สุริยะพิงนายกฯ-อ้างหนู เอาด้วยยืดแบนสารพิษ!


เพิ่มเพื่อน    

 "สุริยะ" พิงหลัง "บิ๊กตู่" อ้างเห็นด้วยเลื่อนแบนสารพิษ สวน "ปริญญา" กก.วัตถุอันตรายลงมติถูกต้อง ยันมีเทปบันทึกเป็นหลักฐาน ขู่ฟ้องกลับเครือข่าย 686 องค์กร "อนุทิน" เสียงอ่อยแจง รพ.ติดป้ายหนุนเลิก 3 สารแค่แสดงความเห็น

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงปัญหามติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่เลื่อนการยกเลิกการใช้สารเคมีทางเกษตร คือพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสไปอีก 6 เดือน และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ว่า ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบถึงประเด็นที่จำเป็นต้องการมีเลื่อนการยกเลิกสารพิษดังกล่าวไปอีก 6 เดือน เนื่องจากยังมีอยู่ในมือเกษตรกร และสต๊อกของร้านค้าจำนวนนับหมื่นล้านบาท ซึ่งนายกฯ เห็นด้วยที่จะต้องมีการเลื่อนไป เพราะถ้าไม่เลื่อนจะนำเงินที่ไหนไปจ่ายให้เกษตรกร รัฐไม่มีเงินจ่ายให้อยู่แล้ว 
    ส่วนอีกประเด็นที่มีการระบุว่ามติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายมิชอบนั้น ยืนยันว่าเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายกฎหมายดูแลเรียบร้อย มีการถอดเทปการประชุม เรื่องนี้ได้ข้อยุติแล้ว นายกฯ เองก็เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องของคณะกรรมการ สำหรับกรณีที่พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยที่จะให้ชะลอนั้น ในที่ประชุม ครม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ก็ไม่ได้พูดอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่มองว่าอะไรเกิดประโยชน์กับการแก้ไขปัญหาในภาพรวม ซึ่งนายกฯบอกว่าไม่ใช่การดูแลสุขภาพอย่างเดียว ต้องดูแลเรื่องของรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้ใช้ ต้องดูให้ครบทุกภาคส่วน
    ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการเผยแพร่เทปการประชุมหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า กลายเป็นว่าบางคนเมื่อพูดแล้วอาจจะไม่อยากออกสื่อ แต่ถ้ากรรมการคนใดมีปัญหา เราสามารถเปิดเทปให้ดูได้
    เมื่อถามถึงกรณีที่นายอนุทินเสนอให้ตีความว่ามติของคณะกรรมการเป็นมติที่ถูกต้องหรือไม่ รมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า ตอนนั้นนายอนุทินไม่มีข้อเท็จจริงเรื่องนี้ คือไปฟังคำพูดแล้วจับประเด็นมา แต่ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายนั้น มีการสอบถามกรรมการแต่ละคน ซึ่งนายอนุทินและพรรคภูมิใจไทยเข้าใจเรียบร้อยแล้ว
    นายสุริยะยังกล่าวถึงกรณี ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย 27 พ.ย. ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า? ยืนยันการแบนสารพิษมีการลงมติอย่างถูกต้อง ได้ให้เจ้าหน้าที่ถอดเทปเสียงเพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการลงมติอย่างชัดเจน สำหรับการลงมติของคณะกรรมการแต่ละคน ในช่วงของการอภิปรายมีกรรมการหลายคนให้ความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป บางคนอยากให้แบนทันที บางคนอยากให้เลื่อนออกไปอีก 3 และ 6 เดือน หรือแม้แต่ไม่ให้แบนสารพิษก็มี จึงบอกในที่ประชุมว่าไปร่างเป็นมติเพื่อนำมาพิจารณาว่าควรเป็นอย่างไร เมื่อมติขึ้นบนจอในที่ประชุมก็ให้ไปปรับแก้ให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย เมื่อร่างมติเป็นที่พอใจแล้วตนได้ถามในที่ประชุมว่ามีใครเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ซึ่งทุกคนยืนยันว่าเห็นด้วยกับมติดังกล่าว ส่วนที่ไม่เห็นด้วยคืออยากให้เลื่อนการแบนสารพิษไปมากกว่า 6 เดือน แต่ไม่มีใครเสนอบอกให้แบนสารพิษในทันที
    "ผมถือว่ามตินี้มีความเป็นเอกฉันท์ คือไม่ให้แบนสารพิษในทันที ส่วนที่มาตรา 12 พ.ร.บ.วัตถุอันตรายระบุว่าต้องให้ลงมตินั้น การลงมติไม่ได้หมายความว่าต้องยกมืออย่างเดียว การที่ผมถามว่าในที่ประชุมมีความเห็นอย่างไร และเห็นด้วยหรือไม่ ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องยกมือ ไม่ใช่ว่าต้องทำเหมือนทุกครั้งที่จะต้องมายกมือกัน ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นเป็นแบบนี้ นอกจากนี้ผมก็ถามย้ำแล้วว่าที่ประชุมมีมติเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีคนมีความเห็นเป็นอย่างอื่นก็ถือเป็นมติได้" รมว.อุตสาหกรรมระบุ
