มาร์คหลบนำแก้รธน. ครม.-ปชป.เคาะชื่อ‘กมธ.’ฮือฮา‘ไพบูลย์’เต็งปธ.


เพิ่มเพื่อน    

  “ประชาธิปัตย์” ถอยแล้ว เคาะชื่อโควตา กมธ.ศึกษารัฐธรรมนูญไร้ชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อ้างได้สัดส่วนน้อยไม่มั่นใจคุมเสียงโหวตได้ แต่ยังส่งตัวจี๊ดเข้าร่วมทั้ง “บัญญัติ-เทพไท” ส่วน ครม.เคาะตามโผ 6 ราย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เต็งหามขึ้นแท่นประธาน ฝ่ายค้านวางปฏิทิน 29 พ.ย.ยื่นญัตติอภิปราย จ้องพ่นน้ำลายไม่เกิน 20 ธ.ค. ดักคอรัฐบาลอย่าทำลายกฐินไม่ไว้วางใจบรรจุวาระช่วงสิ้นปี “ปิยบุตร” อ้างไม่ได้เช็กบิลลุงตู่เรื่องคำสั่ง คสช. ปลุกเสียง ส.ส.ทุกฝ่ายร่วมโหวตตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อสร้างบทเรียน

    เมื่อวันอังคาร ยังคงมีความต่อเนื่องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเลือกประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกรณีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงแค่พิธีกรรมเท่านั้น ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พูดได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องไปถามนายเทพไท ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นแน่นอน และไม่จำเป็นต้องเคลียร์ปัญหาเรื่องนี้ในพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป.ด้วย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นจุดยืนตั้งแต่เริ่มต้นเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้วว่าเราจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ดำเนินการตามที่ได้แถลงไว้ และการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่เราได้พิจารณาร่วมกันมา ขอให้กระบวนการดำเนินไปตามนี้ อย่าเพิ่งไปประเมินล่วงหน้าในสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น
นายจุรินทร์กล่าวประเด็นนี้ว่า พรรคไม่ได้ประสงค์ไปกล่าวหาใคร เพราะการทำงานร่วมกันต้องฟังกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ในความคิดเห็น ต้องการเห็นผลสัมฤทธิ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรม คือสามารถแก้ได้จริง ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสามฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน โดยสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบด้วยฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา จึงดำเนินการได้ เพราะต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยาก เพราะนอกจากต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งจากในรัฐสภาแล้ว ในจำนวนเสียงข้างมากต้องเป็นเสียงจากฝ่ายค้านจำนวนหนึ่ง และเป็นเสียงจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
    “ถ้าทั้งสามฝ่ายไม่เห็นพ้องกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นไปได้ยาก ผมถึงหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง พยายามแสวงหาความร่วมมือ เพราะความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรค ปชป.ก็ไม่ต้องการก่อให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายใด ดังนั้นต้องหารือกันทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา” นายจุรินทร์กล่าว
    ขณะที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า กรณีนายเทพไท พรรคก็ต้องไปพูดคุยกับเขา ซึ่งเราในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล จะไปพูดสร้างความขัดแย้งไม่ได้ เพราะอาจเป็นปัญหาระหว่างกัน แต่เรื่องนี้ไม่สำคัญเท่ากับการรักษาความถูกต้องของกฎหมายและกติกาของบ้านเมือง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า คงไม่ต้องสงสัยกันแล้วว่ารัฐบาลมีความจริงใจในการศึกษาและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแค่ไหน ขนาดพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองยังบ่นเสียงดัง รัฐบาลไม่จริงใจ คนในพรรคร่วมชี้เป้าให้สารภาพ ประชาชนจะไม่รับรู้ถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลได้อย่างไร พรรคร่วมรัฐบาลยังคงสาละวนสับขาหลอกอยู่แต่กับตัวบุคคลที่จะมานั่งเป็นประธาน กมธ. ทั้งที่ควรให้ความสำคัญกับสาระและแนวคิดหลัก 
บิ๊กป้อมตีมึนประธาน กมธ.
สำหรับการเลือกประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนในการเลือกประธาน กมธ.ว่า จะไปรู้ได้อย่างไร เป็นเรื่องของ ส.ส. แต่ในฐานะที่เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคก็ต้องส่งคนไปเพื่อไปแข่งขันกัน
    เมื่อย้ำว่า คนที่จะนั่งเป็นประธานต้องเป็นคนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ และยังไม่ได้พูดคุยกับตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้เป็นเรื่องของพรรคที่ต้องพูดคุยกัน
    ถามอีกว่า หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เป็นประธาน จะทำให้การทำงานลำบากหรือไม่ พล.อ.ประวิตรย้ำว่า ไม่รู้ ขณะนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจน และเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นปัญหา 
    ภายหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์อีกครั้ง โดยเฉพาะโควตา กมธ.ของ ครม.จำนวน 6 คน ว่ามีการเสนอชื่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ไปร่วมเป็น กมธ. แต่ยังไม่มีการพูดกันถึงเรื่องประธาน รวมทั้งไม่มีการพูดคุยกับนายจุรินทร์ด้วย
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณี กมธ.ไม่มีสัดส่วน ส.ว. ว่าไม่ทราบ ต้องไปถาม ส.ว. แต่เขาไม่ได้ถึงขนาดว่ามีมติไม่เข้าร่วม เพียงแต่เมื่อไปถามใครก็บอกว่าไม่เอาเท่านั้นเอง อาจเป็นเรื่องส่วนตัวก็ได้ เพราะไม่เคยมีมติของ ส.ว.ว่าจะไม่ร่วมกับ กมธ.ชุดดังกล่าว แต่ ส.ส.เจ้าของญัตตินี้หลายคนเป็นคนบอกเองว่าไม่อยากให้ ส.ว.ร่วม ส.ว.จึงอาจคิดว่าถ้าอย่างนั้นคงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมานั่ง  
    ถามว่า กมธ.ชุดนี้ควรมีกรอบเวลาศึกษาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของสภา ปกติมีทั้ง 2 แบบ คือไม่กำหนดเวลา กับกำหนดเวลา ขณะนี้ไม่ทราบว่าจะออกมาอย่างไร ส่วนประเด็นที่รัฐบาลจะเสนอให้ กมธ.แก้ไขในรัฐธรรมนูญนั้นก็ยังไม่ทราบ ยังไม่เคยมีใครพูดกัน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นต้องพูดกัน ครม. ซึ่งอาจมีหรือไม่มีก็ได้  
    ส่วนนายจุรินทร์กล่าวถึงปัญหาการเลือกประธาน กมธ. ว่าได้มอบให้ประธานวิปของพรรคไปหารือร่วมกับวิปรัฐบาล ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ให้นำมาชี้แจงในที่ประชุม ส.ส.ของพรรคให้รับทราบ ส่วนกรณีนายอภิสิทธิ์ หากไม่ได้ดำรงตำแหน่งประธาน กมธ. จะเกิดรอยร้าวภายในรัฐบาลหรือไม่นั้น ในการทำงานร่วมกันแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลก็จะมีวิปของตัวเอง ซึ่งแต่ละพรรคก็มีความเห็นที่แตกต่างกันบ้าง สุดท้ายแล้วจะไปหาข้อยุติในที่ประชุมวิปรัฐบาล 
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวในประเด็นนี้ว่า ก็ตามรัฐบาล เราเป็นเรือเหล็ก
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบรายชื่อ กมธ.ในโควตา ครม. 6 คน ประกอบด้วย 1.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 2.นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 3.นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษก กรธ. 4.นายกฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 5.นายไพบูลย์ และ 6.คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สตรีนักธุรกิจ
ปชป.ถอยแล้ว
    ขณะเดียวกัน ในการประชุม ส.ส.พรรค ปชป.ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาบุคคลที่มีความเหมาะสมในการเป็น กมธ.ดังกล่าว โดยหลังประชุม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปพรรค ปชป.กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับการตั้งคณะ กมธ.และมีมติเลือกบุคคลที่จะไปร่วมเป็น กมธ. 4 คน ประกอบด้วย 1.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน 2.นายสุทัศน์ เงินหมื่น 3.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และ 4.นายเทพไท ในฐานะผู้เสนอ โดยจะนำมติพรรคดังกล่าวเสนอที่ประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 27 พ.ย. 
