สุขภาวะของคนไทยในโลกโซเชียล มนุษย์สองโลกแห่งศตวรรษที่ 21


เพิ่มเพื่อน    

 

         "มนุษย์สองโลก” ฟังดูแล้วอาจชวนให้นึกถึงเรื่องราวในนวนิยาย หรือภาพยนตร์แนว Sci-Fi อย่างบุพเพสันนิวาส หรือ Interstellar ที่ตัวละครเดินทางไปมาระหว่างโลกอดีตกับโลกปัจจุบันด้วยหลักการบางอย่างที่เป็นเพียงจินตนาการ ความตื่นเต้นของคนจากโลกหนึ่งที่ได้พบเจอหรือได้ทำอะไรที่คนอีกโลกหนึ่งมีหรือทำไม่ได้ สร้างสีสันและเป็นเสน่ห์ของเรื่องราวแนวนี้เรื่องแล้วเรื่องเล่าแต่ “มนุษย์สองโลก” ที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 21 ที่คนในโลกกำลังเดินทางกลับไปกลับมาระหว่าง 2 โลก โลกหนึ่งคือโลกจริงบนพื้นที่จริง กับอีกโลกหนึ่งคือโลกเสมือนซึ่งอยู่บนพื้นที่ดิจิทัล การสลับพื้นที่ระหว่าง 2 โลกที่ว่านี้มีสีสันและความตื่นเต้นไม่แพ้กัน และเป็นเรื่องจริงที่ไม่ใช้จินตนาการ

                โลกของเราก้าวสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร (Information age) นับแต่การปฏิวัติดิจิทัล (Digital revolution) เมื่อราวทศวรรษที่ 1950s เมื่อมีการพัฒนาคอมพิวเตอร์ยุคแรกที่ใช้หลอดสุญญากาศเป็นหน่วยความจำ เป็นการปักหมุดเวลา บอกระยะทางการพัฒนาของโลกที่ดำเนินต่อจากยุคอุตสาหกรรม (Industrial age) เมื่อโลกยุคข้อมูลข่าวสารเดินทางผ่านกาลเวลามาได้เพียง 6 ทศวรรษ จาก EENAIC คอมพิวเตอร์ยุคแรกที่มีขนาดกินพื้นที่ 167 ตารางเมตร ก็กลายมาเป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กกว่าฝ่ามือและยังมีที่ทำที่จะเล็กลงกว่านั้นไปอีก

                ระหว่างการเดินทางอันสั้นนี้ อาจกล่าวได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์ (Online social media) ซึ่งหมายถึงโปรแกรมประยุกต์ (Application) ที่ใช้เพื่อการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้คนในพื้นที่ดิจิทัลด้วยรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น LINE, Facebook, Twitter, Google+, Myspace, Instagram, LinkedIn, Pinterest, Snapchat, WhatsApp หรือ WeChat ได้กลายมาเป็นจุดสูงสุดของยุคข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันที่เข้ามามีบทบาทต่อการสร้างความสัมพันธ์ และความเป็นไปในแง่มุมต่างๆ ของมนุษย์ชาติที่ว่ากันว่าเป็นไปอย่างพลิกผัน (Disruptive) โลกในพื้นที่ดิจิทัลที่สะท้อนให้เห็นภาพของการแทรกซึมของสื่อสังคมออนไลน์ในแทบทุกชีวิต และทุกกิจกรรมอย่างกว้างขวาง ได้เปลี่ยนวิถีทางของสิ่งต่างๆ ที่เคยทำมาในอดีตให้กลายมาเป็น “วิถีของสื่อสังคมออนไลน์” ตั้งแต่การดำเนินชีวิตประจำวัน การสร้าง การรักษา และการยุติความสัมพันธ์ การดำเนินธุรกิจ การสร้างข่าว การสื่อข่าว การเคลื่อนไหวทางการเมือง การก่อการร้าย การก่อการดี การศึกษา การสาธารณสุข การดำเนินศาสนกิจ การเลี้ยงลูก การดูแลผู้สูงอายุ และอื่นๆ อีกเกินกว่าจะกล่าวได้หมด โลกในพื้นที่ดิจิทัลมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่มิได้แบ่งพื้นที่ตามภูมิรัฐศาสตร์ดังแต่ก่อน แต่มีการจัดระเบียบที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยง และแบ่งเขตแดนหลายชั้นหลายพื้นที่ได้ในเวลาเดียวกัน การปฏิวัตดิจิทัลได้สร้างโลกเสมือนอื่นไร้ขอบเขตขึ้นใบหนึ่งที่ดำเนินคู่ขนานกับโลกจริง แต่ก็มีความเป็นจริง (Reality) ของตัวมันเองอย่างน่าพิศวง

                ในแต่ละขณะเวลามีคนจากโลกจริงท่องไปในโลกเสมือนในจำนวนที่มากขึ้น และใช้เวลานานยาวขึ้น กิจกรรมต่างๆ ที่เข้าไปทำในโลกเสมือนมีความหลากหลายมากขึ้น แม้ตัวตนของแต่ละคนยังคงยืน เดิน นั่ง นอนในโลกจริง แต่ในหลายขณะก็สลับเข้าไปทำสิ่งต่างๆ ในโลกเสมือนและสลับกลับไปกลับมาอย่างช่ำชองขึ้นทุกวัน ทำให้ทั้งโลกจริงและโลกเสมือนไม่ได้อยู่แยกขาดจากกันโดยเด็ดขาด แต่ซ้อนกันอยู่เป็นอีกชั้นหนึ่ง และเวลาของโลกทั้งสองก็เดินไปพร้อมๆ กัน

                คนกับสื่อสังคมออนไลน์มีพัฒนาการและความเป็นไปที่ขยายตัวทั้งในแนวกว้าง แนวยาว และแนวลึกมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากขอบเขตของกิจกรรมทางสังคมที่ใช้พื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ที่นับวันจะหลากหลายมากขึ้น และในแต่ละด้านมีนวัตกรรมการใช้ที่ยิ่งแปลกใหม่และล้ำลึก นวัตกรรมและความแพร่หลายของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งโดยคนแต่ละคน และโดยองค์กรต่างๆ นี้ยิ่งกระตุ้นให้พัฒนาการของสื่อสังคมออนไลน์และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

                ในระยะเวลาที่ผ่านมา โลกได้จับตามองพลวัตของสื่อสังคมออนไลน์ทั้งในแง่ของตัวสื่อสังคมออนไลน์เอง และในแง่ของคนและชีวิตที่โลดแล่นในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ ในมุมหนึ่งสื่อสังคมออนไลน์ในโลกเสมือนก็อำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย มีโอกาสดีๆ ของชีวิตให้ไขว่คว้า มีข้อมูลไร้ขีดจำกัดให้เรียนรู้ มีเงินทองให้เสาะแสวงหา มีความสัมพันธ์ดีๆ ที่ช่วยเยียวยาทางจิตใจ และในขณะเดียวกันการหมกมุ่นอยู่ในโลกเสมือนจนแทบจะตัดขาดจากโลกจริง คนจริงๆ ความรู้สึกจริงๆ รวมทั้งการล่อลวง การลดการเคลื่อนไหวทางกาย และภัยร้ายอื่นๆ อีกมากมายก็แฝงอยู่ในโลกเสมือนนี้ไม่แพ้กัน การใช้ชีวิตในโลกทั้ง 2 ใบไปพร้อมๆ กันมีมุมมืดและมุมสว่างอย่างไร ส่งผลต่อความเป็นอยู่และสุขภาวะอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าจะต้องจาระไนและเข้าใจให้ชัดแจ้ง เพราะดูๆ แล้วมนุษย์เราคงต้องใช้ชีวิตสลับไปสลับมาในทั้ง 2 โลกนี้ไปอีกนาน

                สื่อสังคมออนไลน์ (Online social media) นับเป็นนวัตกรรมของสื่อที่กำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 โดยแท้ และนับเป็นวิวัฒนาการที่ต่อเนื่องจากสื่อรุ่นพี่อย่างโทรเลข (Telegraph) ซึ่งปิดตัวลงอย่างเป็นทางการในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2545 ท่อลมรับ-ส่งเอกสาร (Pneumatic post) โทรศัพท์ (Telephone) และวิทยุ (Radio) ซึ่งล้วนเป็นประดิษฐกรรมแห่งศตวรรษที่ 18 และ 19 (ระหว่าง ค.ศ.1792-1891) มีเพียงโทรทัศน์ (Television) เท่านั้นที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 ตอนต้น และเป็นสื่อดาวรุ่งเกือบตลอดศตวรรษจวบจนกระทั่งเมื่อสื่อสังคมออนไลน์มาถึงก่อนที่จะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เพียงเล็กน้อย สื่อโทรทัศน์ก็เฉาลงอย่างชัดเจน จนต้องปรับตัวเองให้เปิดพื้นที่ร่วมกับสื่อสังคมออนไลน์เพื่อความอยู่รอด

                พจนานกุรมออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary) ได้นิยามสื่อสังคมออนไลน์ไว้ว่าเป็นรูปแบบการสื่อสารผ่านเว็บไซต์ และโปรแกรมประยุกต์ (Application) ที่ให้ค้นสามารถสร้าง แบ่งปัน และเผยแพร่เนื้อหาต่างๆ อันเป็นการร่วมกิจกรรมทางสังคมในรูปแบบเครือข่าย ซึ่งในความเข้าใจของคนทั่วไปอาจหมายถึงการสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบบทันที (Instant) จึงเป็นเรื่องเข้าใจไม่ยากว่าเหตุใดการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นที่แพร่หลาย และผูกพันกับผู้คนอย่างกว้างขวางราวกับลัทธิใหม่ของศตวรรษที่ 21

                พัฒนาของการสื่อสังคมออนไลน์ในศตวรรษที่ 20

                สื่อสังคมออนไลน์ มีจุดเริ่มต้นตอจากการกำเนิดของคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีความสามารถสูง (Super computer) เป็นความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ในการจะให้เครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านั้นสื่อสารและส่งข้อมูลระหว่างกันได้ และทำให้เกิด CompuServe ซึ่งเป็นระบบอินเทอร์เน็ตระยะแรกเริ่ม และเกิดจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) เป็นครั้งแรกในปี 1966 ซึ่งต่อมาในปี 1979 Tom Truscott และ Jim Ellis นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน ได้พัฒนาระบบ UseNet เพื่อการสื่อสารผ่านจดหมายข่าวเสมือน (Virtual newsletter) โดยสมาชิกสามารถอ่านและเขียนข้อความตอบโต้ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม มีลักษณะที่คล้ายกับระบบ Bulletin Board System (BBS) ที่มีมาแต่ก่อน แต่สะดวกและรวดเร็วกว่า

                สื่อสังคมออนไลน์มีพัฒนาการที่ชัดเจนขึ้นเมื่อคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือไมโครคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็น คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กใช้ตามบ้านและสำนักงานทั่วไป มีการใช้อย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษที่ 1980 และในปี 1988 มีการพัฒนาโปรแกรม Internet Relay Chat (IRC) เพื่อการสื่อสารแบบ “พูดคุย” หรือ “สนทนา” (Chat) ซึ่งเป็นการสื่อสารที่สามารถโต้ตอบกันได้ทันทีในไมโครคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจนถึงทศวรรษที่ 1990 IRC ได้ทำให้เกิดวัฒนธรรมการ Chat ในห้องสนทนา (Chat Rooms) ในขณะนั้นข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ตเริ่มมีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาเนื้อหาในรูปแบบ World Wide Web (WWW) ที่เชื่อมต่อโยงในกันในอินเทอร์เน็ตและสามารถค้นหาได้ผ่านโปรแกรมค้นหา (Browser) ได้อย่างง่ายดาย ตัวโปรแกรมค้นหานี้เองที่ทำให้คนและข้อมูลต่างๆ ที่คนทั่วโลกต่างคนต่างผลิตและเก็บไว้บนอินเทอร์เน็ตเชื่อมกัน และหากันพบ

