ฟัน‘2บิ๊กซิโน-ไทย’เซ่นสินบน


เพิ่มเพื่อน    

  “ป.ป.ช.” ลงดาบสินบนข้ามชาติโรงไฟฟ้าขนอมแล้ว ชี้เรียกรับสินบน 20 ล้านบาท โดย 4 จนท.รัฐร่วมมือ ทั้ง “กรมเจ้าท่า-เทศมนตรี-ผู้ใหญ่บ้าน-ตำรวจน้ำ” ซ้ำร้าย “ซิโน-ไทยฯ” และ 2 บิ๊กผู้บริหารให้ท้าย ส่งอัยการสูงสุดฟันอาญา 7 ราย “เลขาธิการองค์กรต้านโกง” ยกนิ้วให้ แนะควรขึ้นแบล็กลิสต์

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ที่ประชุมได้มีมติชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐ 4 ราย กรณีร่วมกันเรียกรับเงิน 20 ล้านบาทจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ที่รับว่าจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้า ตลอดจนให้เรือลำเลียงเข้าเทียบท่าเพื่อขนถ่ายชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยไม่ชอบ รวมทั้งชี้มูลความผิดบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอีก 2 ราย ในฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งสี่รายในการกระทำความผิดดังกล่าว 
นายวรวิทย์แถลงต่อว่า การไต่สวนคดีนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือน พ.ย.2560 โดยรวบรวมพยานหลักฐานทั้งจากภายในและต่างประเทศ ซึ่งพบว่าเมื่อปี 2556 บริษัทค้าร่วม (Consortium) ประกอบด้วย บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นและบริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้รับว่าจ้างให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ อ.ขนอม ต่อมาในเดือน ก.พ.2558 เรือลำเลียง 3 ลำไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเทียบท่าได้ เนื่องจากมีขนาดใหญ่เกินกว่าท่าเทียบเรือ แต่เจ้าหน้าที่รัฐ 4 ราย ประกอบด้วย 1.นาวาโทสาธิต ชินวรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานครศรีธรรมราช 2.นายคณิน เมืองด้วง รองนายกเทศมนตรี ต.ท้องเนียน 3.นายอภิชาติ สวัสดิรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ต.ท้องเนียน และ 4.พ.ต.ท.สันติพงษ์ พันธ์สวัสดิ์ สารวัตรสถานีตำรวจน้ำ 4 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ ได้เรียกรับเงิน 20 ล้านบาทจากผู้แทนของบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด (Mitsubishi Hitachi Power Systems Ltd. : “MHPS”) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่มาปฏิบัติงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อแลกกับการอนุญาตให้เรือลำเลียงชิ้นส่วนอุปกรณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าสามารถเข้าเทียบท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้าได้ โดยผู้บริหาร MHPS ตัดสินใจจ่ายเงินสินบน 20 ล้านบาท เพราะหากขนส่งชิ้นส่วนเครื่องจักรหยุดชะงักจะทำให้การก่อสร้างไม่ทันกำหนดเวลาส่งมอบงาน บริษัท MHPS ต้องเสียค่าปรับตามสัญญาถึงวันละ 40 ล้านเยน หรือ 11 ล้านบาท 
นายวรวิทย์แถลงอีกว่า บริษัท ซิโน-ไทยฯ โดยผู้บริหารระดับสูง 2 ราย คือ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ และนายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการ ได้ให้ความช่วยเหลือในการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีการจัดทำสัญญาที่ไม่มีการจ้างงานจริง เพื่อให้บริษัท ซิโน-ไทยฯ จัดเตรียมสินบนเป็นเงินสด 20 ล้านบาท และมีการมอบเงินสินบนให้ผู้แทนบริษัทญี่ปุ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ซิโน-ไทยฯ เพื่อให้ขนเงินไปยังพื้นที่ อ.ขนอม และส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 4 ราย ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันเรือลำเลียงก็สามารถเทียบท่าและขนถ่ายชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ณ ท่าเทียบเรือชั่วคราวโรงไฟฟ้าขนอมได้ แม้ไม่มีการแก้ไขเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมเจ้าท่าแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วมีมติชี้มูลความผิด ประกอบด้วย 1.เจ้าหน้าที่รัฐ 4 ราย มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 โดยในรายนายคณินยังมีมูลเป็นความผิดอันเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งได้ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73 และส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐอีก 3 ราย มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และ 2.กลุ่มผู้สนับสนุนได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทยฯ นายภาคภูมิ และนายราเกส มีมูลความผิดทางอาญา ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
    “ป.ป.ช.มีมติให้ส่งรายงานสํานวนการไต่สวนและหลักฐาน รวมทั้งคําวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดําเนินคดีอาญาทั้ง 7 ราย และส่งไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐแล้วแต่กรณีต่อไป”
    สำหรับราคาหุ้นบริษัท ซิโน-ไทยฯ หรือ STEC ได้ร่วงลงอย่างหนัก หลังจาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดดังกล่าว โดยหุ้นซิโน-ไทยปิดตลาดที่ 14.40 บาท ลดลง 3.50 บาท หรือลดลงถึง 19.55% 
    ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊กกรณีนี้ว่า ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 176 กรณีเช่นนี้ บริษัท ซิโน-ไทยฯ และกรรมการอาจต้องโดนลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งต้องชื่นชม ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดโดยไม่ยกเว้นแม้บริษัทที่มีครอบครัวนักการเมืองใหญ่เป็นเจ้าของ
         นายมานะให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการขึ้นบัญชีดำ หรือแบล็กลิสต์เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต ว่าปัจจุบันตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างยังไม่มีมาตรการแบล็กลิสต์ แต่ถ้าเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีพฤติกรรมแบบนี้ เป็นเรื่องที่ตลาดต้องพิจารณา ควรแจ้งข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ ส่วนมาตรการลงโทษอื่นๆ ในการเข้าไปประมูลงานกับรัฐนั้น ก็ยอมรับว่าไม่มีมาตรการลงโทษ แต่รัฐบาลควรพิจารณามาตรการแบล็กลิสต์หรือมาตรการที่มีบัญชีรายชื่อบริษัทที่เฝ้าระวัง จับตา เป็นพิเศษ ว่าเคยมีประวัติแบบนี้เกิดขึ้น อาจให้คะแนนน้อยลง หรืออยู่ในชั้นของการจัดชั้นผู้รับเหมา ก็จะเป็นประโยชน์กับภาครัฐในอนาคต.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"