สศช.ห่วงสถานะหนี้เสีย ไตรมาส3‘ตกงาน’ยังพุ่ง


เพิ่มเพื่อน    

 คนยังตกงานต่อเนื่อง เหตุภัยธรรมชาติและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สภาพัฒน์รับห่วงหนี้เอ็นพีแอล ชี้แทบทุกสินเชื่อพาเหรดเข้าข่ายเสี่ยงสูง ซูเปอร์โพลโต้หมวดเจี๊ยบไม่ได้รับงานเหมือนนักการเมือง

เมื่อวันจันทร์ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ประจำปี 2562 ว่าผู้มีงานทำลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเกษตรมีการจ้างงานลดลง 1.8% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติ ส่วนการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลง 2.3% ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการหดตัวของการส่งออก โดยสาขาที่จ้างงานลดลง ได้แก่ การผลิต การขายส่ง/ขายปลีก และก่อสร้าง ขณะที่โรงแรม/ภัตตาคาร และการขนส่ง/เก็บสินค้ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก
    “อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 เท่ากับ 1.04% หรือมีจำนวน 3.94 แสนคน สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและปัญหาภัยธรรมชาติ การว่างงานเพิ่มขึ้นทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 8.4% ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 3% ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน” นายทศพรระบุ
     สำหรับแนวโน้มการจ้างงานในไตรมาสสุดท้าย คาดว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก เนื่องจากตัวเลขการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรเดือน ต.ค.  อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 3.55 แสนคน แม้ว่ากำลังแรงงานและผู้มีงานทำจะลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่ามีการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มทำงานบ้านที่เข้าสู่กำลังแรงงานเป็นครั้งคราวตามฤดูกาล โดยผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 19.2 ล้านคนเพิ่มขึ้น  5.1% ประกอบกับโครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่น ซึ่งแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในระบบสามารถย้ายไปทำงานนอกระบบได้ง่าย โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม
    “สภาพัฒน์มองว่าประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญกับตลาดแรงงาน คือ 1.การติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด และการติดตามตรวจสอบให้แรงงานได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด 2.การดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อแรงงาน และ 3.มาตรการในการเพิ่ม/ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงาน ให้สามารถทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม หรือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพใหม่ได้”
    สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2562 มีมูลค่า 13.08 ล้านล้านบาท ขยายตัว  5.8% ชะลอลงจากไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)  เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ชะลอตัวลงเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัว 7.8% ชะลอลงจากในไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ชะลอลง 10.2% ขณะที่สินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยขยายตัว 11.8% เป็นผลจากการขยายตัวของทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น
     “ภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อหลายประเภทมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งเอ็นพีแอลเพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 133,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.81% ต่อสินเชื่อรวม เอ็นพีแอลที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 3.49% เพิ่มขึ้นจากในไตรมาสก่อน เอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่  1.86% และเอ็นพีแอลสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 2.65% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน”
    ส่วนแนวโน้มหนี้สินครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังปี 2562 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งแรกของปี  แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลง
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสำนักวิจัยซูเปอร์โพลเสนอผลโพลดัชนีผลงานรัฐบาลยังเป็นที่นิยมว่า เป็นเรื่องการสำรวจของโพล ซึ่งผลโพลจะดีหรือไม่ดีรัฐบาลก็ต้องทำงานอยู่แล้ว และยืนยันว่าแม้ผลสำรวจจะออกมาเป็นทางบวกก็ไม่ทำให้รัฐบาลเหลิง
    ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวถึงกรณี ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกมาสงสัยการทำงานของซูเปอร์โพลว่า ซูเปอร์โพลเคยผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถสำรวจได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ โดยผลโพลทำนายผลลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญประกาศก่อนล่วงหน้า 2 สัปดาห์ก่อนวันลงประชามติ ซึ่งคาดเคลื่อนไม่ถึง 1% จนทำให้คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ทั่วโลกได้เห็นความสามารถและความน่าเชื่อถือของโพลที่ทำโดยคนไทย
“ความเป็นกลางนั้นตั้งแต่ซูเปอร์โพลเปิดทำงานมากว่า 4 ปี ไม่มีใครรับเงินเดือนและค่าตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เลย และไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ธุรกิจครอบครัวเหมือนบรรดานักการเมืองบางคน” ผศ.ดร.นพดลระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"