'ซูจี' แจงศาลโลก พม่าไม่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจา


เพิ่มเพื่อน    

นางอองซาน ซูจี ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของแกมเบียต่อศาลโลกในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮีนจาเมื่อวันพุธ ยืนยันเมียนมาไม่มี "เจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ระหว่างการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธชาวโรฮีนจาที่โจมตีสังหารเจ้าหน้าที่เมื่อปี 2560 แต่ยอมรับทหารอาจใช้กำลังเกินกว่าเหตุซึ่งเมียนมากำลังสอบสวนภายในประเทศ

นางอองซาน ซูจี ชี้แจงต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 / ANP / AFP

    ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เปิดรับฟังการชี้แจงในคดีที่แกมเบียยื่นฟ้องเมียนมาฐานละเมิดอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งองค์การสหประชาชาติ เป็นวันที่ 2 เมื่อวันพุธที่ 11 ธันวาคม 2562 โดยนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐของเมียนมา เป็นตัวแทนเมียนมาชี้แจงและแก้ข้อกล่าวหาของแกมเบีย ที่แจกแจงต่อศาลไปแล้วเมื่อวันอังคาร

    นางซูจี ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2534 ปฏิเสธคำกล่าวหาของประเทศแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้ที่ว่าปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560 เป็นความพยายามฆ่าชาวโรฮีนจาให้หมดสิ้นนั้น เป็นคำกล่าวหาที่ "หลงผิดและไม่ครบถ้วน"

    "น่าเสียใจ แกมเบียนำเสนอภาพของสถานการณ์ในรัฐยะไข่ต่อศาลแห่งนี้แบบหลงผิดและไม่ครบถ้วน" ผู้นำรัฐบาลเมียนมาโดยพฤตินัยวัย 74 ปี กล่าวต่อคณะตุลาการศาลโลก พร้อมกับชี้แจงว่า กองทัพเมียนมาเปิดปฏิบัติการเพื่อตอบโต้ที่นักรบโรฮีนจาหลายร้อยคนโจมตีเจ้าหน้าที่ก่อนหน้านั้น

    นางซูจีย้ำว่า เมียนมากำลังจัดการปัญหาความขัดแย้งด้วยอาวุธภายในประเทศ สถานการณ์ที่รัฐยะไข่มีความซับซ้อนและท้าทายอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงของเมียนมา จึงควรระลึกเรื่องนี้ด้วยหากจะประเมินเจตนาของผู้ที่พยายามรับมือกับการก่อกบฏ "แน่นอนว่า ภายใต้สภาพการณ์นี้ เจตนาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่อาจใช้เป็นข้อสันนิษฐานเพียงประการเดียว" นางกล่าว

    แกมเบียในฐานะตัวแทนองค์การความร่วมมืออิสลามยื่นฟ้องต่อไอซีเจเมื่อเดือนพฤศจิกายน กล่าวหาเมียนมาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจา เมื่อวันอังคาร อาบูบาการ์ ทัมบาดู รัฐมนตรียุติธรรมของแกมเบีย และทนายความของชาวโรฮีนจา แจงต่อศาลถึงพฤติกรรมโหดร้ายป่าเถื่อนของเมียนมาที่ทำให้ชาวโรฮีนจากว่า 740,000 คนอพยพเข้าสู่บังกลาเทศ ซึ่งรายงานการสอบสวนของยูเอ็นเมื่อปีที่แล้วสรุปว่าเทียบเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

    นางซูจีซึ่งนั่งนิ่งรับฟังคำกล่าวหาเหล่านี้เมื่อวันก่อน ยอมรับว่า อาจมีพลเรือนเสียชีวิตในปฏิบัติการของกองทัพ เช่นการยิงลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ แต่นางย้ำว่าเป็นความสูญเสียที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในภาวะความขัดแย้งด้วยอาวุธ กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าทหารอาจใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ซึ่งบางกรณีละเลยกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือไม่มีการแบ่งแยกที่ชัดเจนระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับพลเรือน แต่เมียนมากำลังสอบสวนว่ามีการก่ออาชญากรรมสงครามหรือไม่ ซึ่งจะต้องถูกดำเนินการโดยระบบยุติธรรม

    ที่ผ่านมาไอซีเจเคยตัดสินว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพียงกรณีเดียวเท่านั้นคือการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านเซเบรนิกาในบอสเนียเมื่อปี 2538 นางซูจียังโต้แย้งด้วยว่า ในกรณีสงครามบอลข่านยุค 1990 ศาลแห่งนี้ก็ไม่ได้ตัดสินว่าการขับไล่พลเรือนครั้งใหญ่นั้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

    ด้านวิลเลียม ชาบาส ทนายความของเมียนมา ก็พุ่งประเด็นเรื่องการขาดหลักฐานบ่งชี้ถึง "เจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ซึ่งเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากในกฎหมายระหว่างประเทศ และแย้งรายงานของคณะสอบสวนยูเอ็นที่แกมเบียยกมาอ้างอิงว่ามีความ "บกพร่อง" และศาลควรละทิ้งประเด็นนี้

    นอกจากคดีที่ไอซีเจ เมียนมายังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในหลายศาล รวมถึงที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) คดีอาชญากรรมสงคราม และการฟ้องนางซูจีต่อศาลอาร์เจนตินา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"