‘จุรินทร์’ รองนายกฯ ร่วมงานมหกรรม ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ภาคใต้ที่ จ.กระบี่ เตรียมขยายผลการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าชายเลน-กรมเจ้าท่าทั่วประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

 

กระบี่ / พอช.ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้จัดงานมหกรรม ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ภาคใต้ที่แหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ชูรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลน โดยมีนายจุรินทร์   ลักษณวิศิษฎ์  รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานมอบบ้านมั่นคงชนบทในที่ดินป่าชายเลน-บ้านพอเพียง  รวม 2,420 ครัวเรือน  พร้อมขยายผลแก้ไขปัญหาที่ดินป่าชายเลน-กรมเจ้าท่าทั่วประเทศเพื่อให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล

 

องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชน  โดยในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันที่ 7 ตุลาคม  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศจัดกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ตลอดเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้  เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย และร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยจัดกิจกรรมที่กรุงเทพฯ  ขอนแก่น  เชียงราย  เพชรบุรี  สระแก้ว  และภาคใต้ที่จังหวัดกระบี่

 

งานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้

 

โดยในวันนี้ (25 พ.ย.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคใต้จัดงาน มหกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกภาคใต้  “20 ปี พอช. พลังองค์กรชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”  ที่ชุมชนทับตะวัน  เทศบาลตำบลแหลมสัก  อ.อ่าวลึก  จ.กระบี่  ซึ่งเป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน   โดยมีรองนายกรัฐมนตรี   นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์  ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ  เป็นประธานพิธีในงานดังกล่าว  โดยมีนายสมควร  ขันเงิน  รองผู้ว่า จ.กระบี่  ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ  และผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนในภาคใต้เข้าร่วมงานประมาณ  500คน

 

ทั้งนี้นายจุรินทร์ได้มอบงบประมาณโครงการบ้านมั่นคงชนบทในที่ดินป่าชายเลน  ในเขตเทศบาลตำบลแหลมสัก 3 ชุมชน จำนวน 390 ครัวเรือน  งบประมาณ  16 ล้านบาทเศษ  มอบบ้านที่ซ่อม-สร้างเสร็จแล้ว  217 หลัง  และมอบบ้านพอเพียงชนบทภาคใต้  ปี 2562 (สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านครัวเรือนที่ยากจนสภาพทรุดโทรมทั่วประเทศไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท) จำนวน   2,203  ครัวเรือน  งบประมาณรวม 41 ล้านบาทเศษ  รวมมอบบ้านทั้งหมด 2,420  ครัวเรือน

 

นายจุรินทร์ รองนายกฯ (ที่ 4 จากขวา)

 

นอกจากนี้ภายในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น นิทรรศการกระบวนการทำงานของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกระบี่  ปฏิบัติการลงมือ “สร้างบ้าน สร้างชุมชน 3 วันเสร็จ 7 วันอยู่”  เวทีเสวนา “สร้างบ้าน สร้างชุมชน โดยทุกคนร่วมกันสร้าง”  ตลาดนัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้   การจำหน่ายและจัดแสดงผลิตภัณฑ์สินค้าจากชุมชน  ฯลฯ

 

นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์  รองนายกฯ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยของรัฐบาลว่า  รัฐบาลมีแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี  โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการ  มีแผนงานตั้งแต่ปี 2560-2579 รวม 1.2 ล้านครัวเรือน  ขณะนี้สร้างบ้านมั่นคง-บ้านพอเพียงทั่วประเทศแล้วประมาณ 1 แสนครัวเรือน  เพื่อให้พี่น้องมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  มีงบสนับสนุนการพัฒนาเรื่องสาธารณูปโภค  มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว  เพื่อให้มาสร้างบ้าน  และร่วมกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง

 

“ส่วนพี่น้องที่อยู่อาศัยในป่าชายเลน ซึ่งเดิมเป็นการอยู่อาศัยที่ไม่ถูกกฎหมาย  รัฐบาลก็จะรับรองให้พี่น้องอยู่อาศัยโดยถูกกฎหมาย  เช่น  พี่น้องชาวประมงที่แหลมสัก  และช่วยเป็นชนกัน  ไม่ให้มีการบุกรุกป่าชายเลนเพิ่ม  และต้องช่วยกันดูแลรักษาป่า  ช่วยกันปลูกป่าชายเลน  ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ทั่วประเทศ  เพื่อให้พี่น้องที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนดั้งเดิมอยู่อาศัยได้อย่างถูกกฎหมาย  แต่จะต้องไม่บุกรุกป่าเพิ่มเติม”  รองนายกฯ กล่าว

