ระวังความขัดแย้ง รอบใหม่รอปะทุ


เพิ่มเพื่อน    

มีความรู้สึกฝ่ายบริหาร

มาครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติทุกเรื่อง

 เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช 4 สมัย พรรคประชาธิปัตย์ ชื่อนี้ไม่ต้องเขียนบรรยายความเป็นมากันให้มากความ เพราะเป็นนักการเมืองคนดังของสภาผู้แทนราษฎรและของพรรคสีฟ้า-ประชาธิปัตย์ ที่แวดวงการเมืองรู้จักกันเป็นอย่างดี

บทสนทนาการเมืองกับ เทพไท รอบนี้มีหลากหลายเรื่องราว ตั้งแต่เรื่องพรรคประชาธิปัตย์ที่แม้จะเป็นพรรครัฐบาล แต่ก็ถูกมองว่าอยู่ในสภาพผึ้งแตกรัง-เลือดไหลออกต่อเนื่อง หลังก่อนหน้านี้แค่ 1-2 เดือนมีอดีต ส.ส.ลาออกไปแล้วหลายคน อาทิ อนุชา บูรพชัยศรี, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และล่าสุด พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ตลอดจนเรื่องอื่นๆ เช่น บทบาทการเป็น ส.ส.รัฐบาลในยุคปัจจุบัน ที่เทพไทยอมรับว่าเป็นยุคที่มีซูเปอร์วิปรัฐบาลมาคุมการทำงานของ ส.ส.รัฐบาลมากเกินไป ตลอดจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เทพไทย้ำว่ารัฐบาลประยุทธ์ต้องมีส่วนร่วมในการเดินหน้าแก้ไข รธน.ให้เป็นผลสำเร็จ ไม่ควรยื้อเวลา

ลำดับแรก เทพไท กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองต่อจากนี้ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ต่อศาลรัฐธรรมนูญ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกมาเคลื่อนไหวการเมือง โดยเชิญชวนประชาชนให้ไปร่วมเคลื่อนไหวที่สกายวอล์ก ปทุมวัน เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยมองว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.พูดไว้ก่อนหน้านี้ถูกต้องทุกประการ ว่ามันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมรอบใหม่ ทั้งกรณีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ ทำให้กลับมาเป็นคู่ขัดแย้งเสียเองจากที่เคยเป็นกรรมการกลาง ถึงตอนนี้ก็เห็นชัดว่าวันนี้มันกำลังจะเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นขึ้นมาแล้ว เห็นจากที่นายธนาธรนัดชุมนุมซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น

“สถานการณ์ก็น่าเป็นห่วง พลเอกประยุทธ์ควรต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตัวเองและขจัดเงื่อนไขความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นออกไปให้มากที่สุด

...วันนี้สังคมเรียกร้องให้มีการศึกษาปัญหาและแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาไม่ชอบหลายประการ เช่น คนร่าง รธน.ก็มาจาก คสช. หรือเรื่องที่บอก รธน.จะปราบปรามทุจริตก็ไม่เป็นจริง เป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อ หรือการที่ คสช.พิจารณารายชื่อตั้ง ส.ว. แล้ว ส.ว.ก็มาโหวตให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่เรียกว่าผลัดกันเกาหลัง เลยทำให้การเข้าสู่อำนาจของพลเอกประยุทธ์คนไม่ยอมรับ เราจะสังเกตเห็นว่าคนที่ขัดแย้งทางการเมืองตอนนี้ต่างก็มุ่งเป้ามาที่รัฐธรรมนูญ เพราะรู้ว่ากติกาตรงนี้พลเอกประยุทธ์เขียนแล้วได้เปรียบคนอื่น ทำให้มีการไม่ยอมกัน เรื่องนี้ถ้าจะตัดปัญหาก็ควรที่พลเอกประยุทธ์เปิดไฟเขียวให้ศึกษาและแก้ไข รธน. ถ้าทำได้ก็จะลดความขัดแย้ง เพราะอย่างธนาธรก็จะมุ่งเน้นเรื่องรัฐธรรมนูญในการเคลื่อนไหว รวมถึงกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว ทุกส่วนก็มุ่งมาที่กุญแจหลักคือรัฐธรรมนูญ พลเอกประยุทธ์ก็ควรปลดล็อกให้มีการศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ และอะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ให้มีการแก้ไข โดยพลเอกประยุทธ์ก็ส่งสัญญาณไปที่ ส.ว.ให้มีการแก้ไข ทุกอย่างก็จะเดินไปได้

เทพไท กล่าวถึงเรื่องการเมืองบนท้องถนนที่อาจจะเกิดขึ้นอีกต่อจากนี้ว่า น่าเป็นห่วงมาก คนไทยทั้งประเทศไม่มีใครอยากฝันร้ายเห็นการเดินประท้วงทางการเมืองบนท้องถนนอีกแล้ว มันน่าจะจบไปแล้วตั้งแต่ยุค กปปส. จบตั้งแต่ 22 พ.ค.57 เพราะ คสช.เข้ามาจัดการความขัดแย้งแล้ว แต่มาวันนี้ที่พลเอกประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ มาต่อเนื่อง แต่ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่และเกิดขึ้นอีก ก็แสดงว่าการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค.57 ก็สูญเปล่า มันแก้ปัญหาไม่สะเด็ดน้ำ

เทพไท ในฐานะ ส.ส.ปชป.ที่เป็นเจ้าของญัตติที่เสนอให้สภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน. และเป็น 1 ใน 4 ส.ส.ที่พรรคมีมติส่งชื่อไปเป็น กมธ.ที่สภาจะตั้งขึ้น โดยที่ประชุมสภาได้เริ่มพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และคาดว่าจะตั้ง กมธ.ได้ในสัปดาห์นี้ โดยเทพไทย้ำเรื่องความจำเป็นต้องแก้ไข รธน.ว่า เป็นเพราะตั้งแต่ใช้ รธน.ฉบับปัจจุบันมาจนถึงวันนี้ พบว่าพบปัญหาเยอะมาก แต่ว่าจุดยืนของพรรค ปชป. เราไม่เห็นด้วยกับ รธน.ฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น และพรรคเคยประกาศว่าหากมีโอกาส เราก็จะให้มีการแก้ไข รธน. ทำให้พอเราจะเข้าร่วมรัฐบาล เราก็นำเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่ง แม้จะรู้ว่าการแก้ไข รธน.เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

