สภาเดือด!วอล์กเอาต์/ชวนกรีดไม่ใช่โรงเหล้า


เพิ่มเพื่อน    

 งามหน้าสภาล่ม! ฝ่ายค้านชนะโหวตตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจาก ม.44 วิปรัฐบาลแก้เกมขอนับใหม่ทำให้ประท้วงกันวุ่น "ชวน" กรีด "สภาไม่ใช่โรงเหล้าเถื่อน" หลังพักการประชุมก็ยังวุ่น ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์เสนอนับองค์ประชุม พิลึกเหลือเพียง 92 เสียงจนต้องปิดการประชุม ฮือฮา! 6 ส.ส.ปชป.ลงคะแนนให้ฝ่ายค้าน "บิ๊กป้อม" หลุดปากประธาน กมธ.แก้ รธน.ชื่อ "ไพบูลย์" ด้าน "จุรินทร์" แจงเหตุไม่ส่งชื่อ "อภิสิทธิ์" นั่ง กมธ. หวั่นไม่ได้รับเลือก พท. โวยส่ง "ไพบูลย์" มาป่วนไม่ให้แก้ รธน.สำเร็จ

    ที่รัฐสภา เวลา 16.30 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม เข้าสู่วาระการพิจารณาญัตติด่วน เรื่องการให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (มกธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 โดยเป็นการพิจารณาต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว  
    โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวสรุปปิดท้ายว่า หากมีการตั้ง กมธ.ชุดนี้จะมาศึกษาว่าคำสั่งหรือประกาศ คสช.ฉบับใดดี ก็จะเปลี่ยนมาเป็นพระราชบัญญัติ ส่วนคำสั่ง คสช.ใดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนควรยกเลิกหรือฉบับใดยกเลิกไปแล้ว แต่ผลร้ายยังดำรงอยู่ ก็ควรหามาตรการเยียวยาให้ผู้เสียหาย ที่ระบุว่าคำสั่งและประกาศ คสช.ยกเลิกไปแล้วหลายฉบับ เหลืออยู่เพียงไม่กี่ฉบับนั้น แม้จะยกเลิกไปแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าปัญหาจะหมดไป เพราะผลพวงผลร้ายยังคงอยู่ เช่น การโยกย้ายหรือสั่งพักข้าราชการ 
    "ที่สำคัญการตั้ง กมธ.ชุดนี้ เป็นการแก้ปัญหาอวัฒนธรรม การพ้นผิดลอยนวล ต่อไปใครทำรัฐประหารจะย่ามใจ ทำแล้วก็นิรโทษกรรมตัวเอง ทำให้ประเทศไทยไม่พ้นจากวงจรอุบาทว์ มีรัฐประหารซ้ำซาก หากสภานิ่งเฉยจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ถ้าไปเจอกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. หรือจะเอาหน้าไปไว้ไหน ถ้าส่องกระจกดูตัวเอง" นายปิยบุตรกล่าว 
    จากนั้นได้มีการลงมติว่าจะให้ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ หรือไม่ ทันทีที่ผลคะแนนปรากฏว่ามีเสียงเฮลั่นจากฝ่ายค้านในห้องประชุม เพราะผลคะแนนพลิกล็อกเห็นชอบให้ตั้ง กมธ.ด้วยคะแนน 234 ต่อ 230 งดออกเสียง 2 และไม่ลงคะแนน 1 แต่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล รีบแก้เกมทันทีด้วยการเสนอให้นับคะแนนใหม่ เพราะเกิดความสับสนแพ้ชนะกันเฉียดฉิวทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านพากันส่งเสียงโห่ดังลั่น แต่นายชวนระบุว่าตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 85 ในกรณีมีคะแนนแพ้ชนะกันไม่เกิน 25 เสียง แต่การลงคะแนนใหม่ต้องใช้วิธีการขานชื่อทีละคน พร้อมขอคำยืนยันจากฝ่ายรัฐบาลจะให้ลงคะแนนใหม่ใช่ไหม ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ยกมือรับรอง 
    อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านไม่ยอมพากันประท้วงวุ่นวาย โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า หากให้นับคะแนนใหม่เช่นนี้ ก็ต้องนับใหม่ทุกครั้งที่มีการขอ ขณะที่นายปิยบุตรกล่าวว่า ขอให้ประธานวิปรัฐบาลใจเย็นๆ หวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจว่า แพ้ก็คือแพ้ อย่าให้มีปัญหากับสภาแห่งนี้ มิเช่นนั้นสภาจะทำงานต่อไม่ได้