    ส่วนที่ รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม หนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ระบุว่าไม่มีการลงมตินั้น นายสุริยะกล่าวว่า ลองไปถามคณะกรรมการคนอื่นดู ทุกคนจะยืนยันว่ามีมติออกมาชัดเจน และการทำงานในรูปของคณะกรรมการต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าอย่างไรควรจะเคารพตามนั้น ไม่ใช่ออกไปแถลงข่าวข้างนอกเมื่อความเห็นตนเองไม่ตรงกับความเห็นส่วนใหญ่ ไม่ควรทำเช่นนี้
    เมื่อถามถึงกรณีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร เตรียมฟ้องศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบ นายสุริยะกล่าวว่า ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าในองค์กรที่ระบุว่ามี 686 องค์กรมีจำนวนกี่คน แต่การที่มีการแถลงข่าวออกไปและทำให้ตนได้รับความเสียหายนั้น จะให้นักกฎหมายไปดูเพื่อเตรียมที่จะฟ้องกลับ
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แค่ไปทำความจริงให้ปรากฏแล้วมาชี้แจง ส่วนที่กรรมการบางคนอ้างว่าที่ประชุมไม่มีการลงมติและไม่มีนับคะแนนด้วยนั้น ตนไม่ทราบรูปแบบ วิธี และการลงมติของคณะกรรมการชุดนี้ ขณะที่การประชุม ครม.ไม่มีการลงมติแบบที่ให้มีการออกเสียง มีเพียงแค่ประธานในที่ประชุมสอบถามว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยหรือไม่ แล้วออกเป็นมติ อย่างไรก็ตาม วิธีการควบคุมการประชุมมีหลายวิธี ไม่ใช่ต้องให้มีการโหวตทุกครั้ง และได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของนายภักดี โพธิศิริ หนึ่งในกรรมการดังกล่าว ที่ระบุว่าหลังการประชุมเสร็จสิ้นได้มีการยกร่างมติแล้วอ่านมตินั้นให้ที่ประชุมรับทราบทันที หากเป็นไปตามนั้น ทำให้เห็นว่าเดินหน้าไปมากกว่าที่เรารู้ ในเมื่อเรื่องจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
    เมื่อถามว่า หากมติใดก็ตามที่ไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา สามารถเปลี่ยนแปลงได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า แม้แต่มติที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่อยู่ที่ว่าจะต้องทำหรือไม่ แต่ไม่ทราบว่าเขาลงมติอะไร ขอให้ไปสอบถามเจ้าของเรื่องดีกว่า ส่วนที่เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร และเครือข่ายผู้บริโภคจะยื่นฟ้องร้องนายสุริยะนั้น ก็แล้วแต่ จะกี่ศาลก็ช่าง อย่างไรก็ตาม สามารถนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ไม่จำเป็นต้องส่งไปสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ติดป้ายสนับสนุนการแบนสารพิษว่า ไม่มี และในแต่ละโรงพยาบาลต่างยืนยันว่าทั้ง 3 สารพิษนั้นอันตราย ส่วนที่มีการติดป้ายไม่เห็นด้วยกับการชะลอแบนสารพิษในแต่ละโรงพยาบาลนั้น เป็นการแสดงความเห็นของเขาเอง เชื่อว่าไม่มีความเคลื่อนไหวอะไร และไม่จำเป็นต้องส่งสัญญาณใดๆ ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพราะเชื่อว่าทุกคนคงเบื่อกับการรักษาคนไข้ที่ป่วยที่มีสาเหตุมาจากสารพิษ
    ขณะที่ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เลื่อนการแบนสามสารพิษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?" ว่าตามมาตรา 12 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ที่ระบุการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก ซึ่งหมายถึงเสียงข้างมากของผู้เข้าประชุม และเมื่อต้องมีการออกเสียง ต้องมีการตรวจสอบองค์ประชุมก่อนด้วย โดยตามข้อเท็จจริงจาก รศ.ภญ.จิราพร การประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีการให้กรรมการแต่ละคนได้ลงมติหนึ่งคนหนึ่งเสียงแต่ประการใด ซึ่งสอดคล้องกับที่นายสุริยะได้ให้สัมภาษณ์ไว้ คือตนเองสันนิษฐานเอา ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการตรวจสอบองค์ประชุมว่ามีสมาชิกมาประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งแล้วหรือไม่ มตินี้จึงมิใช่มติที่ดำเนินการถูกต้องตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย หรือพูดอีกอย่างได้ว่าเท่ากับยังไม่มีมติใหม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"