ประยุทธ์ลั่นไม่ปกป้องพี่น้องหากพบคอร์รัปชัน


เพิ่มเพื่อน    

   โพลเผยประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อรัฐบาล "บิ๊กตู่" แก้โกงได้ คสช.แจ้นแจง 9 เดือนสางปัญหาทุจริต  สงขลาพบงาบกระทั่งเงินคนพิการ "ต่อตระกูล" กระทุ้งป.ป.ช.เลิกยื้อสอบนาฬิกาหรูบิ๊กป้อม 
    เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ตามที่ คสช.ได้จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐมาตั้งแต่ ก.ค.2560 ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการประชาชนต่อเนื่องผ่าน 3 ช่องทางหลัก คือ สายด่วน 1299, ตู้ ปณ.444  และแจ้งด้วยตนเองผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ณ หน่วยทหาร ล่าสุด เลขาธิการ คสช. ได้มอบหมายให้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยเข้าสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ประจำพื้นที่ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเรื่องที่ได้รับการร้องเรียน ก่อนส่งผลการปฏิบัติโดยรวมให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)ดำเนินการต่อไป  
    ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่ 14 ก.ค.2560- 12 มี.ค.2561 มีประชาชนร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ จำนวน 3,664 เรื่อง แยกเป็น เรื่องความเดือดร้อนทั่วไป 1,758 เรื่อง, การทุจริตประพฤติมิชอบ 594 เรื่อง, ยาเสพติด 442 เรื่อง และเป็นเรื่องที่มีข้อมูลไม่ชัดเจน 856 เรื่อง โดยประชาชนได้ใช้บริการแจ้งผ่านสายด่วน 1,083 เรื่อง, ตู้ ปณ. 1,919 เรื่อง, แจ้งด้วยตนเองในส่วนกลาง 244 เรื่อง และแจ้งผ่านศูนย์รับเรื่องในภูมิภาค/หน่วยทหารทั่วประเทศอีก 418 เรื่อง 
    สำหรับเรื่องร้องเรียนที่ได้รับมาทั้งหมดดังกล่าว ได้ส่งเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมเข้าข่ายประพฤติมิชอบให้ ศอตช.ดำเนินการตามกรรมวิธี จำนวน 594 เรื่อง ในจำนวนนี้มีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้วจำนวน 157 เรื่อง พร้อมกับได้นำเรื่องเข้าสู่การดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามความผิดในกรณีต่างๆ ส่วนเรื่องที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน โดยไม่เกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ส่งเรื่องไปให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 1,758 เรื่อง ส่วนเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงและยาเสพติด จำนวน 442 เรื่อง ได้ส่งให้ต้นสังกัด และมีผลการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 79 เรื่อง 
    ที่ จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตรวจสอบปัญหาการทุจริตเงินคนยากไร้ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ในจังหวัดสงขลา พบว่ามีประชาชนผู้ที่มีรายชื่อและหลักฐานการรับเงิน แต่กลับไม่เคยได้รับเงินกรณีดังกล่าวจำนวนมาก ในตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จำนวน 17 ราย อำเภอนาทวี จำนวน 6 ราย และอำเภอระโนด อีกจำนวนหนึ่ง โดยในอำเภอนาทวีพบว่าประชาชนผู้มีรายชื่อรับเงินนั้นไม่ได้อยู่พื้นที่นี้มานานเกือบสิบปี มีเพียงบ้านเลขที่ สภาพบ้านเป็นบ้านร้าง และในอำเภอระโนด พบว่าผู้พิการมีรายชื่อแต่ไม่ได้รับเงินดังกล่าว ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าโกงได้แม้กระทั่งเงินคนพิการ    
    สำหรับภาพรวม 6 จังหวัดพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เขตพื้นที่ 9 ได้แก่ สงขลา พัทลุง สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส เจ้าหน้าที่สืบสวน ป.ป.ท.เขตพื้นที่ 9 ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงครบทุกจังหวัด มีเพียงปัตตานีเพียงจังหวัดเดียวที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ทำให้คาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนนำเสนอไปยัง ป.ป.ท.ส่วนกลางได้ภายในเดือนเม.ย.นี้
     “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ข่าวทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการ ณ วันนี้ เริ่มมีออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,157 คน ระหว่างวันที่ 13-17 มี.ค. เกี่ยวกับข่าวทุจริตในระบบราชการ ณ วันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 44.22 ระบุเป็นปัญหาใหญ่ มีมานานทุกยุคทุกสมัย สร้างความเสียหายต่อประเทศ รองลงมา ร้อยละ 28.67 อยากให้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง มีการตรวจสอบ รื้อระบบภาครัฐครั้งใหญ่, ร้อยละ 19.00 เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี กระทบต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียงของรัฐบาล, ร้อยละ 12.67 กฎหมายอ่อนแอ มีช่องโหว่ ทำให้เกิดการทุจริต
    เมื่อถามว่า คิดว่า “การทุจริต” มีสาเหตุจากอะไร? อันดับ 1 ร้อยละ 68.57 ระบุ ความโลภ ละโมบ เห็นแก่ตัว ขาดจิตสำนึก รองลงมา ร้อยละ 26.72 การใช้อำนาจหน้าที่เอารัดเอาเปรียบ, ร้อยละ 19.29 ระบบการตรวจสอบ ติดตาม ไม่เข้มแข็ง, ร้อยละ 12.93 สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาที่ตกต่ำ, ร้อยละ 5.17 ถูกชักจูง โน้มน้าว ทำตามพวกพ้อง