สภาไม่ใช่โรงเหล้าเถื่อน
    ขณะที่นายชวนยืนยันว่า เป็นสิทธิของสมาชิกที่ขอให้นับคะแนนใหม่ ตนไม่มีทางหลีกเลี่ยง ถ้าไม่ให้นับใหม่ตนก็ทำผิดข้อบังคับการประชุม ในฐานะประธานไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่จะทำให้อย่างไร เพราะต้องวางตัวเป็นกลาง จากนั้นขอให้ตั้งคณะกรรมการนับคะแนนจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่ฝ่ายค้านไม่ยอมส่งตัวแทนเป็นคณะกรรมการนับคะแนน และฝ่ายค้านยังคงรุมประท้วงต่อเนื่อง บางคนตะโกนเสียงดังต่อว่าด้วยความไม่พอใจ จนนายชวนต้องบอกว่า "ให้รักษามารยาทด้วย สภาไม่ใช่โรงเหล้าเถื่อน" 
     ในที่สุด นายสมพงษ์ อมรวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน เสนอให้พักการประชุม 5 นาที เพราะขณะนี้กำลังมีปัญหากันนิดหน่อย ซึ่งนายชวนก็อนุญาตให้พักการประชุม 15 นาที  
    ต่อมาเวลา 18.55 น. เปิดประชุมสภาอีกครั้ง โดยนายชวนแจ้งว่าผลเป็นอย่างไรก็ตามขอให้สมาชิกมั่นใจว่าตนยึดข้อบงคับ ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยืนยันที่จะวินิจฉัยตามข้อบังคับ เมื่อมีการเสนอให้นับคะแนนใหม่ตามข้อที่ 85 ก็ต้องมีการลงมติโดยเปิดเผยตามข้อบังคับข้อที่ 83 ซึ่งก็พยายามมีการพูดคุยให้ทั้งสองฝ่ายมีข้อยุติร่วมกัน โดยขอให้แต่ละฝ่ายค้านยืนยันอีกครั้ง
    นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการเจรจากันมีแนวโน้มว่าน่าจะคุยกันได้ ซึ่งข้อบังคับข้อที่ 85 เปิดโอกาสให้นับคะแนนใหม่ได้ แต่เป็นข้อบังคับที่เหมาะกับสถานการณ์เสียงในสภาห่างกันชัดเจนเกิน 25 คะแนน แต่สภาชุดนี้มีเสียงห่างกันไม่ถึง 10 คะแนน และจะทำให้เกิดปัญหานับคะแนนใหม่อยู่เรื่อยในอนาคต จึงควรจะใช้อย่างเหมาะสม ถ้าหากวันนี้ไม่ได้รับความกรุณาจากประธานสภาฯ และฝ่ายเสียงข้างมากมาก ฝ่ายค้านก็จำเป็นไม่ขออยู่ร่วมประชุม ขอออกจากห้องประชุม
    ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวยืนยันขอให้มีการนับใหม่ แต่หลังจากมีโอกาสได้ทราบรายละเอียด จะเห็นได้ว่ามีหลายคนที่อยู่ในห้อง แต่ปรากฏว่ามีรายชื่อว่างดดอกเสียง และมีหลายคนที่โหวตแล้วเสียงออกมาตรงกันข้าม การทำงานในระบบวิปรัฐบาลในครั้งนี้เราก็ทำด้วยความละเอียดรอบคอบ เช็กเสียงมาโดยตลอด ยืนยันไม่ได้ต้องการเอาชนะคะคาน 
    ส่วนนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า พวกเราประสบปัญหานี้มาตลอด แต่วิธีปฏิบัติไม่ใช่ให้นับใหม่ แต่ใช้วิธียืนขึ้นแล้วให้ประธานตรวจสอบ ไม่ได้ให้นับใหม่อย่างนี้ เพราะเสียเวลา
    ขณะที่นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นท้วงว่า ประธานสภาฯ ได้วินิจฉัยไปแล้วว่าให้นับคะแนนใหม่ หากมีการประท้วงหรือวอล์กเอาต์ก็จะเกิดปัญหา
    ในที่สุดนายชวนยังยืนยันวินิจฉัยตามเดิม โดยให้นับคะแนนใหม่ตามข้อบังคับข้อที่ 85 และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนเสียงโดยเปิดเผยด้วยวิธีเรียกชื่อ ตามข้อบังคับข้อที่ 83(2)
6 ส.ส.ปชป.โหวตหนุนฝ่ายค้าน
    ทางด้าน ส.ส.ฝ่ายค้านได้เริ่มเดินออกจากห้องประชุมทันที ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ยังอยู่ในห้องประชุม และลุกขึ้นขอเสนอนับองค์ประชุมทันที แต่ผลยังไม่ออกนายวิรัชก็ลุกขึ้นกล่าวว่า ตอนนี้มีการนับองค์ประชุม เพื่อสมาชิกฝ่ายค้านได้เดินออกจากห้องประชุมไป แต่ถึงอย่างไรพรุ่งนี้ก็จะมีการประชุมอยู่แล้ว ฉะนั้นขอให้เลื่อนญัตติออกไปก็ได้ จากนั้นนายชวนขานองค์ประชุมว่ามี 92 เสียง ถือว่าองค์ประชุมไม่ครบ  และสั่งปิดในเวลา 19.17 น.
