กับดักGEN Y “ของมันต้องมี”


เพิ่มเพื่อน    

 

            เมื่อประมาณ ปี 2560 เคยมีข้อมูลของสถาบันวิจัยป๋วย อึ้งภากรณ์ ที่ร่วมกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้ทำการศึกษา Big Data Analytics และพบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้นานขึ้น และมีมูลหนี้มากขึ้น และเมื่อแยกย่อยลงในรายละเอียด ยังพบอีกว่า “คนไทยเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย” อีกด้วย  โดยฐายข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่า ครึ่งหนึ่งของคนอายุราว 30 ปี มีหนี้สิน โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่ออุปโภคบริโภค หนี้บัตรเครดิต และถ้าดูคนไทยที่มีหนี้เสีย หรือหนี้ค้างชำระมากกว่า 3 เดือน ก็จะพบอีกว่า ลูกหนี้ที่อยู่ในช่วงอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงานและอยู่ในช่วงวางรากฐานที่สำคัญให้ครอบครัว เป็นลูกหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน มากถึง 1 ใน 5

                และล่าสุด “ศูนย์วิจัย TMB Analytics” ที่ได้ออกมาเปิดเผยถึงผลการศึกษาพฤติกรรมการเงินจากข้อมูลโซเชียลมีเดียของคน GEN Y ส่วนใหญ่มีความฝันสร้างอนาคตที่ดีและมั่นคง อยากมีบ้าน รถ และเงินออม แต่ความเป็นจริงห่างไกล สาเหตุจากติดกับดักค่าใช้จ่าย “ของมันต้องมี” ทำให้ในแต่ละปีกลุ่ม GEN Y ต้องเสียเงินรวมกันสูงถึง 1.37 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของจีดีพี ซึ่งเทียบได้กับมูลค่าลงทุนในพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในระยะ 5 ปี หรือ 8 เท่าของมูลค่าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยพร้อมแนะเพื่อให้ GEN Y มีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีขึ้น

                ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ว่า GEN Y 1.4 ล้านคนเป็นหนี้ ซึ่งเป็นหนี้เสียคิดเป็น 7% ของยอดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) รวมจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า กลุ่ม GEN Y (อายุ 23-38 ปี) มีการกู้ 7.2 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 50% ของ GEN Y ทั้งหมด มีภาระหนี้อยู่ที่ 4.23 แสนบาทต่อคน ที่น่าสังเกตคือ 20% ของ GEN Y ที่กู้ หรือ 1.4 ล้านคนเป็นหนี้ผิดนัดชำระ ซึ่งคิดเป็น 7.1% ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีการผิดนัดชำระ

                เพียงเพราะทัศนคติเหล่านี้ ทั้งบริโภคนิยม ตัดสินใจซื้อแบบไม่ต้องคิด ความสุขซื้อได้ด้วยประสบการณ์ ซึ่งเป็นที่มาของประโยคยอดฮิต “ของมันต้องมี”

                นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ให้รายละเอียดถึงผลจากการสำรวจพฤติกรรมของ GEN Y บนโซเชียล ว่าความหวัง “ของมันต้องมี” ก่อนอายุ 40 คือ อยากมีบ้าน 48%, รถยนต์ 22% ขณะที่อยากมีเงินออมและสินทรัพย์อื่นๆ มีไม่มาก อยู่ที่ 13% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับ GEN Y เมื่อวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลจากการศึกษา พบว่ามียอดใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าของมันต้องมีถึง 69% ขณะที่รายการซื้อบ้าน ซื้อรถที่เป็นความฝัน มีสัดส่วนที่ลดลงมาก รวมทั้งสัดส่วนเงินออมมีไม่ถึง 10%

                โดยเฉลี่ย GEN Y หมดเงินไปกับ “ของมันต้องมี” ปีละเกือบแสน หรือ 1 ใน 4 ของรายได้ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการซื้อโทรศัพท์ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋า และนาฬิกา/เครื่องประดับ โดยสาเหตุที่ GEN Y อยากได้ “ของมันต้องมี” เป็นเพราะซื้อตามเทรนด์กลัวเอาต์ 42% มากกว่ามองเป็นของจำเป็น 37% แถมเงินที่ใช้ซื้อนั้น คนส่วนใหญ่ 70% บอกมีเงินไม่พอ แต่ใช้การกู้จากธนาคารและใช้บัตรเครดิตกับบัตรกดเงินสดในการใช้จ่าย ซึ่งเมื่อลงรายละเอียดพบว่ามากกว่า 70% ของ GEN Y มีการผ่อนชำระที่ต้องเสียดอกเบี้ย

                นอกจากนี้ GEN Y มีลักษณะเข้าทำนองฝันไกลแต่ไปไม่ถึง สะท้อนจาก GEN Y ที่เริ่มต้นทำงานเฉลี่ยตั้งเป้าอยากมีเงินเก็บ 6 ล้านบาท แต่บอกจะออมเงินแค่เฉลี่ยเดือนละ 5,500 บาท ซึ่งถ้าเก็บด้วยอัตรานี้ต้องใช้เวลาถึง 90 ปี จึงจะถึงเป้าหมาย

                ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกพฤติกรรมทางการเงินและทัศนคติของ GEN Y พบว่า GEN Y ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่าย “ของมันต้องมี” น้อยกว่าเงินเก็บมีสัดส่วน 53% ขณะที่กลุ่มที่มีพฤติกรรมค่าใช้จ่าย “ของมันต้องมี” มากกว่าเงินเก็บอยู่ที่ 47% แม้สัดส่วนน้อยกว่าอีกกลุ่ม แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนแล้วมีถึง 6.8 ล้านคน จึงเป็นสิ่งต้องให้ความสำคัญอยู่ และหากผ่าโครงสร้างทางการเงินของ GEN Y สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องได้ แต่เงินไม่มี” ขณะที่กลุ่ม GEN Y “ของมันต้องมี และเก็บเงินได้”

                อย่างไรก็ดี GEN Y จะต้องทำอย่างไรหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไรเพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีหรือมีวินัยทางการเงิน สิ่งแรกที่แนะนำคือ ลดเงินที่ใช้กับ “ของมันต้องมี” ลงแค่ 50% (เชื่อว่าลดหมด 100% เป็นไปได้ยาก) ควบคู่กับวางแผนการบริหารเงินให้ดีโดยเพิ่มการออมการลงทุนให้ถูกที่ แค่นี้ GEN Y จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นบาทต่อปี  เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรือยาวไป 30 ปี ก็จะสามารถซื้อทรัพย์สินตามที่เคยตั้งความหวังไว้ได้ไม่ยาก.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"