    ส่วนควรมีแนวทางป้องกันปัญหาการทุจริตอย่างไรบ้าง? อันดับ 1 ร้อยละ 35.81 เห็นว่าต้องปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ รองลงมา ร้อยละ 35.42 มีระบบการตรวจสอบที่ละเอียด เข้มงวด รัดกุม,  ร้อยละ 32.10 พัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษา สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี, ร้อยละ 22.38 เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม ไม่สองมาตรฐาน, ร้อยละ 14.45 ประชาชนร่วมมือกัน ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน 
    สำหรับข่าวการทุจริต ณ วันนี้ มีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มากน้อยเพียงใด? อันดับ 1 ร้อยละ 40.97 ระบุมีผลมาก เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์ ขาดความน่าเชื่อถือ ถูกมองว่าเป็นการปกป้องพวกพ้อง รู้สึกผิดหวัง เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ฯลฯ รองลงมา ร้อยละ 22.13 ค่อนข้างมีผล เพราะแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ, ร้อยละ 21.26 ไม่ค่อยมีผล เพราะการทุจริตเป็นปัญหาที่ฝังรากลึก มีมานาน ทุกรัฐบาลประสบปัญหา ไม่คาดหวังกับการแก้ปัญหาการทุจริตอยู่แล้ว ฯลฯ, ร้อยละ 15.64 ไม่มีผล เพราะเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล นายกฯ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ ฯลฯ
    สุดท้ายถามว่า ประชาชนคิดว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะแก้ปัญหาการทุจริตได้หรือไม่? อันดับ 1 ร้อยละ 56.61 เห็นว่าแก้ไขไม่ได้ เพราะที่ผ่านมามีหลายคดีที่เงียบหายไป ไม่สามารถเอาผิดได้ เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์พวกพ้องและผู้มีอิทธิพล แก้ไขได้ยาก เป็นปัญหาเรื้อรัง ฯลฯ รองลงมา 23.42 ไม่แน่ใจ เพราะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ยังไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริง ต้องติดตามต่อไป ฯลฯ, ร้อยละ 19.97 แก้ไขได้เพราะรัฐบาล คสช.มีอำนาจพิเศษ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เป็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ฯลฯ
    ด้านนายต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า จะบอกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างไรดี  ว่าประชาชนยังจับตารอฟังผลสอบกรณีนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมอยู่ นับเป็นเวลา 3 เดือนกับ 11 วันแล้วที่ ป.ป.ช.เลื่อนแล้วเลื่อนอีกเป็นครั้งที่ 4 หรือจะต้องใช้เวลาถึง 3 ปีเช่นเดียวกับกรณีนาฬิกาหรูมูลค่า 2.5 ล้านบาท ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2557 แต่เพิ่งแถลงเมื่อวันที่ 7 ธค.2560 ว่าเพิ่งสรุปสำนวนเสร็จ แต่ยังอยู่ในขั้นการพิจารณาของอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. จะยื้อไปถึงกี่ปี
    นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า การโกงเงินคนจนและคนไร้ที่พึ่งในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เกิดขึ้นกว่า 50 จังหวัด และมากกว่า 100 ล้านบาทในขณะนี้นั้น ทำกันเป็นขบวนการ และทำกันต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ซึ่งต้องมีข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองที่เกี่ยวข้องเข้ามาเอี่ยวด้วย ดังนั้นสังคมต้องจับตาว่าเรื่องนี้จะถูกตัดตอนเอาผิดแค่ข้าราชการระดับล่างหรือไม่ จะขยายผลไปถึงข้าราชการการเมืองหรือผู้มีอำนาจที่บงการอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ซึ่งจะพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลที่ประกาศว่าจะปราบโกงจะทำเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาแค่ไหน นอกจากนี้ รัฐบาลต้องปฏิรูปหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมด
    ในช่วงค่ำ สำนักข่าวไทยได้รายงานถึงภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่พบปะกับตัวแทนชุมชนคนไทยถึงเรื่องทุจริตในไทยว่า มีมานานแล้ว และต้องแก้ไข เพราะเป็นการทุจริตงบประมาณแผ่นดิน ยืนยันส่วนตัวไม่ได้ปกป้องพี่น้อง พร้อมย้ำโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้กลั่นแกล้งใคร แต่เป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
    “เรื่องทุจริตมีมานานแล้ว ผมก็รื้อขึ้นมาดูจากงบประมาณที่โดนโกงและถูกปกปิด ผมจัดการคนโกง เงินหลวง และที่บอกว่าผมปกปิด ปกป้อง บอกว่ารักพี่รักน้อง อันนั้นเป็นอีกเรื่อง เขาเอามาใส่จากไหนก็ต้องตอบคำถาม ป.ป.ช.เอง ดูแล้วเขาไม่ได้โกงเงินหลวง   แต่คนโกงผมก็ต้องจัดการ ส่วนบางคนถ้าไม่ผิดก็คงไม่ต้องหนี ผมไม่ได้แกล้งเขา แต่ให้ดำเนินการตามกระบวนการ ส่วนคนที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศ ถ้าเปลี่ยนพาสปอร์ตคงไม่สามารถตามได้ เพราะต่างประเทศอาจมองเป็นเรื่องการเมือง แต่คนหนีคงไม่มีความสุข เพราะกลับบ้านไปหาพี่น้องไม่ได้ แม้จะกลับไปตายประเทศไทยก็ไม่ได้“ นายกฯ กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"