                สื่อสังคมออนไลน์เต็มรูปแบบ ในปลายศตวรรษที่ 20

                อาจกล่าวได้ว่า สื่อสังคมออนไลน์เริ่มพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบเมื่อ SixDegree.com ถือกำเนิดขึ้นในปี 1996 โดย Andrew Weinreich แต่เดิมเรียกว่า MacroView ต่อมา เปลี่ยนเป็น SixDegree ล้อตามแนวคิด Six Degree of Separation ของ Frigyes Karinthy (1929) นักเขียนชาวฮังกาเรียน ในเรื่องสั้นชื่อ “Chain” ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ “Everything is different” กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่คนรู้จักกัน 2 คน จะมี “เพื่อน ของเพื่อน ของเพื่อน” ที่บังเอิญรู้จักกันเป็นทอดๆ อยู่ไม่เกิน 5 คน ในทำนองที่คนไทยเรียกว่า “โลกกลม” และที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Small world” SixDegree นี้แตกต่างจาก IRC ตรงที่อนุญาตให้ผู้ใช้สร้างโปรไฟล์ (Profile) ของตัวเองได้ และใช้เพื่อการหาเพื่อนใหม่

                นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ Classmate.com พัฒนาโดย Randy Conrads ในปี 1995 ใช้เพื่อการค้นหาเพื่อนเก่าชั้นอนุบาล ประถม มัธยม SixDegree.com ปิดตัวลงในปี 2000 หลังจากที่บริษัท Youthstream Media Network ซื้อกิจการไปในมูลค่า 125 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 1999 ส่วนเว็บไซต์  Classmate.com ยังคงดำเนินการอยู่แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก ในขณะที่ SixDegree.com และ Classmate.com เป็นเว็บไซต์ที่มีกิจกรรมค่อนไปในการติดต่อสัมพันธ์และสนทนาในกลุ่มเพื่อน Robot Wisdom ซึ่งริเริ่มโดย Jorn Barger ในปี 1995 มีรูปแบบเป็นการเขียนแสดงความคิดเห็นเพื่อให้คนอื่นๆ มาอ่านและร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น Blog หรือ Weblog นับว่าเป็นสื่อสังคมออนไลน์ประเภท Blog อันแรก มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งความรู้ทั่วๆ ไป

                นอกจากนั้นยังมี MoveOn.org ซึ่งเป็น Blog ลักษณะเดียวกัน ริเริ่มโดย Joan Blades และ Wes Boyd ในปี 1988 ในช่วงเริ่มต้นมีลักษณะเป็นกลุ่มจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email group) รณรงค์และเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น กรณีการเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกการไต่ส่วนในการถอดถอนประธานาธิบดีบิล คลินตัน และกรณีอื่นๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการรณรงค์หาทุนเพื่อกิจกรรมสาธารณะต่างๆ และ LiVEJOURNAL พัฒนา โดย Brad Fitzpatrick นักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชาวอเมริกันซึ่งต่อมาได้ขายกิจการให้กับ SUP Media บริษัทสื่อสารสัญชาติรัสเซียในปี 2007 การเกิดขึ้นของสื่อสังคมออนไลน์ประเภท Blog (บล็อก) นี้น่าจะกล่าวได้ว่ามีส่วนสำคัญในการเผยธรรมชาติของคนในการแสดงความคิดเห็น และกระตุ้นให้คนอยากแสดงความคิดเห็น

                โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียน Blog (Blogger) สามารถเขียนแบบนิรนามได้ ไม่มีใครสามารถสืบค้นได้ว่าผู้เขียนเป็นใคร หรือบางคนอาจใช้การเขียนบล็อกเพื่อโฆษณาตัวเอง เผยแพร่ความคิดเห็นอย่างเปิดเผย ทำให้บล็อกกลายเป็นการชุมนุมทางความคิด เป็นแหล่งความรู้ เครื่องมือโน้มน้าวจิตใจ ล้างสมอง ปรองดอง และการวิวาทบนพื้นที่ดิจิทัล

                จะเห็นได้ว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 สื่อสังคมออนไลน์ได้พัฒนาบทบาทจากการสนทนาวิสาสะในกลุ่มเพื่อนฝูงและคนรู้จัก มาเป็นการเผยแพรค่วามคิดเห็นส่วนตัวและการถกเถียงประเด็นสาธารณะต่างๆ อย่างกว้างขวาง

                การขยายตัวและความหลากหลายของสื่อสังคมออนไลน์ในศตวรรษที่ 21

                อาจกล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษแรกของ ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคเฟื่องฟูอย่างก้าวกระโดดของสื่อสังคมออนไลน์ โดยดูจากสื่อสังคมออนไลน์ใหม่ๆ ที่เปิดตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประชากรในโลกออนไลน์ (Netizen) ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจในปี 2000 พบว่าประชากรอย่างน้อย 100 ล้านคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และทำให้เห็นว่าโลกเสมือนกำลังขยายตัวแข่งกับโลกจริงแบบก้าวต่อก้าว นอกจากนี้สื่อสังคมออนไลน์น้องใหม่ที่ผุดขึ้นต่างมีคุณลักษณะเฉพาะที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการอันซับซ้อนของคนในสังคม

                ความคึกคักของโลกสื่อสังคมออนไลน์เริ่มขึ้นในปี 2002 เมื่อ Friendster ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ประเภทเครือข่ายของกลุ่มเพื่อนถือกำเนิดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย โดยนักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชาวแคนาดา Jonathan เฉพาะในปี 2003 มีสื่อสังคมออนไลน์เกิดขึ้นถึง 6 เว็บไซต์ ได้แก่ LastFM สื่อสังคมออนไลน์มีเนื้อหาเฉพาะกลุ่มผู้รักดนตรี MySpace สื่อสังคมออนไลน์ประเภทเครือข่ายกลุ่มเพื่อน LinkedIn สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการเชื่อมโยงในกลุ่มคนทำงานเพื่อเป้าหมายทางวิชาชีพ WordPress สื่อสังคมออนไลน์ประเภทบล็อก Photobucket และ Flickr สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการแบ่งปันรูปภาพ Delicious สื่อสังคมออนไลน์ที่ช่วยคั่นหน้าเว็บไซต์ (Bookmarking) เพื่อจัดหมวดหมู่ที่ตนเองชอบ และเผยแพร่ให้คนอื่นรู้

                พอมาถึงในปี 2004 Mark Zuckerberg ก็พัฒนา Facebook เวอร์ชั่นแรกที่ใช้เฉพาะในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย Harvard นอกจากนี้ยังมีสารพัดสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ได้แก่ Care2, Muliply, Ning, Orkut, Mixi, Pczo, Hyves ในปี 2005 มีสื่อสังคมออนไลน์ใหม่เกิดอีก 4 เว็บไซต์ ได้แก่ Youtube, Yahoo!360º, Bebo, Reddit ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง Youtube สื่อสังคมออนไลน์ประเภทแบ่งปันวิดีโอทั้งที่มีขนาดสั้นและขนาดยาว และ Reddit สื่อสังคมออนไลน์ประเภทรวบรวมข่าวสารและจัดอันดับเว็บไซต์เท่านั้นที่ยังดำเนินการอยู่ ส่วนที่เหลือนั้นเสื่อมความนิยมและหยุดดำเนินการในที่สุด

                ในปี 2006 Facebook ได้เพิ่มลูกเล่นและขยายกลุ่มผู้ใช้ จากเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา Harvard สู่สาธารณะจนกลายมาเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้ทั่วโลกและมากที่สุดในโลก ในปัจจุบันและในปีเดียวกัน Jack Dorsey, Noah Glass, Biz Stone และ Evan Williams ได้เปิดตัว Twitter สื่อสังคมออนไลน์ที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อการติดตามและแบ่งปันข่าว ความเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ดาราบันเทิง กีฬา ประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ สื่อสังคมออนไลน์ทั้ง 2 เว็บไซต์นี้นอกจากจะทำหน้าที่ในการเชื่อมความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ในการแสดงความคิดเห็น แสดงตัวตน และรักษาคะแนนนิยมของตนเองในกลุ่มเป้าหมายที่ติดตามความเคลื่อนไหว Tumblr และ FriendFeed เกิดขึ้นในปี 2007 ส่วน Spotify, Ping, Groupon, Kontain เกิดขึ้น ในปี 2008 Foursquare ในปี 2009 Instagram, Pinterest, Google Buzz ในปี 2010 ส่วน Google+ และ Pheed ในปี 2011

                ความก้าวหน้าของสื่อสังคมออนไลน์เข้าขั้นทะยานแบบติดปีก เมื่อสื่อสังคมออนไลน์เข้าไปอยู่ในสมาร์ทโฟน ผนวกกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตขยายตัวอย่างกว้างขวางในศตวรรษที่ 21 สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ทำหน้าที่เผยแพร่ และเก็บข้อมูลระดับ Big Data ทุกเสี้ยวนาที ข้อมูลเหล่านี้เป็นทั้งข่าวสาร อารมณ์ ความรู้สึก ทัศนคติ ความรู้ ความบันเทิง มีความสำคัญต่อทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องงาน เรื่องทั่วไป ทั่วโลก

                ในศตวรรษที่ 21 สื่อสังคมออนไลน์ขยายหน้าที่ออกจากการสนทนารับ-ส่งข้อมูลข่าวสารเพื่อการบันเทิงและผ่อนคลาย ไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการทำมาหากิน การเคลื่อนไหวในประเด็นสังคมและการเมืองทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งยังทดแทนบทบาทของสื่อประเภทอื่นๆ ที่ทำหน้าที่มาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ ที่ต่างต้องปรับบทบาทหลีกทางให้และอยู่ร่วมกับสื่อสังคมออนไลน์อย่างชาญฉลาด และไม่เพียงแต่ในแวดวงสื่อเท่านั้น สถาบันและองค์กรต่างๆ ในสังคมล้วนกำลังปรับการทำงาน บทบาทและหน้าที่ของตัวเองให้เข้ากับพื้นที่ใหม่นี้ เพื่อให้ตนเองยังมีความหมายในโลกยุคดิจิทัล

                การขยายตัวของสื่อสังคมออนไลน์อันรวดเร็วนี้สรุปได้เป็นภาพเดียวว่า ผู้คนได้ค้นพบพื้นที่ใหม่ที่น่าตื่นเต้นมากแห่งหนึ่ง เป็นที่ที่ไม่เคยพบมาก่อน ข่าวการค้นพบถูกบอกต่อๆ กันไปอย่างรวดเร็วจนผู้คนไปออกันอยู่รอบๆ พื้นที่นั้น ต่างคนต่างคิด ค้นหนทางที่จะเข้าไปด้วยวิธีการและยานพาหนะแบบต่างๆ เพื่อได้รู้ ได้เห็น และได้หาประโยชน์สำหรับตนเองและใครต่อใคร

                อาการตื่น “โลกใหม่” ของศตวรรษที่ 21 การขยายตัวของประชากรโลก และประชากรไทย ในพื้นที่เสมือน และสื่อสังคมออนไลน์

                การค้นพบ “โลกใหม่” ของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เมื่อ ค.ศ.1492 ทำให้คนใน “โลกเก่า” ซึ่งประกอบด้วยดินแดนเพียง 3 ส่วน คือ ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย เกิดอาการ “ตื่น” ทั้งยังยั่วเย้าความกระหายใคร่รู้ สร้างจินตนาการความฝัน และความหวัง ขนาดที่โคลัมบัสเองเพ้อไปว่าเป็น Nuevo cielo e mundo “สวรรค์ใหม่ และโลกใหม่” แต่หลังจากการสร้างแผนที่โลกยุคใหม่สำเร็จ และทุกคนเห็นว่าโลกของเรามีเพียงเท่านี้ ก็ไม่มีใครพูดถึงการค้นหาโลกใหม่อีกเลย.... จนกระทั่งมาถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เมื่อ “โลกเสมือน” อุบัติซ้อนขึ้นกับโลกจริง

                โลกเสมือนใบนี้ยังไม่มีใครรู้ว่ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร อาณาเขตเริ่มต้นและสิ้นสุดที่ไหน สิ่งที่เหมือนกันระหว่างโลกใหม่ของโคลัมบัสกับโลกเสมือนของปลายศตวรรษที่ 20 คือ การเป็นพื้นที่ของ “ความไม่รู้ที่ยิ่งทำให้คนอยากรู้” การเป็นพื้นที่ของความฝันและความหวังของนักแสวงโชค เรื่องราวที่เต็มไปด้วยความจริงบ้าง ความเท็จบ้าง ไม่ผิดไปจากความเป็นสวรรค์ใหม่และโลกใหม่อย่างที่โคลัมบัสเคยเพ้อไว้ การหลั่งไหลเข้าไปท่องเที่ยวและค้นหาว่ามีอะไรในโลกนั้นบ้าง กับการเข้าไปเพื่อแสวงหาและกอบโกยผลประโยชน์นั้น มีมากพอๆ กัน

