เครื่องมือทำลายทางการเมือง?


เพิ่มเพื่อน    

      อดีตตามหลอน...

      มันเป็นสัจธรรม

      เพราะอดีตสะท้อนปัจจุบัน 

      และปัจจุบันสะท้อนอนาคต

      เรื่องพรรคใหม่ นักการเมืองรุ่นใหม่ ยังเป็นเรื่องใหม่ ที่ยังคุยกันไม่สิ้นกระแสความ

      วานนี้อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ พูดถึง "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ศิษย์รัก ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่

        ...ก่อนที่จะไปทำงานการเมืองได้มาคุยกับผม พร้อมบอกเหตุผล ทำให้เห็นว่าเขาต้องการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้ประชาชนมีโอกาสเลือกมากขึ้น ผมเคารพความคิดเขา

        ในแง่ความสัมพันธ์ คณะนิติราษฎร์ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างมากในปี ๒๕๕๗ โดยเฉพาะการเสนอการลบล้างผลพวงรัฐประหาร และการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผมถูกทำร้าย

        แม้เวลาผ่านไปหลายปี แต่ก็ยังมีคนไม่เข้าใจ ที่เสนอให้ทำโดยเปิดเผยทางสาธารณะ มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน คนที่ตำหนิ จะเอาเป็นเอาตายกับผม ไม่เคยรู้หรือว่ากฎหมายนี้เคยถูกแก้มาแล้ว แต่จะแก้อย่างไรเป็นเรื่องที่สังคมต้องมาพูดกัน มาพิจารณากัน

        เมื่อเรื่องนี้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือมาทำลายทางการเมือง แต่มาทำให้สร้างสรรค์ขึ้นไม่ดีกว่าหรือ แม้ข้อเสนอตกไปก็เป็นไปตามกลไกกฎหมาย

        ในปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้ในเรื่องนี้ คือ คนที่สั่งคืออัยการสูงสุด แล้วทำไมไม่คง   ไม่อย่างเดิม แสดงว่าที่เสนอไปมีเหตุมีผลใช่หรือไม่

        ซึ่งก็เหมือนกฎหมายทำแท้ง ที่มีทั้งผู้ที่ไม่มีปัญหาทางข้อกฎหมายเพราะไม่ได้ท้อง แต่บางคนมีปัญหากับข้อกฎหมาย ซึ่งมีข้อจำกัด มีปัญหา แต่พอพูดเรื่องนี้ มักถูกอ้างด้วยเรื่องหลักศีลธรรม ธรรมะ ทั้งที่มิติการมองมีมากกว่านี้เยอะ

        เรื่อง ๑๑๒ ไม่ควรมาโจมตีปิยบุตร หากเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชี้มาที่ผมหรือนิติราษฎร์ก็ได้ ปิยบุตรขาดจากนิติราษฎร์ไปแล้วเพราะไปทำงานการเมือง แต่นิติราษฎร์คือทางวิชาการ แต่ละคนยืนคนละบทบาทแล้ว

        สื่อทำอะไรบางอย่าง ไม่ควรมโน ไม่เคารพต่อคนอ่าน ไม่มืออาชีพ แม้ผมเสียดายปิยบุตรแต่ก็เคารพเขา เมื่อเข้าสู่การเมืองจะเจออีกหลายอย่างที่ไม่เคยเจอในชีวิต โดยเฉพาะการเมืองไทย สังคมไทยไปต่อไม่ได้ ถ้าไม่ปรับกติกา ไม่ขจัดสิ่งที่คลางแคลงใจคนจำนวนมาก เช่นเรื่อง ๒ มาตรฐานก็ไปต่อไม่ได้.....

      แยกเนื้อแยกน้ำ ได้ความว่า....

      อย่าเอาอดีตมาปนปัจจุบัน!

      ไม่ควรนำ ม.๑๑๒ มาโจมตี "ปิยบุตร"

      และสื่อไม่ควรมโน

      ถามว่าสื่อทำอะไร?

      จะทำอะไรได้ นอกจากนำเสนอไปตามข้อเท็จจริง 

      ใครเคยพูดอย่างไร เคยทำแบบไหน ก็เสนอไปตามนั้น

      แล้วทำไมต้องยกประเด็น ม.๑๑๒ ขึ้นมา? 

