิทิน ล็อกเวลาเอาไว้ล่วงหน้า 18-19-20 ธ.ค. คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการซักฟอกรัฐบาล คงได้แต่ตามดู ข้อมูล หลักฐาน ที่เริ่มออกมาโหมโรงกัน จะเป็นไม้เด็ด-หมัดน็อกรัฐบาลประยุทธ์ หรือสุดท้ายเป็นแค่เวทีตีกินทางการเมืองเท่านั้น 

        เรื่อง "ศึกซักฟอกรัฐบาล" ยังต้องตามรอดูกันต่อไป แต่ในห้วงเวลานี้ที่บางพรรคการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคซีกฝ่ายค้าน 7 พรรค มองเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำโดยเร็วคือ เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มองว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประเทศ

        ญัตติด่วนที่พรรคการเมืองและ ส.ส.ที่อยากเห็น "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ที่จะเสนอสภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ถูกเลื่อนไปพิจารณาเป็นสัปดาห์หน้า และตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกำลัง ห้ำหั่นโดยคนจากขั้วเดียวกัน เห็นไม่ตรงกัน พรรคประชาธิปัตย์ได้ข้อสรุปดัน มาร์ค-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว พรรคพลังประชารัฐกำลังควานหาตัว หลังจาก สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ไม่รับตำแหน่ง ขอทำหน้าที่เพียงตำแหน่งรองประธานสภาฯ เพียงอย่างเดียว ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องเร่งหาแคนดิเดตคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่

        งานนี้ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ยอมกันไม่ได้ แม้คณะกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีวาระการทำงาน 45-60 วันเท่านั้น แต่ตำแหน่งประธานถือเป็นหนึ่งในคีย์แมนสำคัญในระหว่างศึกษา เพราะเป็นผู้กำหนดเกม กำหนดวาระ ซึ่งถ้าได้คนที่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมากๆ อาจจะมีมติผลักดัน จุดพลุทำให้เกิดกระแสสังคมคล้อยตามต่อ การแก้ไขทั้งฉบับ โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาร่วมร่าง ในทางตรงกันข้าม หากเป็นซีกที่อยากจะแก้เป็นพิธี ก็อาจจะได้ข้อสรุปออกมา จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงบางมาตราที่เอื้อให้ตัวเองทำงานคล่องตัวขึ้น

        ในส่วนของพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน รอดูสถานการณ์ ในใจลึกๆ อยากเห็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการ แม้ที่ผ่านมาจะมีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน แต่สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ไปในทิศทางเดียวกัน มองประชาธิปัตย์กับอภิสิทธิ์เป็นแนวร่วมมุมกลับอภิสิทธิ์นั้นชัดเจน ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อนทำประชามติ ก่อนการเลือกตั้งไม่นาน ยังมาตอกย้ำให้เห็นถึง ข้อเสียรัฐธรรมนูญ ประกาศเลิกเกรงใจ ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ซึ่งในแง่หลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญตรงกัน ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ต่างรู้ไส้รู้พุงกันดี เพื่อไทยบอกไม่ยึดติดตัวบุคคล เป็นใครก็ได้ หากเป็นในซีกอภิสิทธิ์ ไม่ว่าจะส่งใครมา ล้วนเป็นคนที่ไม่เอารัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งสิ้น

        เพื่อไทยรอเพียงผสมโรง เตรียมชงมือกฎหมายระดับเซียนเข้าไปทำหน้าที่เป็น กรรมาธิการวิสามัญ เงื่อนปมรัฐธรรมนูญที่เขียนล็อก ที่ทำให้นักการเมือง พรรคการเมือง แทบขยับทำอะไรไม่ได้

        พรรคเพื่อไทยระบุชัด รัฐธรรมนูญหมวด 1-2 จะไม่มีการแก้ไขอย่างเด็ดขาด แต่เรื่องที่จะแก้ไข มีทั้งการให้อำนาจ ส.ว.มากเกินขอบเขต ที่อาจจะมีการแก้ไขห้ามเข้าไปร่วมโหวตนายกฯ การให้อำนาจองค์กรอิสระบางองค์กรที่ให้ไว้มากเกินไป การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ระบบเลือกตั้งใบเดียว การนับคะแนน ล้วนอยู่ในขอบเขตที่เพื่อไทยเพ่งเล็งให้ความสำคัญ