                แต่ข้อที่แตกต่างที่สำคัญระหว่างโลกเสมือนกับโลกใหม่ของโคลัมบัสคือ โลกเสมือนนี้เป็นโลกที่ใครก็เข้าไปได้อย่างง่ายดาย พาหนะที่จะพาเข้าไปก็ไม่ได้แพงลิบลิ่วเหมือนเรือนิยาปินตา (Niña Pinta) และเรือซานตามารีอา (Santa Maria) ของโคลัมบัส มีเพียงโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์หลากหลายราคาเป็นพาหนะที่จะพาท่องไปได้ทุกแห่งหน ไม่ต้องใช้เวลาเป็นแรมปีขนาดที่ต้องสั่งลาลูกเมียที่ท่าเรือก่อนออกเดินทางเพราะอาจจะไม่ได้กลับมาพบกันอีก โลกเสมือนนี้สามารถเข้าออกได้ดังใจนึก จะใช้เวลาเพียงแวบขณะจิตหนึ่งหรือยาวนานจนหลงวนไปชั่ววันชั่วคืนในโลกใบนั้นก็ย่อมสามารถทำได้ และการที่โลกเสมือนนี้เป็นโลกที่ทุกคนสามารถเข้าได้ง่ายทำให้ประชากรในโลกเสมือนเติบโตขึ้นรวดเร็วอย่างน่าตกใจ และยังไม่มีที่ท่าที่จะยุติ หรือทำให้คับแคบลงแต่อย่างใด

                ตอนที่โคลัมบัสเหยียบเท้าบนโลกใหม่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกาใต้ในปัจจุบัน โลกใหม่ตอนนั้นคาดว่ามีประชากรซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเพียง 10 ล้านคน โลกใหม่ของโคลัมบัส ใช้เวลาอีกกว่า 500 ปีถึงได้มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 พันล้านคน

                ในปี 2018 โลกเสมือนมีประชากรราว 4 พันล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่น้อยกว่า 3 พันล้านคน หากนับเอาจุดเริ่มต้นของการกำเนิด www ในปี 1991 เป็นวันชาติของโลกเสมือน ก็พอจะสรุปได้ว่าโลกเลื่อนลอยใบนี้ใช้เวลาเพียง 27 ปีเท่านั้นในการขยายพลเมืองเป็น 4 เท่าของโลกใหม่ และหากนับเอาการกำเนิดของ Sixdegree.com ในปี 1996 เป็นจุดเริ่มของโลกสื่อสังคมออนไลน์  ก็จะเห็นว่าโลกสื่อสังคมออนไลน์ใช้เวลาเพียง 22 ปีเท่านั้น ในการขยายพลเมืองเป็น 3 เท่าของโลกใหม่ การขยายตัวของโลกเสมือนสะท้อนทั้งความตื่นตัว ความกระหาย รวมทั้งการสั่งสมความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมนุษย์

                ในปี 2019 โลกมีประชากรประมาณ 7.5 พันล้านคน แม้จะมีประชากรเพิ่มขึ้นในทุกปีแต่ก็เพิ่มในอัตราที่ลดลง โดยเฉพาะในประเทศที่มีการพัฒนาในระดับสูง ประชากรโลก จำนวน 2 ใน 3 มีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกว่าครึ่งของจำนวนนี้เป็นสมาร์ทโฟน เท่ากับว่าคนค่อนโลกมียานพาหนะที่จะสามารถพาท่องโลกเสมือนบนฝ่ามือของตัวเองได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด จึงไม่น่าแปลกใจที่โลกเสมือนจะมีอัตราการเพิ่มของประชากรอย่างน่าตกใจ ในปีที่ผ่านมามีคนใช้อินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 ทั่วโลก และมีคนใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 ในแต่ละวินาทีตลอดระยะเวลา 12 เดือนของปี 2017 จะมีคนใช้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 11 คน และเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์มีคนใช้เพิ่มมากขึ้นกว่า 300 ล้านคน  ไม่เพียงแต่จำนวนประชากรออนไลน์ในอินเทอร์เน็ตทั่วไป และในสื่อสังคมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น เวลาที่ผู้คนท่องไปในโลกเสมือนใบนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน ในรายงาน Global Digital Report 2018 คนใช้เวลาในโลกเสมือนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน โลกเสมือนนั้นมีความคับคั่งและคึกคักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

                ในปีที่ผ่านมาอเมริกาเหนือและใต้มีจำนวนคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นประมาณ 23 ล้านคน คิดเป็นอัตราเพิ่ม ร้อยละ 3 และมีคนใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้น 49 ล้านคน คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 8 ส่วนในยุโรปมีคนเข้าอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 37 ล้านคน คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 6 และคนใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้น 32 ล้านคน คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 8

                ตะวันออกกลางประกอบไปด้วย 22 ประเทศ มีประชากรประมาณ 250 ล้านคน แต่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงมากถึงร้อยละ 65 ส่วนการใช้สื่อสังคมออนไลน์อยู่ที่ร้อยละ 52 แม้ทั้งจำนวนและอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการใช้จะยังสู้ทวีปอเมริกาและทวีปยุโรปไม่ได้ แต่มีรายงานว่าอัตราการเติบโตของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการใช้สื่อสังคมของคนตะวันออกกลางในปีที่ผ่านมาสูงกว่าทวีปอเมริกาและยุโรปมาก การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น 17 ล้านคน คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 11 ส่วนสื่อสังคมเติบโต 37 ล้านคน คิดเป็นการเติบโตถึงร้อยละ 39 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค และนี่อาจเป็นภาพสรุปของคำตอบที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่ม Arab Spring ที่ประชากรตะวันออกกลางในโลกจริงและโลกเสมือนร่วมกันปฏิบัติการอย่างที่เรียกว่า O2O (Online to Offline) เกิดเป็นจุดสัมผัสของ 2 โลกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในตะวันออกกลาง

                เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีทั้งพื้นที่และประชากรมากที่สุดถึง 4 พันล้านคน แม้จะมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตน้อยกว่าทั้งทวีปอเมริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง คือประมาณร้อยละ 48 ของประชากร และมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ร้อยละ 42 แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนคนแล้วมีประชากรในโลกเสมือนและการใช้สื่อสังคมออนไลน์สูงกว่าในปีที่ผ่านมา เอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 98 ล้านคน คิดเป็นการเพิ่มร้อยละ 5 ส่วนการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้น 224 ล้านคน คิดเป็นการเพิ่มร้อยละ 14 แม้อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการใช้สื่อสังคมออนไลน์จะน้อยกว่าทวีปอเมริกาและยุโรป แต่ก็มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสื่อสังคมออนไลน์

                สิ่งที่จะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการมองภาพรวมของภูมิภาคนี้คือ การเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลาย ทั้งเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม ภาษา และระดับการพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่คนมักมองไปยังประเทศที่มีระดับการพัฒนาหรือมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นเพียงไม่กี่ประเทศ ในขณะที่ประเทศโดยส่วนใหญ่ในเอเชียแปซิฟิกยังยากจนและก้าวหน้าไม่มากนัก จากรายงานขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific, and Cultural Organization : UNESCO) ในปี 2016 เกี่ยวกับการเติบโตและการใช้อินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ของภูมิภาคนี้ พบว่า ยังมีระดับที่แตกต่างกันมาก อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีตั้งแต่ระดับที่สูงเกินกว่าร้อยละ 90 ของประชากร เช่น ในญี่ปุ่น ร้อยละ 80 ในเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ระดับกลางๆ ประมาณร้อยละ 50 เช่น ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และระดับน้อยที่เข้าถึงเพียงประมาณร้อยละ 10 หรือต่ำกว่า เช่น อัฟกานิสถาน เมียนมา และกัมพูชา ในรายงานดังกล่าวยังชี้ประเด็นปัญหาเรื่องความพร้อมของระบบโครงสร้างรองรับราคาของอินเทอร์เน็ต รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัย ความรุนแรง และการคุกคามในโลกไซเบอร์

                ส่วนแอฟริกานั้น ให้ภาพรวมที่แตกต่างไปจากเอเชียแปซิฟิกและอื่นๆ ภูมิภาคนี้ยังค่อนข้างล้าหลังและทิ้งช่วงห่างในแง่ของพัฒนาการทางด้านอินเทอร์เน็ตและการใช้สื่อสังคมออนไลน์เมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค จากประชากร 1.2 พันล้านคนของกว่า 50 ประเทศ มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 34 ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพียงร้อยละ 15 อย่างไรก็ตามในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศต่างๆ มีความพยายามอย่างมากในการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเน้นการวางเคเบิลใต้น้ำเป็นสำคัญ

                เฉพาะในปี 2013 แอฟริกาลงทุนรวมเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไปด้วยงบประมาณราวๆ 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้เพื่อสร้างสะพานไซเบอร์เชื่อมแอฟริกากับภูมิภาคอื่นๆ และเพื่อไม่ให้แอฟริกาโดดเดี่ยวจากพื้นที่ในโลกเสมือน แม้จะมีความพยายามอย่างมากในการพัฒนาการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่อุปสรรคสำคัญที่แอฟริกาเผชิญอยู่และยังหาทางออกไม่ได้คือ การที่ยังมีอีก 16 ประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (Landlocked) ทำให้ไม่สามารถเชื่อมกับเคเบิลใต้น้ำได้ การเชื่อมกับเครือข่ายเคเบิลบนดินต้องอาศัยการผ่านพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังคงมีกรณีพิพาทในหลายพื้นที่ ปัญหาเหล่านี้กระทบต่อทั้งราคาและคุณภาพของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมทั้งอัตราการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แม้กระนั้นในปี 2018 ก็พบว่ามีคนเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากปี 2017 ถึง 73 ล้านคน คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 20 และมีคนใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 20 ล้านคน คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 12

                ประเทศไทยในโลกเสมือน

                หากกล่าวถึงระดับความ “ตื่น” กับโลกเสมือนใบนี้แล้ว ประเทศไทยนับว่าติดอันดับต้นๆ ของโลกมาเป็นเวลายาวนาน ตั้งแต่ยุคที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต การจะเข้าโลกออนไลน์ต้องเข้าผ่านทางคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นแบบตั้งโต๊ะ หรือโน้ตบุ๊ก และยิ่งไปกว่านั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์ของที่ทำงาน มหาวิทยาลัย โรงเรียน หรือร้านคอมพิวเตอร์ จนทำให้ร้านคอมพิวเตอร์ และ Internet Café เติบโตอย่างรวดเร็วราวกับดอกเห็ด ในตอนนั้นการสนทนาออนไลน์ต้องทำผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น โดยใช้โปรแกรม Chat ต่างๆ ส่วนสื่อสังคมออนไลน์แรกๆ ที่คนไทยนิยมยังเป็น Hi5 ในปี 2008 ฝ่ายการตลาดของ Hi5 รายงานว่าประเทศไทยมีสมาชิกมากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และมีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 3 ของโลก

                มาจนถึงปี 2018 ผลการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รายงานว่า คนไทยใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เพิ่มจากปีก่อน 3 ชั่วโมง 41 นาที ซึ่งไม่ต่างจากผลการสำรวจของ We Are Social ซึ่งรายงานว่าประเทศไทยติดอันดับการใช้เวลาในอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก 9 ชั่วโมง 38 นาที เฉพาะการใช้สื่อสังคมออนไลน์ คนไทยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 10 นาทีต่อวัน และยิ่งไปกว่านั้นคนไทยชมสื่อบันเทิงต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตประมาณ 4 ชั่วโมง 3 นาที จะว่าไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของชีวิตคนไทยในแต่ละวันท่องอยู่ในโลกเสมือน

                ในแง่ของการแทรกซึมและการเข้าถึงของอินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย พบว่า ประมาณร้อยละ 82 ของประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งในปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 11 ล้านคน คิดเป็นอัตราเพิ่ม ร้อยละ 24 และเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ร้อยละ 74 ปีนี้มี จำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 5 ล้านคน คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 11 นอกจากนี้ร้อยละ 80 ของคนไทยมีเครื่องมือสื่อสารเคลื่อนที่ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต ร้อยละ 90 รายงานว่าเข้าอินเทอร์เน็ตทุกวันร้อยละ 8 เข้าสัปดาห์ละครั้ง ร้อยละ 74 เข้าอินเทอร์เนต็ผ่านสมารท์โฟน และร้อยละ 98 ของคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีสมาร์ทโฟนใช้ ซึ่งอันที่จริงแล้วในปัจจุบันเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีก็มีสมาร์ทโฟนใช้แล้วเป็นจำนวนมาก

