ธนาธร:ผมผิดอะไร แถลงปิดคดีนอกศาลพ่วงปลุก'สาวก'ให้เลือกข้าง


เพิ่มเพื่อน    

    “ธนาธร” เดินเกมบีบศาลรัฐธรรมนูญ แถลงปิดคดีถือหุ้นสื่อที่ทำการพรรค อรรถาธิบาย 4 ประเด็นยิบ แต่แย้งกันเองตอนแรกบอกวี-ลัคไม่ใช่สื่อ แต่อีกข้อบอกไม่เคยให้คุณให้โทษใคร ไปไกลอ้างที่ผิดเพราะต่อต้านการสืบทอดอำนาจ เหน็บตุลาการอายุเกิน 70 ปีพรึ่บ พร้อมปลุกสาวกตัดสินเลือกข้าง ฝ่ายประชาธิปไตยหรืออำนาจนิยม “ปิยบุตร” ย้ำอยู่ไม่เป็นไม่ยืดเยื้อ
    เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พ.ย. มีความเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะก่อนที่พรรคจะจัดกิจกรรมรวมพลคนอยู่ไม่เป็น ในวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. ที่ห้องกำแพงเพชร ชั้น 6 เจเจมอลล์ เวลา 12.00-17.00 น. และในวันที่ 20 พ.ย. เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในเรื่องพิจารณาที่ 10/2562 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค อนค. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) กรณีการถือครองหุ้นสื่อหรือไม่ หลังจากที่เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ศาลได้มีการไต่สวนพยานบุคคลจำนวน 10 ปากไปแล้ว
    โดยเมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธรได้แถลงข่าวเพื่ออ่านคำแถลงปิดคดีความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงหรือไม่ จากกรณีการถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นเอกสารคำแถลงปิดคดีที่ได้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อวันที่ 14 พ.ย. โดยนายธนาธรได้แถลงไล่เรียงทั้ง 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นสื่อหรือไม่ นายธนาธรระบุว่า การถือหุ้นที่เป็นประเด็นขึ้นมาเริ่มต้นที่จังหวัดสกลนคร ภายหลัง กกต.ส่งเรื่องไปศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นผู้สมัคร ส.ส.สกลนครของพรรค โดยคดีนั้นศาลฎีกาพิจารณาที่หนังสือบริคณห์สนธิเป็นหลักว่ากิจการใดเป็นกิจการสื่อมวลชน ถ้ามีวัตถุประสงค์ทำเกี่ยวกับกิจการสื่อมวลชนถือว่าผิดตัดสิทธิ์ทันที แต่ในคดีอื่นทำนองเดียวกัน เช่น คดีการถือหุ้นสื่อของ ส.ส. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นต่างจากศาลฎีกา โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเพียงหนังสือบริคณห์สนธิกับสําเนาบัญชีรายชื่อไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยว่าถือหุ้นสื่อหรือไม่ ต้องดูเอกสารอื่นประกอบด้วย เช่น ต้องดูงบการเงินว่าของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ถูกร้องมีรายได้จากการประกอบกิจการใด จึงตัดสินได้ว่าถือหุ้นในสื่อหรือไม่
    “บริษัท วี-ลัคฯ ผลิตนิตยสาร WHO ฉบับสุดท้ายเดือน ต.ค.2559 โดยเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท วี-ลัคฯ ส่วนหนังสือจิ๊บๆ บริษัท วี-ลัคฯ เป็นแค่ผู้ผลิต ผู้เป็นเจ้าของหนังสือคือบริษัทนกแอร์ ส่วนหนังสือ Wealth บริษัท วี-ลัคฯ ก็เป็นผู้ผลิต แต่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าของ โดยวี-ลัคปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.2561 และยุติการดำเนินการไม่มีพนักงานและบริษัทไม่มีรายได้ตั้งแต่ 26 พ.ย.2561 ดังนั้นบริษัท วี-ลัคฯ ยุติกิจการไปแล้ว และไม่มีผลิตภัณฑ์แล้ว อย่างนี้จะเป็นสื่อมวลชนได้อย่างไร เพราะเป็นบริษัทที่ไม่มีการปฏิบัติการใดๆ แต่เป็นบริษัทที่รอการชำระบัญชีเท่านั้น” นายธนาธรกล่าว
    ประเด็นที่ 2 ธนาธรยังเป็นผู้ถือหุ้นหรือไม่ นายธนาธรแถลงว่า ในคำร้องของ กกต.ระบุว่ายังเป็นผู้ถือหุ้น เพราะในวันที่ 21 มี.ค.2562 ซึ่งอ้างอิงเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือแบบ บอจ.5 ที่บริษัทที่ได้แจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ แต่การจะดูว่าการเปลี่ยนแปลงหุ้นสำเร็จหรือไม่ ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 และ 1141 ดังนั้นถ้าไม่มีหลักฐานเป็นอื่นหรือมีน้ำหนักพอ ต้องถือว่าธุรกรรมโอนหุ้นสำเร็จตั้งแต่วันที่มีการทำธุรกรรมไปแล้ว คือ 8 ม.ค.2562    
    ประเด็นที่ 3 การถือหุ้นผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายธนาธรแถลงว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) เริ่มมีตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 โดยรายงานการพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญในเวลานั้นมีการอภิปรายว่ามาตรานี้มีขึ้น เพราะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เข้าแทรกแซงสื่อทางตรงและอ้อม และการที่ไปเป็นเจ้าของสื่อทำให้กลไกการตรวจสอบพิการ และที่สำคัญไปกระทบเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในประเด็นนี้อยากจะชี้ให้เห็นว่านิตยสารที่ผลิตโดยบริษัท วี-ลัคฯ ไม่เคยให้คุณให้โทษในทางการเมืองแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้ วันที่นิตยสารได้ปิดตัวลงและไม่มีรายได้แล้ว เกิดขึ้นก่อนที่จะมีใครรู้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด โดยพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง 2562 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2562 แต่บริษัทปิดไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นไม่มีเจตนาจะคงบริษัทอยู่ และบริษัทได้ปิดกิจการก่อนจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งด้วยซ้ำ  
