มิ.ย.นัดถกสลายขั้ว! นายกฯเปรยให้คนไทยฟัง การเมืองรุมจวกสัตยาบัน


เพิ่มเพื่อน    

    นายกฯ จ่อเรียกทุกพรรคการเมืองถกแนวทางการพัฒนาประเทศช่วง มิ.ย.นี้ ชี้ต่อไปฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องเดินไปด้วยกัน สลายขั้วเพื่อแก้ปัญหาให้ ปชช. ขณะที่พรรคการเมืองประสานเสียงไม่ตกหลุมพราง "สมชาย" ให้รับผิดชอบลงสัตยาบันเลื่อนเลือกตั้ง "นิกร" ลั่นไม่ใช่ลูกแกะ ตอนทำไม่ถาม พอมีปัญหามาโยนใส่ "นิพิฏฐ์" ซัด สนช.พยายามรักษาอำนาจตัวเองเพื่อได้กินเงินเดือนหลายทางต่อไป "เพื่อแม้ว" ประชดอยากอยู่ต่ออีกเท่าไหร่ก็ทำไปเลยถ้าไม่ละอายตัวเอง  "วรเจตน์" แจง "ปิยบุตร" ขาดจากนิติราษฎร์แล้ว วอนอย่าโยง ม.112 มาโจมตี 
    เมื่อวันอาทิตย์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวกับตัวแทนชุมชนคนไทยประมาณ 60 คนที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ระหว่างร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ 2018 ตอนหนึ่งว่า ช่วงเดือนมิถุนายนจะเรียกทุกพรรคการเมืองมาพูดคุย และสอบถามทุกพรรคว่าจะมีแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างไร และเห็นว่าการเมืองไทยต่อไปฝ่ายค้านและรัฐบาลต้องเดินไปด้วยกัน เชื่อมต่อกัน สลายขั้วเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนเท่าเทียมทั่วถึง พร้อมขอให้เชื่อมั่นในตนเอง
    วันเดียวกัน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ สนช. จะยื่นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (พ.ร.ป.ส.ว.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สนช.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 มีนาคมนี้ ซึ่งจะยื่นเพียง พ.ร.ป.ส.ว.ในบทเฉพาะกาลเท่านั้น ที่ให้แบ่งเป็น 20 กลุ่มสมัครได้แบบเดียว และเป็นการเลือกแบบไขว้กัน โดย สนช.ได้ตีความให้แบ่งวิธีออกเป็น 10 กลุ่ม ได้มาแบบ 2 ทาง และเลือกภายในกลุ่มของตนเอง หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าบทเฉพาะกาลขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะตกเฉพาะมาตราเท่านั้น แต่มาตราหลักจะยังคงอยู่ ซึ่งยืนยันว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นไม่กระทบกับโรดแมปการเลือกตั้ง แต่หากมีการยื่นให้ตีความ พ.ร.ป.ส.ส. จะมีผลกระทบต่อโรดแมป และจากการหารือกันภายใน สนช. เห็นว่าจะไม่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ป.ส.ส.อย่างแน่นอน
      นายวัลลภกล่าวว่า หลังจาก พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของประชาชน หากจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก ตลอดจนคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็สามารถยื่นได้เช่นกัน เพราะกฎหมายทุกฉบับถือเป็นสิทธิของประชาชนด้วยเช่นกัน และส่วนตัวเชื่อว่าสมาชิก สนช.จะไม่ใช้สิทธิในฐานะประชาชนยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ป.ส.ส. เนื่องจากได้มีการลงนามสัตยาบันไปแล้ว และเห็นว่าสมาชิก สนช.ไม่ควรดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพราะถือว่าไม่ฉลาด และไม่มีเหตุผลที่จะดำเนินการในช่วงนั้น หากมีการกระทำจริง ถือว่ามีเจตนาที่ไม่ดี จนทำให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้