    เมื่อถามว่า เหตุใดไม่มีชื่อนายอภิสิทธิ์ ซึ่งที่ประชุมเคยเห็นชอบก่อนหน้านี้ นายชินวรณ์กล่าวว่า เรื่องนี้มีการนำมาหารือในที่ประชุม ซึ่งทุกคนเห็นว่านายอภิสิทธิ์เป็นคนที่เหมาะสม มีความรู้ความสามารถ แต่การตั้งประธาน กมธ.เป็นการเลือกกันเองใน กมธ. ซึ่งเป็นเรื่องที่เรามองว่าในส่วนของพรรค ปชป.มีสัดส่วนน้อยกว่า และไม่มีหลักประกันว่าเมื่อเราเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์แล้วจะได้เป็นประธาน กมธ.หรือไม่ เพราะต้องอาศัยเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เมื่อไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้ เราก็ไม่ควรเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ไปเป็น กมธ.
    ด้านความคิดเห็นของฝ่ายค้านนั้น นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรค พท. กล่าวถึงการตั้ง กมธ.ที่ฝ่ายค้านพยายามนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภา ว่าคงไม่สามารถทำได้ เพราะ ส.ส.รัฐบาลคงไม่ยอมให้มีญัตตินี้เข้าสู่ที่ประชุมได้ง่าย แม้ว่าพรรค ปชป.กับพรรคชาติไทยพัฒนาจะเห็นด้วยกันกับฝ่ายค้าน แต่เชื่อว่าทั้งพรรค พปชร., พรรค ภท. และพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ไม่ยอมแน่ เพราะเสียประโยชน์จากกติการัฐธรรมนูญ โดยจะค้านแบบหัวชนฝา ถึงแม้แก้รัฐธรรมนูญแล้วประชาชนได้ประโยชน์ก็จะไม่ยอม เพราะมองที่ผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวเรียกร้องว่า อยากขอเวลาสภา ไม่อยากให้เร่งว่าต้องรีบอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญให้จบแล้วมาเร่งตั้ง กมธ. อยากขอว่าอภิปรายไม่จบก็สามารถอภิปรายต่อ สัปดาห์หน้ายังมี เพื่อให้สมาชิกได้อภิปรายเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ส่วนของโควตา กมธ. ถ้าเป็นตามสัดส่วนแบบเดิม พรรคจะได้ 6 คน ซึ่งจะมีทั้ง ส.ส. และบุคคลภายนอก หลักการของพรรคยืนยันเราจะไม่ให้ใครที่เคยมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารเข้ามาอยู่ใน กมธ.ชุดนี้ในสัดส่วนของพรรค แต่เราจะมีทั้งภาคประชาชน นักวิชาการมาร่วม ซึ่ง กมธ.ชุดนี้ ต่อไปจะเป็นส่วนหนึ่งผลักดันประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ในระดับสภา ดังนั้นต้องเอาคนภายนอกที่สนใจประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาร่วมกันให้มากที่สุด
    นายชื่นชอบ คงอุดม โฆษกกลุ่มกิจสังคมใหม่ ระบุว่า ที่ประชุม  4 พรรคเล็กเห็นด้วยกับแนวทางจัดตั้ง กมธ. และควรมีตัวแทนของทุกพรรคการเมืองร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย
จ่อยื่นอภิปราย 29 พ.ย.
