"ฮาร์วาร์ด-ไทย" ออกแบบ “คลองเตยดีดี” ล้างภาพชุมชนแออัด


เพิ่มเพื่อน    

ภาพถ่ายสื่อศิลปะและกราฟฟิตี้ ที่ช่วยเปลี่ยนพื้นที่ในคลองเตยให้เป็นแหล่งเรียนรู้

 

     ชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขณะนี้มีหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “คลองเตยดีดี” โดยเป็นการผนึกกำลังของ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กับสถาบันการออกแบบระดับโลก Harvard Graduate School of Design เพื่อวิจัยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างเชิงธุรกิจ ระบบนิเวศ ภูมิทัศน์พื้นที่สาธารณะ รวมถึงการพัฒนาแหล่งเสื่อมโทรมภายในชุมชนคลองเตย โดยใช้ศิลปะและกีฬาเข้ามาเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงผู้คนแบบที่ชวนให้อยากขยับเข้าไปใช้พื้นที่

      ในงานเปิดตัว “คลองเตยดีดี” ณ โกดังสเตเดียม อดีตโกดังสินค้าคลองเตยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 50 ปีเมื่อวานนี้ ไม่เพียงรวบรวมของอร่อย ของดีในคลองเตย และร้านอาหารเจ้าประจำที่จำหน่ายให้กับแฟนบอลสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ทั้งของทอด ยำปลาดุกฟูรสเด็ด โดยจำลองเอาบรรยากาศสนามแข่งมาไว้ที่นี่เท่านั้น แต่มีนิทรรศการภาพถ่ายเล่าเรื่องราวดีๆ ในคลองเตย ที่ชวนศิลปินช่างภาพมาสร้างสรรค์งานภาพถ่าย ประกอบด้วย อาทิตยา จีนโน, วัชระกร มะลิทอง, อำพล ทองเมืองหลวง, กีรติ รัตนวราห และนริสรา วิชิต โดยศิลปะภาพถ่ายทุกชิ้นได้แรงบันดาลใจมาจากเอกลักษณ์ชุมชน อัธยาศัยไมตรีของคนคลองเตย รวมถึงเด็กและเยาวชนที่เป็นพลังสำคัญพัฒนาพื้นที่แห่งนี้

นวลพรรณ ล่ำซำ กับนิทรรศการศิลปะภาพถ่าย “คลองเตยดีดี” ที่โกดังสเตเดียม

 

      อีกโซนที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน นิทรรศการ “คลองเตยในฝัน” สื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่คลองเตย ทั้งภาพรวมประชากร ข้อมูลชุมชน หลายคนไม่รู้ว่าคลองเตยมีพื้นที่รวม 13 ตร.กม. แต่มีพื้นที่ชุมชนเพียง 1.5 ตร.กม. มี 41 ชุมชนที่ลงทะเบียน และ 8 ชุมชนไม่ได้ลงทะเบียน ตั้งอยู่ใน 3 แขวง ตัวเลขที่น่าสนใจ 94% ของจำนวนประชากรเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อีกจุดเป็นนิทรรศการเชิง CSR “เมืองไทยไร้ขยะ” โชว์วิธีลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืนด้วยหลัก 3R คือ Reduce Reused และ Recycle เข้ากับสถานการณ์ขยะคลองเตยที่ติดอับดับต้นๆ ภายในงานยังมีวงออร์เคสตรา “IMMANUEL ORCHESTRA” ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวชาวคลองเตยที่มีใจรักดนตรีคลาสสิกมารวมตัวกันบรรเลงดนตรี ทั้งเพลงไทยและเพลงสากล ขับกล่อมผู้ร่วมงานภายในโกดังสเตเดียมอย่างไพเราะ

      นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี บอกเล่าถึงแนวคิดโครงการ “คลองเตยดีดี" ว่า เกิดขึ้นจากความตั้งใจจริงที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่คลองเตย มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ตนเองและเมืองไทยประกันภัยได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลัก และเป็นผู้ดูแลสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ที่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชนคลองเตย เสมือนเป็นศูนย์รวมหนึ่งของคนในพื้นที่ชุมชนคลองเตยและใกล้เคียง ทำให้ตนและทีมงานเมืองไทยประกันภัยได้มีโอกาสใกล้ชิดกับคนในชุมชนคลองเตย ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์แก่ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสนับสนุนกิจกรรมด้านการกีฬา การได้ลงมือทำงานจริงในพื้นที่ทำให้ได้เห็นภาพชุมชนคลองเตยในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ด้านกายภาพ และสังคม

 

นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เมืองไทยประกันภัย

 

      นวลพรรณ กล่าวว่า ด้านกายภาพพบปัญหาขยะ รองลงมาแสงสว่างในชุมชนไม่เพียงพอ และไฟไหม้ เรื่องขยะเป็นปัญหาหลักของชุมชนคลองเตย ต้องเร่งแก้ ร่วมมือร่วมใจกัน สนใจแนวทางจัดตั้งธนาคารขยะและการรีไซเคิลขยะนำกลับมาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ อีกส่วนเป็นขยะพลังงาน ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องแสงสว่างด้วย ขณะที่ไฟไหม้อยากแก้ที่ต้นเหตุ ให้ความรู้การดูแลระบบไฟ รวมถึงควบคุมเพลิงไม่ให้แพร่กระจายเมื่อเกิดเหตุ ส่วนปัญหาด้านสังคม มีตั้งแต่ความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ความรุนแรงในเด็กและสตรี และยาเสพติด คิดว่าจะเริ่มงานแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมหรือแม่วัยใสในพื้นที่ก่อน  ป้องกันไม่ให้ท้องซ้ำและออกนอกระบบการศึกษา ต้องใช้พลังคนคลองเตยทั้งชายและหญิงร่วมสร้างสังคมแห่งความสุข

      “ ภาพที่ทุกคนมองเข้ามายังชุมชนคลองเตย ในความรู้สึกอาจเป็นแบบหนึ่ง แต่ในฐานะของคนที่ได้สัมผัสกับชุมชนจริงๆ ทำให้รับรู้ว่าชุมชนคลองเตยมีเรื่องราวดีๆ มากมาย อยากร่วมเป็นส่วนส่งเสริมและสนับสนุนให้สิ่งดีๆ นั้นยังคงอยู่ในชุมชนได้อย่างยั่งยืน วันนี้จับมือกับสถาบันการออกแบบระดับโลกอายุกว่า 370 ปี มีประสบการณ์พัฒนาเมืองมามากมาย เช่น กัวลาลัมเปอร์ จาการ์ตา มะนิลา จีน ครั้งนี้จุดพลุเลือกชุมชนคลองเตย หลังจากนี้จะเข้ามาสำรวจและวิจัยความต้องการชุมชน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตเพื่อความเท่าเทียมและความมั่นคง” นวลพรรณ กล่าว

 

ความร่วมมือครั้งสำคัญเพื่อออกแบบพื้นที่ชุมชนคลองเตยอย่างยั่งยืน

 

     ซีอีโอเมืองไทยประกันภัยกล่าวด้วยว่า คลองเตยดีดี จึงเป็นการรวมพลังภูมิปัญญาในแบบตะวันออกพบตะวันตก หรือ East Meets West โดยใช้ความรู้และนวัตกรรมของ Harvard Graduate School of Design ผสมผสานกับความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่ของคนคลองเตย รวมถึงความตั้งใจจริงของเมืองไทยประกันภัย เพื่อวางแผนพัฒนาชุมชนคลองเตย

      ด้านซาราห์ เอ็ม ไวท์ทิ่ง คณบดีสถาบัน Harvard Graduate School of Design ที่เดินทางมาพร้อมคณาจารย์สาขาการวางแผนเมือง ออกแบบเมืองและสถาปัตยกรรม เพื่อร่วมงานเปิดตัวโครงการ “คลองเตยดีดี” เผยว่า ความร่วมมือดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี โดย Harvard GSD จะส่งคณาจารย์และนักศึกษามาจัดตั้งสตูดิโอออกแบบในกรุงเทพมหานคร หัวข้อในการวิจัยมีตั้งแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างเชิงธุรกิจ โครงสร้างเชิงระบบนิเวศ ภูมิทัศน์ รวมถึงพื้นที่สาธารณะรูปแบบอื่นๆ ในเขตคลองเตย

