“Kosa Pan : Le buste โกษาปาน "  ณ ถนนสยาม อนุสรณ์รำลึก333ปีฑูตไทยไปฝรั่งเศส


เพิ่มเพื่อน    

     

รูปปั้นขนาดครึ่งตัวของ"โกษาปาน"ที่จะนำไปตั้งที่ถนนสยาม เมือง แบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส

 

    นับเป็นเวลา 333 ปีแล้ว ที่คณะทูตจากสยาม นำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) หรือ “โกษาปาน” ได้เป็นตัวแทนของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา นำคณะราชฑูตจากราชอาณาจักรอยุธยา  ลงเรือเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล เพื่อไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส  เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.2228  


    เรือของคณะฑูตจากอยุทธยา ได้เทียบท่าที่เมืองแบรสต์ เมื่อเดือน มีนาคมพ.ศ. 2229 ครั้งนั้นมีข้าราชการและประชาชนชาวฝรั่งเศส ออกมาต้อนรับอย่างเอิกเกริก เรียงตั้งแต่ท่าเรือไปจนถึงตัวเมือง  ต่อมาถนนเส้นบริเวณท่าเรือ ที่ตัดเข้ามาที่ตัวเมืองเบรสต์ ได้ชื่อว่า “ถนนสยาม” เพื่อเป็นเกียรติแก่คณะราชทูตของสมเด็จพระนารายณ์  

ป้ายถนนสยาม (Rue de Siam) เดิมก่อนคณะราชฑูตไทยเดินทางไปถึงชื่อ"ถนนแซงต์ปิแอร์ "ถนนสายหลักของเมือง


    การเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยที่ 14 และพบปะบุคคลสำคัญที่ฝรั่งเศสของโกษาปานครั้งนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ฝรั่งเศส  

    ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง 333 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตสองประเทศ สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้จัดสร้างรูปปั้นครึ่งตัว ของเจ้าพระยาโกษาธิบดี(ปาน) ขึ้น เพื่อเป็นการรำลึก การครบรอบการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ผู้ก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศส  

    กิจกรรมครั้งนี้ ยังมีการเสวนาหัวข้อ “Kosa Pan : Le buste โกษาปาน อนุสรณ์สถานแห่งมิตรไมตรีที่ถนนสยาม” ก่อนจะนำรูปปั้นของเจ้าพระยาโกษาปาน ไปประดิษฐาน ณ ถนนสยาม เมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส 

นายฌัก ลาปูณ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย


    ภายในงานเสวนา นายฌัก ลาปูณ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย กล่าวว่า  ราชทูตโกษาปาน ถือเป็นผู้เริ่มต้นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของสาธารณรัฐฝรั่งเศส และราชอาณาจักรไทย ทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้จักสยาม ซึ่งมีวัฒนธรรมที่ร่ำรวยละเอียดอ่อน และงอกงามอยู่ระหว่างประเทศจีนและอินเดีย การค้นพบบันทึกรายวันการเดินทางของเจ้าพระยาโกษาปานบรรยายเหตุการณ์ สิ่งที่พบเห็นขณะที่อยู่เมืองแบรสต์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์  ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดราชทูตโกษาปานจึงเป็นแรงบันดาลใจแก่นักการทูตไทยรุ่นหลังและรุ่นใหม่  และนับเป็นเวลากว่า 300 ปีที่ประเทศของเราได้รู้จักกัน และกว่า 150 ปีหลัง จากการส่งคณะราชทูตคณะแรกในครั้งนั้น ทั้งสองประเทศก็ได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ.1856 มีการลงนามในสนธิสัญญา ทรงพระราชไมตรีและการพาณิชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งคณะราชทูตไทยไปถวายพระราชสาส์นทองคำ แด่จักรพรรดินโปเลียนที่สาม ณ ประเทศฝรั่งเศส

 
    ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินให้สร้าง สถานกงสุลฝรั่งเศสในไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เองก็ได้เสด็จเยือนฝรั่งเศส ในปีค.ศ.1897 และ ค.ศ.1907  จวบจนปีปัจจุบันยังกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนบแน่น

บรรยากาศการเสวนา


    ด้าน รศ.ดร.ธิดา บุญธรรม อุปนายกสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประธานโครงการ กล่าวว่า  โอกาสนี้ ทางสมาคมฯ ได้จัดทำรูปปั้นเพื่อรำลึกถึงเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)  ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 เป็นวาระครบรอบ 333 ปี ที่ท่านได้เป็นราชทูตแห่งราชอาณาจักรสยาม อัญเชิญพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพื่อนำไปถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซาย ในครั้งนั้นคณะราชทูตสยามได้เดินทางโดยทางเรือไปเทียบท่าที่เมืองแบรสต์ อยู่ทางภาคตะวันตกของฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2229 โดยได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริก และด้วยไหวพริบปฏิภาณเฉลียวฉลาดหลักแหลมของท่าน ได้สร้างความประทับใจและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศสยามอย่างมากมาย ถือเป็นปฐมบทแห่งความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ 