ถ้ารัฐบาลไม่เอาด้วย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ไฟเขียว หนทางที่จะแก้ไข รธน.ก็เป็นไปได้ยาก

...เราก็เลยจำเป็นต้องเสนอเงื่อนไขตอนร่วมรัฐบาลว่าต้องแก้ไข รธน. ก็เหมือนผูกมัดเขา โดยเมื่อรับเป็นเงื่อนไข จนเข้าร่วมรัฐบาลแล้ว จนมีการเขียนไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

เราก็เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่บิดพลิ้ว และทำให้การแก้ไข รธน.ตามเจตนาของประชาธิปัตย์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง อันนี้เป็นจุดยืนของประชาธิปัตย์ตั้งแต่ต้นที่ต้องแก้ไข รธน.ฉบับปัจจุบัน

เมื่อถามว่า แต่คนในฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะแกนนำพรรคพลังประชารัฐ หลายคนก็บอกว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไข รธน. ยังมีปัญหาเร่งด่วนอื่นๆ อีกที่ต้องทำ เช่น แก้ปัญหาปากท้อง เทพไท กล่าวสำทับว่า มันก็เป็นสองส่วนอยู่แล้ว ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ เพราะเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง เป็นหน้าที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล เขาก็ทำไป แต่การศึกษาเพื่อให้มีการแก้ไข รธน. ที่เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจริงๆ รัฐบาลไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยซ้ำ ไม่ควรตั้ง กมธ.ในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรีด้วยซ้ำ ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายพรรคการเมืองว่ากันไป พวกคนที่ชอบพูดว่าทำไมไม่เอาเรื่องปากท้องก่อน คือพวกตะแบง ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข รธน. พวกไม่อยากให้แก้ไข รธน. ทั้งที่สองเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ มันไปด้วยกันได้ การทำงานมันคนละส่วนกัน

...หลักของประชาธิปัตย์คืออยากให้แก้ไขมาตรา 256 ก่อน เพราะ 256 คือหัวใจ คือประตูที่จะนำไปสู่การแก้ไขมาตราอื่นๆ หากประตูแรกแก้ไขไม่ได้ เปิดประตูนี้ไม่ได้ ก็ทำให้ประตูอื่นๆ เปิดไม่ได้ แล้วก็แก้ไข รธน.ไม่ได้ เหมือนกับจะขอเข้าไปจัดบ้าน จะไปจัดบ้านใหม่ รื้อเฟอร์นิเจอร์เก่าแล้วไปวางเฟอร์นิเจอร์ใหม่ แต่ปรากฏว่ากลับสะเดาะกุญแจเข้าไปในบ้านไม่ได้ แบบนี้ก็เข้าไปจัดวางเฟอร์นิเจอร์อะไรในบ้านไม่ได้เลย ก็เช่นเดียวกับการแก้ไข รธน.ที่ก็ต้องแก้มาตรา 256 ก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่เป็นปัญหาภายใน ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่สภาฯ จะตั้งขึ้นต้องไปศึกษาว่าจะแก้ไขเรื่องอะไรบ้าง 

...สำหรับประชาธิปัตย์เราก็จะนำเสนอ เช่น เรื่องประเด็นการเข้าสู่อำนาจ เราก็อยากจะแก้ แต่หากเรานำเสนอตอนนี้ไปก่อนเลย ก็จะเกิดปัญหา เพราะฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาก็จะไม่ยอม แล้วเขาจะปิดประตูตายแต่แรก ไม่ยอม แบบนี้ก็ตายน้ำตื้นตั้งแต่แรกเลยได้ เราถึงพยายามจะไม่พูดก่อนตอนนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่นำเสนอแล้วจะไปกระทบกับกลุ่มอื่นๆ ที่จะทำให้เขาอาจเสียประโยชน์

เราก็เลยขอแค่เรื่องมาตรา 256 ให้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มันเป็นไปตามมาตรฐานสากล คือให้ใช้เสียงข้างมากของสมาชิกสองสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยหากจะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านการทำประชามติ หากจะเพิ่มเงื่อนไข กระบวนการแก้ไข รธน.ต้องให้ไปทำประชามติ แบบนี้ไม่ขัดข้อง พรรค ปชป.ก็ขอแค่นี้พอ ให้แก้เรื่องมาตรา 256 ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรให้ไปคุยกันใน กมธ.ที่จะตั้งขึ้นที่จะมีตัวแทนจากแทบทุกพรรคการเมืองมาอยู่ใน กมธ. 

“ผมคิดว่าข้อสรุปของ กมธ.ที่จะตั้งขึ้น ก็อาจแค่โอเคให้แก้ไขมาตรา 256 ส่วนรายละเอียดเรื่องอื่นๆ ก็ให้ทำเป็นผลศึกษาเก็บไว้ เพื่อแก้มาตรา 256 เสร็จแล้ว จะยกขึ้นมาเป็นขยักที่สองขึ้นมาทำต่อ แบบนี้ก็ได้”

เมื่อถามถึงว่า แต่หากสุดท้าย กมธ.มีข้อสรุปออกมา เช่น เสนอให้แก้มาตรา 256 แต่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลอาจไม่เอาด้วย แล้วสั่งให้ ส.ส.ในพรรครัฐบาลโหวตไม่เอาด้วยกับรายงานของ กมธ.กลางห้องประชุมสภาฯ โดยแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอ้างว่าเป็นเรื่องของพรรค ไม่เกี่ยวกับคนที่พรรคส่งไปเป็น กมธ. เทพไท มองประเด็นนี้ว่า มันก็ต้องตอบคำถามด้วย เพราะแต่ละพรรคก็มีคนอยู่ใน กมธ.ที่จะตั้งขึ้น การทำงานของ กมธ.สภาฯ เป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการ ไม่มีเรื่องของพรรคการเมือง ถ้าหากว่าเสียงข้างมากใน กมธ.ว่าอย่างไร โดยมารยาทก็สนับสนุน เว้นแต่สงวนความเห็นไว้ในที่ประชุม กมธ. แล้วมาโต้แย้งได้ในที่ประชุมสภา แต่เรื่องไหนที่เป็นมติของ กมธ.ออกมาแล้ว พรรคการเมืองที่ส่งคนไปเป็น กมธ.ก็ต้องยอมรับ อย่างเช่นพรรค ปชป.ส่งคนไปเป็น กมธ.ชุดนี้ 4 คนและมีสัดส่วน ครม.อีก 1 คน รวมเป็น 5 คน ทั้งหมดต้องมาประชุมกันก่อนว่าแนวทางของพรรคจะเอาอย่างไร และทุกพรรคต้องเป็นแบบนี้ เพราะหากต่างคนต่างทำ เอาความเห็นส่วนตัวไปพูด มันก็ไม่มีระบบพรรคและจะเป็นปัญหาในการหาข้อสรุปของ กมธ. 

-ยังเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐจะเอาจริง จริงใจต่อการแก้ไข รธน. พร้อมสนับสนุนเต็มที่หรือไม่?

อันดับแรกต้องดูก่อนว่าเขาจะเสนอใครเป็นประธาน กมธ. เพราะตัวประธาน กมธ.บ่งบอกถึงการเอาจริงเอาจังหรือมุ่งมั่นที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จหรือไม่ เพราะหากนำคนที่จริงจัง ภาพลักษณ์ดี ทุกคนก็ยอมรับ และสามารถผลักดันกับเพื่อนได้ แบบนี้ก็ถือว่าจริงใจ แต่ถ้าส่งคนที่มีปัญหาตั้งแต่ต้น คือคนที่ไม่ได้รับการยอมรับ แบบนี้แสดงว่าตั้งมาเพียงเพื่อให้ได้ตั้ง ตั้งมาเพื่อแก้บน ตั้งมาเพื่อให้เสร็จเป็นแค่พิธีกรรม โดยไม่สนใจเนื้อหา เราก็ต้องดูตรงนี้เป็นหลัก

-หากในอายุของสภาชุดนี้ ไม่ว่าจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ครบเทอม หากสุดท้ายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เกิดผล ถือว่าประชาธิปัตย์ล้มเหลวหรือไม่ เพราะผลักดันแล้วแต่ทำไม่ได้?

ผมคิดว่าภายใน 1 ปีต้องเสร็จในการแก้มาตรา 256 เพราะเรื่องนี้ถูกเขียนไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คำว่านโยบายเร่งด่วน ที่ตีความก็คือต้องทำภายใน 1 ปี เพราะถ้าเขียนไว้เร่งด่วนแล้วไปทำภายในปีที่ 4 หรือมาทำตอนสมัยที่ 2 แบบนี้ไม่ใช่เร่งด่วน แต่เป็นการทำตามนโยบายปกติ เหมืนอย่างนโยบายเร่งด่วนเรื่องประกันรายได้เกษตรกรที่ก็เขียนไว้ตอนนี้ก็ทำไปแล้ว แต่หากเรื่องรัฐธรรมนูญเขียนไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนแล้วจะลากไปถึง 1 ปี 2 ปี 3 ปี อันนี้แสดงว่ารัฐบาลเบี้ยวนโยบายของตัวเอง

-หากสุดท้าย กมธ.มีผลสรุปออกมา เช่น ให้แก้ไขมาตรา 256 แต่พอไปถึงขั้นนำเสนอในที่ประชุมรัฐสภา ฝ่าย ส.ว.ไม่เอาด้วย แก้ไม่ได้ โดยพลเอกประยุทธ์บอกว่ารัฐบาลไม่เกี่ยว เพราะเป็นเรื่อง ส.ว.?

นายกฯ จะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่นายกฯ ก็ต้องรู้ว่า ส.ว.ทั้งหมดนายกฯ พิจารณามา มันชัดอยู่แล้วว่า ส.ว.ตั้งมาโดย คสช.และนายกฯ และแต่งตั้งมาเพื่อมาโหวตให้หัวหน้า คสช.กลับมาเป็นนายกฯ ต่อ แล้ววันนี้ถ้าอดีตหัวหน้า คสช.และนายกฯ ที่เป็นคนเดียวกัน หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้านายกฯ ส่งสัญญาณอะไรไม่ได้ อะไรไม่ได้ ก็ต้องตอบคำถามสังคม คือจะพูดก็พูดได้ เช่น ส.ว.บางคน บอกไม่เกี่ยวกัน เป็นอิสระ คุณก็พูดได้ พูดให้ดูดี แต่ข้อเท็จจริงชาวบ้านเขาก็รู้ว่ามาจากไหน และมาเพื่อใคร หลอกใครไม่ได้หรอก

ถ้าผู้มีอำนาจ ผู้เสนอแต่งตั้งเขา มีการส่งสัญญาณ ผมว่า ส.ว.เขาก็ทำ แต่โอเคทางการเมือง มันก็ต้องวิน-วิน ไม่มีใครได้ฝ่ายเดียว ก็ต้องมาคุยกันว่า บทบาท ส.ว.ควรมีแค่ไหน ในเรื่องของ ส.ว. ถ้าจะถอยไป แล้วควรให้ ส.ว.มีบทบาทแค่ไหน ซึ่งการทำงานของ กมธ.ก็ต้องมาคุยกัน แล้วนำข้อสรุปต่างๆ ไปคุยกับฝ่ายรัฐบาล หรือ ส.ว. เพื่อหาจุดลงตัว เพื่อให้เดินไปได้

ถ้าคุยกัน 3 ฝ่ายนี้ก็ไปได้ และการเสนอแก้ไขมันจะขัดแย้งได้อย่างไร เพราะเป็นความเห็นพ้องของทุกฝ่าย และเป็นเรื่องของการทำประชามติ ซึ่งหากผลการทำประชามติออกมาอย่างไรทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ เพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ หากทุกฝ่ายยอมรับกติกานี้ก็จะไม่มีปัญหา ไม่เกิดความขัดแย้ง ถ้าทุกคนเดินตามกติกานี้ แล้วก็ไม่ควรออกไปเคลื่อนไหวอะไรนอกรัฐสภา มันไม่มีเหตุผลอะไรต้องไปเคลื่อน หากจะมีคนหยิบเรื่องนี้ไปเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวายนอกสภา ก็สมควรถูกประณาม ถูกต่อต้าน

-หากสุดท้ายไปถึงจังหวะเข้าด้ายเข้าเข็ม ต้องโหวตในเรื่องการแก้ไข รธน.ในสภา แล้วพรรคร่วมรัฐบาลเกิดไม่เอาด้วย ประชาธิปัตย์พร้อมจะทบทวนบทบาทพรรคหรือไม่?