 

บ้านมั่นคงในที่ดินป่าชายเลน

 

นายปฏิภาณ  จุมผา  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคใต้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในเขตเทศบาลตำบลแหลมสัก  อ.อ่าวลึก  จ.กระบี่  มี 3 ชุมชน  คือ  ชุมชนทรายทอง  ชุมชนแหลมทอง  และชุมชนทับตะวัน  มีปัญหาความไม่มั่นคงเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยเนื่องจากปลูกสร้างบ้านในที่ดินป่าชายเลนและบางส่วนอยู่ในที่ดินของกรมเจ้าท่า  กระทรวงคมนาคม  เมื่อรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในที่ดินป่าชายเลนมาก่อนปี 2534 ให้อยู่อาศัยได้โดยถูกต้อง  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จึงสนับสนุนให้ชาวชุมชนรวมกลุ่มแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2559  มีการแต่งตั้งคณะทำงานที่มาจากชาวบ้าน  เริ่มจากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานต่างๆ  ในชุมชน

 

ชุมชนประมงพื้นบ้านในเขตเทศบาลตำบลแหลมสัก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่

 

จากการสำรวจข้อมูลพบว่า  มีผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งหมด 427  ครัวเรือน  แยกเป็น  อยู่ในเขตที่ดินป่าชายเลน 358 ครัวเรือน  อยู่ในเขตที่ดินของกรมเจ้าท่า  65   ครัวเรือน  และอยู่ในที่ดินเอกชน  4 ครัวเรือน  ที่อยู่อาศัยมีสภาพแออัด ชำรุดทรุดโทรม  นอกจากนั้นยังมีสภาพปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม  ปัญหาขยะ   น้ำเสีย  ไม่มีระบบการบำบัดจากครัวเรือน  ปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค  เช่น  ถนน  สะพานชำรุด  ฯลฯ  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณซ่อมสร้างบ้านหลังละ 40,000 บาท  ไม่รวมงบประมาณด้านสาธารณูปโภค 

 

สร้างกองทุนที่อยู่อาศัย-ร่วมกันซ่อมสร้างบ้าน ‘3 วันเสร็จ 7 วันอยู่’

นายก้อเฉม  ดีเดช  ผู้นำชุมชน  กล่าวว่า  เงินที่ พอช.สนับสนุนครัวเรือนละ 40,000 บาท  ชาวชุมชนตกลงกันว่า  จะให้ครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือชำระเงินคืนเพื่อนำเงินมาเข้ากองทุนที่อยู่อาศัย  เพื่อให้กองทุนเกิดความยั่งยืน  สามารถช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนรายอื่นได้  โดยให้ชำระคืนเดือนละ 100 บาทต่อจำนวนเงิน 10,000 บาท  เช่น  หากได้รับการสนับสนุน 40,000 บาท  จะต้องคืนเงินเข้ากองทุนเดือนละ 400 บาท  จนกว่าจะครบตามจำนวนเงินที่ได้รับการสนับสนุน                                                        

“ส่วนการซ่อมสร้างบ้านนั้น  ชาวบ้านจะใช้วิธีการลงแรงช่วยกัน  หลังหนึ่งจะมีคนมาช่วยกัน  6-7 คน  ถ้าซ่อมบ้าน  เช่น  เปลี่ยนไม้ปูพื้น  ซ่อมฝาบ้าน  หรือซ่อมหลังคา  จะใช้เวลาไม่เกิน 3 วันก็เสร็จ  ถ้าบ้านผุพังแล้วก็ต้องรื้อเพื่อสร้างใหม่  ใช้เสาคอนกรีตสำเร็จรูปเพื่อให้สร้างได้ไว  คนที่เป็นช่างก่อสร้างก็จะมาช่วยสร้าง  หรือคิดค่าแรงถูกๆ  คนอื่นๆ ก็ช่วยกัน  บางคนทำอะไรไม่เป็นก็มาช่วยแบกไม้  แบกของ  เจ้าของบ้านก็จะเอาน้ำ  เอาข้าวมาเลี้ยง  นอกจากนี้ยังมีช่างอาสาที่เป็นช่างชุมชนจากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ที่หมุนเวียนมาช่วยกันสร้างบ้านประมาณ 50 คน  ทำให้สร้างบ้านได้เร็ว  ไม่เกิน 7 วัน  หรือ 10 วันก็เสร็จ  เข้าอยู่ได้”  นายก้อเฉมกล่าว