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของผลโหวต 236 ต่อ 231 งดออกเสียง 2 เสียง (ซึ่งบางส่วนลงคะแนนเพิ่มภายหลัง) ปรากฏว่ามีส.ส. 33 คนไม่ได้มาร่วมโหวต แบ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 18 คน ได้แก่ พลังประชารัฐ 8 คน, ประชาธิปัตย์ 6 คน, ภูมิใจไทย 3 คน และชาติไทยพัฒนา 1 คน ขณะที่เป็นฝ่ายค้าน 15 คน ได้แก่ เพื่อไทย 10  คน, อนาคตใหม่ 2 คน, เศรษฐกิจใหม่ 1 คน, เสรีรวมไทย 1 คน และประชาชาติ 1 คน
    อย่างไรก็ตาม เสียงข้างมาก 236 เสียง เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. ส่วนใหญ่เป็นเสียงของฝ่ายค้าน และมีเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นางกันตวรรณ ตันเถียร, นายเทพไท เสนพงศ์, นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์, นายอันวาร์ สาและ, นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
     น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ก่อนการปิดประชุมสภาว่า การลงมติฝ่ายที่เห็นด้วยในการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบจาก ม.44 ด้วยคะแนน 234 ต่อ 230 คะแนน ซึ่งเราก็ดีใจที่พรรคการเมืองหลายพรรคไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลได้ลงมติเห็นด้วยในการตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ต้องปกป้องสิทธิของประชาชนที่ถูกพรากไปในยุคของ คสช. ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมสภา สามารถนับคะแนนใหม่ได้จริงถ้าหากคะแนนห่างกันไม่เกิน 25 คะแนน แต่ว่าการนับคะแนนใหม่กับการรวมคะแนนใหม่นั้นไม่เหมือนกัน ฝ่ายที่แพ้โหวตมาขอให้นับคะแนนใหม่แบบนี้ เราจะมีสภาไว้ทำไม เสียงข้างมากเมื่อชนะแล้วจำเป็นต้องดำเนินต่อไป ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่ประธานวิปรัฐบาลต้องมาขอให้มีการนับคะแนนใหม่ และทำให้เกิดความวุ่นวาย กลายเป็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ต้องการให้เกิดการเยียวยาชดเชยกับผู้ได้รับผลกระทบจาก คสช.หรือไม่ 
    ก่อนหน้านั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เป็นประธาน กมธ.ศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องของเขาจะมาถามอะไรตน เมื่อถามว่าการถอนชื่อเช่นนี้สะท้อนว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ยอมเรื่องตำแหน่งประธานใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ จะไปรู้ได้อย่างไร ตนบอกแล้วว่าเป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องของสภา สื่อจะมาถามอะไรตน 
ชื่อ"ไพบูลย์"นั่งประธานกมธ.