ผมว่าถ้าถึงวันนั้น ประชาธิปัตย์ก็ต้องกลับมาคุย ว่าเราทำถึงที่สุดแล้ว และมันเป็นแบบนี้ มันเดินมาถึงจุดนี้ เจอปัญหานี้ เงื่อนไขเราไม่ประสบความสำเร็จ ประชาธิปัตย์จะทำอย่างไรต่อไป เราก็ต้องกลับมาประชุม เพราะการเข้าร่วมรัฐบาลก็เป็นความเห็นของคนทั้งพรรค เป็นมติพรรค เงื่อนไขที่เสนอก็เป็นมติพรรค หากเงื่อนไขไม่ได้รับการตอบสนอง ก็ต้องกลับมาคุยกันในที่ประชุมพรรค

เทพไท ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นหนึ่งใน ส.ส.ปชป.ที่โหวตสวนมติวิปรัฐบาล ในเรื่องการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาคำสั่ง คสช.กล่าวหลังเราถามถึงท่าทีของพรรค ปชป.ในการอยู่ร่วมรัฐบาล โดยเขายืนยันว่า ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องช่วย ก็ต้องมีสปิริตในการขับเคลื่อนงานตามที่เราได้รับมอบหมาย ใน 3 กระทรวงหลักที่พรรคได้รับมอบหมายคือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็ต้องทำเต็มที่ อันนี้ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของ ปชป. ซึ่งอย่างเรื่องประกันรายได้ ก็ถือว่าพรรค ปชป.ทำสำเร็จแล้ว ซึ่งเรื่องนี้คือหนึ่งในเงื่อนไข 3 ข้อในการที่พรรคเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยังเหลือ 2 ข้อที่ต้องพิสูจน์ต่อไป ที่ก็คือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สภาฯ จะตั้งกรรมาธิการมาศึกษา โดยบทพิสูจน์สำคัญก็คือการกำหนดตัวประธาน กมธ.ว่าจะเป็นใคร เพราะตัวประธานสามารถบ่งบอกทิศทางของ กมธ. รวมถึงการเอาจริงเอาจังของรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐว่าจะเอาจริงกับเรื่องนี้หรือไม่ ต้องรอดู

ส่วนข้อที่ 3 จะพิสูจน์ตอนช่วงฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่เป็นเรื่องของการต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน หากตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าพรรคฝ่ายค้านแสดงหลักฐานชัดว่ารัฐบาลทุจริตประพฤติมิชอบจริง เรื่องนี้เป็นการตรวจข้อสอบของพรรค ปชป.ว่าพรรคจะเอาอย่างไร โดยหากฝ่ายค้านไม่มีหลักฐานชัด ปชป.ก็ไม่มีปัญหา แต่หากฝ่ายค้านมีหลักฐานชัด พรรค ปชป.ต้องกลับมาคุยกัน อันนี้คือ 3 เงื่อนไขของ ปชป.ว่าจะยกมือให้หรือไม่ หรือจะทำอย่างไรต่อ

ทั้งหมดข้างต้นคือ 3 เงื่อนไขที่พรรค ปชป.มีมติให้เข้าร่วมรัฐบาล ที่เราต้องไปลงรายละเอียดว่ารัฐบาลปฏิบัติจริงหรือไม่

ซูเปอร์วิปรับาล

ทำ ส.ส.ขาดอิสระ

-แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ในการร่วมรัฐบาลก็คือต้องยึดหลัก 3 ข้อข้างต้น?

อยู่ที่เงื่อนไข 3 ข้อดังกล่าว ถ้าหากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่เบี้ยวใน 3 ข้อดังกล่าว ที่ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นหัวใจว่าจะอยู่หรือไปกับรัฐบาลชุดนี้ อยู่ที่ 3 ข้อดังกล่าว เรื่องอื่นผมว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น เรื่องญัตติอะไรต่างๆ การอภิปรายว่าจะตั้งกรรมาธิการวิสามัญในช่วงที่ผ่านมา ผมว่ามันเรื่องเล็กมาก แต่ผมก็ยังแปลกใจว่าทำไมเป็นเรื่องใหญ่สำหรับรัฐบาล ถึงจะแพ้ไม่ได้ ยอมให้ไม่ได้ ผมก็ยังงง ผมอยู่สภาฯ มา 20-30 ปี ผมก็รู้ว่าญัตติมันเรื่องเล็กมาก

เทพไท ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับการที่มติวิปรัฐบาลสั่งให้คว่ำญัตติการตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่ง คสช. จะทำให้ต่อไปมันจะทำให้เป็นปัญหาสำหรับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เพราะอย่างหากต่อไป ผมจะเสนอญัตติอะไรเข้าสภาฯ ผมต้องถามวิปรัฐบาลก่อน ว่าญัตติแบบนี้เสนอได้ไหม ทั้งที่มันเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในการเสนอญัตติเข้าสภาเพราะไม่ใช่กฎหมาย หากเสนอไม่ได้ผมจะได้ถอนออก ผมจะได้ไม่เสนอ เพราะไม่อย่างนั้นจะเสียคน เพราะเสนอแล้วผมก็ต้องโหวต ในฐานะผู้เสนอญัตติ แล้วเวลามีญัตติอะไรเข้ามาไปในสภา ก็ต้องถามอีกว่าผมอภิปรายสนับสนุนได้ไหม เพราะหากอภิปรายสนับสนุนแล้วสุดท้ายตอนโหวต กลับลงมติไม่เอาด้วย แบบนี้ก็เสียคน

วิธีการทำงานมันเปลี่ยนไปมาก หากเป็นแบบนี้ มันจะเปลี่ยน เพราะเหมือนจะไปทำให้เป็นการไปจำกัดสิทธิ ส.ส. ส.ส. จะไม่เป็นอิสระ ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนที่แท้จริง เพราะการเสนอญัตติเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในการนำปัญหาประชาชนมานำเสนอ เพราะมันไม่ใช่การเสนอกฎหมายที่ต้องมี ส.ส.จำนวนหนึ่งมาลงชื่อด้วย แต่ยุคนี้มันเหมือนกับมาเปลี่ยนแปลงว่าการเสนอญัตติอะไรของ ส.ส.ต้องมาอยู่ในการดูแล การปรึกษาหารือ อยู่ในสายตาของวิปรัฐบาล ผมว่ามันก็ไม่ถูกต้อง เทพไทระบุ

