ตั้งกมธ.ศึกษาแก้รธน.120วัน


เพิ่มเพื่อน    

 สภามีมติเอกฉันท์ 445 เสียง ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 49 คน ใช้เวลาหาทางชำเรา 120 วัน กางรายชื่อโหดเลวดีมากันครบ เพื่อไทยส่ง "วัฒนา" จำเลยคดีโกงบ้านเอื้ออาทร และ "ยุทธ ตู้เย็น" เข้าประกวด "สมชัย ศรีสุทธิยากร" ไปโผล่พรรคเสรีพิศุทธ์ "สนธิญาณ" โควตา พปชร. อนาคตใหม่ส่งอาจารย์ค่ายส้มหวานเพียบ วิปรัฐบาลยืนยัน "พีระพันธุ์" นั่งประธาน

    ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล เปิดเผยภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เสนอชื่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ
    เขากล่าวว่า หลังจากอภิปรายเสร็จ จะมีมติให้ตั้งกรรมาธิการจำนวน 49 คน โดยทุกฝ่ายได้ส่งรายชื่อกรรมาธิการไว้ที่ประธานวิปรัฐบาลแล้ว เป็นสัดส่วนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 คน พรรคร่วมฝ่ายค้าน 19 คน พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน ใช้เวลาในการศึกษา 180 วัน โดยหลังการตั้งกรรมาธิการเสร็จแล้ว จะประชุมกันนัดแรกในวันที่ 24 ธันวาคม 2562 เวลา 14.00 น. เพื่อตั้งประธาน รองประธาน และกำหนดแนวทางในการทำงานต่อไป
    นายชินวรณ์ยืนยันว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ติดใจ และไม่ขัดข้องที่นายพีระพันธุ์จะเป็นประธาน แม้ก่อนหน้านี้พรรคเคยเสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มานั่งในตำแหน่งนี้ เพราะเป้าหมายหลักในการตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จริง พรรคในฐานะที่มีนโยบายชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งอุปสรรคปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย และการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน พรรคก็ยินดีให้ความร่วมมือ
    สำหรับการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเวลา 15.45 น. โดยที่ประชุมเปิดให้ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลลุกขึ้นอภิปราย ส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีการตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญหลายมาตรามีข้อบกพร่อง ควรได้รับการแก้ไข 
    อาทิ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้กีดกั้นประชาชน โดยนักกฎหมายที่ไม่สมควรเรียกว่านักกฎหมายร่างขึ้นมา  โดยเฉพาะมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนมีสิทธิ์ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เวลาทหารยึดอำนาจ กลับไม่ให้สิทธิ์ประชาชนต่อสู้ ถือว่าไม่จริงใจให้ประชาชนมีสิทธิ์ปกป้องรัฐธรรมนูญ เห็นว่าถ้าทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ต้องให้สิทธิ์ประชาชนจับอาวุธขึ้นสู้กับคนยึดอำนาจได้
    นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ปัญหาที่วุ่นวายที่เกิดขึ้น เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะไม่ยึดโยงประชาชน ถึงแม้จะบอกว่ารัฐธรรมนูญได้ผ่านการทำประชามติไปแล้วก็เป็นประชามติจอมปลอม เพราะไม่มีการแจกเนื้อให้ประชาชนอ่าน และกล้าบอกว่าประชาชนอีสาน 12 จังหวัด ลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ และจังหวัดที่เหลือก็รับแบบข้างๆ คูๆ วันนี้รัฐบาลส่งคนมาร่วมแก้ไขก็เป็นความคิดที่จอมปลอม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเผด็จการ
"รังสิมันต์" ไล่ผีกลางสภา 
    ขณะที่ นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะแก้รัฐธรรมนูญต้องสอดคล้องหลักการอุดมการของรัฐ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องไปดูรูปแบบรัฐที่เข้มแข็ง เชื่อว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องมีพฤติกรรมการบริหารประเทศที่เข้มแข็ง เราจำเป็นต้องให้ประชาชนมีจิตสำนึก ต้องให้สอดคล้องสังคม ทุนนิยมทำอย่างไรไม่ให้เป็นทุนสามานย์ เป็นทุนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมบ้านเมือง
    เขากล่าวว่า ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 60 ฉบับนี้ปราบโกง มีจุดเด่นทำให้ประเทศไทยมีความชัดเจนในการปฏิรูปใน 20 ปี รัฐธรรมนูญหลายแบบโครงสร้างดี เช่น รัฐธรรมนูญ 2540 ต่อเนื่องมา วันนี้ต้องการคนดีมาร่างรัฐธรรมนูญ สิ่งที่อยากฝากไว้จะร่างรายมาตราหรือจะแก้ทั้งฉบับ ใครจะมาเป็นคณะทำงาน คนนอกมาร่วมหรือไม่ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญไทย (ส.ส.ร.) วันนี้ต้องเป็นช่วงที่มีความสุขในการแก้รัฐธรรมนูญ เคารพในความแตกต่าง เรียนรู้ของพลเมือง ไม่ใช่บี้กันจนนำไปสู่ความขัดแย้ง
    นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า กรณีของ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ ที่ถูกพรรคอนาคตใหม่ขับออกจากพรรคนั้น เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญนี้มีปัญหา เพราะคะแนนทุกคะแนนเกิดจากพรรคการเมืองที่อยู่ทุกพื้นที่ เป็นของกรรมการบริหารพรรค ไม่ใช่ ส.ส.ไปหลงคิดว่าเป็นผู้สง่างามจนประชาชนเลือกตั้งเข้ามา หากพรรคใดที่ไปรับงูเห่ากลุ่มนี้เข้าไป ขอให้คิดให้ดี 
    ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ผู้นี้กล่าวว่า ตัวปัญหาที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญนี้ คือ ส.ว.ที่ประชาชนไม่ได้เป็นคนเลือก แต่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ไม่กี่คน และมีอำนาจมากมายเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพื่อมาสืบทอดอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่อำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านนั้น แม้หากฝ่ายค้านจะเอา พล.อ.ประยุทธ์ออกจากตำแหน่งได้ แต่ ส.ว.ก็สามารถเอา พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ ใหม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ จนลมหายใจสุดท้าย เป็นได้เรื่อยๆ โดยไม่มีผู้ท้าชิง บ้านหลังนี้มีผีเร่ร่อน หลงคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าที่ บอกประชาชนให้ขายวิญญาณให้ แล้วจะไปผุดไปเกิด พอประชาชนขายวิญญาณให้ก็ไม่ไปผุดไปเกิด ทำให้ไม่สามารถสร้างบ้านให้สวยงามได้
    “ถึงเวลาที่ต้องขับไล่ผีตนนี้ ด้วยการตั้ง กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเหมือนมรดกบาปของผีตนนี้ ในการชุมนุมที่สกายวอล์ก ประชาชนตะโกนประยุทธ์ออกไป ถ้ายืนยันจะอยู่ในอำนาจต่อไป เป็นห่วงว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ไม่ได้ เผด็จการจะพินาศเสมอ” นายรังสิมันต์กล่าว
    นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวปิดการอภิปรายในส่วนฝ่ายค้านว่า หลายคนท้วงติงว่าจะรีบแก้รัฐธรรมนูญทำไม ทำไมไม่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านก่อน ตนขอบอกชี้แจงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ต้องแก้พร้อมกัน จะแก้เศรษฐกิจได้ต้องมีบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพ มีนิติธรรม เมื่อบ้านเมืองมีนิติธรรม เศรษฐกิจก็จะแก้ไขได้
    ประธานวิปฝ่ายค้านอภิปรายว่า เราเคยคิดว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่วันนี้ยิ่งดำดิ่ง ต่างชาติไม่คบค้า เพราะเราไม่มีความเชื่อถือเชื่อมั่น และความไว้วางใจ ถ้าไม่มี ก็ไม่มีใครลงทุน ต่างชาติเขารู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาอย่งไร แม้มีประชามติเขาก็รู้ว่าทำประชามติในบริบทอย่างไร แม้จะบอกว่าประชาชนมีส่วนร่วม ก็รู้ว่ามีส่วนร่วมอย่างไร และไม่ผิดด้วยที่เขาดูแบบนี้ รัฐบาลนี้ไม่เอื้อให้แก้เศรษฐกิจ เสถียรภาพเสียงในสภาฯ ก็เป็นเสียงปริ่มน้ำ เขาก็ดูออก พวกตนแค่ทดสอบ 2 ครั้งก็ไปไม่เป็น ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญนี้เป็นก้าวแรกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
บัญญัติ 6 ประการ
    นายสุทินกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญมีคุณค่า 2 อย่างคือ สร้างสันติสุข ขณะเดียวกันอาจสร้างวิกฤติสงครามการเมือง รัฐธรรมนูญเราที่ทำให้เกิดสันติสุข ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่คนในประเทศยอมรับ แต่สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มา 2 ปี อยากถามว่าเป็นอย่างไร ยอมรับกี่มากน้อย การที่รัฐบาลบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนให้ศึกษาเพื่อแก้ไข แสดงว่ารัฐบาลก็ยอมรับว่ามีปัญหา ประกอบกับโพลต่างๆ แสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ยอมรับ
    จากนั้น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาใน 3 ประเด็น 1.ระบบการเลือกตั้ง 2.ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงไปมาก และ 3.ขาดเนื้อหาสาระที่จะเอื้ออำนวยให้ประชาธิปไตยต่อไปในวันข้างหน้า เพราะในทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ประกาศใช้ ทุกอย่างไม่เกินไปจากความคาดหมายที่คาดไว้ตั้งแต่ต้น คือมีความยุ่งเหยิง นับตั้งแต่การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.62 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์แห่งความยุ่งยากมากเรื่องที่สุด คือ 1.การเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. มีการประกาศผลช้ามากที่สุดในประวัติการณ์ 
    2.สูตรของการคำนวณผลการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งสลับซับซ้อนที่สุด จนวันนี้คำว่า ส.ส.พึงมีก็ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ 3.ความไม่แน่นอนของสมาชิกภาพ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 4.ก่อให้เกิดพรรคการเมืองมากที่สุดทั้งในสภาและรัฐบาลมากกว่าครั้งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมากถึง 19 พรรค 5.กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ยาวนานที่สุด เมื่อตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำให้การแถลงนโยบายช้า การพิจารณางบประมาณจึงช้าไปด้วย ซึ่งถือเป็นตัวซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และ 6.มีเสียงปริ่มน้ำมากที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นความล้มเหลวของระบบเลือกตั้งในระบบจัดสรรปันส่วนผสม
    ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ฐานะผู้เสนอญัตติอภิปรายด้วยว่า ตนยินดีหากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ จะเข้าดำรงตำแหน่งประธาน กมธ. เพราะจากการทำงานร่วมกันในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาฯ นั้น เป็นไปด้วยดี และเชื่อว่าจะทำให้การศึกษาแก้รัฐธรรมนูญเดินหน้า ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาที่ต้องใช้เสียง ส.ว. 84 เสียง ดังนั้นขอให้สภาเร่งกดดันให้ ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสร้างกระแสสนับสนุนจากประชาชน เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญที่ตนมองว่าเป็นระเบิดเวลา มีปัญหาจนนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหารหรือลุกฮือของประชาชน 
    จากนั้น เวลา 20.35 น. นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่ 1 ตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ และสั่งให้ลงมติจะตั้งกมธ.วิสามัญฯ หรือไม่ ปรากฏว่าเห็นด้วยให้ตั้ง กมธ.ด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ 445 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง
จำเลยคดีโกงก็มา 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาของคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 120 วัน โดยจะประชุม กมธ.นัดแรก วันที่ 24 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม มี กมธ.ทั้งสิ้น 49 คน แบ่งเป็นโควตา ครม. 12 คน ได้แก่ 1.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 2.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ 3.นายวุฒิสาร ตันไชย 4.นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 5.นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 6.นายกฤษ เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต. 7.นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ 8.นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา 9.นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  10.นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย 11.นายโกวิทย์ ธารณา สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 12.นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 
    พรรคพลังประชารัฐ 9 คน ได้แก่ 1.นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. 4.น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. 5.นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ 6.นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช 7.นายทศพล เพ็งส้ม คณะทำงานด้านกฎหมาย พรรคพลังประชารัฐ 8.น.ส.วลัยพร รัตนเศรษฐ ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ 9.นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม
    พรรคภูมิใจไทย 4 คน ได้แก่ 1.นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ 3.นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง 4.นายบุญดำรง ประเสริฐโสภา อดีตส.ส.ราชบุรี
    พรรคประชาธิปัตย์ 4 คน 1.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค 4.นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช, พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน คือ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
    พรรคเพื่อไทย 10 คน ประกอบด้วย 1.นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม 2.นายจตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น 3.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. 4.นายโภคิน พลกุล 5.นายชัยเกษม นิติสิริ 6.นายชูศักดิ์ ศิรินิล 7.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา 8.นายประยุทธ์ ศิริพานิช 9.นายวัฒนา เมืองสุข 10.นายยงยุทธ ติยะไพรัช
    พรรคอนาคตใหม่ 6 คน ได้แก่ 1.นายปิยบุตร แสงกนกกุล  ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล 5.นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6.นายชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่  
    พรรคเสรีรวมไทย 1 คน ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต., พรรคประชาชาติ 1 คน ได้แก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน ได้แก่ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"