    ส่วนความคืบหน้าในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค พท. กล่าวหลังผลการประชุมของวิปพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ที่ประชุมวิปจะยึดเอาตามปีปฏิทิน วันที่ 27 พ.ย. พรรคร่วมฝ่ายค้านจะประชุมอีกครั้ง เพื่อนำข้อมูลของและพรรคมาประมวล พร้อมทั้งกำหนดความชัดเจนว่า จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ และหลังประชุมคงได้ข้อสรุปคาดว่าจะสามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ในวันศุกร์ที่ 29 พ.ย. หรืออย่างช้าคือวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค.
    นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า พรรค พท.อยากให้มีการอภิปรายไม่เกินวันที่ 20 ธ.ค. เพราะหลังจากนั้นจะเข้าบรรยากาศเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ขอนแก่น รวมทั้งเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แต่ตอนนี้เห็นสัญญาณไม่ค่อยดีจากฝ่ายรัฐบาล เมื่อนายวิษณุออกมาพูดว่าการยื่นอภิปรายครั้งนี้ควรนับรอบตามปีปฏิทินหรือนับตามปีการตั้งรัฐบาล ถือเป็นการพูดที่พยายามทำให้ฝ่ายค้านไขว้เขว ทำลายจังหวะพรรค แต่เราก็ไม่รั้งรอจะเดินหน้าต่อไป แม้เชื่อว่ารัฐบาลพยายามจะกลั่นแกล้ง โดยบรรจุญัตติไปในช่วงปลายเดือน ธ.ค.ใกล้กับเทศกาลปีใหม่ ถ้าหากเป็นเช่นนั้น จะเป็นการทำลายบรรยากาศการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขอร้องว่าอย่าใช้วิธีนี้
“เมื่อเราอภิปราย อาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงปรับ ครม. ยุบสภา หรือลาออก โดยหวังให้เปลี่ยนแปลงเป็นระดับๆ อย่างไรก็ดีถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงถึงขั้นนายกฯ จะลาออก ก็ขออย่าให้บ้านเมืองเสียหาย โดยเฉพาะงบประมาณควรจะออก คุณจะออกก็อย่าให้เรื่องงบประมาณตกไป เดี๋ยวประชาชนจะลำบาก” นายสุทินระบุ
ด้าน พล.อ.ประวิตรกล่าวในประเด็นนี้ว่า แล้วแต่ฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะถอยหรือไม่ถอยญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในฐานะรัฐบาลก็จะเดินหน้าทำเพื่อประชาชน จะมีอะไรมาขวางก็ต้องแก้ไขกันไป
    นายวิษณุกล่าวถึงกรณีนายสุทินยังสงสัยเรื่องวงรอบอภิปรายนั้น ว่าทำถูกต้องแล้วที่หารือกับประธานสภาฯ ซึ่งข้อเท็จจริงนายสุทินไม่ได้เห็นต่างเรื่องกรอบเวลา เพียงแต่สงสัยเท่านั้นเองว่าใช่หรือไม่ ประเด็นที่ต้องมาถกเถียงกันคือ คำว่า 1 ปี หมายถึงปี พ.ศ.ละครั้ง ซึ่งจะครบในเดือน พ.ค.2563 ซึ่งเห็นอย่างนี้ หรือรอบสมัยประชุมสภา แต่ไม่มีหน้าที่วินิจฉัย และประธานสภาฯ ไม่ได้มีอำนาจโดยตรงที่จะวินิจฉัย แต่ในฐานะที่เป็นผู้รับญัตตินี้ หากเชื่อว่าญัตติที่ยื่นมาถูกต้องสามารถบรรจุวาระได้ แต่หากใครบอกว่าไม่ได้ก็ไปว่ากัน ช่องทางมีอยู่ เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่รัฐบาล เพราะเป็นผู้ถูกอภิปราย จึงไม่มีหน้าที่ไปดูฤกษ์ยามว่าต้องเมื่อไร เดือนไหน เร็วหรือช้า มีหน้าที่อย่างเดียวคือ เมื่อเขาจะอภิปรายก็ต้องไปชี้แจง