    เมื่อถามย้ำว่า พรรค พปชร.ไม่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่เกี่ยว พรรคพลังประชารัฐก็ส่งชื่อไปแล้ว เมื่อซักว่าเป็นใคร พล.อ.ประวิตรกล่าวตอบด้วยน้ำเสียงจริงจังเสียงดังว่า "ไพบูลย์" 
    เมื่อถามว่าจะเสนอนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. เป็นประธาน กมธ.ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ใช่ ยังไม่รู้ ก็แล้วแต่เขา สื่อถามแล้วถามอีก เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ก็ถามไปแล้ว ตนก็ตอบไปแล้ว ส่วนรายชื่อ กมธ.ของพรรค พปชร.ก็เปิดไปแล้ว จะไปรู้ทั้งหมดทำไม 
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีพรรค ปชป.ไม่ส่งนายอภิสิทธิ์เป็น กมธ.ศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้ตำแหน่งประธานไปอยู่ที่พรรคพปชร.ใช่หรือไม่ ว่าไม่รู้ ตำแหน่งดังกล่าวขึ้นอยู่กับกรรมาธิการ 49คนจะไปโหวต และในการเสนอชื่อสัดส่วน กมธ.ของรัฐบาล 6 คน ไม่เคยพูดถึงตำแหน่งประธาน ส่วนที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน มาอยู่ในสัดส่วนของ ครม. เนื่องจากจะไปใส่ในโควตาอื่นก็เต็ม ซึ่งรัฐบาลได้โควตา 12 คน โดยให้วิปรัฐบาลไปเลือก 6 คน ส่วน ครม.เลือกเอง 6 คน ดังนั้นชื่อของนายไพบูลย์จะอยู่ในสัดส่วน ครม.หรือของรัฐบาลก็ได้ไม่แปลก ส่วนขั้นตอนการตั้งประธานเมื่อได้กมธ.แล้วต้องมีการประชุมโดยเลือกผู้อาวุโสที่สุดมาทำหน้าที่ประธานก่อน จากนั้นจึงเลือกประธานตัวจริง
    เมื่อถามว่า ตำแหน่งประธานมีสำคัญมากน้อยแค่ไหนถึงมีการถกเถียงตั้งแต่ยังไม่ตั้ง กมธ. นายวิษณุกล่าวว่า สื่อไปให้ความสำคัญเอง ตนไม่เห็นว่าจะมีอะไรมาก โดยเฉพาะกับ กมธ.วิสามัญ แต่การเป็นประธาน กมธ.สามัญอาจมีบทบาทต้องนั่งเป็นประธานไปตลอดสมัยก่อน อาจแย่งกันหรือผลัดกันเป็น เพราะจะได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ถ้าเป็น กมธ.วิสามัญ อาจมีอำนาจชี้ให้ไปพูด แต่ไม่มีสิทธิประโยชน์ได้เครื่องราชฯ 
    นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สัดส่วน ครม. 6 คนที่ตนรับผิดชอบ ถือว่าทุกคนมีคุณสมบัติที่ดี โดยเฉพาะคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สตรีนักธุรกิจ อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรม และทำงานในภาคสตรี ซึ่งมีความหลากหลาย สำหรับตำแหน่งประธานกมธ.นั้น เป็นเรื่องที่ กมธ. 49 คนจะไปเลือกกันเอง ไม่ได้เสนอใครเป็นพิเศษ แต่เมื่อเห็นรายชื่อก็คงรู้ว่าใครควรจะเป็นประธาน
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า พรรค ปชป.ได้รายชื่อครบถ้วนแล้ว 5 คน ที่จะเข้าไปเป็น กมธ. ส่วนก่อนหน้านี้มติที่ประชุมพรรคมีการเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ อันนั้นเป็นมติพรรคเบื้องต้น ที่มอบหมายให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ ไปหารือร่วมกับวิปรัฐบาล แต่ในเมื่อยังไม่มีความชัดเจน การที่จะส่งนายอภิสิทธิ์ไปเป็นประธาน กมธ. หรือ กมธ. ก็เกรงว่าจะเกิดความผิดพลาดมีปัญหาขึ้นมา ก็ต้องรักษาท่านไว้ พูดตรงๆ หาก กมธ.ไม่ได้เลือกท่าน มันก็จะไม่คุ้มที่สูญไป จากนี้ไปการเลือกประธาน กมธ.จะเป็นไปตามมติวิปรัฐบาลและเป็นเรื่องของ กมธ.