      ทำไมสื่อถึงให้ความสนใจประเด็นนี้

      ถือเป็นหลักการเบื้องต้น ใครก็ตามที่ก้าวเข้าสู่การเมือง ถือเป็นบุคคลสาธารณะ

      สิ่งแรกที่ต้องยอมรับให้ได้นั่นคือ การวิพากษ์วิจารณ์ การถูกขุดคุ้ย ตรวจสอบในเรื่องแนวคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม 

      แล้วแปลกตรงไหน ที่สื่อจะนำเสนอแนวคิดของ "ปิยบุตร" ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

      มีอะไรที่สื่อมโนขึ้นมาเองบ้าง

      ปิยบุตร เคยเป็นสมาชิกนิติราษฎร์จริง

      เป็น ๑ ใน ๕ ผู้ร่วมก่อตั้งนิติราษฎร์จริง

      มีแนวคิดแบบนิติราษฎร์จริง 

      ร่วมลงมือแก้ไข ม.๑๑๒ จริง

      ก็ยังมองไม่ออกว่า "มโน" ตรงไหน 

      แม้วันนี้ "ปิยบุตร" จะตัดขาดจากนิติราษฎร์แล้ว 

      หรืออาจารย์วรเจตน์บอกว่า ไม่ให้อยู่นิติราษฎร์แล้ว 

      แต่....จะห้ามไม่ให้ศิษย์รัก นำความคิดแบบนิติราษฎร์ ไปเป็นนโยบายพรรคการเมืองได้อย่างนั้นหรือ?

      ความยึดโยงมันมีอยู่ จะแยกตัดขาดได้อย่างไร

      มีข้อสงสัยว่า.....ทำไมข้อวิจารณ์ในเชิงวิชาการ ถึงไม่สามารถแปลงไปเป็นนโยบายพรรคการเมืองได้

      ไม่ได้เพราะไม่เหมาะ.....ก็พอเข้าใจได้

      แต่ไม่ได้ เพราะเกรงถูกยกมาเป็นประเด็นโจมตี ถ้าคิดแบบนี้ อย่าเข้าสู่การเมืองเสียดีกว่า

      ในอดีต "ปิยบุตร" คิดอย่างไร?

      จุดยืนต่อมาตรา ๑๑๒ 

        ....ผมเคยร่วมกับเพื่อนอาจารย์หลายๆ คน เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ สาเหตุเพราะอะไรทุกท่านคงทราบกันดี กฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกัน ถูกนำไปใช้กลั่นแกล้งกัน ถูกนำไปใช้ในการทำลายล้างศัตรูทางการเมืองฝั่งตรงข้าม

        การเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ

        ทุกท่านคงทราบดีว่าวันนี้มีตัวบ่งชี้ แม้กระทั่งรัฐก็มีปฏิกิริยาในแง่ของการปรับปรุงกฎหมายอาญามาตรานี้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันท่านก็คงเห็นหนังสือของสำนักงานอัยการสูงสุดออกมาว่า ต่อไปนี้จะให้อัยการสูงสุดเท่านั้นเป็นคนพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่

        เราเห็นทิศทางของศาลให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีอาญา มาตรา ๑๑๒ มากขึ้น เราเห็นทิศทางคำพิพากษาจำนวนมากยกฟ้อง นั่นหมายถึงรัฐเองก็ตระหนักถึงปัญหาการใช้กฎหมายมาตรา ๑๑๒ การปรับปรุงแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ทำให้บุคคลทั้งหลายนำกฎหมายมาตรานี้มาทำลายล้างกันไม่ได้อีก บุคคลใดก็ตามจะไม่สามารถแอบอ้างเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ทำลายล้างผู้ที่เกลียดได้ หรือศัตรูทางการเมืองของตัวเอง สถาบันพระมหากษัตริย์จะดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ มั่นคง และมีเกียรติยศ ทันสมัย สอดคล้องกับประชาธิปไตย

        ในส่วนของผม ณ วันนี้ เปลี่ยนบทบาทมาลงสนามทางการเมือง หลายท่านก็อาจจะตั้งคำถามว่า  แล้วพรรคการเมืองนี้จะเอาอย่างไรต่อไปกับเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ดังที่ ธนาธรได้เรียนไปว่าพรรคนี้เป็นของสมาชิกทุกคน นโยบายทุกเรื่องที่เราจะนำเสนอมีหลากหลาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย

        นโยบายของพรรคเกิดจากการฟังเพื่อนสมาชิกและความคิดเห็นของประชาชน ณ วันนี้ คสช.ไม่อนุญาตให้พูดเรื่องนโยบายใดๆ ทั้งนี้ ฉะนั้น ณ วันนี้ยังตอบไม่ได้ และพรรคนี้ไม่ใช่ของผม ผมมีความคิดแบบนี้ แต่เรื่องจะเสนอไม่เสนอเป็นนโยบายหรือไม่อยู่ที่สมาชิกพรรค และการฟังความคิดเห็นจากประชาชน...

