ท่อยาวเป็นกิโล สูบน้ำโขงมาใช้ เกษตรสั่งหาจุด บินทำฝนหลวง


เพิ่มเพื่อน    


    สถานการณ์ภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ อีสานน้ำเหือด หลายจังหวัดเดือดร้อน เกษตรกรก้มหน้ารับชะตา เพราะน้ำกินน้ำใช้ก็ยังขาดแคลน น้ำดิบผลิตประปาแทบไม่เหลือ กระทรวงเกษตรฯ สั่งหน่วยบินทำฝนหลวงทุกจุดที่สามารถทำได้ ปภ.ประกาศเขตพิบัติเพิ่มเป็น 16 จังหวัด
    เมื่อวันที่ 9 มกราคมนี้ ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.ขอนแก่น โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำโสกขุมปูน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าขุก ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาด 164 ไร่ อยู่ในพื้นที่บ้านหนองหญ้าปล้อง ม.6 ต.ภูเวียง อ.ภูเวียง และยังเป็นที่ตั้งของโรงสูบน้ำเพื่อนำไปผลิตน้ำประปาส่งให้ชาวบ้านใน อ.ภูเวียง พบสภาพหนองน้ำแห้งขอด บางจุดเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ พอให้ชาวบ้านได้ใช้รดผักที่ปลูกไว้กินเองเท่านั้น
    ปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดขอนแก่นได้สร้างผลกระทบมากขึ้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่างๆ ให้ประชาชนช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด และปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์จากความจุเก็บกัก 2,431.30 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำเพียง 481.16 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 19.79% ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้จริง -100.51 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ -5.43% ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้จริง ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยมาก
    บุรีรัมย์ หนองมะค่า หมู่ 4 บ้านหัววัว ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสระน้ำกลางหมู่บ้านขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ใช้เป็นน้ำดิบในการผลิตประปา มีสภาพแห้งแล้ง มองเห็นผืนดินแตกระแหง และวัชพืชขึ้นเต็มไปหมด จนวัว ควาย สามารถเดินลงไปหากินหญ้าได้ ทำให้ไม่มีน้ำมาใช้ในการผลิตประปาแจกจ่ายทั้ง 4 หมู่บ้าน กว่า 900 ครัวเรือน ชาวบ้านกว่า 5,000 คน ได้รับความเดือดร้อนหนักจากปัญหาภัยแล้งมาคุกคามในรอบ 20 ปี จากผลกระทบดังกล่าว ชาวบ้านต้องจ่ายเงินซื้อน้ำจากรถเร่ และน้ำถังจากร้านค้า เสียค่าใช้จ่ายสัปดาห์ละ 250-300 บาท เพื่อนำไปอุปโภคบริโภคบรรเทาความเดือดร้อนมานานกว่า 1 เดือนแล้ว จึงรวมตัวกันเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยเหลือ
    นครสวรรค์ สถานการณ์น้ำบึงบอระเพ็ด ภายในส่วนหน่วยบริหารจัดการประมงน้ำจืดบึงบอระเพ็ด ที่มีประตูทางเชื่อมเพื่อรับน้ำจากแม่น้ำน่านไหล พบว่ามีน้ำไหลเข้าน้อย ประกอบกับเกษตรกรโดยรอบบึงสูบน้ำไปใช้ทางการเกษตร ทำให้บึงบอระเพ็ดน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดสันดอนทรายหลายแห่ง ปริมาณน้ำภายในลดลงเหลืออยู่ที่ 73.60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 40.89 หากมีพื้นที่น้ำต่ำกว่านี้จะเริ่มกระทบกับระบบนิเวศ 
    นครพนม แม่น้ำโขงแห้งขอด มีระดับฉลี่ยต่ำสุดที่ประมาณ 1 เมตร ต่ำสุดในรอบ 50 ปี ส่งผลให้ลำน้ำสาขา ได้แก่ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม และลำน้ำก่ำ มีปริมาณน้ำน้อย ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร ขณะที่มณฑลทหารบกที่ 210 นครพนม ได้รับงบประมาณจากจังหวัดเร่งสำรวจดำเนินโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลให้ชุมชนที่ประสบความเดือดร้อนแล้วกว่า 100 จุด โดยในปีงบประมาณ 2563 จะดำเนินการต่อเนื่อง
    หนองคาย ประสบปัญหาแม่น้ำโขงระดับน้ำต่ำสุดในรอบหลายสิบปีเช่นกัน ที่ริมตลิ่งเขต ต.บ้านเดื่อ อ.เมืองหนองคาย มีเกษตรกรลงทุนปลูกพืชหลายชนิด เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ กำลังเดือดร้อน ต้องต่อท่อลงไปเพื่อดูดน้ำมาใช้ไกลขึ้น บางรายต่อท่อไกลกว่า 1 กิโลเมตร
    ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ส่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ 2 ชุด พร้อมบินทำฝนทั่วประเทศ หากพบบริเวณใดมีสภาพอากาศเอื้ออำนวยให้บินขึ้นปฏิบัติการทันที เพื่อเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ป่าไม้
    นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดลพบุรีและสระบุรี โดยก่อนหน้านี้เนื่องจากจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อควบคุมค่าความเค็มของน้ำที่สถานีสำแล จังหวัดปทุมธานี ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำและการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ ซึ่งจะแก้ไขด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำมโนรมย์ สูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เสริมเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก วันละ 1.30 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมกับน้ำที่ไหลเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ตามปกติ 
    มีรายงานว่า สภาพแม่น้ำยมที่ไหลจาก จ.สุโขทัย-พิษณุโลก-พิจิตร ขณะนี้แห้งขอดเป็นช่วงๆ ล่าสุดที่หมู่ 2 บ้านวังเป็ด ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จุดที่เคยนำบิ๊กแบ็กกั้นกลางลำน้ำยมเพื่อกักเก็บไว้ใช้ฤดูแล้ง วันนี้น้ำเหือดแห้งกลายเป็นหาดทรายยาวกว่า 1 กิโลเมตรแล้ว
    นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผวจ.พิจิตร เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายอำเภอของพิจิตรส่อเค้าว่าจะรุนแรงขึ้นทุกขณะ แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วยหนองคลองบึงที่อยู่ติดกับเทือกเขาเพชรบูรณ์แถบ อ.สากเหล็ก วังทรายพูน ทับคล้อ และดงเจริญ รวมทั้งพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม 4 อำเภอ คือ สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และอำเภอโพทะเล ระดับน้ำลดลงจนแห้งขอดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นต้นมา จึงได้กำชับทุกหน่วยหาทางช่วยชาวบ้านทุกวิถีทางให้มีน้ำกินน้ำใช้ ส่วนน้ำเพื่อทำการเกษตรนั้น ถ้าใครจะทำนาปรังต้องมีบ่อน้ำ มีบ่อบาดาลอยู่ในไร่นาของตนเอง อีกทั้งผู้ที่เคยใช้แพสูบน้ำจากพลังงานไฟฟ้าสูบน้ำจากแม่น้ำน่านไปทำนาปรัง ก็ขอร้องว่าปีนี้ต้องงดสูบน้ำเพื่อเก็บน้ำในแม่น้ำน่านไว้ เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก
    นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 16 จังหวัด รวม 80 อำเภอ 464 ตำบล 4,117 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทราอุทัยธานี ชัยนาท และนครสวรรค์. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"