        เทพไท กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภาระหนักของวิปพรรค ปชป.ที่ต้องไปทำงานกับวิปรัฐบาล ที่ไม่มีอิสระในการทำงานอย่างแท้จริง เพราะมีวิปรัฐบาล ก็ยังมีซูเปอร์วิปรัฐบาลอีก ที่อยู่เหนือวิปรัฐบาลที่คอยสั่งการมา อย่างเช่น การเสนอให้นับคะแนนใหม่ ในตอนโหวตญัตติที่เสนอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาคำสั่ง คสช. วันดังกล่าว ท่านชวน หลีกภัย ประธานสภาก็พูดหลายรอบว่าถอนเถอะ ซึ่งโดยธรรมชาติวิปก็รู้ว่าไม่ควรจะให้นับใหม่ เพราะแม้ชนะกันไม่มากก็ควรให้ผ่านไป เพราะเป็นเรื่องเล็ก แต่พอมีการออกไปถามคนข้างนอก คนข้างนอกก็บอกว่าไม่ได้ ก็เลยทำให้วิปกลับเข้ามายืนยันว่าไม่ได้ จะให้นับองค์ประชุมใหม่ ก็เลยเป็นที่มาของการที่จะเอาเป็นเอาตายกันให้ได้

        -หากเป็นแบบนี้ต่อไป อนาคตจะถูกมองว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา มีการปิดกั้นระบบตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ?

เผด็จการรัฐสภาคงไม่ใช่เพราะเสียง ส.ส. ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็จะมีความรู้สึกและถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่ามันมีอำนาจเหนือสภามาครอบงำสภา มาแทรกแซงการทำงานของ ส.ส. จน ส.ส.ไม่มีอิสระ ซึ่งตามอำนาจอธิปไตยมันต้องแยกกันระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ที่ก็มีการถ่วงดุลกันอยู่แล้ว

เพียงแต่ว่ารอบนี้มันมีความรู้สึกเหมือนกับฝ่ายบริหารจะมาครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติเสียทุกเรื่องโดยผ่านวิป ผมว่าอันนี้มันจะทำให้ระบบการถ่วงดุลพิกลพิการอีก ก็จะเป็นปัญหา

 เทพไท-ส.ส.  4 สมัย ปชป. ยังมองปัญหาเรื่องเสถียรภาพรัฐบาลจากการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำด้วยว่า เรื่องเสียงปริ่มน้ำมันจะยากตอนองค์ประชุมที่จะมีปัญหามากที่สุด เพราะเป็นธรรมชาติของนักการเมือง หากไม่มีวาระสำคัญนักการเมืองก็จะกระจัดกระจาย โดยหากฝ่ายค้านเล่นเกมนับองค์ประชุมบ่อยมาก แล้วหากองค์ประชุมล่มบ่อยรัฐบาลก็เสียหายมาก เพราะองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้ครบองค์ประชุม โดยที่รัฐบาลไม่มีเสียงสำรองเลยเพราะ ส.ส.รัฐบาลเกินมาแค่สามสี่ เสียง รัฐบาลก็เหนื่อย

ที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้านก็จะได้รับบทเรียนแล้ว จากการที่รัฐบาลโหวตแพ้ฝ่ายค้านแล้วขอโหวตใหม่  (การโหวตเพื่อคว่ำญัตติให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากประกาศคำสั่ง คสช.) ที่ต่อไปจะเกิด ลัทธิเอาอย่าง เพราะต่อไปทุกครั้งที่มีการโหวต แล้วการโหวตแน่นอนให้โหวตแทบตายยังไง รัฐบาลกับฝ่ายค้าน เสียงก็ห่างกันไม่เกิน 25 เสียงอยู่แล้ว เพราะเสียง ส.ส.รัฐบาลกับฝ่ายค้านห่างกันแค่  4-5 เสียง มันก็เข้าข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 85 ที่เขียนว่า "การออกเสียงลงคะแนน ถ้ามีสมาชิกขอให้มีการนับใหม่โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน ก็ให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ และให้เปลี่ยนวิธีการลงคะแนนได้ เว้นแต่คะแนนเสียงต่างกันเกินกว่ายี่สิบห้าคะแนนจะขอให้มีการนับคะแนนเสียงใหม่ไม่ได้" ที่ก็จะขอให้นับใหม่ได้ และพอนับใหม่ก็จะล่มทุกครั้ง เพราะที่ผ่านมาตั้ง 3-4 ครั้งถึงจะผ่านองค์ประชุมได้ ทั้งที่มีการเตรียมตัวกันมาแล้ว

สำหรับรัฐบาลต้องเอางูเห่าเข้ามา แล้วหากเป็นวันประชุมสภาปกติ วาระปกติที่ไม่จำเป็นต้องระดมงูเห่า ไม่จำเป็นต้องระดมสรรพกำลังขนาดนี้ ผมว่ามันล่มอยู่แล้ว นับเมื่อไหร่ก็ล่มเมื่อนั้น นี่คือปัญหาเสียงปริ่มน้ำ แต่ว่าญัตติอื่นผมว่าคงไม่มีปัญหา เพราะสามารถระดมได้เต็มที่และสามารถบริหารจัดการ เรื่องงูเห่าได้เต็มที่ ตราบใดที่ลิงยังกินกล้วย รัฐบาลก็มีเสถียรภาพที่ยังอยู่ได้

สำหรับเรื่อง งูเห่าการเมือง ปรากฏการณ์ดังกล่าว เทพไท มองเรื่องนี้ว่า แน่นอนที่สุดอยู่แล้ววิธีการของรัฐบาลชุดนี้มันชัดอยู่แล้ว เพราะเมื่อรัฐบาลมีเสียง ส.ส.อยู่เท่านี้ เขาก็จำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุน ซึ่งเสียงเมื่อมาเป็นพรรคไม่ได้เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการเป็นพรรคการเมือง มันก็ต้องดึงคนที่มาหนุนแบบเฉพาะกิจ พรรคโน้นสี่คน พรรคนี้ห้าคน มาช่วยยกมือเป็นการเฉพาะกิจ ก็เป็นปรากฏการณ์งูเห่า เพราะไม่สามารถเอามาทั้งพรรคได้มันยากมาก จะเอาเพื่อไทยมาทั้งพรรคหรือก็เอาไม่ได้ ก็มาได้แบบกะปริบกะปรอย และไม่กล้าปรากฏตัวด้วย จะเอา ส.ส.อนาคตใหม่มา ก็มาได้แค่ไม่กี่คน

