รายงานกมธ.งบฯดุเดือด แนะให้ยกเลิกคำสั่งคสช.


เพิ่มเพื่อน    


    เปิดรายงาน กมธ.งบประมาณฯ จัดทำข้อเสนอแนะงบด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ให้ กอ.รมน.เสนอเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ให้ ครม.เลิกสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว ไม่ควรตั้งชื่อโครงการมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง หรือตั้งชื่อที่สอดคล้องกับชื่อของพรรคหรือกลุ่มทางการเมือง 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้มีการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ดังนี้
    1.ในการจัดสรรงบประมาณของรัฐ ควรมีการวางกรอบแนวคิดในการจัดสรรงบประมาณให้สะท้อนถึงการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยเพิ่มสัดส่วนงบลงทุนให้มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น และปรับเปลี่ยนผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณ โดยให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจมากขึ้น อันจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มการจ้างงาน สำหรับงบลงทุน รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ ให้มากกว่าการใช้งบลงทุนในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทั่วๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องของการศึกษา การสาธารณสุข และระบบขนส่งสาธารณะในระดับท้องถิ่นที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ให้มากขึ้น
    การจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 พบว่า สัดส่วนของงบลงทุนมีแนวโน้มที่ลดลง ในขณะที่สัดส่วนของงบดำเนินการและงบบุคลากรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ภาครัฐควรคำนึงถึงแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายของงบบุคลากรและงบดำเนินการที่ไม่จำเป็น และเพิ่มน้ำหนักให้กับงบลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ
    2.พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 9 วรรคสาม ได้บัญญัติความไว้ว่า “คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว” ดังนั้น การตั้งชื่อโครงการของหน่วยงานต่างๆ ไม่ควรตั้งชื่อในเชิงมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง หรือตั้งชื่อที่สอดคล้องกับชื่อของพรรคหรือกลุ่มทางการเมือง ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมาย และเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
    3.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ควรเสนอยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับต่างๆ ให้กลับมาใช้รูปแบบตามสถานการณ์ปกติ เช่น คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2559 เรื่องคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เนื่องจากขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน โดยควรดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 เพราะเป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าคำสั่งดังกล่าว
    4.การจัดโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ควรมีความรอบคอบและระมัดระวัง โดยควรหลีกเลี่ยงการจัดโครงการหรือกิจกรรมที่เป็นการครอบงำความคิดทางการเมืองกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นหลักสากลที่จะต้องได้รับความคุ้มครอง
"สนธิรัตน์"มั่นใจงบฯผ่านฉลุย
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงความมั่นใจในการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในวาระ 2 และ 3 ว่าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวันที่ 8-10 ม.ค.นี้ มั่นใจว่าจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งจะได้นำเม็ดเงินลงไปบริหารประเทศ เพราะขณะนี้มีหลายโครงการที่ติดขัด เนื่องจากไม่มีเงิน ดังนั้นเมื่อได้เงินงบประมาณตรงนี้ลงไปก็จะได้ไปแก้ปัญหาต่างๆ ได้
    ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่ง ได้สงวนคำแปรญัตติขอปรับลด 10-15% ในทุกมาตรา ยกเว้นหมวดที่เกี่ยวกับงบประมาณของสำนักพระราชวัง ดังนั้นจะใช้สิทธิ์การอภิปรายในวาระสองอย่างเต็มที่ โดยจะอภิปรายเน้นหนักในงบประมาณการจัดอบรม สัมมนา และการจัดหลักสูตรพิเศษของหน่วยงาน หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เพราะเห็นว่าการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมสัมมนาขององค์กรอิสระ จะเป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์ หรือสร้างคอนเนคชั่นกันระหว่างผู้เข้าเรียนหลักสูตรเหล่านั้น จะทำให้กระบวนการยุติธรรม และการตรวจสอบขององค์กรอิสระสูญเสียความเป็นอิสระหรือความเป็นกลางได้ จึงไม่ควรจะมีหลักสูตรเหล่านี้
    ยกเว้นหลักสูตรด้านความมั่นคงของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หรือหลักสูตรด้านการเมืองของสถาบันพระปกเกล้า (ปปร.) ส่วนภาคเอกชน เช่น หลักสูตรวิทยาลัยตลาดทุน(วตท.) หรือหลักสูตรวิทยาลัยการพลังงาน (วพน.) ก็เป็นสิทธิ์ของภาคเอกชนที่สามารถทำได้อย่างอิสระ นอกจากนี้แล้วไม่ควรจะจัดหลักสูตรพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะทำให้กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เสื่อมเสีย ขาดความเชื่อมั่นจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรของศาลยุติธรรม, ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลปกครอง, ป.ป.ช. หรือ กกต. ฯลฯ
    ส่วนการลงมติในวาระสาม มั่นใจว่าสามารถผ่านมติของสภาได้อย่างแน่นอน แม้ว่ารัฐบาลเสียงจะปริ่มน้ำก็ตาม และในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการประชุม ส.ส.ของพรรค ในวันอังคารที่ 7 มกราคมนี้ เพื่อรับฟังมติวิปรัฐบาลจากวิปของพรรค และเชื่อว่า ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนต้องลงมติตามมติรัฐบาลทุกคน และเชื่อว่าการลงมติของพรรคฝ่ายค้านทำได้ก็แค่ลงมติงดออกเสียง คงไม่มี ส.ส.คนใดโหวตไม่รับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2563 อย่างแน่นอน จึงทำให้มั่นใจว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ผ่านได้ 100%
    สำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ในครั้งนี้ อยากเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมเพื่อรับฟังการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตลอดเวลาของการประชุม เพื่อรับฟังเหตุผลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเสนอแนะ ตั้งข้อสังเกตการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล เพื่อจะนำไปใช้เป็นข้อมูล ปรับปรุงแก้ไขในการบริหารประเทศต่อไป
    “อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ดูแบบอย่างการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในอดีต ที่ให้ความสำคัญกับการประชุมสภา และให้เกียรติกับฝ่ายนิติบัญญัติมากเป็นพิเศษของนายสมัคร สุนทรเวช หรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ไม่ควรจะเอาแบบอย่างของนายทักษิณ ชินวัตร หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ให้ความสำคัญกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรน้อยมาก ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะเข้าร่วมประชุมและตอบกระทู้ถามด้วยตัวเองให้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่ควร หวังว่าในปีนี้คงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานและการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติให้มากกว่าปีที่ผ่านมา” นายเทพไทกล่าว
ประชาธิปัตย์โชว์ผลงาน
    นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากรายงานของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อมาตรการของรัฐและความคิดเห็นต่อโครงการต่างๆของรัฐบาลสรุปส่งท้ายปี 2562 โดยรายงานต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเผยแพร่เป็นฐานข้อมูลสถิติ ที่เชื่อถือได้ ว่าสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าได้ดำเนินการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อมาตรการโครงการนโยบายของรัฐจำนวน 8 เรื่อง แบ่งเป็น 4 กลุ่มมาตรการ ได้แก่ มาตรการสร้างรายได้โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกร มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ คือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด มาตรการเศรษฐกิจคือ มาตรการส่งเสริมการส่งออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวนโยบายอีอีซี และมาตรการด้านสาธารสุขคือนโยบายการเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งผลปรากฏว่าประชาชนเห็นด้วยกับทั้ง 8 เรื่อง โดยเห็นด้วยเกินร้อยละ 50 ในแต่ละเรื่อง
    ส่วนเรื่องที่ประชาชนเห็นด้วยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับแรก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประชาชนเห็นด้วยสูงถึงร้อยละ 93.3 เนื่องจากเป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งได้รับการสานต่อและมีการปรับปรุงอัตราการจ่ายเบี้ยงยังชีพจากรัฐบาลต่างๆ เรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับโครงสร้างประชากรของไทยมีแนวโน้มเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สามารถช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและดูแลผู้สูงอายุให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ดีขึ้น ส่วนอันดับสองคือ โครงการประกันรายได้เกษตรกร ประชาชนเห็นด้วยสูงถึงร้อยละ 87.9 เป็นหนึ่งใน นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในสถานการณ์ที่พืชผลการเกษตรหลายชนิดมีราคาตกต่ำ และกลุ่มอาชีพเกษตรกรเห็นด้วยกับโครงการนี้สูงถึงร้อยละ 93.4 ในขณะที่กลุ่มอาชีพอื่นๆ ก็เห็นด้วยสูงกว่าร้อยละ 80 และอันดับสาม โครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประชาชนเห็นด้วยสูงถึงร้อยละ 83.2 ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยลดค่าครองชีพและแบ่งเบาภาระของครอบครัวที่มีรายได้น้อยในการเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด เป็นระยะเวลา 12 เดือน
    รายงาน สนค.ยังระบุถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคสำรวจเดือนตุลาคม 2562 ด้วยว่าปรับตัวดีขึ้น และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยประชาชนเห็นด้วยกับมาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของโดยรวมอยู่ที่ระดับ 46.3 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน คือจากระดับ 46.0 ในเดือนกันยายน 2562 และเป็นการปรับตัวสูงขึ้นทั้งความเชื่อมั่นในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคตปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 39.8 และ 50.1 มาอยู่ที่ 40.5 และ 50.2 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรับตัวสูงขึ้นในลักษณะเดียวกัน
    “รายงานของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าระบุด้วยว่า ความเชื่อมั่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล โดยผู้บริโภค-ประชาชนเห็นด้วยกับมาตรการต่างๆ เกินร้อยละ 50 ทั้งในเรื่องการประกันรายได้เกษตรกร มาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวผ่านโครงการชิมช้อปใช้ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะนำออกมาใช้ในระยะต่อไป” นางมัลลิกากล่าว
    ทั้งนี้ เมื่อให้แยกรายอาชีพจะพบว่า กลุ่มที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรระดับ 47.3, กลุ่มพนักงานเอกชนระดับ 44.6,  กลุ่มรับจ้างอิสระดับ 44.8 และกลุ่มนักศึกษาที่ระดับ 44.2 และทาง สนค.ตั้งข้อสังเกตว่าความเชื่อมั่นของกลุ่มนักศึกษาปรับตัวสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือนอีกด้วย และเมื่อให้แยกรายภาค พบว่า ทุกภาคปรับตัวดีขึ้น โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงขึ้นจาก 42.0 เป็น 42.2, ภาคเหนือจาก 44.9 เป็น 46.2 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 48.4 เป็น 48.7 ในขณะที่ภาคกลางและภาคภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นประชาชนทรงตัวที่ระดับ 47.6 และ 45.8 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวสูงขึ้นของความเชื่อมั่นในอนาคตนั่นเอง
    “ทั้งหมดนี้จึงเป็นทิศทางบวกและเป็นความคิดเห็นประชาชนที่มาจากการสำรวจข้อมูลจริงอย่างละเอียด ที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์จะได้นำไปวิเคราะห์เพื่อปรับใช้ต่อนโยบายต่อไป” นางมัลลิกากล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"