    สำหรับประเด็นสุดท้าย 4.กระบวนการพิจารณาคดีเป็นธรรมหรือไม่ ประเด็นนี้คณะกรรมการสืบสวนของ กกต.กำลังดำเนินการและเรียกพยานมาในวันที่ 22 พ.ค.2562 แต่ปรากฏว่า กกต.ชุดใหญ่ได้ส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 พ.ค.2562 ทั้งที่คณะกรรมการสอบสวน กกต.ยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลชั้นเดียว แค่เรื่องนี้ก็มีน้ำหนักพอให้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องแล้ว 
    “จากทั้ง 4 ข้อ ถ้าถามว่าผมผิดอะไร คำตอบคือมันไม่ใช่เรื่องการถือหุ้นสื่อ แต่ความผิดของผมคือการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผมฝันเห็นว่าทุกคนเท่าเทียมกัน มีนิติรัฐ นิติธรรม ฝันเห็นประเทศไทยที่มีความก้าวหน้า และประเทศไทยที่ไม่มีรัฐประหาร ความฝันเช่นนี้มันเป็นผิดบาปมากนักหรือในประเทศนี้ เพื่อให้ได้ความฝันนี้ เราจึงตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อมาต่อสู้เรียกร้องความฝันของเราตามระบบ รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งตามกฎหมาย ฝันอะไรก็บอกประชาชนอย่างนั้น เมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งออกมา เราก็ทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เราสู้ในสภาอย่างภาคภูมิใจ เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความตั้งใจของพรรคในการต่อสู้ในสภา เราต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็รณรงค์อย่างสันติ การตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างความฝันของเราให้เป็นจริง มันเป็นความผิดบาปมากขนาดนั้นเลยเหรอในประเทศนี้" นายธนาธรกล่าว 
     ในช่วงท้ายของคำแถลงปิดคดี นายธนาธรกล่าวอีกว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอายุเกิน 70 ปี หลายคนผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง ตนเองเกิดในปี 2521 ผ่านเหตุการณ์รัฐประหาร 4 ครั้ง เราจะอยู่ในสังคมอย่างนี้ต่อไปเหรอ ตอนนี้เป็นเวลาที่ควรมาทบทวนประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรมาบ้างในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา บุคคลต่างๆ มีส่วนทำให้สังคมเดินมาถึงจุดนี้ ถึงเวลาที่เราต้องส่งเสียงกัน และพาสังคมออกจากจุดนี้ วันนี้สังคมมีความแตกต่างทางความคิดสองส่วน ระหว่างการพาประเทศเดินหน้าไปด้วยประชาธิปไตยกับการพาประเทศเดินหน้าไปด้วยระบบอำนาจนิยม คนที่จะตัดสินได้ดีที่สุดควรจะเป็นประชาชนผู้ทรงสิทธิและเสรีภาพในการเลือกอนาคตของประเทศไทยด้วยตัวเอง  
    สำหรับผลการตัดสินในวันที่ 20 พ.ย.ของศาลรัฐธรรมนูญนั้น นายธนาธรกล่าวว่า ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็พร้อมยอมรับ และไม่มีแผนสำรองใดๆ การลงเล่นการเมืองของตนเองถือว่าไม่มีจุดที่จะกลับตัวแล้ว ที่ผ่านมายอมเล่นตามกติกามาโดยตลอด ทั้งรณรงค์หาเสียง การเลือกตั้ง หากจะแพ้ก็ขอแพ้ตามกติกา ซึ่งคดีนี้ไม่เกี่ยวกับการยุบพรรค เพราะเป็นเรื่องของตนเองคนเดียว ส่วนคนที่กำลังโยงไปสู่การยุบพรรค หมายความว่าไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจน
    ทั้งนี้ ในการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 18 ต.ค.นั้น ได้ไต่สวนพยาน 10 ปาก ซึ่งมากที่สุด โดยนายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ซักถาม ซึ่งระบุว่าเป็นการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมาย และใช้เวลาไต่สวนนายธนาธร 1.50 ชั่วโมง ซึ่งคำตอบของนายธนาธรหลายครั้งมักระบุว่า “จำไม่ได้” 
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. กล่าวถึงกิจกรรมอยู่ไม่เป็น ในวันที่ 16 พ.ย. ว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่เป็นการปลุกม็อบหรือปลุกระดมในเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคดีหุ้นสื่อของนายธนาธรในวันที่ 20 พ.ย.นี้อย่างที่หลายฝ่ายคิดกัน แต่กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมตามปกติของพรรคที่จะให้ประชาชนมาร่วมแสดงออกทางความคิดเห็น เพื่อให้คนไทยมีความคิด ไม่ใช่แค่ว่าอยู่เป็นแล้วอยู่ๆ ไปอยู่เหมือนเป็นหุ่นยนต์ อยู่ในกรอบเดิมๆ แต่ต้องมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อตนเองและประเทศชาติ ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวจัดในพื้นที่ปิดที่มีขอบเขตและมีเวลากำหนด เมื่อถึงเวลาก็เลิก ไม่ได้อยู่ยืดเยื้อ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"