ปรากฏการณ์ ส.ส.งูเห่าจึงจะเกิดขึ้น ส่วนพรรคเล็กทั้งหมดที่เขาออกมาพูดเรื่องลิงของตัวเอง ก็แล้วแต่กล้วย หากกล้วยหมดสวนค่อยว่ากัน แต่หากกล้วยยังไม่หมดสวนก็ยังอยู่กันได้

-ถ้าสมมุติเกิดว่าพรรคอนาคตใหม่โดนยุบ แล้ว ส.ส.ทั้งหมดย้ายพรรคได้?

ถึงอนาคตใหม่โดนยุบพรรค ผมว่าก็เข้ามาฝ่ายรัฐบาลได้ไม่หมด เขาก็ช้อนได้แค่บางส่วน โดยธรรมชาติของพรรคอนาคตใหม่ ผมคิดว่าส่วนใหญ่ก็ต้องไปอยู่กับพรรคที่มีแนวทางใกล้เคียงคล้ายคลึงกับเขา เช่นไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือย้ายไปอยู่ร่วมกับพรรคการเมืองที่มี ส.ส.อยู่แล้วในสภา แต่จะสวิงขั้วมาอยู่กับฝ่ายรัฐบาลเลย ผมว่าน้อย คือมี ไม่ใช่ว่าไม่มี เขาทำได้ ดึงได้ ซื้อตัวได้ แต่ก็น้อย ผมว่าไม่มาก

..................................................................................................................

จริงไหม ประชาธิปัตย์

ระส่ำ-ผึ้งแตกรัง?

      เทพไท-อดีตรองเลขาธิการพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีอดีตแกนนำพรรค-อดีต ส.ส.ปชป.หลายคนทยอยลาออก โดยเฉพาะกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตสองแคนดิเดตชิงหัวหน้าพรรค ปชป.ที่ลาออกในเวลาไล่เลี่ยกัน และยังมีข่าวว่าอาจจะมีอีกหลายคนทยอยลาออกตามหลังจากนี้ โดยเขามองสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรค ปชป.ตอนนี้ว่า เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่จะมีคนเข้าคนออกจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่พอมีคนออกแล้วมีชื่อเสียง เป็นบิ๊กเนม มันก็กระเทือน แต่ว่าในสถานการณ์เช่นนี้เขาก็ออกไปทำงาน เช่นกรณีของอนุชา บูรพชัยศรี ที่ออกไปทำงาน (เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ) แล้วโดยมารยาทก็ต้องออกจากพรรคไป แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับเรื่องอุดมการณ์อะไรกับพรรค ปชป. ส่วนบางคนเช่น พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อันนี้ไม่ทราบมาก่อน แต่กรณีของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็เป็นเรื่องต้องการออกไปทำเรื่องลัทธิชังชาติ เลยออกไปเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่ก็คือมีเหตุผลส่วนตัวที่จะออก ไปทำงานที่ตัวเองถนัดมากกว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของความขัดแย้งภายในพรรคอะไร ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องตอนชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.ก่อนหน้านี้ และถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นท่าทีว่าจะมีใครออกไปอีก ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าคุณพีระพันธุ์จะเป็นคนสุดท้าย ก็อาจมีคนออกอีก เราก็ไม่รู้ แต่ก็มีคนใหม่ๆ เข้ามา ก็เป็นเรื่องธรรมชาติทางการเมือง

-มีการมองกันว่าแกนนำพรรคหลายคน โดยเฉพาะที่เคยชิงหัวหน้าพรรค ปชป.มาก่อน มาถึงยุคนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์เป็นหัวหน้าพรรค หลายคนไม่มีบทบาทอะไรในพรรค เช่น กรณ์  จาติกวณิช, อภิรักษ์ โกษะโยธิน, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค?

จริงๆ คนที่มีบทบาทหรือไม่มีบทบาทก็ทำงานได้ อย่างผมแทบไม่มีตำแหน่งอะไร แต่ผมก็สร้างบทบาทของตัวเองได้ การเป็น ส.ส.ทำอะไรได้เยอะ แต่ว่าปรากฏการณ์ทั้งหมดเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมืองที่จะมีคนเดินเข้าเดินออก

กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันในฐานะที่เป็นกรรมการบริหารพรรคต้องตระหนัก ต้องคิด วิเคราะห์ ว่าสมาชิกออกไปเพราะอะไร และจะทำอย่างไรถึงจะตอบคำถามนี้ต่อสังคมได้  และต้องไม่ทำให้สมาชิกพรรคออกไป

ผมคิดว่าคนที่เป็นกรรมการบริหารพรรค ต้องทำหน้าที่หนักในสภาวะที่พรรคมีสมาชิกลดน้อยลงอย่างนี้ ก็เป็นการพิสูจน์ฝีมือความสามารถของกรรมการบริหารพรรคชุดนี้ ว่าจะฟื้นฟูและรักษาสภาพพรรคไว้ได้แค่ไหนเทพไทกล่าวย้ำ 

เทพไท-ฝ่ายค้านในรับาล?