    "ไม่มีการสมคบคิดกันระหว่าง สนช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อยื้อเวลาและกระทบต่อโรดแมป หลังจากมีการตั้งข้อสังเกตว่า การออกกฎหมายที่ผ่านมามักจะมีปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะตามหลักการแล้ว จะต้องรับฟังเสียงของคนส่วนใหญ่มากกว่าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม อีกทั้งไม่มีนอกมีในกันถึงกรณีที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วย" นายวัลลภกล่าว
      นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. กล่าวถึงกระแสโจมตี กรธ.และ สนช.ต่อการยื่นร่าง พ.ร.ป.ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นการวางยายื้อเลือกตั้งว่า ไม่ขอต่อล้อต่อเถียง ขอยอมแพ้ไปละกัน ที่ผ่านมาถือว่า กรธ.ทำหน้าที่ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว สำหรับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็คงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สนช.ไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ไม่เป็นไร กรธ.เตือนผลกระทบตามโรดแมปที่อาจจะเกิดขึ้นไว้แล้วในเอกสารเสนอแนะต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีมือดีไปยื่นให้มีการตีความภายหลังกฎหมายบังคับใช้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูทางฝั่งทำเนียบรัฐบาลอีกทีว่าจะดำเนินการอย่างไร นายกฯ สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ แต่ขณะนี้กฎหมายยังไม่ถึงมือนายกฯ
    นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา  กล่าวถึงเสียงวิจารณ์กรณี สนช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.ป.ส.ว.เพื่อยื้อเลือกตั้งว่า เป็นเรื่องภายในของ สนช.เอง ไม่ใช่การวางแผน ไม่ใช่ความตั้งใจ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองจากความบกพร่องแบบคิดด้านเดียว เหมือนอยู่ในสภาวะตกบันไดพลอยโจน เดิมเมื่อครั้งที่ตนดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อยู่นั้น มีความกังวลกับร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเกี่ยวพันกับ สนช.ที่อยู่ในปัจจุบันในเชิงซ้อน ว่าจะลงสมัครได้หรือลงไม่ได้ และที่สุดก็มีปัญหาจริง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือ กมธ.ของ สนช. เพราะการออกกฎหมายนี้ไม่ใช่เพื่อระยะเปลี่ยนผ่าน หรือบทเฉพาะกาล แต่เป็นการออกกฎหมายต่อไปในอนาคต ส่วนร่าง พ.ร.ป.ส.ส.จะส่งไปตีความพร้อมกันหรือไม่ให้ สนช.พิจารณาเอง ในเมื่อเป็นคนผูกเป็นคนมัดก็ต้องเป็นคนแก้ และต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นรวมทั้งแม่น้ำทุกสาย
พรรคการเมืองไม่ใช่ลูกแกะ