    เมื่อถามว่า มติที่ออกมาถือเป็นการถอยเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปได้หรือไม่ นายจุรินทร์ตอบว่า ความจริงต้องแยกเป็นประเด็น ซึ่งเรื่องนายอภิสิทธิ์ เป็นปกติเบื้องต้นของที่ประชุม ส.ส.พรรค เหมือนที่พรรคเคยปฏิบัติมาในทุกๆ เรื่อง ในส่วนของพรรคปชป. ไม่ส่งใครไปเป็นประธาน กมธ.แล้ว 
แก้ รธน.สำเร็จอยู่ที่ 3 ป.
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. กล่าวว่า  เมื่อ พล.อ.ประวิตรออกมารับลูกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีการแก้ไขแน่นอน ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ถือเป็นการให้สัญญาประชาคมแล้วหวังว่าท่านคงรักษาสัจจะของลูกผู้ชายชาติทหาร เชื่อว่า พล.อ.ประวิตรสามารถผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน เพราะเพียงแค่ท่านส่งสัญญาณไปยัง ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.เท่านั้น ส.ว.ทุกคนก็รอฟังสัญญาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม หรือ พล.อ.ประวิตรกันตลอดเวลา 
    "การเมืองในวันนี้อำนาจสูงสุดรวมศูนย์อยู่ที่พี่น้อง 3 ป. หากคณะ 3 ป.เปิดไฟเขียวเมื่อไหร่ ทุกอย่างก็จะราบรื่นและง่ายดายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปากเสียอีก ถ้า พล.อ.ประวิตรผลักดันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ ท่านจะได้รับเสียงชื่นชมแซ่ซ้องสรรเสริญจากทุกภาคส่วน และถ้าสำเร็จได้จริงภายในหนึ่งปีด้วยฝีมือและการสนับสนุนของ พล.อ.ประวิตรจริง ผมจะขออาสาเป็นตัวแทนของทุกคนที่รักประชาธิปไตย นำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบขอบพระคุณ พล.อ.ประวิตรถึงห้องทำงานที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาลทันที" นายเทพไทกล่าว 
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป. โพสต์ข้อความว่า ขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอผมเป็น กมธ.ปกติทุกประเทศเวลามีความขัดแย้งเขาจะตั้งหลักที่รัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้นับว่ายาก เพราะเหมือนถูกวางระเบิดเวลาไว้ โดยผู้วางคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ตอนนี้ท่านก็คงแอบดูอยู่ในหลุมหลบภัยว่า หากเราเข้าไปแตะระเบิดลูกนี้ จะระเบิดโดนใครตายบ้าง ผมก็เสียวๆ อยู่เหมือนกัน เพราะมีชื่อเป็นผู้เข้าไปแก้ระเบิดเวลาลูกนี้ด้วย
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่มีกระแสข่าวพรรค ปชป. ไม่ส่งชื่อนายอภิสิทธิ์ลงชิงตำแหน่งประธาน กมธ. เพราะกลัวขัดแย้งกับพรรค พปชร. สังคมก็ตั้งคำถามว่าตกลงการอยากอยู่ร่วมรัฐบาลให้นานที่สุด กับมติพรรคและสัญญาประชาคมพรรค ปชป. เห็นอย่างใดสำคัญกว่ากัน การจงใจส่งนายไพบูลย์มาเป็นประธาน กมธ. เจตนาชัดว่าจะยื้อเวลาและปั่นป่วนไม่ให้การทำงานศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถขับเคลื่อนได้ เป็นการส่งสัญญาณชัดว่าอยากอยู่ยาว พอได้อยู่ยาว ก็อยากอยู่ต่อให้นานที่สุด โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะเดือดร้อนอย่างไร
     คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รายชื่อที่ถูกเปิดเผยมาจากฝั่งรัฐบาลมีเจตนาที่จะดึงเกมหรือแก้เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเป็นบุคคลที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนเหล่านี้จึงไม่ต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อาจเข้ามาเพื่อเล่นเกมการเมืองเท่านั้น ขอเตือนอย่าส่งคนเข้ามาป่วนหรือยื้อ วันนี้ขอความจริงใจ แม้รัฐบาลจะมีเสียงมากกว่า แต่จะอยู่ได้ด้วยความจริงใจ