    นายอนุทินเชื่อว่า นายกฯ ตอบได้ในการอภิปราย และพร้อมช่วยนายกฯ แน่นอน ต้องช่วยอยู่แล้ว ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องนัดพูดคุยกันก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่นั้น น่าจะมีรอนายกฯ นัดหมาย
อนค.ร่ายเหตุผลจูงใจ
    ขณะเดียวกัน นายปิยบุตรยังกล่าวว่า ในการประชุมสภาสัปดาห์นี้น่าจะมีการลงมติตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบ เกี่ยวกับการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การออกคำสั่งของและการใช้มาตรา 44 ของ คสช. โดยระบุว่า จะเป็นผู้อภิปรายสรุปอีกครั้งในฐานะผู้เสนอญัตติ ทั้งนี้ เพิ่งทราบข่าวว่าวิปรัฐบาลยืนยันว่าไม่เห็นด้วยให้ตั้ง กมธ. ซึ่งเห็นว่าเรื่องการศึกษาผลกระทบจากบรรดาคำสั่ง คสช.นี้ อยากให้มองข้ามเรื่องพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ให้มองว่าเป็นภารกิจร่วมกันของ ส.ส.เพราะในช่วงยามที่คณะรัฐประหารปกครองประเทศ ออกคำสั่งเป็นกฎหมายได้หมด ตอนนี้มีการเลือกตั้ง มี ส.ส.แล้ว จำเป็นต้องเอาบรรดาการใช้อำนาจเหล่านั้นมาทบทวน
    "จริงอยู่ว่าเรามี กมธ.สามัญที่สามารถศึกษาเรื่องนี้ได้ คือชุดที่ผมเป็นประธาน นั่นคือ กมธ.กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าจะให้ กมธ.ชุดนี้ศึกษาจะจำกัดวงเฉพาะแค่ กมธ. 15 คนเท่านั้น แต่ถ้าตั้ง กมธ.วิสามัญนอกจากได้คนนอกมาร่วมศึกษาแล้ว ยังได้จัดสรรปันส่วนเปิดโอกาสให้เพื่อน ส.ส. ที่ติดตามประเด็นนี้ได้เข้ามานั่งร่วมกัน และแม้ที่ผ่านมามีการยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช.แล้วหลายฉบับ แต่มีอีกหลายฉบับที่ยังไม่ยกเลิก และบางฉบับแม้เลิกแล้ว แต่เกิดผลกระทบพี่น้องประชาชนจำนวนมากควรศึกษา ควรเยียวยาความเสียหาย ผลกระทบที่ประชาชนได้รับจากการใช้อำนาจนั้นหรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่ว่ายกเลิกแล้วเลิกกันเลย จะทำให้เกิดวัฒนธรรมความไม่รับผิดชอบเกิดขึ้นได้" นายปิยบุตรกล่าว
    นายปิยบุตรกล่าวว่า อยากเชิญชวน ส.ส.รัฐบาลช่วยกันลงมติเรื่องนี้ นี่ไม่ใช่เรื่องฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของสภา และการลงมติเรื่องนี้ไม่ใช่การไปนั่งทวงถาม เช็กบิลตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เป็นการศึกษาเพื่อเป็นบทเรียนว่าการออกประกาศตามคำสั่งนั้น สร้างความเสียหาย สร้างผลกระทบอย่างไรบ้าง ศึกษาเพื่อเป็นข้อเสนอแนะต่อไป
นายชื่นชอบกล่าวว่า กลุ่มกิจสังคมใหม่มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอจัดตั้ง กมธ.ในเรื่องนี้ เนื่องจากมี กมธ.ที่สามารถกลั่นกรองความคิดเห็น สภาพปัญหาที่กระทบประชาชนและหน่วยงานในเรื่องนี้อยู่แล้ว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"