บทสนทนากลับมาถามถึงเรื่องบทบาทในสภา หลังที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็น ฝ่ายค้านในรัฐบาล-ก้อนกรวดในรองเท้ารัฐบาล เพราะมักออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบ่อยครั้ง รวมถึงการไม่ปฏิบัติตามมติวิปรัฐบาลในการโหวตออกเสียง

เทพไท แจงบทบาทตัวเองทางการเมืองว่า ไม่ได้เป็นฝ่ายค้านในรัฐบาล หากจะใช้ศัพท์แบบนั้นผมก็คือรัฐบาลอิสระ ก็คือหากอะไรที่รัฐบาลทำแล้วเราเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แต่ว่าโดยพื้นฐานแล้วเราก็สังกัดพรรคร่วมรัฐบาล แต่ว่าการเป็น ส.ส.สังกัดพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องเห็นดีเห็นงามด้วยกับรัฐบาลไปเสียทั้งหมด เพราะอะไรที่รัฐบาลทำไม่ถูกต้อง เราก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตามเงื่อนไข ก็เลยทำให้เป็นจุดที่คนมองมา และช่วงหลังการทำงานของรัฐบาลมีจุดอ่อนค่อนข้างจะเยอะ  ผมก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา คนก็เลยสนใจมองมาแล้วบอกว่าผมเป็นฝ่ายค้าน หรือไม่ก็บอกเป็นฝ่ายแค้น

คนที่พูดแบบนั้นเขาอาจไปติดภาพที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วผมกับคุณอภิสิทธิ์ก็สนิทกัน เคยเป็นโฆษกส่วนตัว เป็นเพื่อนสนิทกัน ก็เลยยิ่งทำให้คนไปคิดกันว่าใช่หรือไม่ แต่โดยความเป็นจริงแล้วอภิสิทธิ์เขาไม่เคยมายุ่งอะไรกับผมเลย เพราะนับแต่อภิสิทธิ์ลาออกจาก ส.ส.ปชป.หลังพรรคเข้าร่วมรัฐบาล เขาก็ไปเคลื่อนไหวมีบทบาทเชิงวิชาการกับนักศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ความเห็นทางการเมืองแทบไม่มีออกมา คนที่ไปวิเคราะห์ผมเชื่อมโยงกับอภิสิทธิ์จึงมีความคลาดเคลื่อน

คือคนอื่นเขาไม่กล้า ไม่กล้าพูดกับพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่ผมกล้า  เพราะอย่างโดยส่วนตัวผมกับทั้งพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร ผมก็สนิทกัน เพราะตอนช่วงเหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ของ นปช.ตอนปี 2553 แล้วรัฐบาลจัดตั้ง ศอฉ.โดยใช้กรมทหารราบที่ 11  รักษาพระองค์เป็นสถานที่ทำงาน

ผมก็ไปนั่งอยู่ที่นั่นร่วม 2-3 เดือน ก็เลยได้พบได้คุยกับทั้งพลเอกประวิตรและพลเอกประยุทธ์ เกือบแทบทุกวัน ว่างก็นั่งดูโทรทัศน์แล้วก็คุยกัน ตอนนั้นก็สนิทสนมกันมาก ผมก็เลยกล้าที่พูดว่าอะไรผิดอะไรถูก ยิ่งการที่ผมเป็น ส.ส. มันก็ยิ่งทำให้ผมต้องพูด เราต้องสะท้อนปัญหาให้เขารู้ว่าบ้านเมืองตอนนี้มันเป็นอย่างไร

อย่างเช่นการลงพื้นที่ไปเยี่ยมตลาด ผมเป็นคนไปตลาดอยู่แทบทุกวัน ก็จะเจอประชาชนที่มาจ่ายตลาด ก็จะมีประชาชนเช่นแม่ค้าเข้ามาโอดครวญสะท้อนปัญหากับผม โดยเฉพาะเรื่องสภาวะเศรษฐกิจ แบบนี้ ผมก็ต้องออกมาพูด พอผมออกมาพูด คนก็จะถามกันว่าทำไมผมต้องออกมาวิจารณ์รัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจ ทั้งที่เป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล แต่คุณก็ต้องยอมรับว่าบทบาทหนึ่งของผมก็คือเป็น ส.ส. ดังนั้นเมื่อประชาชนสะท้อนปัญหามาแบบนี้ แล้วผมจะมาเที่ยวพูดว่ามันดีแล้ว พลเอกประยุทธ์ทำดี ทีมเศรษฐกิจประสบความสำเร็จ แต่ว่าสภาพความเป็นจริง ประชาชนเขารับรู้ว่าในกระเป๋าสตางค์ไม่มีเงิน แล้วเขามีปัญหา ผมก็โดนด่าหากผมไปเชียร์รัฐบาลแบบนั้น ผมก็ต้องสะท้อนปัญหาของชาวบ้านให้รัฐบาลรับรู้ ก็เลยเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจ โดยที่บางคนก็มาหาว่าผมไม่มีมารยาท ทั้งที่ความจริงควรแยกให้ออก ระหว่างตัวแทนประชาชนที่จะสะท้อนปัญหาประชาชนให้รัฐบาลไปแก้ไข กับการเป็นสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล ต้องแยกบทบาทจากกัน เพราะ ส.ส. คือตัวแทนประชาชน  เป็นปากเสียงประชาชน อยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่สะท้อนปัญหา ให้ฝ่ายบริหารรับทราบ

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น ส.ส.รัฐบาลหรือฝ่ายค้าน บทบาทนี้ต้องเหมือนกันคือเป็นปากเสียงให้ประชาชน  แต่บทบาทในการสนับสนุนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง บทบาทดังกล่าวคือการออกเสียงหรือยกมือในเรื่องสำคัญ เช่น การให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.รัฐบาลที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เช่นกฎหมายการเงิน กฎหมายความมั่นคงหรือพระราชกำหนดที่รัฐบาลออกไปแล้ว เราที่เป็น ส.ส.รัฐบาลก็ต้องยกมือสนับสนุน แต่การสะท้อนปัญหาต้องสะท้อนได้หมด

ไม่ใช่ว่าเป็น ส.ส.รัฐบาลแล้วจะโดนปิดปาก กระทู้ถาม กระทู้สดในห้องประชุมสภาก็ทำไม่ได้ จะอภิปรายอะไรในห้องประชุมสภาก็ไม่ได้ อย่างนี้ก็ทำให้ประชาชนเสียโอกาส พื้นที่ซึ่งเขามี ส.ส.อยู่ฝ่าย รัฐบาลก็จะเสียโอกาสในการที่ ส.ส.ในพื้นที่เขามาสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลรับรู้และได้แก้ไข

-แต่ตอนแรกตั้งแต่เกิด คสช.ใหม่ๆ ก็เห็นออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองเชียร์ทั้งลุงตู่และลุงป้อมเต็มที่?

