ลุ้นต่อเศรษฐกิจไทย63


เพิ่มเพื่อน    

       เศรษฐกิจไทยเดินทางมาจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 แล้ว โดยตลอดปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศจำนวนมากที่เข้ามากดดันการเติบโต ทั้งปัญหาภายในอย่างการเมืองภายในประเทศ ที่แม้จะมีการจัดการเลือกตั้งตั้งแต่ต้นปี แต่กว่าจะเห็นโฉมหน้ารัฐบาลก็ปาไปกลางปีแล้ว อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากนอกประเทศ โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ ยาวนาน และยังไม่เห็นทีท่าว่าจะจบอย่างไร จนส่งผลกระทบกดดันภาคการส่งออก ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

                ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญไม่แพ้ปัจจัยอื่นๆ นั่นคือ “ความเชื่อมั่น” ก็ถูกสั่นคลอนจากปัจจัยลบรอบด้านด้วยเช่นกัน การอัดชุดมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นวิธีการหลักที่รัฐบาลพยายามทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะการกระตุ้นความเชื่อมั่นให้เกิดการใช้จ่าย ผ่านมาตรการชิมช้อปใช้ และการอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศมากขึ้น อีกทั้งการเร่งให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไปจนถึงภาคเอกชนเดินหน้าลงทุนเพื่อดันเม็ดเงินให้หมุนเวียนในระบบ ก็เป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

                ทั้งนี้ ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจในแต่ละไตรมาสยังคงมีการขยายตัวได้ แต่ก็ไม่เต็มศักยภาพมากนัก  ด้วยเพราะปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่กล่าวมาข้างต้น แต่ในไตรมาส 4/2562 กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะเติบโตได้สูงที่สุดในปีนี้ ที่ระดับ 3.2% ด้วยอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลที่ได้ทยอยส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดก็เริ่มเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนจากการอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวมากขึ้นจากตัวเลขรายได้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในเดือน ต.ค.2562 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6% และยังเห็นสัญญาณการเติบโตจากส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง

                นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่าการเติบโตที่ดีของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2562 จะเป็นผลดีและเป็นแรงส่งสำคัญให้กับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยเฉพาะแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่หลายฝ่ายต่างมองว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงพอหากมาตรการประสบความสำเร็จ  เพราะจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินลงทุน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นฟันเฟืองใหญ่ที่สำคัญ ซึ่งหากฟันเฟืองตัวนี้เริ่มหมุนได้ นั่นหมายถึงเศรษฐกิจในภาพรวมก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยเช่นกัน

                ขณะที่ปี 2563 กระทรวงการคลังได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ 3.2% จากปี 2562 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 2.6-2.8% โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามไม่ได้แตกต่างจากปี 2562 มากนัก นั่นคือเรื่องสงครามการค้าที่ยังคงต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อสถานการณ์การค้าในตลาดโลก และเรื่องค่าเงิน

                ด้านธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ก็ได้ออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงจาก 3% เหลือ 2.6% และปี 2563 จาก 3.2% เหลือ 3% เนื่องจากการเติบโตที่ชะลอตัวลงของการบริโภคทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งการลงทุน

                นอกจากนี้ เอดีบีคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศเอเชียกำลังพัฒนาจะขยายตัวต่ำลงทั้งในปีนี้และปีหน้า อันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย โดยได้ปรับลดตัวเลขจีดีพีลงจากการคาดการณ์ครั้งล่าสุดในรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook 2019 Update) เดือน ก.ย. จาก 5.4% ในปี 2562 และ 5.5% ในปี 2563 เหลือ 5.2% ทั้งในปี 2562 และ 2563

                อย่างไรก็ดี ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในปี 2563 ทิศทางเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงอีกมากที่เข้ามากดดันการเติบโต และหลายปัจจัยเสี่ยงรัฐบาลระบุว่าเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก การเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายใน ผ่านชุดมาตรการกระตุ้นต่างๆ ที่ถือเป็นเรื่องจำเป็น จะกลายเป็นแรงส่งสำคัญที่มีส่วนในการช่วยผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน และแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ถูกกระทบจากหลายปัจจัยจะฟื้นกลับมาได้อย่างที่รัฐบาลพยายามดำเนินการหรือไม่!.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"