    เมื่อถามถึงกรณีนายสมชาย แสวงการ  วิป สนช. ตั้งเงื่อนไขให้พรรคการเมืองร่วมลงสัตยาบันว่ายินยอมให้เลื่อนโรดแมปเลือกตั้งออกไป 3 เดือน จะยอมส่งร่าง พ.ร.ป.ส.ส.ไปตีความด้วยนั้น นายนิกรกล่าวว่า เหตุผลและตรรกะไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง อาจจะคิดพลาดไป หรือพูดพลาดไป แต่ถ้าเป็นจริง ถือว่าใช้ไม่ได้อย่างมาก เพราะไปๆ มาๆ ตอนทำก็ไม่ได้ปรึกษา ส.ส. ไม่เคยเรียกไปถาม ไม่เคยคุยกัน ทำเอาตามที่สบายใจล้วนๆ แล้วพอมีปัญหาจะมาโยนใส่พรรคการเมือง บอกเลยว่าทุกพรรคการเมืองไม่ใช่ลูกแกะที่อยู่ปลายน้ำ แล้วจะมาโทษว่าทำน้ำให้ขุ่น เพราะไปไม่ถูกแล้วจะมาโยนใส่พรรคการเมืองให้รับผิดชอบ อย่างนี้ไม่ถูกอย่างมาก
    “แต่เดิมหาว่าเราทำน้ำให้ขุ่นทั้งที่เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย เป็นภาพลบนักการเมืองมาตลอด เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เขาว่ากันมาเองตลอด พ.ร.ป.นี้เอาที่สบายใจกันมาตลอด ไม่เคยฟังเสียงใคร แล้วจะมาโทษว่าพวกอยู่ที่ปลายน้ำ แล้วถ้าไม่ผิดตอนนี้ก็ผิดที่เป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ต้น อย่างนี้มันไม่ได้” นายนิกรกล่าว
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอบโต้นายสมชายว่า ก่อนหน้านี้เมื่อพรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นใด นายสมชายและ สนช.มักกล่าวเสมอว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่ปรับปรุงตัวเอง ไม่ปฏิรูปตัวเอง แม้แต่ตอนรับฟังความเห็นของการยกร่างกฎหมายสำคัญ เช่น กฎหมายพรรคการเมืองหรือกฎหมายเลือกตั้ง สนช. ก็ไม่เคยให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง ไม่เคยเชิญอย่างเป็นทางการ โดยอ้างเหตุผลว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อแสดงความเห็นไป เขาก็ยังเย้ยหยัน ดังนั้นการระบุจะส่งกฎหมายที่ตัวเองซึ่งโหวตลงมติผ่านโดยเอกฉันท์ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งที่ สนช.ยืนยันความถูกต้องมาก่อนหน้านี้ เห็นว่าเป็นเรื่องไม่มีน้ำหนัก แต่เป็นความพยายามในการรักษาสถานภาพของตัวเองและ สนช. เพื่อที่จะได้รับเงินเดือนหลายทางต่อไป แต่ก็ยังเหนียมอาย จึงออกมาเอ่ยปากขอให้พรรคการเมืองร่วมทำสัตยาบันดังกล่าว เพราะอย่างน้อยถ้าทุกพรรคไปลงนาม สนช.ก็จะได้อยู่ต่ออีก 3 เดือน  
    “เขาอาจจะลืมไปว่าข้อเสนอของ สนช.มันย้อนแย้งกันเอง เพราะเวลานี้ทุกพรรคการเมืองยังไม่สามารถมีมติใดๆ ในนามพรรคได้ เนื่องจากยังไม่สามารถประชุมพรรคได้ เพราะติดคำสั่งห้ามของ คสช.  ถ้าจะให้หัวหน้าพรรคการเมืองไปลงนามทำสัตยาบัน เกิน 5 คน หัวหน้าพรรคแต่ละพรรคอาจถูกรวบจับกุมและมีความผิดได้ ฐานละเมิดคำสั่งห้ามของ คสช.หรือเขาจะขุดหลุมให้แกนนำพรรคการเมืองไปถูกรวบตัว แต่ผมคิดว่าคงไม่มีหัวหน้าพรรคการเมืองไหนจะไปร่วมลงสัตยาบันเรื่องนี้แน่ อยากบอก สนช.ว่า เมื่อรับใช้ คสช.เดินมาขนาดนี้แล้ว ไม่ต้องเหนียมอายแล้วอยากทำอะไรก็ทำไปเลย เพราะที่ผ่านมาได้ทำเรื่องผิดปกติจนวุ่นวายมาแล้ว ดังนั้นวันนี้ถ้าจะอยู่ต่อก็อยู่ไป แต่อย่ามาสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง โดยใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมืออีกเลย เพราะทุกอย่างถูกขุดหลุมพลางให้เดินตามแนวทางของเขาไว้หมดแล้ว” นายนิพิฏฐ์กล่าว
     นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากถามทั้ง สนช.และ กรธ. ว่าทำไมไม่พิจารณาให้เรียบร้อยเสียตั้งแต่ขั้นตอนการตั้ง กมธ. 3 ฝ่าย ขณะที่ สนช.ก็เพิ่งลงมติเห็นชอบให้กฎหมายผ่านออกมาไม่นานนี้เอง ก็มายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียแล้ว และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ยังทำความเห็นต่อร่าง พ.ร.ป.ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ส.ว. ที่ สนช.เห็นชอบตามการปรับแก้ของ กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายไปถึงประธาน สนช. เพื่อให้พิจารณาดำเนินการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในประเด็นที่อาจขัดรัฐธรรมนูญหลายประการ 
    "มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็น 2 ทาง คืออาจจะเป็นการพิจารณากฎหมายที่ไม่รอบคอบโดยบริสุทธิ์ใจ หรืออาจจะเป็นขบวนการของการยื้ออำนาจ เพราะทั้งสนช.และ กรธ.ก็ถือกำเนิดเกิดจาก คสช.เหมือนกัน ถ้าไม่มีวาระซ่อนเร้น น่าจะหาข้อสรุปที่ลงตัวได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดตามมา แต่การที่ทั้ง กรธ.และ สนช.ที่มาจาก คสช.เหมือนกัน ไม่ยอมหาข้อสรุปเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา จึงถูกมองได้ว่าเป็นขบวนการยื้ออำนาจ"
     นายองอาจกล่าวว่า ความพยายามยื้ออำนาจโดยมือไม้ของ กรธ.และ สนช.ที่เกิดจาก คสช. ทำให้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ คสช.และหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะความพยายามยื้ออำนาจออกไป ย่อมทำให้กรอบเวลาที่จะจัดการเลือกตั้งตามที่นายกฯ เคยลั่นวาจาไว้ เกิดความไม่แน่นอน จะทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน รวมถึงนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจต่างชาติ ที่จะวางแผนการลงทุนในอนาคต อันจะส่งผลต่อการที่ประเทศจะเดินหน้าไปตามครรลองที่ถูกต้องต่อไป
อยากอยู่เท่าไหร่ก็อยู่ไป
    "ขอฝากให้นายกฯ และหัวหน้า คสช.ควรใช้ความกล้าหาญบริหารจัดการอำนาจที่มีอยู่ในมือของท่าน จัดการให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป มีการเลือกตั้งภายในกุมภาพันธ์  62 เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ อย่าปล่อยให้มีการวางระเบิดเวลาเพื่อยื้ออำนาจออกไปเรื่อยๆ จะทำให้ถอดสลักยากขึ้นทุกที และอาจมีปัญหาบานปลายตามมาได้ในอนาคต" นายองอาจกล่าว 
    นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวตอบโต้นายสมชายว่า ทุกพรรคคงไม่ยินยอมทำตาม เพราะพวกคุณรู้ตั้งแต่แรกว่าจะมีปัญหาแล้วทำไมไม่รีบแก้ไขตั้งแต่แรก พวกคุณไม่พยายามที่จะแก้ไขตั้งแต่แรก พอลงมติแล้วเกิดความขัดแย้งก็มาเรียกร้องพรรคการเมือง การกระทำแบบนี้เจตนาอะไร อยู่ๆ ก็มาบอกให้พรรคการเมืองลงสัตยาบัน เพราะเจตนาคือต้องการที่จะอยู่ในอำนาจต่อใช่หรือไม่ เรื่องนี้เห็นกันมานานว่าตรงไหนที่มีปัญหา แต่ สนช.ไม่มีความจริงใจที่จะคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน ก็เท่านั้นเอง