        พรรคอนาคตใหม่ เป้าหมาย สิ่งที่อยู่ในใจ ติดในใจอนาคตใหม่มาตลอดคือ มรดก คสช. ประกาศคำสั่งต่างๆ ไปจนถึงยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 279 ที่ให้ความคุ้มกันบรรดาประกาศและการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ยังไม่นับรวมเรื่องราวเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ทางทหาร สภากลาโหม ล้วนเป็นเรื่องท้าทายสำหรับอนาคตใหม่ที่จะเข้าไปแตะทั้งสิ้น

        เวลานี้เพื่อไทย อนาคตใหม่ มองประชาธิปัตย์เป็นแนวร่วมมุมกลับ สมานฉันท์ทางความคิด รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องถูกแก้ไข เพียงแต่รูปแบบ วิธีการอาจแตกต่างออกไป เพื่อไทย อนาคตใหม่ เห็นตรงกัน ต้องปลดล็อก 256 เปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ นำมาสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อให้เกิดการแก้ไขทั้งฉบับให้ได้ก่อน ในส่วนของประชาธิปัตย์ดูจะเน้นไปที่แก้ไขรายมาตรา มุมติดขัดที่เกี่ยวกับนักการเมือง พรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง มองปัญหาไม่แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย

        ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ว่ากันว่าอยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพียงแต่อาจจะแก้ไขเพียงเป็นพิธีไม่กี่มาตรา เพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น ให้ลดแรงเสียดทานทางสังคมลงไปบ้างเท่านั้น

        อย่างไรก็ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญจากโมเดลความคิดเพื่อไทย อนาคตใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่อยากให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ โดยมี ส.ส.ร.เข้ามา สาระสำคัญของมาตรา 256 ที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลายขั้นตอนตั้งแต่ การขอแก้ไขเพิ่มเติม การออกเสียงลงคะแนนในวาระหนึ่ง รับหลักการ การพิจารณา วาระสอง และการออกเสียงในวาระสาม ล้วนต้องอาศัยเสียง ส.ว. 1 ใน 3 เข้ามาร่วมโหวตด้วย ซึ่งการทำงานในอดีต การโหวตเลือกนายกฯ ส.ว.ทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีใครแตกแถว การที่ ส.ส.หวังพึ่งเสียง ส.ว.เข้ามาร่วมโหวตในทางเดียวกัน จึงเป็นเรื่องยาก ไม่ต่างอะไรจากการเข็นครกขึ้นภูเขา

        ขณะที่ นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า บางฝ่ายคิดเพียงการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงบางปม แต่บางฝ่ายแก้ไขเพิ่มเติมให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างฯ ฉบับใหม่ การทำรัฐธรรมนูญใหม่นี้จะเป็นการย้อนกลับไปนับหนึ่งใหม่ สังคมอาจมีปัญหา หากจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะฉบับปัจจุบันกว่าจะเสร็จสิ้นผ่านการรณรงค์และสอบถามประชาชนและใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย

        การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไทย อนาคตวางเป้าต้องรื้อใหม่หมด โดยไม่แตะหมวด 1-2 พลังประชารัฐ แม้จะแก้ไข ก็จะแก้ไขเป็นพิธี เพื่อลดแรงเสียดทานทางสังคม ประชาธิปัตย์มุ่งเป้าแก้ไขรายมาตรา ที่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงาน 

        นาทีนี้เพียงแค่ตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเกมวัดพลังในชั้นแรก ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย อนาคตใหม่ ไม่ติดใจหากอภิสิทธิ์จะมาคุมเกมนี้ ส่วนพลังประชารัฐแว่วเสียงเล็งไปที่คนนอก เซียนกฎหมายมีชื่อเสียงระดับประเทศ ที่กำลังเร่งทาบทาม ไม่ยอมเสียเหลี่ยม ยกตำแหน่งนี้ที่มีความสำคัญยิ่งไปให้คนจากพรรคอื่น เหมือนที่เคยเสียตำแหน่งประธานสภาฯ ไป

        การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ได้เริ่มต้น ยังไม่รู้พอมีคณะกรรมการวิสามัญฯ เข้าไปศึกษา จะแก้เงื่อนปม มาตราใดบ้าง เพราะแต่ละฝ่ายก็มีธงชัด

        แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เพียงแค่ตำแหน่งประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังแย่งชิงตำแหน่ง ผลักดันคนของตัวเองเข้าไปเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ทางการเมือง ยังไม่ทันนับหนึ่ง เดินหน้าว่าด้วยเรื่องที่จะแก้ไข ก็สัมผัสถึงความวุ่นวาย ความขัดแย้งเสียแล้ว.

                                                                                     ทีมข่าวการเมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"