    ยังมีความเห็นเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเตรียมพร้อมรับศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ไม่เป็นไร เป็นเรื่องของฝ่ายค้าน ก็ได้กำชับในที่ประชุม ครม.และทุกกระทรวงไปแล้ว ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลและนโยบายต่างๆ ก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะทุกคนอยู่ในรัฐบาล ส่วนตัวของตนก็ไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะเราไม่มีอะไรจะต้องไปเตรียมความพร้อมเรื่องอะไร ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่าจะล็อกเป้าไว้ที่ 3 ป.นั้น ก็ทำไปเถอะ แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีเรื่องอะไร 
ฝ่ายค้านไร้เหตุผลซักฟอก
    ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันก่อนที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า วันนี้ฝ่ายค้านยังไม่ได้ยื่นญัตติเลย ยังไม่รู้รายละเอียดว่าจะอภิปรายใครบ้าง รอให้ฝ่ายค้านยื่นญัตติก่อน ส่วนที่ฝ่ายค้านจะพุ่งเป้าไปที่ประเด็นเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องของทีมเศรษฐกิจ ซึ่งทีมเศรษฐกิจทั้งหมดยืนยันมีเอกภาพอยู่ ไม่มีเอกภาพจะอยู่กันได้อย่างไร ตลอด 3เดือนของการทำงานที่ผ่านมา รัฐบาลมีความตั้งใจทำงานตามกฎหมาย ไม่มีอะไรที่จะทำให้เกิดความข้องใจ ทำงานอย่างเต็มที่และร่วมมือกันทุกฝ่าย
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า ฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่เกรงว่ารัฐบาลจะกลั่นแกล้งบรรจุญัตติใกล้ช่วงปีใหม่ว่า นายสุทินวิตกเกินเหตุ ขอให้ใจเย็นๆ ทำจิตใจให้สบายๆ อย่ามองโลกในแง่ร้าย รัฐบาลพร้อมจะชี้แจงทุกที่ทุกเวลา วันไหนก็ได้ เพราะเรามั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ส่วนการบรรจุญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น เป็นอำนาจของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล    
    "ที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายในประเด็นความล้มเหลวในการบริหารงานนั้น ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล เพราะรัฐบาลทำงานมา 4 เดือน งบประมาณปี 2563 ก็ยังไม่ได้ใช้ บวกกับประเทศเจอปัญหาเศรษฐกิจโลก เรียกว่ารัฐบาลทำเต็มที่แล้ว ขนาดสำนักวิจัยซูเปอร์โพลยังยกให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็น ครม.ในใจประชาชน เพราะทำงานหนัก กล้าคิด มือสะอาด" นายธนกรกล่าว
      มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า จากปัญหาความไม่ลงตัวภายในรัฐบาล ที่สะท้อนให้จากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สืบเนื่องจากการทำงานระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหลักๆ 3 พรรคคือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย มีความขัดแย้งขึ้นหลายครั้ง และต่างคนต่างทำงานของตัวเอง ทั้งยังมีการข่มขู่จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลด้วย ทำให้พรรคพลังประชารัฐจำเป็นต้องหาหลักประกันในการขับเคลื่อนงานในสภา ด้วยการติดต่อ ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย มาสนับสนุนการทำงานในสภา หากพรรคร่วมรัฐบาลเล่นเกมการเมืองโดยใช้เสียง ส.ส.มาเป็นเครื่องต่อรอง
     ขณะนี้แกนนำพรรคพลังประชารัฐได้ติดต่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทยให้ยกมือสนับสนุนรัฐบาลในบางเรื่อง ได้แล้วประมาณกว่า 20 คน ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ภาคอีสาน ซึ่งการประสานครั้งนี้จะเป็นในลักษณะการฝากเลี้ยง คือให้พรรคพลังประชารัฐดูแล ส.ส.คนที่ติดต่อไว้เพียงแค่ช่วยขับเคลื่อนงานในสภาโดยไม่จำเป็นต้องย้ายพรรค เรื่องนี้ทางแกนนำพรรคพลังประชารัฐได้ประสานไปยังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เป็นบุคคลที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยให้ความเคารพรับทราบแล้ว ซึ่งนายทักษิณไม่ได้ขัดข้องอะไร สอดคล้องกับการวางตัวของนายทักษิณในช่วงหลังที่โลว์โปรไฟล์ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง โดยนายทักษิณถึงกับบอกผู้ที่ไปประสานว่า “ฝากเลี้ยงไปแล้ว ก็ขอให้เลี้ยงให้ดีด้วยนะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"