                หากเจาะลึกลงไปในพฤติกรรมในโลกเสมือนของคนไทย โดยดูจากเว็บหรือแอปพลิเคชันที่มีปริมาณการเข้าใช้คับคั่ง จะพบว่า กิจกรรมสำคัญของการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นไปเพื่อการค้นหาข้อมูลผ่าน Google ทำให้ปริมาณการเข้า Google สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเว็บอื่นๆ เฉลี่ยแล้วคนไทยใช้เวลาใน Google ประมาณ 9 นาทีต่อครั้ง ในแต่ละครั้งเปิดเข้าไป ประมาณ 7-8 หน้า รองลงมาจาก Google คือ Facebook ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์เพื่อการติดต่อกับเพื่อน ในแต่ละครั้งที่เข้า Facebook จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 12 นาที และเปิดเข้าไปประมาณ 12 หน้า รองจาก Facebook คือ Youtube ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ประเภท TV และ VDO ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความบันเทิง แม้ปริมาณการเข้าจะน้อยครั้งกว่า แต่คนไทยจะใช้เวลาใน Youtube นานที่สุด คือ ประมาณ 24 นาที และเปิดไปประมาณ 10 หน้า

                นอกจากการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการค้นข้อมูล (Google) ติดต่อกับเพื่อน (Facebook) ดู TV และ VDO (Youtube) แล้ว คนไทยยังใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการสนทนาด้วยการพิมพ์ข้อความแบบตอบโต้ทันที (Instant messaging) ทดแทนการโทรศัพท์มากขึ้น โดยโปรแกรม Line เป็นสื่อสังคมออนไลน์ประเภทการสนทนาที่นิยมที่สุด รวมทั้งการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการอ่านและติดตามความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ และแสดงความคิดเห็นของตนเอง เช่น การเข้าไปอ่านและเขียน แสดงความคิดเห็น (Comment) ในเว็บไซต์ Pantip.com และ Sanook.com รวมทั้งการใช้ Twitter และที่น่าจับตามองมาก ในขณะนี้คือการซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งมีหลายเว็บไซต์ แต่ที่ติดอันดับคนใช้มากที่สุดในปัจจุบันคือ Lazada.co.th

                อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตคนไทยแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิงและนันทนาการด้วยการอ่าน การดูและการฟังเนื้อหาสาระ ประเภทต่างๆ ในการทำงานที่มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อการติดต่อสื่อสารกับผู้ร่วมงานมากขึ้น การติดตามความก้าวหน้าของงาน การรายงานปัญหาอุปสรรค การขอความคิดเห็น การสั่งและส่งงาน และในการรักษาความสัมพันธ์ส่วนบุคคลทั้งที่เป็นเพื่อนและครอบครัว จนกระทั่งการจับจ่ายใช้สอยผ่านอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

                การเติบโตอย่างรวดเร็วของใช้สื่อสังคมออนไลน์นี้ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ที่ผู้คนต้องการการเชื่อมโยง และรับรู้ข่าวสารอยู่ตลอดเวลากลัวการ “เอาต์” (Out) คือ การตกข่าวหรือไม่ทันเหตุการณ์ อย่างที่เรียกว่า Fear of Missing Out (FOMO) รวมทั้งต้องการแสดงความสนใจในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือส่งต่อข้อมูลที่ตนเองรับทราบมาเพื่อให้ใครๆ เห็นว่าตนเองรู้ก่อนจนขาดการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ

                สองคมต่อสุขภาวะของสื่อสังคมออนไลน์

                ดาบสองคม เหรียญสองด้าน และคุณอนันต์โทษมหันต์ เห็นจะไม่ผิดไปจากสิ่งที่คนในสังคมกำลังเผชิญกับสื่อสังคมออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในทุกพื้นที่ของโลกปัจจุบัน และดูท่าทีแล้วสื่อสังคมออนไลน์แนบชิดกับชีวิตและพฤติกรรมของคนในสังคมไทยด้วยสถิติที่ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก

                ความคลั่งไคล้สื่อสังคมออนไลน์ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วนี้ สร้างข้อกังขาเกี่ยวกับความปลอดภัยของสังคมไทยในพื้นที่เสมือนนับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นที่สื่อสังคมออนไลน์สัมผัสกับคนไทย จนกระทั่งเข้าขั้นรุกล้ำทั้งพื้นที่ส่วนรวมและส่วนตัวของคนไทย แต่ก็ไม่มีใครกล้าประณามว่าสื่อสังคมออนไลน์ชั่วร้ายไปเสียทั้งหมดจนต้องกำจัดไปจากสังคม เพราะจริงๆ แล้วมีคนและกิจกรรมในสังคมอีกไม่น้อยที่ต้องพึ่งพาพื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ และมีชีวิตของอีกหลายคนอาจพังครืนลงไป หากสื่อสังคมออนไลน์หายไปจากโลก

                การจาระไนให้เห็นชัดเจนว่าพื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ มีมุมสว่างมุมมืดอย่างไรในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสุขภาวะของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นทางกาย จิต ปัญญา หรือสังคม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ข้อเตือนใจและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวปฏิบัติ เพื่อลดด้านมืดและเพิ่มด้านสว่างของโลก เสมือนในสังคมไทย

                ปัญญา และอวิชชา ที่มากับโซเชียลมีเดีย

                การใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นการไต่ระดับที่จุดสูงสุดและต่ำสุดของโลกยุคข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน แม้จะไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่าโลกยุคข้อมูลข่าวสารจะยกระดับของพัฒนาการไปถึงจุดไหน แต่เพียงแค่จุดล่าสุดนี้สังคมก็เปลี่ยนแปลงไปจนหลายคนปรับตัวเพื่อรับมือไม่ทัน

                ในมิติของข้อมูลนั้น เมื่อแรกเริ่มอินเทอร์เน็ตได้ทลายเขื่อนข้อมูลที่เคยกีดกั้นและสงวนเก็บไว้ให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น ในขณะที่คนอีกจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำของข้อมูลข่าวสารซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำของโอกาสที่ได้รับและความเหลื่อมล้ำทางสถานภาพในสังคม ในประเด็นนี้สื่อสังคมออนไลน์ได้แสดงบทบาทในการเป็นตัวเร่งการทลายของเขื่อนกักเก็บข้อมูลนั้น และยังทำให้มวลข้อมูลขนาดมหึมาหลั่งไหลเข้าสู่ผู้คนทั่วโลก ปราศจากพรมแดนทางภูมิศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ใดๆ ขวางกั้น

                ยิ่งเมื่อสื่อสังคมออนไลน์เข้าไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ก็ยิ่งทำให้ข้อมูลถาโถมเข้าสู่ผู้คนได้อย่างรวดเร็ว และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในฐานะผู้รับข้อมูลเท่านั้น แต่ยังเกิดปรากฏการณ์ที่ใครๆ ก็สามารถสร้างข้อมูล (User-generated content) และเชื่อมต่อกันได้อย่างอิสระ เรียกโดยทั่วไปว่า “เว็บ 2.0” (Web 2.0) เกิดเป็นข้อมูลที่สร้างโดยภาคประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ชาวเน็ต (Netizen) ได้มีโอกาสแสดงบทบาทการเป็นนักเขียนประชาชน นักสืบประชาชน นักวิชาการประชาชน นักเคลื่อนไหวประชาชน ฯลฯ ที่ทรงพลังยิ่ง เพราะสามารถทำได้ง่าย ทำได้เร็ว และทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ หลายคนลงมือลงเเรงค้นคว้าข้อมูล วิเคราะห์และเขียนบทสรุป สร้างผลงานทางความคิดชิ้นใหม่ๆ มากมาย และสามารถสร้างรายได้อย่างงาม โลกสื่อสังคมออนไลน์พานักคิดเหล่านี้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั่วโลก ส่งสินค้าถึงมืออย่างง่ายดาย ปิดการขายด้วยการโอนเงินผ่านระบบดิจิทัลในพริบตา

                เราได้เห็นศิลปินหน้าใหม่ที่สร้างผลงานในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ของตัวเองแล้วเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์จนโด่งดัง โดยไม่ต้องง้อคนกลางหรือบริษัทนายหน้า มิหนำซ้ำบริษัทนายหน้าทั้งหลายกลายเป็นฝ่ายที่วิ่งเข้าหาเมื่อพบว่าศิลปินเหล่านี้โด่งดังในชั่วขามคืน ยืนยันด้วยยอดวิวขนาดหลาย K (1K = การเข้าชม 1 พันครั้ง) หรือหลาย M (1M = การเข้าชม 1 ล้านครั้ง) การแจ้งเกิดของศิลปินออนไลน์หน้าใหม่เหล่านี้ไม่ได้จำกัดเพียงแต่กลุ่มวัยรุ่นที่มีความคล่องแคล่วในการใช้สื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเปิดช่องทางให้ผู้สูงวัยได้ส่งเสียงและแสดงตัวตนไม่ให้ถูกหลงลืมไปกับกาลเวลา มีผู้สูงอายุไม่น้อยที่หัวใจกระชุ่มกระชวย มีกำลังใจลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆ เพื่อเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์

                นอกจากนี้ยังมีคนอีกมากมายที่ลงมือคิด และสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เพียงเพราะความดื่มด่ำในการค้นและการคิดโดยไม่มีแรงจูงใจทางการเงิน มีแต่ความสุขสมใจกับการได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ การที่ได้เผยแพร่และการได้เห็นยอดวิว ยอดไลค์ คอมเมนต์ และแชร์ แฟนคลับที่ติดตามเป็นประจำจะได้รับการแจ้งเตือนเมื่อมีข้อมูลหรือผลงานใหม่ๆ ออกมา

                ปัจจุบัน มีนักเขียนในสื่อสังคมออนไลน์ประเภทบล็อกเกอร์ที่ตั้งใจค้นคว้าและผลิตข้อมูลเพื่อเผยแพร่จำนวนมาก ครอบคลุมแทบทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านการลงทุน รวมไปจนถึงประเด็นปกิณกะทั้งหลายตั้งแต่การทำอาหาร การปลูกต้นไม้ การดูแลรักษารถ ไปจนถึงการดูแลสัตว์เลี้ยง พูดได้อย่างเต็มปากว่าไม่ว่าใครอยากได้ความรู้หรือความเห็นเรื่องอะไร โลกอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ก็สามารถสรรหามาให้ได้อย่างจุใจ และข้อมูลที่เป็นความรู้เหล่านี้ก็มีส่วนทำให้สื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุน “สังคมอุดมปัญญา” และกลายเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ในอุปกรณ์เล็กๆ ที่อยู่ในฝ่ามือของทุกคน

                อย่างไรก็ตาม การผลิตและการเผยแพร่ข้อมูลที่แสนง่ายดายในโลกสื่อสังคมออนไลน์ที่พร้อมจะเข้าถึงมือและเข้าถึงความคิดของผู้คน อาจแฝงปนไปด้วยข้อมูลด้อยคุณภาพ การคิดวิเคราะห์ที่ขาดหลักการที่น่าเชื่อถือ รวมไปจนถึงอคติและความเข้าใจผิดต่างๆ ของผู้สร้างข้อมูลเอง เรื่องราวและข้อมูลเหล่านี้แพร่กระจายไปตามสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ โดยอาศัยการแชร์ข้อมูลของคนในโลกสื่อสังคมออนไลน์เอง ซึ่งการแข่งกันแชร์ข้อมูลต่างๆ ได้กลายเป็นปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่เกิดซ้อนขึ้นมาในโลกยุคสื่อสังคมออนไลน์ การแชร์ข้อมูลเป็นลูกโซ่แม้จะไม่เหมือนแชร์ลูกโซ่เสียทีเดียว แต่มีลักษณะคล้ายกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในแง่ที่เกี่ยวกับการบอกถึงผลประโยชน์บางอย่างให้กับคนที่อยู่ในวงใกล้ชิด และบอกต่อๆ กันไปจนเป็นวงกว้าง กลายเป็นกลุ่มคนจำนวนมหาศาลที่ได้รับข้อมูลผิดๆ และส่งต่อข้อมูลผิดๆ นอกจากนี้ ความตื่นเต้นในการเป็นคนแรกที่ได้แชร์ข้อมูลที่น่าสนใจ น่าตกใจ น่าประทับใจในระดับสุดขีด (Extreme) ให้กับคนที่รู้จักก่อนใครๆ ก็กลายเป็นพฤติกรรมออนไลน์ที่ควรต้องระมัดระวังอีกอย่างหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการแชร์ข้อมูลผิดๆ ในลักษณะเช่นนี้นับครั้งไม่ถ้วน และอาจพูดได้ว่าสังคมไทยมีความ “ตื่นตูมออนไลน์” อยู่ไม่น้อย

                นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกไม่น้อยที่มิจฉาชีพจงใจสร้างขึ้นเพื่อฉ้อฉลในโลกออนไลน์ ทำให้โซเชียลมีเดียกลายเป็นแหล่งทำมาหากินของนักหลอกลวงต้มตุ๋นที่ล่อลวงผู้คนในสื่อสังคมออนไลน์ได้รายวัน ดังเช่นกรณีของ “นัทโอนไว” ชายหนุ่มวัย 31 ปีที่ถูกสาวรุ่นใหญ่ใช้รูปปลอมหลอกให้โอนเงินไปร่วมแสนบาท และกรณีของ “ฟาง สาวสายเปย์” ซึ่งตกเป็นเหยื่อสาวทอมที่หลอกให้หลงในจังหวะที่น้องฟางอ่อนไหวในช่วงอกหัก ลวงให้โอนเงินเกือบ 3 แสนบาทภายใน 1 เดือน

                ทั้งสองกรณีเป็นกลลวงง่ายๆ ไม่ต่างอะไรจากพ่อค้าเร่ที่โชว์งูเหลือม งูจงอาง และแสดงการตัดคออับดุล ก่อนหลอกขายยาและวัตถุมงคลตามตลาดสดในอดีตเมื่อ 40-50 ปีก่อน ความเขลาในสังคมยุคข้อมูลข่าวสารท่วมเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย และเกิดความเสียหายขนาดใหญ่ได้ในสื่อสังคมออนไลน์ และยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาเร็วขึ้นเท่าใดการฉ้อฉลก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น และก็ดูเหมือนว่าการตกเป็นเหยื่อก็ยิ่งง่ายขึ้นกว่าเดิม ราวกับพัฒนาการด้านการเรียนรู้และข้อมูลต่างๆ ไม่ได้ช่วยคนให้พ้นจากอวิชชาเลย เทคโนโลยีพลิกผันที่ทำให้ธุรกรรมทางธนาคารเป็นไปอย่างง่ายดายด้วย Mobile banking application ทำให้คนขายของออนไลน์จำนวนไม่น้อยถูกหลอกให้เชื่อมบัญชีธนาคารของตัวเองกับกระเป๋าเงิน ออนไลน์ (e-Wallet) ของคนร้าย ก่อนจะแอบโอนเงินออกจากบัญชีไปหมดเกลี้ยงในพริบตา เป็นอุทาหรณ์สำหรับการกด “ยอมรับ” (OK) และ “ดำเนินการต่อไป” (Next) โดยไม่อ่านคำอธิบายและคำเตือนที่แสนยืดยาว

                โซเชียลมีเดียในยุคที่ข้อมูลข่าวสารขนาดมหึมาจากทั่วโลกอยู่ในมือของผู้คน และสามารถสืบค้นเรียกใช้ได้ตลอดเวลาตราบที่มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นแบบมีสายหรือแบบไร้สาย ทำให้ข้อมูลอยู่ใกล้กับมนุษย์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ในขณะที่ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้สามารถสร้างปัญญาให้กับคนได้อย่างชนิดที่การศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่ในหลายแง่มุมก็สามารถมอมเมาคนให้หลงใหล หลงผิด และถูกล่อลวงได้ไม่น้อยไปกว่ากัน

                สุขภาพกาย กับการใช้โซเชียลมีเดีย

                ต้องยอมรับว่าการหันมาดูแลรักษาสุขภาพจนกลายเป็นกระแสโลกในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยการเป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน และการปฏิบัติตัวต่างๆ เพื่อการมีสุขภาพที่ดี ส่งไปยังผู้คนได้อย่างกว้างขวาง และข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นข้อมูลที่คนที่สื่อสังคมออนไลน์ชอบที่จะส่งไปยังคนที่ตนเองสนิทสนมรักใคร่ เป็นการแสดงออกทางหนึ่งของความรักความห่วงใย ในยุคที่ผู้คนแยกย้ายอยู่ห่างไกลกัน และใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางในการรักษาความผูกพันระหว่างกันไว้

                นอกจากข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทางสุขภาพซึ่งได้กล่าวไปบ้างแล้ว สื่อสังคมออนไลน์ยังได้สร้างโปรแกรมสำเร็จรูปหรือแอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาสุขภาพต่างๆ ซึ่งมีความสะดวกต่อการเรียกใช้ เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ในโทรศัพท์มือถือ หรืออาจอยู่ในอุปกรณ์ผูกข้อมือพิเศษที่เป็นทั้งนาฬิกาบอกเวลา และมีเครื่องมือตรวจวัดกิจกรรมทางกาย เช่น จำนวนก้าวที่เดินในแต่ละวัน จำนวนชั่วโมงในการนอนหลับ การแนะนำท่าออกกำลังกาย ตลอดจนสัญญาณชีพบางอย่าง เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจ ชีพจร และความดันโลหิต (เช่น แอปพลิเคชัน Cardiograph, Nike+ Running, และ Fitstar Personal Trainer) การให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยต่างๆ (เช่น iTraig) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเชื่อมกับแอปพลิเคชันเพื่อประมวลข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพ และสามารถส่งข้อความเตือน (Notification) ไปที่ตัวเอง คนใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งแพทย์ประจำตัวได้ นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันที่แนะนำอาหารเพื่อการควบคุมแคลอรี (เช่น Calorie Counter by FatSecret) การลดน้ำหนัก (เช่น Diet Point Weight Loss) และแม้กระทั่งการเลิกบุหรี่ (เช่น Quit now และ Quit smoking slowly) จนการใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในยุคปัจจุบัน

                อย่างไรก็ตาม มีผลการวิจัยทั้งในและต่างประเทศที่กล่าวถึงการเสพติดสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลซินโดรม (Social syndrome) ที่มีผลต่อสุขภาพทางกายในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ทั้งนี้เพราะการเสพติดการใช้สื่อสังคมออนไลน์ทำให้ผู้ใช้ลดการเคลื่อนไหวทางกาย เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary behaviors) และจดจ้องมองที่หน้าจอโทรศัพท์  มือถือ หรือแท็บเล็ต รวมทั้งจอคอมพิวเตอร์ในลักษณะเดียวกัน การก้มหน้าพิมพ์และอ่านข้อความต่อเนื่องเป็นเวลานานจนปวดหลัง ปวดต้นคอ และปวดศีรษะ การไม่ได้ออกกำลังกายอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นเมื่อติดเกมออนไลน์ การใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องจนนอนไม่พอ จากการศึกษาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Pittsburgh พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้เวลาในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผลกระทบเชิงลบต่อร่างกายจนมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา การนอนไม่หลับหรือนอนดึกเกินไป

                นอกจากนี้ ความสามารถของสื่อสังคมออนไลน์ในการดึงความสนใจของผู้ใช้ให้อยู่หน้าจอได้เป็นเวลานานๆ ยังทำให้พ่อแม่จำนวนมากใช้สื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ เพื่อดึงความสนใจของเด็กเล็กๆ ให้อยู่นิ่ง ไม่วิ่งเล่นซน ทำให้พ่อแม่มีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นซึ่งได้ผลเป็นอย่างยิ่ง แต่ผลเสียที่จะเกิดแก่สุขภาพกาย สุขภาพจิต และการเรียนรู้ของเด็กเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคต

                จิตและสังคม ความสุขและความเสื่อมจากสื่อสังคมออนไลน์

                หากจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สามารถนำพาความรู้สึกนึกคิดของผู้คนให้มาพบปะกันได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วที่สุด รับรองได้ว่าไม่มีสิ่งใดที่จะทำได้เสมอเหมือนสื่อสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบัน และความกว้างขวางที่ว่านี้เป็นความกว้างขวางที่ครอบคลุมแทบทุกมุมโลก และความรวดเร็วที่ว่านี้ก็เป็นความรวดเร็วในชั่วเสี้ยววินาที ด้วยเหตุนี้โซเชียลมีเดียจึงเป็นเหมือนพื้นที่ที่เป็นชุมทางของความคิดของคนจากคนละที่ละทาง ที่บ้างก็มาปะทะ บ้างก็มาประนีประนอม บ้างก็มาผสมกลมกลืน เกิดเป็นเครือข่ายสังคมขนาดใหญ่ที่แต่ละจุด ความคิดเชื่อมต่อถึงกันโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ซึ่งในแง่นี้ จิตและความรู้สึกนึกคิดจึงมีความเชื่อมโยงผูกพันกับสังคมอย่างแยกกันไม่ออก

                หากสืบค้นเอกสารและข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผลกระทบของโซเชียลมีเดีย ก็จะเห็นได้ว่าประเด็นที่ได้รับความสนใจ มากที่สุดทั้งในแง่บวกและแง่ลบคือ ผลกระทบต่ออารมณ์ จิตใจ และสัมพันธภาพกับสังคม อันหมายถึงทั้งผู้คนที่อยู่รอบข้าง และผู้คนที่อยู่ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะความตั้งใจแต่แรกเริ่มของการสร้างสื่อสังคมออนไลน์ก็เพื่อเพิ่มพื้นที่และช่องทางให้คนทั้งที่รู้จักกันและไม่รู้จักกันได้พูดคุยและเชื่อมโยงกัน และด้วยคุณสมบัติของการเชื่อมโยงความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมเสมือนนี้เองที่ทำให้โซเชียลมีเดียมีผลต่อสภาวะทางจิตและสุขภาวะทางสังคม

                สื่อสังคมออนไลน์มีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้คนที่ไม่ได้พบปะกันมานาน ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนเก่าสมัยเรียนชั้นอนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ที่ทำงานเก่า หรือแม้แต่คนที่เคยพบกันโดยบังเอิญนานมาแล้วและไม่คิดว่าจะได้พบกันอีก แต่ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) และกลไกทางเทคโนโลยีสารสนเทศอันชาญฉลาดของสื่อสังคมออนไลน์ก็ทำให้คนเหล่านี้ได้กลับมาพบและพูดคุยกันอีกครั้ง หากพูดเป็นสำนวนไทยว่า “โลกกลม” หรือสำนวนอังกฤษ “โลกเล็ก” ก็ต้องบอกว่าสื่อสังคมออนไลน์ใช้ปัญญาประดิษฐ์นี้ทำให้โลกกลมขึ้นและเล็กลง และพาใครต่อใครมาพบปะกันอย่างน่าอัศจรรย์

                และแม้แต่คนที่เห็นหน้าพบปะพูดคุยกันทุกวัน เช่น คนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องมาเชื่อมต่อกันในพื้นที่โซเชียล เพราะความสามารถของสื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้หยุดเพียงแค่การเชื่อมต่อในโลกเสมือนเท่านั้น แต่ยังสามารถติดตามความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ความคิด ความรู้สึกของกันและกันได้ โดยการอ่านข้อความ การดูภาพ และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงความในใจของคนที่ตนเองรู้จัก รวมถึงคนที่ตนเองอยากรู้จักและอยากรู้เรื่องราวของเขาได้ สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นสื่อสารมวลชนที่ผลิตข่าวคราวความเคลื่อนไหวของปุถุชนคนสามัญทั่วไป ไม่ใช่สื่อสารมวลชนแบบในอดีตที่รายงานเฉพาะความเคลื่อนไหวของบุคคลสำคัญที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนเท่านั้น จากนี้ไปใครๆ ก็สามารถเป็นบุคคลสาธารณะได้

                นอกจากนี้ หน้าที่ของสื่อสังคมออนไลน์ก็ไม่ใช่แค่การเผยแพร่ข่าวสาร แต่ยังเผยแพร่ตัวตนของแต่ละคนให้ผู้อื่นได้รับรู้ (Identity presentation) ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่การเผยแพร่ (หรือการโพสต์) เป็นการบอกในสิ่งที่อยากบอกไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกกลางๆ อันเป็นปกติธรรมดา ความรู้สึกที่เป็นสุข ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ความโกรธ ความน้อยใจ การรายงานความเคลื่อนไหวและความรู้สึกเหล่านี้ตามมาด้วยความคาดหวังที่จะต้องรับการตอบสนองบางอย่าง ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ในฐานะสื่อสองทาง (Two-way communication) ทำให้คนสามารถตอบโต้กันได้ด้วยวิธีที่หลากหลาย และช่วยให้ความรู้สึกและความเคลื่อนไหวเหล่านั้นได้รับการตอบสนอง ไม่ว่าจะด้วยการทำให้คนที่โพสต์รู้ว่าได้รับรู้แล้วหรือการให้ความเห็นต่างๆ

