ธุรกิจการบินระทมผุดแผนเอาตัวรอด


เพิ่มเพื่อน    

        การเดินทางด้วยสายการบินที่รวดเร็วและสะดวก ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมาก และเมื่อมีสายการบินต้นทุนต่ำ หรือโลว์คอสต์เกิดขึ้น ยิ่งได้รับความนิยมอย่างทวีคูณ เพราะนอกจากสะดวกรวดเร็วแล้ว ราคายังถูก ทำให้อุตสาหกรรมการบินเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเมื่อมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการ ดังนั้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงมีผู้เล่นในธุรกิจนี้เกิดขึ้นจำนวนมาก 

        ซึ่งส่งผลกระทบกับหลายสายการบิน ที่บางรายถึงกลับต้องปิดตัว เพราะการใช้นโยบายด้านราคาต่ำของสายการบินโลว์คอสต์ที่แข่งขันกันดุเดือด ในขณะที่ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงมากขึ้น ประกอบกับเรื่องค่าเงินที่ค่อนข้างผันผวน และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ก็ถือว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

 

ขาดทุนยับ

        นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการอำนวยการใหญ่(DD) บมจ.การบินไทย (THAI) ได้แถลงผลประกอบการไตรมาสที่ 3/62 และการดำเนินงานของสายการบินไทย ว่าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา การบินไทยได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงและปัจจัยลบหลายด้าน ส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน โดยรายได้ของบริษัทลดลง โดยในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 4,680 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27% ในงวด 9 เดือนขาดทุนสุทธิรวม 11,102 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 175.1%

        ดังนั้น การบินไทยพยายามที่จะควบคุมค่าใช้จ่าย และหวังว่าประกอบการสุทธิรวม 4 ไตรมาส 62 จะขาดทุนลดลง เนื่องจากในไตรมาสที่ 4 เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season)

 

ประคองตัว   

        นายสุเมธกล่าวยอมรับว่า อุตสาหกรรมการบินในขณะนี้สถานการณ์รุนแรงมากกว่าที่เคยประเมินไว้ในช่วงต้นปี 62 ดังนั้นจึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อพยุงในปี 2562 และรับมือปี 2563 ซึ่งทางการบินไทยประเมินว่าสถานการณ์คงไม่ได้ดีไปกว่าปีนี้ การแข่งขันยังคงรุนแรง มีปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งยังไม่เห็นแนวโน้มที่อ่อนค่าและยังมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยด้วยซ้ำ

        ขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยลบอื่นๆ ที่ยังไม่มีแน่นอน ได้แก่  สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา การที่ประเทศอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ความขัดแย้งในฮ่องกง เป็นต้น ส่วนปัจจัยบวกคือราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ โดยประเมินว่าราคาน้ำมันดิบเบรนต์จะอยู่ในระดับไม่เกิน 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

        อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ในปี 63 จะมีแนวโน้มทรงตัว แต่การบินไทยก็เชื่อว่าบริษัทจะรับมือได้ดีขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทพยายามปรับตัวกำหนดมาตรการต่างๆ  และมีแผนรับมือสถานการณ์ปี 63 อย่างเป็นรูปแบบธรรม ด้วยการเดินหน้าแผนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง และวางกลยุทธ์ให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การเร่งทำกำไรเพิ่มจากการตลาดเชิงรุกและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ การพัฒนาศักยภาพและแสวงหาโอกาสของกลุ่มธุรกิจการสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีให้กับลูกค้าการดำเนินงานด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยีการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผลวิเคราะห์และวางแผนเส้นทางการบินใหม่ที่มีศักยภาพ

 

ขาดทุนลดลง

        ขณะที่สายการบินนกแอร์ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสายการบินโลว์คอสต์ แต่ก็ยังประสบปัญหาขาดทุน ซึ่ง นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นกแอร์ จำกัด (มหาชน)   ได้ยอมรับว่า ผลประกอบการในปี 2562 นี้ยังขาดทุน แต่ขาดทุนลดลง 50% หรือขาดทุนราว 1,400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับยอดขาดทุนในปี 61 ซึ่งอยู่ที่ 2,786 ล้านบาท ถือว่าเป็นผลสำเร็จในการดำเนินแผนฟื้นฟูกิจการ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการลดต้นทุนในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินลดลงมากกว่า 10%