ก็ยังเหมือนเดิม คือต้องยอมรับว่าวันนั้นเขาเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาวุ่นวายในบ้านเมือง แต่ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดเลยว่าเขาจะ "เสพติดอำนาจ" แล้วก็สืบทอดอำนาจต่อ ตอนนั้นผมคิดว่าเขาจะเข้ามาเป็นแค่กรรมการกลาง แต่สุดท้ายเขากลับเปลี่ยนเข้ามาเป็น "คู่ชก" เสียเอง เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งทางสังคมเสียเอง ผมก็ต้องวิจารณ์ในฐานะที่เขาก็เป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้เล่นเหมือนกับผม  เพราะสถานะพลเอกประยุทธ์คือนักการเมืองคนหนึ่งและเป็นนายกฯ มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ดังนั้นผมที่อยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ อยู่ฝ่ายตรวจสอบ แม้สังกัดพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องแยกให้ชัด ผมจึงมีสิทธิ์ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้

ชี้จุดอ่อน 'ประยุทธ์'

ฟังแต่ เสธ.สายทหาร ขาดกุนซือตัวเก๋า

เทพไท ยังกล่าวถึงเรื่องการวางแผนงานทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ ว่ายังขาดกุนซือทางการเมืองที่เข้าใจการเมืองดีพอ จึงทำให้การตัดสินใจทางการเมืองหลายครั้งเกิดข้อผิดพลาด เพราะประเมินสถานการณ์ไม่ตรงกับความเป็นจริงทางการเมือง

...ผมเห็นว่าเกมการเมืองหลายเกมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรถูกห้อมล้อมด้วยนายทหาร ซึ่งการมองปัญหาทางการเมืองระหว่างทหารกับนักการเมืองจะมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ญัตติเรื่องตั้ง กมธ.ศึกษาคำสั่ง คสช.ที่ก็เป็นแค่ญัตติธรรมดาเหมือนญัตติทั่วไป ที่เสนอโดย ส.ส.ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาลด้วย ใครจะโหวตอย่างไรก็ได้ จะแพ้หรือชนะ จะตั้งหรือไม่ตั้ง ก็เป็นเรื่องปกติ แต่ เสธ.ที่เป็นกุนซือของเขาไปมีความรู้สึก แล้วไปวางไปเขียนภาพให้พลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตรเกิดความรู้สึกกลัว ทำนองว่าหากปล่อยให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว ทั้งสองคนจะเดือดร้อน เรื่องจะถึงตัวท่าน กรรมาธิการจะเชิญไปที่สภา โดยที่ เสธ.เหล่านี้เขาไม่เคยเป็นนักการเมือง ไม่คุ้นเคยกับสภา เขาก็เลยกลัว เลยให้ธงมาว่าให้หัวเด็ดตีนขาด ก็จะปล่อยให้สภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาไม่ได้

...วิปรัฐบาลก็บ้าจี้ตามไป เลยทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น แต่หากกุนซือของทั้งสองคนเป็นนักการเมือง เขาก็อาจมองเกมออกว่าการตั้ง กมธ.มันได้เปรียบ มันเป็นผลดีต่อพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรมากกว่า เพราะการตั้ง กมธ.จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถกำหนดได้ เช่นจะให้ใครเป็นประธาน เพราะสัดส่วนใน กมธ.โดยปกติฝ่ายรัฐบาลก็จะมี 12 คน พรรคร่วมรัฐบาล 18 เสียง พรรคฝ่ายค้าน 19 คน ก็จะเห็นได้ว่า สัดส่วนรวมกันแล้วยังไงฝ่ายรัฐบาลก็มีมากกว่า ก็ไปกำหนดกรอบการทำงานได้ อย่างเช่นการจะให้เชิญใครมาชี้แจงต่อที่ประชุมหรือไม่ มันอยู่ที่ตัวประธาน  แต่พอไม่ตั้งตามมติที่ออกมา มันก็ไปเตะลูกเข้า กมธ.สามัญของสภาแทน ซึ่ง กมธ.ที่ตรงกับเรื่องนี้มากที่สุดก็คือ กมธ.กฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ของสภาที่จะรับไปทำแทน เพราะเกี่ยวข้องกับมาตรา 44 ซึ่งประธาน กมธ.ก็คือ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล โดยที่เขาจะตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาเรื่องมาตรา 44 ได้โดยตรงเพียงเรื่องเดียวก็ยังได้ แล้วนำคนเช่นมือกฎหมายฝ่ายเขาตัวเป้งๆ เข้ามาอยู่ในอนุ กมธ. แล้วก็เชิญพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรมาซักถามได้ ถ้าออกแบบนี้ฝ่ายพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรจะเสีย จะเดือดร้อน โดยหากไม่มาตามที่ กมธ.ทำหนังสือเชิญไปก็จะผิดด้วย

กุนซือเขาวางแผนผิด ผมก็อยากให้ทั้งพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรทบทวน โดยกุนซือที่เป็นนายทหารก็ให้ทำเรื่องความมั่นคงไป แต่กุนซือที่ทำงานเกี่ยวกับด้านสภาควรให้เป็นกุนซือที่เป็นมือเซียน มีประสบการณ์และมีลูกล่อลูกชนทางการเมือง ถ้าทำแบบนี้ก็จะทำให้การเมืองมันสมูธได้ แต่หากยังตกอยู่ในวงล้อมของทหารทั้งหมดก็จะคิดแบบทหาร แล้วความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้น การทำงานในสภาจะไม่ราบรื่นแล้วจะเกิดปัญหา "เทพไทกล่าวย้ำ.

 

        วิปรัฐบาลก็ยังมีซูเปอร์วิปรัฐบาลอีก ที่อยู่เหนือวิปรัฐบาลที่คอยสั่งการมา...ก็จะมีความรู้สึกและถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่ามันมีอำนาจเหนือสภา มาครอบงำสภา มาแทรกแซงการทำงานของ ส.ส. จน ส.ส.ไม่มีอิสระ ซึ่งตามอำนาจอธิปไตยมันต้องแยกกันระหว่าง นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ที่ก็มีการถ่วงดุลกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารอบนี้มันมีความรู้สึกเหมือนกับฝ่ายบริหารจะมาครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติเสียทุกเรื่อง

2หน้า5

        กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันในฐานะที่เป็นกรรมการบริหารพรรคต้องตระหนัก ต้องคิด วิเคราะห์ว่าสมาชิกออกไปเพราะอะไร และทำอย่างไรถึงจะตอบคำถามนี้ต่อสังคมได้ และต้องไม่ทำให้สมาชิกพรรคออกไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"