                สิ่งเหล่านี้เองได้กลายเป็น “การเกื้อหนุนทางจิตใจ” (Mental support) ที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของคนในสื่อสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก และการแสดงการเกื้อหนุนทางจิตใจในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ก็อาจได้แสดงออกในพื้นที่จริงด้วย เหมือนที่เราได้เห็นคนพูดถึงการเคลื่อนไหวและการโพสต์ต่างๆ ของกันและกัน เมื่อต่างฝ่ายต่างมาพบปะกันในพื้นที่จริงตามโอกาสต่างๆ โลกจริงและโลกเสมือนของสื่อสังคมออนไลน์วิ่งสลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา และการเกื้อหนุนทางจิตใจก็อาจตามมาด้วยการสนับสนุนทางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความช่วยเหลือด้านข้อมูล เงินทอง ทรัพยากร หรือแม้แต่แนะนำให้รู้จักกับคนอื่นๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถให้การช่วยเหลือสนับสนุนได้ สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นพื้นที่ที่เปิดให้คนร้องขอการช่วยเหลือเยียวยาทางจิตใจ และเปิดโอกาสให้คนแสดงการสนับสนุนทางจิตใจแก่ผู้อื่นด้วยในขณะเดียวกัน

                การสร้างกลุ่มเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อนเก่า เพื่อนร่วมงาน รวมทั้งกลุ่มสมาชิกครอบครัวมีส่วนไม่น้อยในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวในสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่พลัดพรากให้สมาชิกในครอบครัวอยู่ห่างไกลกัน หรือแม้ไม่ได้อยู่ห่างไกลกันแต่มีเวลาที่จะพบปะกันน้อยลง สื่อสังคมออนไลน์มีส่วนอย่างมากในการสร้างพื้นที่เสมือนให้สมาชิกในครอบครัวได้พูดคยุกันได้บ่อยครั้งตามที่ต้องการ “ห้องครอบครัว” ที่เกิดขึ้นในกลุ่มไลน์ได้ทำหน้าที่เหมือนห้องนั่งเล่น หรือชานบ้านสมัยก่อน ที่สมาชิกในครอบครัวได้พบปะนั่งพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ แจ้งข่าวสำคัญ แสดงความยินดี แสดงความเสียใจ ช่วยกัน ขบคิดปัญหาและหาทางแก้ไขร่วมกัน แม้การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์จะไม่สามารถทดแทนการพบปะและการกอดสัมผัสได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ช่วยบรรเทาความห่างเหินที่เกิดจากระยะทางที่ห่างไกลขึ้น และเวลาที่ได้พบปะกันน้อยลง

                “หมูป่า อะคาเดมี” ก็เป็นกรณีตัวอย่างสำคัญอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงพละกำลังของโซเชียลมีเดียในการเป็นตัวกลางเพื่อระดมความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ความลุ้นระทึก และความหวัง ที่ตามมาด้วยความช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ จากทั่วโลก พลิกเหตุการณ์ที่เกือบจะเป็นโศกนาฏกรรมให้กลายมาเป็นการเฉลิมฉลองความร่วมมือของมวลมนุษยชาติ เราอาจได้เห็นภาพที่แตกต่างออกไป หากเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้เกิดในยุคสื่อสังคมออนไลน์

                ในขณะที่การติดตามรับรู้ความเคลื่อนไหวของคนที่รู้จักเป็นกิจกรรมที่สร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมาก และเป็นสิ่งที่ดึงความสนใจของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้เป็นเวลานานๆ ในบางมุมมืดของกิจกรรมการ “ส่อง” หรือติดตามเรื่องราวของคนอื่นทั้งที่ตนเองรู้จักและไม่รู้จัก บ่อยครั้งที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบและนำไปสู่ความอิจฉาริษยาตามทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (Social comparison theory) ที่คนเรามักเอาตัวเองเปรียบเทียบกับผู้อื่นอยู่เสมอ และเกิดปฏิกิริยาต่างๆ เมื่อเห็นว่าคนอื่นดีกว่า สุขกว่า รวยกว่า เก่งกว่า หรือคนอื่นเลวกว่า ทุกข์กว่า จนกว่า ด้อยกว่า คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อาจทำใจให้มีมุทิตาจิตที่จะพลอยยินดีกับความสุข ความดี ความสำเร็จของคนอื่น แต่กลับเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความริษยาของตัวเอง แต่ก็กด “ไลค์” (like) หรือแสดงการรับรู้ด้วย “สติกเกอร์” รูปแบบต่างๆ ทุกครั้งเพื่อแสดงมารยาทที่ดีในโลกสื่อสังคมออนไลน์ แต่สำหรับคนที่หลุดออกจากกรอบมารยาทที่ดีของโลกสื่อสังคมออนไลน์ การแสดงออกเพื่อปลดปล่อยแรงริษยาหรือความโกรธเกลียดเหล่านั้นอาจแสดงออกด้วยความรุนแรงผ่านข้อความรูปภาพและสัญลักษณ์ต่างๆ จนกลายเป็นการข่มเหงคุกคามในโลกไซเบอร์ (Cyberbullying) ซึ่งอาจลุกลามออกจากพื้นที่เสมือนสู่พื้นที่จริง และลุกลามจากการข่มเหง คุกคามทางจิตใจสู่การทำร้ายร่างกายได้ในที่สุด

                แม้การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันไม่ผิดแผกไปจากการสื่อสารผ่านช่องทางอื่น แต่บริบทและบรรยากาศของการตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดียมีลักษณะเฉพาะหลายประการ เช่น การไม่ได้เผชิญหน้ากับคู่สนทนา ณ เวลาจริง การไม่ได้รับฟังน้ำเสียงและสีหน้าของคู่สนทนาอย่างครบถ้วน ข้อความส่วนใหญ่สั้นกระชับและห้วนในบางครั้ง การตีความจากภาพและสัญลักษณ์ด้วยตัวเอง การไม่ต้องแสดงการรับรู้หรือตอบโต้โดยทันที และมีโอกาสได้คิดก่อนตอบสนองนานกว่าการสนทนาต่อหน้าจริงๆ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกคุ้นชินกับการสนทนาผ่านโซเชียลมีเดีย แต่กลับทำตัวไม่ถูกและขาดทักษะการสนทนาต่อหน้าจริงๆ รวมทั้งการเสพติดสื่อมากๆ เนื่องจากทั้งความคุ้นชินนั้นและความเพลิดเพลินจากความหลากหลายของโซเชียลมีเดียทำให้คนใช้เวลากับการเข้าสังคม และการสนทนาในพื้นที่จริงลดน้อยลง ต่างคนต่างก้มหน้าสนทนาผ่านโซเชียลมีเดีย แม้ทุกคนจะอยู่พร้อมหน้า ณ ที่นั้นก็ตาม

                สังคมก้มหน้าดังที่ว่านี้ได้สร้างปัญหาอย่างมากต่อการใช้เวลาด้วยกันอย่างมีคุณภาพของครอบครัว และยิ่งเมื่อสื่อสังคมออนไลน์ยกระดับสันทนาการด้วยการรวมเอาเกมออนไลน์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสื่อสังคมออนไลน์  การเล่นเกมออนไลน์กลายเป็นการเล่นเกมเป็นกลุ่มที่ผู้เล่นซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเด็กหรือวัยรุ่นไม่จำเป็นต้องมารวมกันอยู่ที่เดียวกันในพื้นที่จริง แต่มาพบปะกันในรูปแบบ “Avatar” ซึ่งเป็นตัวจำลองของตัวเองเพื่อเล่นเกมร่วมกัน ใช้เวลานานและใช้เงินในการเล่นเกมมากขึ้นถึงขั้นบั่นทอนทั้งสุขภาวะทางปัญญา กาย จิต และสังคมไปพร้อมๆ กัน

                สื่อสังคมออนไลน์เชื่อมต่อกับทุกมิติของสุขภาวะไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นด้านปัญญากาย จิต หรือสังคม ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งแง่ที่ทำให้สุขภาวะดีขึ้นเนื่องมาจากการใช้อย่างสร้างสรรค์ และแง่ที่บั่นทอนสุขภาวะเนื่องจากการใช้อย่างเห็นแก่ตัวโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่เกิดแก่ผู้อื่น พัฒนาการทางเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ดูจะทำให้สื่อสังคมออนไลน์ยิ่งมีความ “คม” มากขึ้นต่อสุขภาวะ ทั้งในด้านคมที่เป็นประโยชน์และคมที่เป็นโทษ

                การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ

                “สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดีเสมอ” จริงๆ แล้วสื่อสังคมออนไลน์เป็นเพียงนวัตกรรมการสื่อสารอย่างหนึ่ง ไม่มีความดีหรือความเลวโดยตัวของมันเอง การใช้และผลของการใช้จะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นกับผู้ใช้เป็นผู้ปรุงแต่งขึ้น ไม่ผิดอะไรไปจากการค้นพบพลังงานปรมาณูที่สามารถใช้ในทางอธรรมให้ล้างผลาญและเสียหายแก่มนุษย์โลกได้  แต่ก็สามารถใช้เพื่อประโยชน์ในทางสันติได้ ในขณะเดียวกันการค้นพบและพัฒนาสื่อสังคมออนไลน์จากอดีตมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นความสำเร็จที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์การสื่อสาร เราต้องหาทางใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงที่สุดในทางดี และพยายามหาทางป้องกันทางเสียหายให้ได้มากที่สุด

                ในขณะที่คุณประโยชน์อันสำคัญอย่างหนึ่งของสื่อสังคมออนไลน์คือ ความมีอิสระในการเข้าถึงและการสร้างข้อมูลด้วยตัวผู้ใช้เอง ทำให้สื่อสังคมออนไลน์เป็นของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น และทุกชนชาติ ปัญหาใหญ่ของการป้องกันภัยร้ายจากสื่อสังคมออนไลน์ก็คือความอิสระของการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์นี่เอง เพราะทำให้การควบคุมความเป็นไปในอาณาจักรอันกว้างใหญ่นี้ทำได้ยากเย็นเป็นอย่างยิ่ง การจะสร้างกฎเกณฑ์ กลไก หรือโครงสร้างขนาดใหญ่เพื่อควบคุมการเข้าออก กำหนดและติดตามพฤติกรรมการใช้ให้เป็นไปแต่ในทางปลอดภัยเหมือนกับการสร้างคุกวงแหวน (Panopticon) ตามแนวสถาปัตยกรรมเรือนจำ (Prison architecture) ของ Jeremy Betham ที่มักนำไปใช้กับทั้งเรือนจำและสถานบำบัดทางจิตเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 18 นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และแม้จะทำได้ เช่น การสร้างช่องทางควบคุมการส่งสัญญาณ (Gateway) หรือการสร้างตาข่ายเพื่อดักกรองข้อมูลก็ทำได้ไม่เต็มที่ หรือไม่เป็นที่ยอมรับ และแม้จะทำได้ก็เท่ากับเป็นการลดทอนความสามารถสำคัญและพลังของสื่อสังคมออนไลน์ กลายเป็นการปฏิเสธความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปอย่างน่าเสียดาย

                เมื่อไม่มีทางที่จะสร้างการควบคุมการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเบ็ดเสร็จเช่นนี้ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จึงต้องมีหน้าที่ที่จะต้องเฝ้าระวังการใช้ด้วยตนเอง และช่วยกันเป็นหูเป็นตาระแวดระวังภัยร้ายต่างๆ ที่สื่อสังคมออนไลน์จะนำมา เมื่อพบเห็นสื่อสังคมออนไลน์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสังคมและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กหรือผู้สูงอายุที่อาจได้รับผลร้ายจากสื่อสังคมออนไลน์ได้โดยง่าย การรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ (Online social media literacy) ซึ่งเป็นการรู้ทั้งประโยชน์และโทษของสื่อสังคมออนไลน์ เป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องมีการเผยแพร่ให้แก่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อมูลเพื่อส่งต่อไปยังผู้อื่นหรือการส่งต่อข้อมูลที่ตนเองได้รับมา รวมทั้งการรับข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่ต้องมีวิจารณญาณ ไตร่ตรองว่าเชื่อได้และถูกต้องมากน้อยเพียงใด การส่งต่อ (Share) จะส่งผลอย่างไร เหมาะสมกับผู้ที่จะได้รับหรือไม่