    นอกจากนี้ รอยประวัติศาสตร์ที่พบเห็น ยังบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ฉันมิตรยังปรากฏในเมืองแบรสต์ เช่น ถนนสยาม (Rue de Siam)  ถือเป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานแห่งมิตรภาพที่ทางการเมืองแบรสต์ ได้มอบเกียรติสูงสุดแก่สยามประเทศ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2285  ทางการเมืองแบรสต์ ได้เปลี่ยนชื่อถนนแซงต์ปิแอร์ ถนนหลักของเมือง  ให้เป็นชื่อถนนสยาม เพื่อเป็นเกียรติแก่คณะราชทูตสยาม รวมไปถึงป้ายรถรางไฟฟ้าชื่อสถานีสยาม ตลอดจนหุ่นจำลองขบวนของคณะราชทูตสยามที่จัดแสดงใน ตูร์ ตองกี พิพิธภัณฑ์ประจำเมือง แสดงถึงความสำคัญของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น 

ถนนสยาม เมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส


    รศ.ดร.ธิดา กล่าวต่อว่า กว่า 3 ศตวรรษ ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความแน่นแฟ้น และเชื่อมโยงกันในหลายมิติ ทั้งทางด้านการทูต การค้า การลงทุน ท่องเที่ยว รวมถึงด้านการศึกษาภาษาฝรั่งเศส โดยในปี 2532 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้เสด็จเพื่อทรงดูงานการศึกษา ณ เมืองแบรสต์ ทรงตระหนักว่านอกจากเมืองแบรสต์ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว  แบรสต์ยังเป็นศูนย์การศึกษาที่มีความเป็นเลิศด้านการสอนภาษาฝรั่งเศสให้กับชาวต่างชาติ  และเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณา ที่คุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และในวโรกาสครบรอบ 333 ปีของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์น่าจดจำนี้ ทางสมาคมและพันธมิตรที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือดำเนินการจัดสร้างรูปปั้นโกษาปาน ขนาดครึ่งตัว โดยผู้ปั้นคือ อ.วัชระ ประยูรคำ ประติมากรชาวไทย ผู้มีผลงานปั้นพระบรมรูป และผลงานประติมากรรมมามากมาย และได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระกรุณาเจิมรูปปั้น ก่อนจะนำไปประดิษฐานที่เมืองแบรสต์เพื่อนำไปประดิษฐาน ที่ถนนสยามภายในเดือน ก.พ.ปี 2563 


    และนอกจากนี้ยังได้จัดทำหนังสือรูปภาพสีน้ำที่ระลึก 333 ปีจากวังนารายณ์ สู่แวร์ซายสถาน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของคณะราชทูตไทยในรูปแบบหนังสือท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ตามเส้นทางของคณะราชทูตสยามตั้งแต่จากพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ กระทั่งถึงพระราชวังแวร์ซาย ประกอบด้วยผลงานภาพสีน้ำของ อ.เกริกบุระ ยมนาค ศิลปินวาดภาพ และเล่าความโดยนายสุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ นักเขียนสารคดีท่องเที่ยว

ป้ายรถไฟฟ้าสถานีสยาม เมืองแบรสต์
    ขณะที่รศ.ดร.กรรณิกา จรรย์แสง อาจารย์นักแปลและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรมฝรั่งเศส กล่าวเสริมว่า ในเอกสารของฝรั่งเศสมีผู้เขียนหลายท่านได้กล่าวถึงโกษาปานในทำนองเดียวกัน เช่น เดอลิเซ่ ท่านเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ติดตามข่าวสาร และติดตามเรื่องของโกษาปานทุกวัน ได้เขียนไว้ว่าน่าจะเป็นนักการทูตชาวสยามคนแรกที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีที่ฝรั่งเศส และระบุว่าท่านโกษาปานนั้นเป็นนักการทูตผู้มีความเฉลียวฉลาด เป็นคนมีไหวพริบแม้บุคลิกจะนิ่ง สามารถเจรจาทางการทูตโต้ตอบได้อย่างดีเยี่ยม เช่น การที่ฝรั่งเศสขอให้ทหารไปประจำการที่บางกอก ท่านใช้ไหวพริบหลีกเลี่ยงได้อย่างฉลาด เอาตัวรอดได้ในสถานการณ์นั้น อีกแง่หนึ่งท่านก็ทำให้คนฝรั่งเศสรู้จักเมืองสยามมากขึ้น 
    ด้าน อ.วัชระ ประยูรคำ ประติมากรและศิลปินผู้ปั้นรูปโกษาปาน กล่าวว่า รูปปั้นของท่านใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น โดยการศึกษารายละเอียดทุกอย่างจากเอกสารสำคัญๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ที่เป็นรูปภาพและลายลักษณ์อักษรที่อธิบายลักษณะของท่าน

รวมถึงการแต่งกายในสมัยนั้นนำมาประกอบกันให้เป็นรูปที่จะทำให้คนระลึกถึงท่าน เนื่องจากงานของตนเน้นที่ความรู้สึกมากกว่าการปั้นรูปเหมือน เราต้องทำให้ละเอียด ไม่ให้ตกหล่นหรือผิดพลาด หากเป็นเช่นนั้นจะรู้สึกเสียดายว่าทำไมไม่สื่อสารสิ่งนี้ออกไป สิ่งที่ตนปั้นคือทำให้เห็นศักดิ์ศรีศรีของความเป็นสยามมากที่สุด ทั้งรูปร่างหน้าตา ปาก เสื้อผ้าพยายามสื่อสารให้เห็นถึงพลังของนักการทูต มีเทคนิคทำให้รูปเอียง เพื่อให้เหมือนกำลังเจรจา และให้สมเกียรติที่จะนำไปจัดตั้งที่ฝรั่งเศส

 

อาจารย์วัชระ ประยูรคำ ผู้ปั้นประติมากรรมครึี่่งตัวของ "โกษาปาน"

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"