กมธ.ปราบโกงกัดไม่ปล่อยปมถวายสัตย์ ลาก'มาร์ค'มาแจง


เพิ่มเพื่อน    

18 ธ.ค. 62 – ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ  สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในฐานะประธานกรรมาธิการ เป็นประธานในการประชุม ได้เชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าชี้แจงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 161 หรือไม่ 

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้พยายามซักถามนายอภิสิทธิ์ในฐานะที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อนว่า การถวายสัตย์ของพล.อ.ประยุทธ์ ครั้งล่าสุดถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ให้ความเห็นว่า การถวายสัตย์ของนายกรัฐมนตรีไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ แต่จะขัดหรือแย้งต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องของการตีความตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถให้ความเห็นได้ ทั้งนี้ ไม่สามารถระบุได้ว่าปัญหาดังกล่าวจะมีทางแก้ไขอย่างไร เพราะเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และตอนที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้กล่าวตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถามต่อว่า การที่นายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ จะทำให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ชอบกฎหมายด้วยหรือไม่  นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานานแล้ว จึงไม่ทราบแนวปฏิบัติว่า หากถวายสัตย์ฯ ไม่ครบจะต้องทำอย่างไร  เพราะหากจากวันนั้นมา ระยะเวลาล่วงเลยมานานแล้ว และรัฐบาลก็มีการดำเนินการหลายอย่าง รวมทั้งการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสภาฯด้วย แต่ส่วนตัวตอบได้แค่ว่า หากตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี จะถวายสัตย์ฯให้ครบตามรัฐธรรมนูญ    

นอกจากนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยังซักถามถึงการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยที่นายอภิสิทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบหรือไม่ว่ามีอดีตรัฐมนตรีหลายคนที่มีโทษถูกพิพากษาจำคุก ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยงบประมาณแผ่นดิน และงบประมาณปี 2563 เมื่อผ่านสภาฯ ไปแล้วจะมีการทุจริตหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า มีอดีตรัฐมนตรีถูกลงโทษว่าทำผิดกฎหมาย แต่ไม่แน่ว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับงบประมาณหรือไม่ ทั้งนี้ตนพูดมาตลอดว่าการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้เสมอทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั่งคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถที่จะไปก้าวล่วงในงานที่เป็นงานเฉพาะในหลายหน่วยงานได้ แต่ถ้าเรื่องใดที่นายกรัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชา สามารถจะเข้าไปกำกับดูแลได้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องเข้าไปดูแล และไม่คิดว่าจะมีใครที่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่มีการทุจริต ดังนั้นไม่จำเป็นว่างบประมาณปี 2563 ผ่านแล้วจะมีการทุจริต เพราะขณะนี้ก็ทุจริตได้

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการฯ สอบถามว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องดังกล่าว และให้เหตุผลว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์กับฝ่ายบริหารนั้น ถือว่าเรื่องดังกล่าวจบสิ้นแล้วลงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า ต้องแยกประเด็นให้ออก เพราะหากคณะกรรมาธิการจะตรวจสอบการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีว่าครบถ้วนหรือไม่ ควรแยกออกจากเรื่องของพระราชอำนาจ

จากนั้น นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามนายอภิสิทธิ์ ถึงการเตรียมการถวายสัตย์ฯ ของนายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้เตรียมการให้ หรือนายกรัฐมนตรีจะต้องเตรียมการเอง  โดยนายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า ตามปกติแล้วสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หรือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้เตรียมไว้ให้ แต่โดยปกติแล้วนายกรัฐมนตรีจะต้องกล่าวตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ผู้เตรียมเอกสารจะเป็นใครไม่สำคัญ แต่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีหน้าที่นำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ฯ จึงต้องเป็นคนรับผิดชอบ

ทั้งนี้ นายธีรัจชัย ยังถามถึงความน่าเชื่อถือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติไม่รับคำร้องเรื่องการถวายสัตย์ฯของนายกรัฐมนตรี เพราะตุลาการ 2 คน มาจากการสรรหาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอีก 5 คนก็ถูกต่ออายุมา โดยล่าสุดก็ยังต่ออายุอยู่ ดังนั้น การตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไร ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ไม่ขอแสดงความเห็น เพราะเป็นการก้าวล่วง
 
ต่อมานายไพบูลย์ ก็ได้ยกมือแสดงความคิดเห็นว่าการที่นายธีรัจชัยถามนั้นถือว่านอกกรอบและเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล หากเกิดอะไรขึ้นตนไม่ขอรับผิดชอบ เช่นเดียวกับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็เห็นว่านายธีรชัยถามนอกประเด็น เห็นด้วยกับนายไพบูลย์และกรรมาธิการคนอื่น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"