                การปลูกฝังจริยธรรมในสื่อสังคมออนไลน์ (Online social media ethics) และมารยาทในสื่อสังคมออนไลน์ (Online social media etiquette) เป็นสิ่งที่ควรได้รับการปลูกฝังให้กับคนที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ รวมไปถึงวินัย กาละและเทศะในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ว่าที่ใดควรใช้ ที่ใดไม่ควรใช้ เมื่อใดควรใช้ เมื่อใดไม่ควรใช้ ใช้มากเกินไปแล้วหรือไม่ ใช้อย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่ ซึ่งหากจะกล่าวโดยทั่วไปแล้วจริยธรรมในสื่อสังคมออนไลน์ควรมีพื้นฐานจากจริยธรรมทั่วๆ ไป

                ซึ่งการละเมิดจริยธรรมหลายครั้งหลายหนเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจหรือการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การใช้คำพูดล้อเลียน หรือเหยียดหยามเพศ ชาติพันธุ์และศาสนา เพื่อประจานให้เกิดความอับอาย การละเมิดความเป็นส่วนตัว การให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน การเข้าใจในความแตกต่าง การมีใจกว้าง ตระหนักถึงคุณค่าของความแตกต่าง มีมนุษยธรรมในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้คนในสื่อสังคมออนไลน์อยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และลับ “คมดี” ของสื่อสังคมออนไลน์เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม การสร้างพลังบวกในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้เกิดขึ้นทั้งในผู้ใช้แต่ละคนและในระหว่างกลุ่มผู้ใช้ร่วมกัน จะทำให้เกิดกลไกการเฝ้าระวังการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Online social media surveillance) อย่างไม่เป็นทางการโดยไม่ต้องทำเป็นกฎเกณฑ์หรือโครงสร้างที่บีบรัดแน่นหนาเกินไปจนไม่เหมาะสมกับการปฏิบัติในบางบริบท

                อย่างไรก็ตาม ในการส่งเสริมการเฝ้าระวังในระดับบุคคลจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นหากได้รับการสนับสนุนที่ดีจากกลไกทางสังคมในระดับสถาบัน โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนที่ใกล้ชิดที่สุดกับกลุ่มผู้ใช้ที่มีความเสี่ยง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็ก และกลุ่มผู้สูงอายุ อันเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะได้รับความเสี่ยงจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากกว่ากลุ่มอื่น และความเสี่ยงที่ว่านี้เป็นความเสี่ยงทั้งในแง่ของการรับผลร้าย จากสื่อสังคมออนไลน์ และความเสี่ยงจากการเป็นผู้สร้าง ความเสียหายเองด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ผู้ใหญ่ควรต้องคอยติดตามการเข้าถึงและการรับรู้ข้อมูลต่างๆ ของเด็ก รวมทั้งสังเกตพฤติกรรมผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดจากการเสพสื่อสังคมออนไลน์ ควรมีการจำกัดการใช้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือ ต้องเป็นตัวอย่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ดี

                ในส่วนของสถานศึกษานั้นสามารถแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เด็กและเยาวชนใช้เวลาไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์ โดยเฉพาะในระดับก่อนอุดมศึกษา ขณะนี้ในบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส มีข้อกำหนดชัดเจนเกี่ยวกับการปริมาณการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในห้องเรียนที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้นักเรียนใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์มากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ สถานศึกษายังควรแสดงความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนการสอน การสร้างชุมชนเพื่อพัฒนาและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เหมาะสมในสถานศึกษา การเรียนรู้เกี่ยวกับ สื่อสังคมออนไลน์ในฐานะเครื่องมือการสื่อสาร และขุมทรัพย์ ทางปัญญา และในฐานะสื่อการเรียนยุคใหม่ที่ต้องมีการใช้อย่างชาญฉลาด มีพลัง และมีจริยธรรม รวมทั้งการเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของผู้เรียนและของผู้อื่นที่จะส่งผลกระทบต่อผู้เรียน

                สำหรับการสาธารณสุขแล้ว ขณะนี้ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพแล้วอย่างมากมายและมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความตื่นตัวในการดูแลรักษาสุขภาพ ประกอบกับการเข้าถึงสมาร์ทโฟนอย่างทั่วถึง สิ่งที่น่าเป็นห่วงและยังมีการเฝ้าระวังไม่มากเท่าที่ควรคือการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่างๆ ที่ผลิตผ่านแอปพลิเคชันเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีความซับซ้อน ทำให้ผู้รับข่าวสารถูกล่อลวงและหลงเชื่อได้ง่าย เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจ สถาบันที่มีความเกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขควรมีวิธีการตรวจสอบการทำงานของสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสุขภาพ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องออกมาเป็นระยะ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

                ในแง่ของกลไกระดับรัฐ ซึ่งควรเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในภาพรวม ควรแสดงบทบาทในการสร้างสถาปัตยกรรมการสื่อสารออนไลน์ที่ไม่ได้เน้นแต่เพียงการเข้าถึง แต่ต้องเน้นการสร้างระบบเฝ้าระวังอัจฉริยะที่ไม่บีบรัดและจำกัดการใช้มากเกินไปจนกระทบต่อการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ มีความเด็ดขาดในการชี้ชัดว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างใดที่เป็นผลเสียต่อสังคมโดยรวม ส่งเสริมการเฝ้าระวังและการใช้สื่อสังคมเชิงสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาในระดับต่งๆ อย่างทั่วถึง

 

                12 หมวดตัวชี้วัด สุขภาพประชากรเปราะบาง

                “สถานภาพ” ทางกฎหมาย เศรษฐสังคม เพศและเพศวิถี สุขภาพและความพิการ หรือแม้แต่ วัยของบุคคล เป็นได้ทั้งสาเหตุหรือผลที่เกิดจาก “การถูกแบ่งแยกหรือกีดกันทางสังคม” จากการตีตรา อคติไม่ยอมรับ เลือกปฏิบัติ ถูกหาประโยชน์ หรือความรุนแรง ปัจจัยทั้งหมดนี้มีผลต่อไปยัง “สิทธิและการเข้าถึง” ในการได้รับบริการสาธารณะที่จำเป็น การได้รับโอกาส ได้รับการคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมในด้านต่างๆ ทั้งการทำงานและการมีรายได้ การมีส่วนร่วมทางสังคมและการเมือง รวมถึงการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ การศึกษา บริการสาธารณะและสวัสดิการของรัฐ ซึ่งหากขาดไปอาจนำไปสู่ “ความเปราะบาง” และผลเชิงลบต่อ “ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ” ของบุคคล

                สุขภาพคนไทย 2562 นำเสนอตัวชี้วัดสุขภาพประชากร เปราะบางใน 12 หมวด โดย 2 หมวดแรกเกี่ยวกับประชากรข้ามชาติ กลุ่มเปราะบางในประเทศไทย และประชากรไทยข้ามชาติที่ทำงานหรือใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ หมวด 3-6 เกี่ยวกับประชากรกลุ่มที่มีความเปราะบางและความเสี่ยงจากสถานภาพทางสังคม เพศและเพศวิถี และเศรษฐกิจ ได้แก่ ผู้ต้องขัง พนักงานบริการ และผู้ใช้สารเสพติด กลุ่มเพศวิถีนอกขนบ คนจนและผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มประชากรที่มีลักษณะครอบครัวที่เปราะบาง หมวด 7-9 เกี่ยวกับประชากรกลุ่มที่มีความเปราะบางและความเสี่ยงจากสถานภาพทางสุขภาพและความพิการ ได้แก่ คนพิการ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยวัณโรค และกลุ่มเปราะบางจากปัญหาสุขภาพจิต หมวด 10-12 เกี่ยวกับประชากรกลุ่มที่มีความเปราะบางและความเสี่ยงจากสถานภาพทางวัย ได้แก่ เด็กเปราะบาง วัยรุ่น และผู้สูงอายุ

                แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม คนไร้รัฐไร้สัญชาติ และผู้ลี้ภัย ซึ่งคาดว่ามีจำนวนมากถึง 5 ล้านคนในประเทศไทยเป็นกลุ่มประชากรที่เปราะบางจากปัญหา หรือข้อจำกัดด้านสถานะทางทะเบียน การได้รับอนุญาตทำงาน รวมถึงการมีหลักประกันทางสุขภาพ สำหรับคนไทยในต่างแดน ปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 1.55 แสนคนเป็นกลุ่มแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ คนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากและสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยต่อปีมีจำนวนประมาณ 1-1.5 หมื่นคน อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ประสบปัญหาและตกทุกข์ได้ยากแต่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ยังไม่มีตัวเลขที่ยืนยันได้แน่ชัด

                การตีตรา กีดกันและแบ่งแยกบนพื้นฐานสถานภาพหรือพฤติกรรมของบุคคลที่ต่างไปจากบรรทัดฐานทั่วไปของสังคม เป็นที่มาสำคัญของความเปราะบางในกลุ่มผู้ต้องขัง พนักงานบริการและผู้ใช้สารเสพติด รวมถึงกลุ่มเพศวิถีนอกขนบ การเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นทั้งในเชิงการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ การรักษาและฟื้นฟูของประชากรกลุ่มนี้ในหลายกรณีเกิดจากปัญหาข้างต้น การตีตราทางสังคมโดยเฉพาะจากกลุ่มหรือบุคคลที่ใกล้ชิด นำไปสู่การตีตราตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากกว่า

                ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และปัญหาหนี้สินยังคงเป็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของคนไทยและครัวเรือนไทย แม้จำนวนคนจนซึ่งพิจารณาจากเส้นความยากจนของประเทศไทยจะลดลงต่อเนื่องเหลือประมาณ 5.3 ล้านคน แต่จำนวนผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการการช่วยเหลือและสวัสดิการจากภาครัฐยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก ในระดับครอบครัว ความเปราะบางของครอบครัวไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากลักษณะและโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัวและแนวโน้มการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ผู้หญิงและเด็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและความเปราะบางในเรื่องนี้

                คนพิการในไทยมีประมาณ 2 ล้านคน แม้ทางเลือกในการเข้ารับการรักษาพยาบาลและชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพของคนพิการในไทยจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่ปัญหาความยากจนและการไม่มีงานทำยังคงเป็นความเปราะบางที่สำคัญของคนพิการ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยวัณโรค เป็นประชากรที่มีความเปราะบางจากสถานะทางสุขภาพ มีความเสี่ยงจากการเลือกปฏิบัติที่เกิดจากทัศนคติและความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องบางเรื่องในสังคม ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศคาดว่าเหลือประมาณกว่า 4 แสนราย โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 5,000 คนต่อปี ซึ่งลดลงมากกว่าแต่ก่อน ปัญหาวัณโรคยังคงเป็นความท้าทายจากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ยังค่อนข้างสูง รวมถึงจำนวนผู้ป่วยวัณโรคที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ประชากรกลุ่มเปราะบางทางด้านสุขภาพอีกกลุ่มที่ละเลยไม่ได้คือ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช ความเสี่ยงจากการถูกตีตราจากปัญหาสุขภาพจิตยังคงเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงการรับบริการวินิจฉัย และการรักษาที่จำเป็น

                เด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางจากช่วงวัยและสถานภาพในบางเรื่องที่จำเป็นต้องพึ่งพิงผู้อื่น ในกลุ่มเด็ก ความผิดปกติทางสุขภาพตั้งแต่กำเนิด สภาพทางเศรษฐกิจและการเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นปัจจัยกำหนดที่สำคัญของความเปราะบาง ในกลุ่มวัยรุ่นพฤติกรรมเสี่ยงทางสังคม รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความสูญเสียและความเปราะบางในระยะยาวของประชากรวัยนี้ สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และพฤติกรรมเสี่ยง เช่น จากการเล่นพนัน เที่ยวกลางคืน รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ยังเป็นความท้าทายในกลุ่มวัยรุ่นที่ยังต้องช่วยกันดูแล สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งในปัจจุบันคิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรไทยทั้งหมด การไม่มีผู้ดูแล โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาทางสุขภาพ ลักษณะการอยู่อาศัยที่อยู่คนเดียว หรืออยู่เพียงลำพังกับคู่สมรสที่เป็นผู้สูงอายุ รวมถึงความไม่เพียงพอและความไม่มั่นคงของรายได้ในยามสูงอายุ เป็นปัญหาและความเปราะบางของผู้สูงอายุไทยที่ต้องการการดูแลจากทุกภาคส่วน และการเตรียมความพร้อมของประชากรไทยทุกช่วงวัยเพื่อลดความเปราะบางในอนาคตของตนเองเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