        "ปัจจุบันสถานการณ์การแข่งขันด้านราคาของสายการบินโลว์คอสต์ดุเดือดมาก และคาดว่าแนวโน้มจะยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับตัว โดยยกระดับการให้บริการและปรับภาพลักษณ์ของนกแอร์สู่สายการบิน "พรีเมียมบัดเจตแอร์ไลน์" เพื่อสร้างรายได้ต่อที่นั่งและรายได้เสริมที่เพิ่มขึ้น" นายวุฒิภูมิกล่าว

        นายวุฒิภูมิกล่าวว่า จะมุ่งเพิ่มรายได้ในกลุ่มรายได้เสริมด้วยการเพิ่มบริการเสริมต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้เสริมเพิ่มเป็น 20% ให้ได้ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน อยู่ราว 12% ต่ำกว่าสายการบินต้นทุนต่ำอื่นๆ ที่มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20-30% พร้อมเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้โดยสารต่างชาติเป็น 30% ของผู้โดยสารทั้งหมด และคาดว่าผู้โดยสารจะอยู่ที่ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 62 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7-9 ล้านคน ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) ปีนี้ 85% ส่วนปีหน้า 87% และชั่วโมงการใช้เครื่องบินปีนี้ 11 ชั่วโมง (ชม.) ปีหน้า 12 ชม.

        ด้าน นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้ระบุว่า ทิศทางของตลาดสายการบินโลว์คอสต์ในช่วง 5 ปีนับจากนี้จะมีการเติบโตที่ลดลง เนื่องจากตลาดถึงจุดอิ่มตัว ประกอบกับสนามบินหลักในไทยไม่มีศักยภาพรองรับเพียงพอ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิมีปริมาณจราจรทางอากาศและสล็อตการบินเต็มหมดแล้ว ส่งผลให้สายการบินเหล่านี้เปิดเส้นทางระหว่างต่างจังหวัดมากขึ้น เพราะไม่สามารถเริ่มไฟลต์ที่กรุงเทพฯ ได้ และท่าอากาศยานภูมิภาคเองก็ยังด้อย โดยเฉพาะในเรื่องของหลุมจอดที่ไม่เพียงพอ ทำให้รองรับได้เพียง 3-4 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเท่านั้น

        ดังนั้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อสายการบินต้นทุนต่ำเลิกกิจการและตายลงเรื่อยๆ รวมถึงปัญหาการแข่งขันเรื่องดัมพ์ราคา แย่งลูกค้า สายการบินเล็กที่มีต้นทุนน้อยจะสู้สายการบินใหญ่ไม่ไหว เนื่องจากขาดทุนและมีกำไรลดลงจากการแข่งขันราคา

        ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำอย่างไทยสมายล์ จะเจอความท้าทายในลักษณะเดียวกัน อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการเปิดน่านฟ้าเสรี ที่เปิดให้สายการบินต่างชาติมาตั้งสำนักงานในไทยได้ แต่สายการบินไทยจะไปตั้งสำนักงานที่ต่างประเทศคงยาก

        อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นต้นทุนถึง 20-30% ของสายการบิน และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มีราคาสูงขึ้น ดังนั้นในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมาจึงเห็นหลายสายการบินมากกว่า 18 รายที่ต้องปิดตัว นั่นหมายความว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีสายการบินทั่วโลกปิดตัวแล้วเกือบ 40 สาย

        สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้ว่ายังไม่มีสายการบินใดออกมาประกาศหยุดทำการบิน แต่ก็ต้องไม่ชะล่าใจ เนื่องจากศึกการดัมพ์ราคาของสายการบินโลว์คอสต์ทุกราย ยังคงดุเดือด หากสายการบินไหนสายป่านยาว ก็จะได้เปรียบยืนหยัดในธุรกิจการบินต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"