    "วันนี้พวกคุณอยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องคำนึงถึงประชาชนก็ได้แบบนี้ เพราะ 300 วันยังคิดอะไรไม่ออก ใช้เวลากันจนถึงวันสุดท้าย แล้วค่อยมาบอกว่ามีปัญหา แบบนี้ไม่หัดอายตัวเองบ้าง เปลืองเงินเดือนเปล่าๆ  เพราะฉะนั้นวันนี้พวกคุณไม่ต้องมาขอเวลาหรอก อยากจะอยู่ต่ออีกเท่าไหร่ก็ทำไปเลย ถ้าไม่รู้จักอายตัวเองบ้าง" นายสมคิดกล่าว     
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นร้อนแรงที่ถูกวิพากษ์อย่างหนักคือการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ส.ส.และ พ.ร.ป.ส.ว. ซึ่งคนทั้งบ้านทั้งเมืองมองออกว่าไม่ปกติ ไม่ชอบมาพากล เพราะเรื่องควรจบ ตกลงกันได้ด้วยดีในชั้น กมธ.ร่วม แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า แม้จะผ่านการพิจารณาของ กมธ.ร่วมฯ และผ่านการให้ความเห็นชอบของ สนช.ด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ แต่กลับมี สนช.จำนวนหนึ่งยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากว่าเกิดสถานการณ์ไม่ปกติขึ้นในระหว่างแม่น้ำ 5 สายด้วยกันเอง ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้ สนช.เพิ่งมีมติคว่ำการสรรหา 7 กกต. ซึ่งในกระบวนการสรรหา ภาคส่วนอื่นไม่มีโอกาสเข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด เป็นเรื่องภายในองคาพยพที่ คสช.และรัฐบาลควบคุมได้ จึงส่งผลสะสมความไม่เชื่อมั่นอีกประเด็นหนึ่ง
    "แม่น้ำ 5 สายล้วนทำให้ประเทศขาดความน่าเชื่อถือ ไร้ความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นการกระทำด้วยตนเองทั้งสิ้น ไม่มีผู้ใดไปเกี่ยวข้องเลย ลำพัง คสช.และรัฐบาล ไร้ความเชื่อถือ ไร้ความเชื่อมั่น ผู้ที่เสียหายคือหัวหน้ารัฐบาลเท่านั้น แต่ถ้าเป็นระดับประเทศ ความเสียหายตกแก่ทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชน ถามว่า คสช.และรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาตามระบอบประชาธิปไตยอยู่ไม่ได้แล้ว ไม่ลาออก ก็ยุบสภา ขอฝากเป็นข้อคิดว่าท่านจะรับผิดชอบต่อประเทศชาติ และประชาชนอย่างไรกับความเสียหายที่พวกท่านเป็นผู้ก่อเองทั้งสิ้น" นายชวลิตกล่าว 
    ส่วน นพ.ระวี มาศฉมาดล รักษาการหัวหน้ากลุ่มพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า แนวทางที่เห็นว่ามีความเป็นไปได้หากยื่นศาลตีความมี 3 แนวทาง คือ 1.ไม่กระทบต่อโรดแมป เพราะถ้าศาลพิจารณาโดยใช้เวลา 30 วันก็ไม่กระทบ 2.กระทบบ้างเล็กน้อย ถ้าศาลใช้เวลาตีความว่าขัดบางประเด็น และ 3.ถ้าศาลตีความว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าผิดหลายประเด็น หรือถึงต้องขั้นแก้ไขกฎหมาย ก็จะกระทบโรดแมปอย่างน้อย 6 เดือน กลุ่มพลังธรรมใหม่ไม่มีปัญหาการส่งตีความครั้งนี้ และพร้อมลงสนามเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 62 หรือเลื่อนออกไป 1-2 เดือน ก็ไม่มีปัญหา ขอให้ทุกอย่างเดินหน้าไปอย่างราบรื่น
    ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดตัวหนังสือ "ประวัติศาสตร์ความคิด นิติปรัชญา" พร้อมทั้งบรรยายตอนหนึ่งว่า ในสังคมเราแบ่งสำนักกฎหมายออกเป็น 2พวก 1.สำนักนักกฎหมายบ้านเมือง ที่ยึดถือข้อเท็จจริงว่าไปตามตัวบทกฎหมาย 2.สำนักนักกฎหมายธรรมชาติ ที่นอกจากหลักกฎหมายแล้ว ยังอ้างอิงไปถึงหลักศีลธรรม ความดีในสังคมไทย เมื่อเกิดข้อถกเถียงเรื่องราวที่เห็นต่าง มักมองอีกฝ่ายเป็นศัตรูไปเลย ทั้งที่ไม่ควร  หลายเรื่องที่เห็นต่างเป็นเพียงข้อกล่าวหา ซึ่งตนเคยโดนลักษณะนี้มาแล้ว พวกที่อ้างตนว่าดี สวมเสื้อคลุมคุณธรรม คิดว่าความถูกต้อง ก็ต้องอยู่กับเขา พวกนี้น่ากลัว แต่ละอย่างล้วนมีจุดเด่นจุดด้อย แต่เมื่อมาบังคับใช้กฎหมาย ต้องรู้ว่าอันนี้ทำได้หรือไม่ควรทำ เป็นเรื่องมโนธรรมสำนึก กฎหมายคือการให้ความหมายที่จะปฏิเสธไม่ได้ บางครั้งอุดมการณ์คือผู้ร้ายตัวจริง หลักนิติปรัชญาคือการทำให้เราตรวจสอบตัวเองว่าอะไรถูก อะไรผิด
อย่าโยงม.112โจมตีปิยบุตร
    นายวรเจตน์กล่าวว่า สิ่งที่ถามกันมากคือมาตรา 44 ที่มีการรับรองการกระทำอย่างชอบธรรมเอาไว้ด้วยในรัฐธรรมนูญถาวร 2560 คนอาจถามต่อมาว่า ถ้าหากมีการใช้แล้วไปกระทบสิทธิคนอื่นจะเป็นอย่างไร กฎหมายไทยจะทำอะไรได้ แม้ในวันนี้จะไม่มีการบังคับใช้ ส่วนใหญ่จะใช้ขณะที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เรื่องนี้เนติบริกรเขาพัฒนากฎเกณฑ์ความสามารถไปสู่จุดสูงสุด โดยนำไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ เลยทำให้มันชอบด้วยกฎหมายตามที่มีการระบุตอนหนึ่ง บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช.หรือของหัวหน้า คสช.ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไป...มีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป ตนจึงขอพูดเล่นๆ ถ้อยคำยังขาดไปอีกส่วน ซึ่งควรระบุ ให้ชอบด้วยกฎหมายทั้งชาตินี้และชาติต่อๆ ไป ทั้งนี้ ศาลสามารถลดทอนข้อบังคับลงได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ให้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมแล้ว แม้จะมีคนโต้แย้ง แต่ยังมีคำสั่งจาก คสช.ห้ามชุมนุมอยู่ แปลว่าคำสั่ง คสช.ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญหรือไม่ หากพิจารณาศาลสามารถตีความลดทอนเกณฑ์ตรงนี้ลงไปได้ถ้าเป็นอย่างนี้ เนติบริกรคงไม่สามารถเขียนอะไรแบบนี้ได้อีก
    ในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้มีการซักถาม โดยมีผู้ถามถึงนายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่เคยเป็นนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ แต่ไปร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เลยทำให้เข้าใจว่าคณะนิติราษฎร์ไปทำงานการเมืองหรือ นายวรเจตน์กล่าวว่า นายปิยบุตรเป็นลูกศิษย์ เสียดายที่ออกจากมหาวิทยาลัยไปทำงานการเมือง หากยังอยู่ในมหาวิทยาลัย จะทำงานวิชาการมาก ก่อนที่จะไปทำงานการเมืองได้มาคุยกับตนพร้อมบอกเหตุผล ทำให้เห็นว่าเขาต้องการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ประชาชนมีโอกาสเลือกมากขึ้น ตนเคารพความคิดเขา ในแง่ความสัมพันธ์ คณะนิติราษฎร์ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างมากในปี 2557 โดยเฉพาะการลบล้างผลพวงรัฐประหาร การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