 

                1.ประชากรข้ามชาติในไทย

                "แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และผู้ลี้ภัย ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมแล้วคาดว่ามีถึง 5 ล้านคน"

                การไม่มีเอกสารในการอยู่อาศัยและทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหาสถานภาพทางทะเบียนและสัญชาติ และสถานภาพการเป็นผู้ลี้ภัย นำไปสู่ความเปราะบางและข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิและบริการที่จำเป็นของประชากรข้ามชาติกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญคือ “เด็ก” ซึ่งมีทั้งที่เกิดในไทย และบางส่วนย้ายถิ่นหรือลี้ภัยตามพ่อแม่เข้ามา

                ในด้านจำนวนประชากรข้ามชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นแรงงานย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา กัมพูชา และลาว) ในปี 2561 แรงงานกลุ่มนี้ที่ได้รับอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมายมีประมาณ 3.3 ล้านคน แม้จะเป็นตัวเลขที่สูง แต่จำนวนที่แท้จริงคาดว่ามีมากถึง 4.55 ล้านคน 1 หมายความว่า ยังมีแรงงาน รวมถึงผู้ติดตามอีกจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก ที่ยังไม่มีเอกสารหรือสถานะการอยู่อาศัยหรือทำงานที่ถูกต้อง

                ในความเป็นคนชายขอบ คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เป็นกลุ่มที่มีความชัดเจนมากที่สุดจากปัญหาสถานภาพทางทะเบียนและสัญชาติที่ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นคนในชาติจากรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อความเปราะบางและข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิและบริการที่จำเป็น ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา การประกอบอาชีพ สิทธิการอาศัยและการเดินทาง หรือแม้กระทั่ง การก่อตั้งครอบครัว ในไทยคาดว่าคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ มีจำนวนมากเกือบ 5 แสนคน ในจำนวนนี้ 2 ใน 5 เป็นกลุ่มเด็กที่เกิดในไทย หรือกำลังศึกษาอยู่ การสนับสนุนและส่งเสริมการเข้าถึงการจดทะเบียนการเกิดของเด็กทุกคนที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทยเป็นแนวทางสำคัญในการป้องกันและลดโอกาสในการตกเป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติของเด็กข้ามชาติ หลักประกันทางสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ

                ปัจจุบันมี 3 ระบบ ได้แก่ ประกันสังคม บัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว และบัตรประกันสุขภาพประชากรต่างด้าว การเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสุขภาพส่งผลเป็นความเปราะบางต่อทั้งกลุ่มประชากรข้ามชาติและต่อระบบบริการสุขภาพของประเทศ ในปี 2560 ค่าใช้จ่ายสุขภาพในการให้บริการแก่ประชากรข้ามชาติ เกินครึ่งเป็นส่วนที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ในกลุ่มที่มีหลักประกันสุขภาพ ข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการยังคงเป็นความท้าทาย

                กลุ่มผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ แม้ส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้การดูแลและสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศโดยอาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวชายแดนไทย-เมียนมา เป็นอีกกลุ่มที่ละเลยไม่ได้ ปัจจุบันจำนวนผู้ลี้ภัยในไทยมีประมาณ 1 แสนคน เกือบครึ่งเป็นประชากรอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

                2.คนไทยในต่างแดน

                "คนไทยกว่า 1 ล้านคนใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ต่อปีมีจำนวนที่ตกทุกข์และขอรับความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยในต่างประเทศประมาณ 1 ถึง 1.5 หมื่นคน"

                แม้การเดินทางไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทยมีแนวโน้มลดลง แต่รายได้จากเงินส่งกลับยังคงเพิ่มขึ้นและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศ การใช้ชีวิตในต่างแดน เมื่อตกทุกข์ได้ยากจะยิ่งเพิ่มความเปราะบาง ซึ่งคนไทยกลุ่มนี้ไม่ควรถูกลืม หรือทอดทิ้ง

                ปลายทางประเทศที่คนไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน อิสราเอล สาธารณรัฐเกาหลี ตามลำดับ ในปี 2561 มีจำนวนแรงงานไทยที่กำลังทำงานอยู่ใน 3 ประเทศนี้รวมกันมากถึง 1.2 แสนคน คิดเป็น 3 ใน 4 ของจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ทำงานในต่างประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา จำนวนการขออนุญาตเดินทางไปทำงานในต่างประเทศของคนไทย ซึ่งรายงานโดยกรมการจัดหางานลดลงจากเกือบ 1 แสนคนในปี 2550 เหลือเพียงประมาณกว่า 6 หมื่นคนในปีที่ผ่านมา ประมาณร้อยละ 80 เป็นแรงงานชาย แม้จำนวนจะลดลงแต่ประมาณการเงินรายได้ที่ส่งกลับประเทศจากแรงงานในต่างแดนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในปี 2561 มีมูลค่ามากถึง 1.35 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศมีแนวโน้มเป็นกลุ่มที่มีระดับการศึกษาและทักษะสูงเพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

                คนไทยทั้งหมดในต่างแดนรวมกลุ่มที่เป็นแรงงานและที่ไปอาศัยใช้ชีวิต ณ ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 1.14 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศแถบทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป จากข้อมูลการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2560 มีคนไทยที่ตกทุกข์และได้รับการช่วยเหลือจากสถานทูตไทย 11,262 คน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาทั่วไป เช่น หนังสือเดินทางหรือทรัพย์สินสูญหาย หรือปัญหาการเจ็บป่วยแต่กลุ่มที่ประสบปัญหารุนแรงก็มีเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานซึ่งมีบางส่วนเดินทางทำงานในต่างประเทศด้วยเอกสารวีซ่าผิดประเภท รวมถึงบางส่วนที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ จำแนกตามภูมิภาค สัดส่วนคนไทยที่ตกทุกข์พบในภูมิภาคตะวันออกกลางมากที่สุด ตามมาด้วยภูมิภาคเอเชีย-ตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชีย-ตะวันออก

                3.ผู้ต้องขัง พนักงานบริการทางเพศ และผู้ใช้สารเสพติด

                "การเปิดใจ ให้ความเข้าใจ และให้โอกาสทางสังคม เป็นพลังสำคัญเพื่อสร้างความเข้มแข็งและลดความเปราะบาง"

                คนจำนวนหนึ่งในสังคมกลายเป็นประชากรกลุ่มที่มีความเปราะบาง เนื่องจากถูกตีตรา ถูกกีดกันและแบ่งแยกด้วยสถานภาพทางสังคม หรือพฤติกรรมบางอย่างที่สังคมตัดสินว่าผิดหรือไม่เหมาะสม เช่น ผู้ต้องขัง พนักงานบริการทางเพศ และผู้ใช้สารเสพติด

                ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน ที่มีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุด ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ “คนล้นคุก” กลายเป็นข้อจำกัดด้านการดูแลสุขภาพ ทำให้มีผู้ต้องขังจำนวนมากไม่ได้รับบริการด้านสุขภาพ ส่งผลให้เกิดภาวะเจ็บป่วยในเรือนจำ นอกจากนี้ผู้ต้องขังกว่า 25,000 คน พบว่าไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ไม่ทราบสิทธิบริการตรวจสุขภาพและไม่มีสิทธิประกันสุขภาพรองรับ ซึ่งยิ่งเพิ่มความเปราะบางในการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ

                สำหรับกลุ่มพนักงานบริการทางเพศ สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะพนักงานบริการหญิง อย่างไรก็ตามสถานการณ์การตีตราจากสังคมยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะจากระบบบริการสุขภาพ ส่งผลให้พนักงานบริการจำนวนหนึ่งตัดสินใจไม่ไปรับบริการ ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น และอาจเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น พนักงานบริการหญิงกว่าครึ่งและถึง 1 ใน 5 ของพนักงานบริการชาย “เคยตีตราตนเอง” ซึ่งเป็นผลจากการเคยถูกตีตรา หรือกลัวการถูกตีตราจากสังคม

                กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดเป็นกลุ่มที่ภาครัฐพยายามเร่งแก้ปัญหา โดยกำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดภายใต้กรอบคิด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” และให้โอกาสเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องในสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ หลังจากที่ผู้เสพได้รับการบำบัดรักษาแล้วจะให้การติดตามช่วยเหลือส่งเสริมการประกอบอาชีพ เพื่อให้ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ผู้เสพที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลรัฐจะสามารถสมัครงานได้โดยไม่เสียประวัติและไม่ถูกลงบันทึกอาชญากรรม จากผลการคัดกรองผู้ป่วยสารเสพติดปี 2561 ในระดับ “ผู้ใช้” แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลง แต่ในระดับ “ผู้เสพ” และ “ผู้ติด” ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น สิ่งที่ควรทำคือ หลังจากผู้เสพบำบัดและได้รับการส่งเสริมเพื่อได้ประกอบอาชีพแล้ว ทั้งครอบครัว สังคมชุมชน ต้องให้โอกาสและให้ความเข้าใจเพื่อจะได้ไม่กลับไปเป็นผู้เสพซ้ำอีก

                4.กลุ่มเพศวิถีนอกขนบ

                "ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และคนข้ามเพศ คาดว่ามีประมาณร้อยละ 2 ของประชากรชายไทย"

                “การตีตรา” เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มเพศวิถีนอกขนบเป็นประชากรที่มีความเปราะบาง โดยเฉพาะการตีตราตนเอง ซึ่งสะท้อนถึงความรู้สึกภายในที่กลัวปฏิกิริยาทางลบจากสังคม กลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงและเข้าใช้บริการทางสุขภาพที่จำเป็นอย่างรู้สึกเต็มภาคภูมิ

                การคาดประมาณจำนวนประชากรกลุ่มเพศวิถีนอกขนบทำได้ค่อนข้างยาก ความเหลื่อมล้ำของการจำกัดความ วิธีการและข้อมูลยังมีสูง เช่น งานของ Baral et al. (2018) ซึ่งใช้ข้อมูลจาก Application Hornet ให้ตัวเลขชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในไทยที่ประมาณ 1.17 ล้านคน ขณะที่ ประมาณการจาก UNAIDS คาดว่าชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและคนข้ามเพศ น่าจะมีประมาณ 653,000 คน หรือราวร้อยละ 2 ของประชากรชายไทย ข้อสังเกตคือ การศึกษาและคาดประมาณจำนวนประชากรกลุ่มเพศวิถีนอกขนบที่ผ่านมา โดยมากมุ่งเน้นกลุ่มชายรักชาย อาจด้วยเหตุผลว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเอชไอวีสูง ข้อมูลกลุ่มหญิงรักหญิงจึงค่อนข้างหาได้จำกัดกว่า

                กลุ่มชายรักชายและหญิงข้ามเพศเป็นกลุ่มประชากรหลัก (key populations) ที่สำคัญในงานเอชไอวีของไทย จากตัวเลขความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีที่ค่อนข้างสูง แม้ที่ผ่านมาจากผลสำรวจสภาวะทางสังคม วัฒนธรรม และสุขภาพจิต สังคมไทยจะมีแนวโน้มยอมรับกลุ่มเพศวิถีนอกขนบมากขึ้น ทั้งในด้านการแสดงออกและรสนิยมทางเพศ แต่ปัญหาการตีตราดูจะยังเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการการป้องกันและการดูแลรักษาสำหรับผู้ติดเชื้อกลุ่มเพศวิถีนอกขนบอยู่ การสำรวจในปี 2559 พบการตีตราตนเองในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและหญิงข้ามเพศเป็นสัดส่วนที่สูงถึงประมาณ 1 ใน 5 รองลงมาคือการถูกตีตราในที่ทำงานหรือสถานศึกษา

                การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในหลายประเทศ โดยมากในแถบยุโรปและอเมริกา เป็นที่น่าสังเกตว่ายังไม่มีประเทศในเอเชียที่อนุญาตการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน รวมถึงประเทศไทย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"