      แทบจะก๊อบปี้คำพูดกันระหว่างอาจารย์กับศิษย์รัก

      แต่เพื่อความครบถ้วนต้องไปดูทัศนะของ "ปิยบุตร" ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

        "สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตย โดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่ง ซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไป

        โดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้ เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการ รวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะ

        และต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ เป็นต้น"

      หรือทัศนะการทำธุรกิจของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ"

        "ไม่ต้องหมอบกราบพระเจ้าองค์ไหน หรือบริจาคเงินให้ผู้วิเศษองค์ใด อนาคตของความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอยู่ที่ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"

      ถ้าจะบอกว่า...นี่คือการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับสถาบันมาโจมตี 

      คงไม่ได้! 

      เพราะอย่างน้อยสังคมต้องได้รู้ว่า คนที่จะมาเป็น ส.ส. มาเป็นรัฐมนตรีนั้น มีความคิดความอ่านเช่นไร

      ถ้าสังคมโดยรวมเห็นด้วย ประตูสู่สภา สู่ทำเนียบรัฐบาลก็เปิดกว้าง

      แต่หากประชาชนฟังแล้ว เห็นว่าไม่เข้าท่า เขาก็ไม่เลือก นั่นคือประชาธิปไตย ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยน่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก

      ก็ไม่รู้ว่าเบื้องลึกเบื้องหลัง กำเนิดพรรคอนาคตใหม่เป็นมาอย่างไร

      อาจารย์วรเจตน์เข้าไปเกี่ยวข้องแค่ไหน หรือไม่เกี่ยวเลย

      ไม่อยากมโน

      แต่... หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีในระบอบทักษิณ พูดเอาไว้เมื่อวันที่ ๒๔  กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

        "ผมสัมผัสได้ถึงกระแสลมของพรรคคนรุ่นใหม่ที่พัดแรงขึ้นทุกที ท่ามกลางคลื่นประชาธิปไตยของ คนอยากเลือกตั้ง ที่ก่อตัวใหญ่ขึ้นและใหญ่ขึ้น"

        "การเลือกตั้งครั้งหน้า ผมจึงไม่เพียงอยากให้มาถึงในเร็ววัน แต่ยังอยากเห็นพรรคการเมือง 'ใหม่' ที่ขับเคลื่อนโดยคนหนุ่มสาว เพื่อนำพาสังคมไทยไปสู่อนาคตที่พวกเขาใฝ่ฝัน และหากพวกเขาทำการบ้านได้ดีพอ เราอาจได้เห็นการ 'กวาดที่นั่งในกรุงเทพมหานคร' อีกครั้ง"

        "วันนี้ เราเห็นคนหนุ่มสาวของไทยลุกขึ้นมาแสดงความรู้สึกว่า 'อยากเลือกตั้ง' อย่างคึกคัก ไม่หวั่นเกรงภยันตรายใดๆ"

         "ผมทำนายว่า หลังวันที่ ๑ มีนาคมนี้ เราจะได้เห็นคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาตั้งพรรคการเมืองของพวกเขาเอง ขับเคลื่อนโดยวิธีคิดแบบคนหนุ่มสาว เพื่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกเขาจะใช้ชีวิตไปอีก ๔๐-๖๐ ปี"

      มาวันที่ ๓ มีนาคม ทุกอย่างก็ชัดเจน ไพร่ธนาธร ออกมาบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องทวงคืนอนาคต

        "ถ้าผมจะจัดตั้งพรรคการเมือง ก็จะไม่เป็นพรรคที่เป็นเฉพาะกิจ ซึ่งอะไรที่น้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยผมก็จะไม่ทำ"

      ๑๕ มีนาคม เปิดตัว พรรคอนาคตใหม่

      ก็แปลกใจที่ หมอเลี้ยบ ทำนายถูกเผง

      แม่นอย่างกับรู้ล่วงหน้า

      แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่าการเคลื่อนไหวของม็อบอยากเลือกตั้ง ที่คู่ขนานไปกับการตั้งพรรคอนาคตใหม่ ต่างก็ประกาศ รวมพลังถอนราก คสช.

      พล็อตเรื่องมันถูกวางไว้แล้ว

      เหลือแค่เดินตามแผน

      สำเร็จหรือไม่ อย่าเอาแต่โทษว่าคนอื่นจ้องทำลายล้าง

      ฝ่าอดีตตัวเองไปให้ได้เหอะ...

 

                                                ผักกาดหอม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"