    "เรื่องนี้ทำให้ผมถูกทำร้าย แม้เวลาผ่านไปหลายปี แต่ก็ยังมีคนไม่เข้าใจ ที่เสนอให้ทำโดยเปิดเผยทางสาธารณะ มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน คนที่ตำหนิ จะเอาเป็นเอาตายกับผมไม่เคยรู้หรือว่ากฎหมายนี้เคยถูกแก้มาแล้ว แต่จะแก้อย่างไรเป็นเรื่องที่สังคมต้องมาพูดกัน มาพิจารณากัน เมื่อเรื่องนี้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือมาทำลายทางการเมือง แต่มาทำให้สร้างสรรค์ขึ้นไม่ดีกว่าหรือ แม้ข้อเสนอตกไป ก็เป็นไปตามกลไกกฎหมาย ในปัจจุบันเอาเข้าใจก็มีการเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้ในเรื่องนี้ คือคนที่สั่งคืออัยการสูงสุด แล้วทำไมไม่คงไม่อย่างเดิม แสดงว่าที่เสนอไปมีเหตุมีผลใช่หรือไม่ อนาคตจะทำอะไรต่อไปอะไรหรือไม่ ผมก็ชราไปเรื่อยๆ ต้องให้คนอื่นมาทำต่อ นิติราษฎร์จึงเสมือนยุบตัวลงไป"
    แกนนำคณะนิติราษฎร์กล่าวว่า การไปร่วมงานทางการเมืองของนายปิยบุตร คนหนุ่มต้องการผจญภัย เห็นการเปลี่ยนแปลง อย่าเรียกพรรคอนาคตใหม่ว่าพรรคนิติราษฎร์ ไม่ใช่ ตนไม่ได้อยู่เบื้องหลัง เป็นที่ปรึกษา เพียงแค่ความสัมพันธ์ครู อาจารย์ เพื่อน มันตัดไม่ได้ ตนก็มีจุดยืนอยู่ ข้อเสนอที่นิติราษฎร์เสนอ ไม่เกี่ยวพันกับพรรคอนาคตใหม่ ถ้าเห็นว่าเป็นข้อเสนอดีนำมาทำก็ยินดี ไม่เฉพาะพรรคนี้ แต่รวมถึงพรรคการเมืองอื่นด้วย เรื่อง 112 ไม่ควรมาโจมตีนายปิยบุตร หากเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ชี้มาที่ตนหรือนิติราษฎร์ก็ได้ นายปิยบุตรขาดจากนิติราษฎร์ไปแล้ว แต่ละคนยืนคนละบทบาทแล้ว 
    ถามว่า ก่อนมีรัฐบาลใหม่มาตรา 44 แสดงอิทธิฤทธิ์ได้หรือไม่ นายวรเจตน์กล่าวว่า แสดงได้ แต่ไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสืออย่างเดียว ยังอยู่ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อีกด้วย การใช้ตอนมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวกับขณะนี้ ต่างกันเยอะ ตอนนี้อยู่ที่บริบทการเมือง ซึ่งคนจะใช้อำนาจก็ต้องคิดเยอะ ควรใช้หรือไม่ แล้วศาลจะเห็นอย่างไร
    เมื่อถามว่า มาตรา 44 ยกเลิกการเลือกตั้งได้หรือไม่ นายวรเจตน์ตอบว่า ถ้าพูดตามหลักกฎหมายคือใช้ได้ เพราะอำนาจมีไปถึงก่อนมีรัฐบาลใหม่ เราสมมุติได้หมด แต่อาจไม่เกิดในโลกความเป็นจริง สมมุติมีการเลือกตั้งแล้ว แต่มาใช้หลังเลือกตั้ง แล้วองค์กรศาลจะรับได้หรือไม่ ก็อาจถูกตีความว่าใช้ไม่ได้ องค์กรที่ตีความ มีสิทธิตีความลดทอนลง โดยบริบทที่มีรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว อยู่ที่บริบท การที่อัยการไม่ฟ้องจากการชุมนุม ก็พอบ่งฟ้องอะไรบางอย่างแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"