‘กสม.’โอ่‘ผลงาน’ เร่ง‘คดี’ร้องเรียน เหลือค้างแค่10%


เพิ่มเพื่อน    

  กสม.เปิดผลงานในปีกุน ชี้มีร้องเรียนถึง 727 เรื่อง มากสุดคือกระบวนการยุติธรรม พร้อมโอ่เข้ามาทำงาน พ.ย.2558 เร่งงานค้างได้เพียบ ทำให้ตอนนี้มีเรื่องร้องเรียนคั่งค้างส่งต่อแค่ 10%

    เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกเอกสารข่าวสถิติเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2562 ว่ามีการร้องเรียนเข้ามา 727 เรื่อง ประเด็นสิทธิที่ร้องเรียนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม คิดเป็น 29% เช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยระหว่างการจับกุม การไม่แสดงหมายจับ ไม่แจ้งสิทธิผู้ต้องหาหรือดำเนินคดีล่าช้า ผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรมหรือต้องอาศัยอยู่ในสภาพเรือนจำแออัด ไม่มีสุขอนามัย เป็นต้น หน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิ ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ตามลำดับ
อันดับที่ 2 การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม คิดเป็น 16% เช่น กรณีการกำหนดคุณสมบัติตำแหน่งพนักงานส่วนท้องถิ่นไม่ตรงกับมาตรฐานกำหนด มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพ และการกำหนดคุณสมบัติห้ามผู้ติดเชื้อ HIV เข้ารับราชการตำรวจ โดยหน่วยงานที่ถูกร้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สตช. และอันดับที่ 3 สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล คิดเป็น 12% เช่น กรณีนักเรียนถูกบังคับตัดทรงผมที่ไม่เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด การขอให้ลบประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชนจากทะเบียนประวัติอาชญากร และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคาม โดยหน่วยงานที่ถูกร้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ และ สตช.
       ขณะที่ กสม.มีเรื่องร้องเรียนทั้งเรื่องที่ค้างเก่าและเรื่องที่ร้องเรียนใหม่ในปี 2562 ที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น จำนวน 912 เรื่อง และได้จัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วเสร็จ 499 เรื่อง นอกจากนี้ กสม.ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะมาตรการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเชิงระบบไปยังรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 4 เรื่อง โดยรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน 499 เรื่องในปี 2562 นั้น ประเด็นสิทธิ 3 อันดับแรก อันดับที่ 1 ได้แก่สิทธิชุมชน คิดเป็น 26.45% เช่น ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐหรือเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ และชุมชนได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่จากโครงการดังกล่าว อันดับที่ 2 ได้แก่ สิทธิในชีวิตและร่างกาย คิดเป็น 24.65% เช่น เจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานบุคคลผู้ต้องสงสัยในระหว่างถูกควบคุมตัว และอันดับ 3 ได้แก่ สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน คิดเป็น 11.62% เช่น กรณีพื้นที่สาธารณประโยชน์ทับที่ดินของประชาชน และการโต้แย้งสิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎร
ส่วนการจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเสนอต่อรัฐสภา ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 เรื่องนั้น ประกอบด้วย 1.ข้อเสนอแนะการดำเนินงานด้านกระบวนการยุติธรรมจากการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องขังซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน 2.ข้อเสนอแนะพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรม 3.ข้อเสนอแนะการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ และ 4.ข้อเสนอแนะการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะของคนพิการ
นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. กล่าวว่า ก่อน กสม. ชุดที่ 3 จะเข้ามารับหน้าที่ มีเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินการเสร็จไปประมาณ 10% คงค้างอยู่ 90% แต่เมื่อ กสม.ชุดที่ 3 เข้ามารับหน้าที่เมื่อปลายเดือน พ.ย.2558 จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.2562 กสม.สามารถออกรายงานผลการตรวจสอบได้ 80% คงค้างอยู่ 20% ในระหว่างเดือน ส.ค.ถึงเดือน ต.ค.2562 มีร่างรายงานผลการตรวจสอบที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองเสร็จและรอการพิจารณาจากที่ประชุม กสม. ร่วม 200 เรื่อง แต่ กสม.ไม่สามารถเปิดประชุมได้ เพราะมีกรรมการลาออก 2 คน ทำให้เหลือกรรมการเพียง 3 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งคือ 4 คน ภายหลังที่มีการแต่งตั้ง กสม.เป็นการชั่วคราวเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2562 เป็นต้นมาจนถึงปลายเดือน ธ.ค.2562 กสม.สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องร้องเรียนและร่างรายงานผลการตรวจสอบที่รอการพิจารณาได้ถึง 389 เรื่อง โดยสะสางเรื่องที่รอการพิจารณาในช่วงที่มีกรรมการไม่ครบจำนวนได้มากกว่าครึ่งของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ทำให้ปัจจุบันคงมีเรื่องร้องเรียนที่จะต้องดำเนินการอยู่ 10% 
“กสม.ชุดปัจจุบันยังเข้ามาช่วยริเริ่มและขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนในเชิงรุกเพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การเปิดตัวคู่มือการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 ช่วงชั้น สำหรับนักเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัย- มัธยมศึกษาตอนปลายที่จัดทำเสร็จอยู่ก่อนแล้ว โดยการขับเคลื่อนผ่านกลไกศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนใน 6 ภูมิภาคของ กสม. และการสร้างแกนนำเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รับรู้ เข้าใจ เท่าทัน และยืนเคียงข้างสิทธิมนุษยชน”
นายวัสกล่าวอีกว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ได้จัดทำและประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ส่งผลทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่มีการจัดทำแผนปฏิบัติการดังกล่าว ตามที่ กสม.ได้มีข้อเสนอแนะไปก่อนหน้านี้ และวางระบบในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก กสม. ทั้งยังส่งต่อข้อเสนอแนะต่างๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบและให้ความเห็น หรือชี้แจงในประเด็นปัญหา อันจะทำให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายเรื่องสามารถจัดการให้ลุล่วงได้โดยไม่ล่าช้า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"