สรรหา CEO ปตท.คนใหม่


เพิ่มเพื่อน    

                                                                     

                หากเป็นไปตามกำหนดการ วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคมศกนี้ คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ที่มีนายดอน วสันตพฤกษ์ เป็นประธาน จะเริ่มทำการคัดเลือกผู้สมัครในขั้นต้นด้วยการเปิดให้ทุกคนได้แสดงวิสัยทัศน์

                การสรรหาผู้ว่าฯ ปตท.คนที่ 10 นี้ ถือเป็นกระบวนการที่เรียกว่าคึกคักที่สุดก็น่าจะได้ เพราะมีผู้สมัครมากถึง 6 คน และในจำนวนนี้มีผู้หญิงร่วมด้วยถึง 2 คนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

                มิติใหม่ของการชิงเก้าอี้ซีอีโอในองค์กรที่เรียกว่าเป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เพราะ ปตท.เป็นธุรกิจรายได้ขนาดสูงถึง 1.24 ล้านล้านบาทนั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องโฟกัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ระบุว่า บ้านเมืองมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มี ส.ส.และรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง 

                นักการเมืองจะล้วงลูก การเมืองจะเข้าแทรกแซงในกระบวนการสรรหาครั้งนี้หรือไม่ "คนนอก" อาจจะรู้บ้างไม่รู้บ้าง หรือวิเคราะห์คาดเดาผ่านข้อมูลต่างๆ บนหลักการของ "ยุคใครยุคมัน" หรือแบบแรงส์ก็เข้าทำนอง "ทีเอ็งข้าไม่ว่า..ทีข้าเอ็งอย่าโวย" แต่สำหรับ "คนใน" แล้วเชื่อว่า หลายคนรู้ลึกรู้จริงว่า การเมืองจะล้วงลูกเส้นทางการเดินเข้าสู่ตำแหน่ง  "ผู้บริหารสูงสุด" ของ ปตท.ไม่ได้เลย หากคณะกรรมการสรรหายึดหลักการคัดเลือกอย่างถูกต้อง ยุติธรรม และเป็นไปตามครรลองที่พึงปฏิบัติในการคัดเลือก อันได้แก่

                1.ผู้ว่าฯ ปตท.ต้องซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส 2.ผู้ว่าฯ ปตท.ต้องมีภาวะผู้นำ กล้าคิดกล้าตัดสินใจ 3.ผู้ว่าฯ ปตท.ต้องมีวิสัยทัศน์ 4.ผู้ว่าฯ ปตท.ต้องมีความรู้ความสามารถนำพาองค์กรเป็นเสาหลักของประเทศ 5.ผู้ว่าฯ ปตท.ต้องเชื่อมโยงทุกฝ่ายและทำงานร่วมกับทุกคนได้ และ 6.ผู้ว่าฯ ปตท.ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกภาคส่วน

                เชื่อว่าผู้สมัครทั้ง 6 คน ประกอบด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท., นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์, นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี, นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (จีพีเอสซี), น.ส.เพียงพนอ บุญกล่ำ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย บมจ.ปตท. และ น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (โออาร์) มีคุณสมบัติมากพอจึงตัดสินใจลงสมัคร แต่ย่อมมีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกันไป ซึ่งย่อมเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาจะกลั่นและกรองว่า ใครคือผู้เหมาะสมที่สุดในยุคที่เรียกว่า Disruption และยุคที่การเมืองแทรกไปทุกแห่ง

                คณะกรรมการสรรหา 5 ท่านที่ประกอบด้วย นายดอน วสันตพฤกษ์, นายวิชัย อัศรัศกร, ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, พล.อ.ธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ และ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล ว่าไปแล้วล้วนเป็นบอร์ดหรือกรรมการอยู่ในบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อยู่แล้ว ย่อมต้องรู้จักและได้สัมผัสวิธีการทำงานของผู้สมัครทั้ง 6 คนไม่มากก็น้อย

                จึงไม่ใช่เรื่องยากแน่นอน หากจะทำหน้าที่เบื้องต้นในการสรรหาซีอีโอคนใหม่แทนนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร แบบตรงไปตรงมา ตามสูตรพึงเป็นพึงกระทำและพึงปรารถนาขององค์กรระดับยักษ์นี้

                 แต่เรื่องที่ไม่ง่ายคือ ถ้ามีใครวิ่งใครเต้น หรือขอมา มันคงจะกระอักกระอ่วนกวนใจให้รู้สึกเบื่อหน่ายว่า แม้แต่องค์กรเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ระดับแนวหน้าของประเทศ ยังไม่พ้นเงื้อมมือนักการเมือง แล้วประสาอะไรที่จะหวังกับอนาคตของประเทศ!!.

     "ปิยสาร์" 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"