ครม.เคาะกรอบเงินเฟ้อ63ที่1-3%“บิ๊กตู่”จี้ตั้งคณะทำงานประเมินศก.


เพิ่มเพื่อน    

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการเงินระยะปานกลาง ที่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 แบบยืดหยุ่นในช่วง 1-3% จากเดิมปี 2562 อยู่ในกรอบ 2.5% บวก/ลบ 1.5% เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และเพิ่มความยืดหยุ่นภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวน

นอกจากนี้ ยังกำหนดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี เนื่องจาก ธปท.มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไป มีโอกาสผันผวนได้จากราคาพลังงาน ราคาอาหารสด และปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะมีการติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด หากอัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมายที่ 1-3% จะมีการชี้แจงให้ รมว.การคลัง ทราบถึงสาเหตุและมาตรการที่จะดำเนินการให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมกันหารือเพื่อติดตามและประเมินกรอบเป้าหมายต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดเป็นประจำ เพื่อให้ดำเนินการนโยบายการเงินการและนโยบายการคลังสอดประสานกันได้เมื่อมีเหตุจำเป็น

“ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังได้สั่งการให้ ธปท. กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ตั้งคณะทำงานในการวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นปัจจัยในการประกอบการพิจารณาออกนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจต่อไป” นางนฤมล กล่าว

นางนฤมล กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2564-2567) โดยคาดว่าภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 จะเติบโตที่ 3.1-4.1% จากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงขึ้น การส่งออกที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น ตามแนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และภาคการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.7-1.7%

สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องจากปี 2564ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้ม เร่งตัวขึ้นจาก 0.9-1.9%ในปี 2565มาอยู่ในช่วง 1.0-2.0%ในปี 2566และ 1.2-2.2% ในปี 2567เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังทั้งในระยะปานกลางและระยะยาว

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการ 3ด้าน ได้แก่1.มาตรการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ เช่น ให้ สำนักงบประมาณควบคุมรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านบุคลากรเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อวงเงินงบประมาณรายจ่าย เป็นต้น 2.มาตรการด้านการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เช่น ให้กระทรวงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ทั้งระบบ โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ ผลักดันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ (e - Business) ในต่างประเทศ เป็นต้น และ 3.มาตรการด้านการรักษาวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะ ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังภาครัฐ พ.ศ. 2561โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรงบประมาณชำระต้นเงินกู้ เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังและภาระดอกเบี้ย ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดในการบริหารรายจ่ายประจำในอนาคตได้

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีที่อัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาและประมาณการ 12 เดือนข้างหน้า กนง.จะออกจดหมายเปิดผนึกรายงานถึง รมว.การคลังทุก 6 เดือน เพื่อให้ กนง.สามารถแสดงความรับผิดชอบและสื่อสารกับสาธารณชนได้ทันการณ์ ไม่ต้องรอถึงสิ้นปีปฏิทินเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องมองไปข้างหน้า (Forward-Looking)

“ยืนยันว่า การปรับลดเป้าหมายนโยบายการเงินครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณว่าแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจะเปลี่ยนจากเดิม โดยภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน นโยบายการเงินมีแนวโน้มผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายต่อไป โดยการตัดสินนโยบายการเงินภายหลังการปรับเป้าหมายใหม่ยังคงยึดหลัก คือ data dependent โดยพิจารณาข้อมูลรอบด้าน และพร้อมปรับนโยบายเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้ และรักษาสมดุลของการดูแลเป้าหมายนโยบายการเงิน 3 ด้าน ให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา คือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง การดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน” นายเมธี กล่าว

นายเมธี กล่าวอีกว่า แม้กรอบเงินเฟ้อใหม่จะอยู่ที่ 1-3% แต่ในประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2563 คาดว่าจะยังต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย หรือไม่ถึง 1% ซึ่งการจะบอกว่าเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบได้เมื่อใดนั้น อยากให้มองระยะยาว 5 ปี แต่ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อทั่วไปจะเข้ากรอบเป้าหมายกรอบล่างที่ 1% ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านน้ำมัน และอาหารสด ซึ่งการคาดการณ์เงินเฟ้อล่วงหน้านานๆมาก อาจมีความไม่แน่นอน

ส่วนกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ระบุถึงการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทนั้น ยอมรับว่ามีการพูดคุยระดับหนึ่ง ซึ่งการดูแลค่าเงินต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน และเป็นเรื่องที่ ธปท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และยืนยันว่า ในระยะต่อไปค่าเงินบาทเคลื่อนไหว 2 ทิศทางมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน และ กนง.ก็เป็นกังวลในเรื่องค่าเงิน พร้อมดำเนินการมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ดี จากกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัว ไทยจำเป็นต้องมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (QE) หรือไม่นั้น นายเมธี กล่าวว่า ไทยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าว เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤต ประเทศอื่น ๆที่เคยทำมาตรการนี้ ในช่วงปี 2008-2009 ก็เริ่มที่จะปรับลด ขณะที่ไทยปัจจุบันยังมีสภาพคล่องเหลือเฟือ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นในปัจจุบันเอื้อให้ กนง. สามารถพิจารณานโยบายการเงินได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางเป็นเป้าหมายหลัก ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

สำหรับการติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายนโยบายการเงินนั้น กนง. จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ 1.การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา 2.แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป และ 3.การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้ รมว.การคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"