 

 

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการสนับสนุนงบประมาณของ พอช.แล้ว  ชาวชุมชนที่เข้าร่วมโครงการยังได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และจัดตั้งกองทุนที่อยู่อาศัยขึ้นมาด้วย  เริ่มในเดือนเมษายน 2561 โดยชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะต้องออมเงินเข้ากลุ่มออมทรัพย์เดือนละ 170 บาท  แยกเป็น  ออมเพื่อสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิก (เกิด เจ็บป่วย  ตาย  หรือตามข้อตกลง) เดือนละ 30 บาท  ออมสัจจะ  30 บาท  ออมเข้ากองทุนรักษาดินรักษาบ้าน (ช่วยเหลือสมาชิกที่มีภาระในการผ่อนชำระ  ไม่มีรายได้  เสียชีวิต ฯลฯ) เดือนละ 20 บาท  และออมเพื่อที่อยู่อาศัยเดือนละ 90 บาท

 

นอกจากนี้ชาวชุมชนยังร่วมกันสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน  เช่น  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  ไม่มีรายได้  ไม่มีลูกหลานดูแล  งบประมาณสร้างบ้านหลังละ 40,000-60,000 บาท   โดยชาวชุมชนจะช่วยกันลงแรงก่อสร้างบ้าน  ใช้งบประมาณจากโครงการบ้านมั่นคงชนบทที่ พอช.สนับสนุน  ขณะนี้สร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนแล้ว 6 หลัง

 

ปัจจุบัน (พฤศจิกายน 2562) พอช.ได้สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านในชุมชนชาวประมงแหลมสัก 3 ชุมชน  รวม 390 ครัวเรือน  งบประมาณรวม 16 ล้านบาทเศษ  ซ่อมสร้างบ้านเสร็จแล้วจำนวน 183 ครัวเรือน  อยู่ระหว่างดำเนินการ 34 ครัวเรือน ขณะที่ชาวชุมชนที่รวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัยมีเงินออมรวมกัน (3 ชุมชน) ประมาณ 443,000 บาท

 

เตรียมขยายผลการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าชายเลนทั่วประเทศ

 

นายธีรพล  สุวรรณรุ่งเรือง  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   กล่าวว่า  นอกจากการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวประมงแหลมสักในขณะนี้แล้ว  พอช.ยังสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในเขตป่าชายเลนและกรมเจ้าท่า  ในพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้  9 จังหวัด  รวม 56  ชุมชน  ทำให้เกิดพื้นที่รูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ของกรมเจ้าท่า   พอช.กับขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้จึงจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ชุมชนชาวประมงแหลมสัก  มีเป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่ต่อสาธารณะ   และแสดงรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ป่าชายเลนและกรมเจ้าท่า  แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาและสร้างความมั่นคงในเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนตามนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำของรัฐบาล  โดยมีเป้าหมาย ‘การจัดที่ดินให้ผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม’ 

 

ชุมชนประมงพื้นบ้านริมทะเลแหลมสัก

 

“การแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยที่ชุมชนประมงแหลมสักจะเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ  เช่น  กรมเจ้าท่า  กระทรวงคมนาคม  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ตลอดจนหน่วยงานในท้องถิ่น  ทั้งระดับจังหวัดและเทศบาล   รวมทั้งบทบาทของ พอช. และขบวนองค์กรชุมชน  ที่ได้ร่วมกันสร้างความมั่นคงในที่ดินทำกินและการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน  ควบคู่ไปกับการดูแลอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง  ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่จะทำให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579  โดย พอช.จะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนขยายผลไปสู่การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป”   รอง ผอ.พอช.กล่าว

 

 

                                                       

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"