      “ สถาบัน Harvard GSD มุ่งเน้นบูรณาการด้านผังเมืองสถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตย์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมคลองเตยที่มีปัญหาทางกายภาพและปัญหาสังคม ซึ่งการออกแบบบ้านเรือนและโครงสร้างช่วยพัฒนาพื้นที่คลองเตยให้ดีขึ้นได้ เหตุที่เลือกพื้นที่คลองเตยเพราะในพื้นที่มีโครงการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องจากเมืองไทยประกันภัยและมูลนิธิต่างๆ ทั้งด้านดนตรี กีฬา และศิลปะ มองเห็นความเชื่อมโยงที่จะลงมือวิจัย จากการลงพื้นที่เบื้องต้นพบว่า ชุมชนคลองเตยขาดพื้นที่สาธารณะ โปรเจ็กต์นี้จะร่วมพัฒนาสร้างหน้าใหม่ของคลองเตย” ซาราห์ กล่าว

 

ซาราห์ เอ็ม ไวท์ทิ่ง คณบดี  Harvard Graduate School of Design เล่าขั้นตอนสู่แผนแม่บท “คลองเตยดีดี”

     

     สำหรับรูปแบบการทำวิจัย คณบดีฯ บอกว่า อ้างอิงจากโมเดลสตูดิโอการทำวิจัยในโครงการที่ Harvard GSD เคยทำมาแล้ว โดยสตูดิโอจะประกอบด้วยอาจารย์ 1 คน หรือมากกว่านั้น นักศึกษาปริญญาโทประมาณ 12 คน และในครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากศิษย์เก่า Harvard GSD ในประเทศไทยที่มีความชำนาญด้านภูมิสถาปัตย์ ผังเมือง รวมถึงบริบทของพื้นที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย โดยเมืองไทยประกันภัยจะให้การสนับสนุนการดำเนินงาน

      “ ขั้นตอนสู่ผลสำเร็จของงานวิจัยนี้เริ่มจากการลงพื้นที่เพื่อทำความรู้จัก และทำความเข้าใจกับชุมชนต่างๆ กว่า 49 ชุมชนในคลองเตย จากนั้นเข้าสู่การปฏิบัติที่มีนักศึกษาสำรวจพื้นที่และออกแบบหน้าตาคลองเตยดีดี จากนั้นเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้มาซึ่งแผนแม่บทที่พร้อมด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมสำหรับนำไปต่อยอดในการเพิ่มมาตรฐานความเป็นอยู่ คาดหวังว่าโมเดลคลองเตยจะเป็นต้นแบบชุมชนที่ส่งต่อโอกาสและความมั่นคงให้ผู้อาศัยและสังคม” ซาราห์กล่าว และว่า หลังจากการวิจัยเสร็จสมบูรณ์ จะมีการแบ่งปันองค์ความรู้สู่สาธารณะทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านการจัดนิทรรศการและงานวิจัยเพื่อขยายผลการศึกษาด้านการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

 

หนึ่งในภาพถ่ายนิทรรศการ” คลองเตยดีดี” ชวนศิลปินช่างภาพรังสรรค์งานสะท้อนชุมชนคลองเตย

 

      ความตั้งใจใช้งานวิจัยออกแบบและภูมิสถาปัตย์เข้ามาเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงและเชื่อมโยงคนคลองเตย ไม่เพียงสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในคลองเตยเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่จุดประกายและส่งต่อแรงบันดาลใจให้ชาวคลองเตยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมคิดถึงคลองเตยในฝัน คลองเตยดีๆ ลบภาพจำเดิมๆ ในพื้นที่แห่งนี้ด้วย

 

หนึ่งในภาพถ่ายบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ในชุมชนคลองเตย 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"