เด็กไทยโดนรังแกอันดับโลก กระทุ้งศธ.-ผู้ปกครองแก้ไข


เพิ่มเพื่อน    

 

"ลุงตู่" เปิดทำเนียบฯ วันเด็ก ให้นั่งเก้าอี้นายกฯ เรียนรู้ไดโนเสาร์-จำลองถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน น่าห่วง! "บูลลี่" เด็กไทยติดอันดับ 2 ของโลก พบ 91% เคยถูกกลั่นแกล้ง "ตบหัว-ล้อบุพการี" เครือข่ายเยาวชนกระทุ้ง ศธ.เร่งแก้ปัญหา ผู้ปกครองและครูต้องเอาใจใส่ใกล้ชิด
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเตรียมจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 11 ม.ค. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมมอบของขวัญให้แก่เด็กๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเหมือนเช่นทุกปี โดยเด็กและเยาวชนที่จะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ 20 คนแรก ได้แก่ เด็กด้อยโอกาส เด็กที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ และเด็กจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเปิดให้เยี่ยมชมภายในตึกไทยคู่ฟ้าและตึกภักดีบดินทร์ ขณะที่ทำเนียบฯ ได้เริ่มจัดเตรียมสถานที่และซุ้มกิจกรรมต่างๆ เช่น นำไดโนเสาร์มาติดตั้งถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนจำลอง เป็นต้น
    นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่น่าสนใจให้เด็กและเยาวชนได้ร่วมเรียนรู้ควบคู่การเล่นเกม เช่น กิจกรรมให้ความรู้เรื่องสัตว์ ไดโนเสาร์ การสร้างจิตสำนึกส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการนำขยะ ขวด กระป๋อง มาแลกสิ่งของ การระบายสีถุงผ้าลดโลกร้อน จัดห้องแล็บ เพื่อให้เด็กได้ทำการทดลองและทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ การประกวดคัดลายมืออาลักษณ์ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เครื่องราชอิสริยาภรณ์ การจัดแสดงรถโบราณของเจษฎาเทคนิคมิวเชียม รวมไปถึงการเปิดศูนย์ข่าวทำเนียบรัฐบาล ตึกนารีสโมสร จำลองเป็นสถานีโทรทัศน์ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกและทดลองอ่านข่าว
    อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 ม.ค. จะมีการจัดงานวันเด็กล่วงหน้าให้กับลูกหลานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี 
    ที่เดอะฮอลล์ บางกอก เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ร่วมกับศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาหัวข้อ “BULLYING” กลั่นแกล้ง ความรุนแรงที่รอวันปะทุ” เพื่อหาทางออกและวิธีแก้ไขปัญหาเด็กโดนกลั่นแกล้ง หรือบูลลี่
    นายอธิวัฒน์ เนียมมีศรี เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า เครือข่ายได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “บลูลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรง ในสถานศึกษา” ในกลุ่มเด็ก อายุ10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน พบว่า ร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี่ ส่วนวิธีที่ใช้บูลลี่คือการตบหัว ร้อยละ 62.07 รองลงมา ล้อบุพการี ร้อยละ 43.57, พูดจาเหยียดหยาม ร้อยละ 41.78 และอื่นๆ เช่น นินทา ด่าทอ ชกต่อย ล้อปมด้อย พูดเชิงให้ร้าย เสียดสี กลั่นแกล้งในสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.33 ระบุว่า เคยถูกกลั่นแกล้งประมาณเทอมละ 2 ครั้ง ที่น่าห่วงคือ 1 ใน 4 หรือ ร้อยละ 24.86 ถูกกลั่นแกล้งมากถึงสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ส่วนคนที่แกล้งคือ เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง 
    “เด็กๆ ร้อยละ 68.93 มองว่าการบูลลี่ถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง และผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ ร้อยละ 42.86 คิดจะโต้ตอบเอาคืน, ร้อยละ 26.33 มีความเครียด, ร้อยละ 18.2 ไม่มีสมาธิกับการเรียน, ร้อยละ 15.73 ไม่อยากไปโรงเรียน, ร้อยละ 15.6 เก็บตัว และร้อยละ 13.4  ซึมเศร้า นอกจากนี้ เด็กๆ ยังต้องการให้ทางโรงเรียนมีบทลงโทษที่ชัดเจน มีครูให้คำปรึกษา จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจ” นายอธิวัฒน์ระบุ
    ทั้งนี้ สังคมไทยต้องเลิกมองเรื่องบูลลี่ กลั่นแกล้งกัน เป็นเรื่องเด็กๆ ปกติธรรมดาแล้วปล่อยผ่าน  กระทรวงศึกษาธิการต้องให้ความสำคัญกับปัญหาบูลลี่ ควรกำหนดให้สถานศึกษามีช่องทางให้เด็กๆ สามารถบอกเล่าปัญหา เพื่อขอความช่วยเหลืออย่างเป็นมิตร และปิดลับ และหากสถานศึกษาไม่สามารถรับมือกับปัญหาและสุ่มเสี่ยงที่ปัญหาจะใหญ่ขึ้น ต้องใช้กลไกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546  ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีกลไกพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ ต้องเร่งออกแบบกระบวนการช่วยเหลือให้เป็นระบบ โดยอาจดึงองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรด้านเด็กเข้ามามีส่วนร่วม
    นางสาวฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า จากงานวิจัยของกรมสุขภาพจิตพบว่า การใช้ความรุนแรง การข่มเหงรังแกกันหรือการบูลลี่ ในประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหมายความว่าการบูลลี่ในไทยมีระดับความถี่ที่รุนแรง นอกจากนี้ยังพบว่าอายุเด็กที่ถูกบูลลี่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ จากงานวิจัยยังพบอีกว่าเด็กที่รังแกคนอื่น มีพื้นฐานด้านการขาดอำนาจบางอย่างในวัยเด็ก ถูกการเลี้ยงดูเชิงลบ รวมถึงพันธุกรรมทางสมอง จนนำไปสู่การรังแกกลั่นแกล้งคนอื่นในวัยที่โตขึ้น ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นความเคยชิน ทำได้แนบเนียนและรุนแรงขึ้น ส่วนเด็กที่ถูกบูลลี่จะมีอาการซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน ในบางรายอาจถึงขั้นคิดสั้น 
    “ผู้ปกครองอย่าปล่อยให้เด็กเผชิญปัญหาเพียงลำพัง ต้องคอยสังเกตอาการและสอบถาม เมื่อเด็กส่งสัญญาณที่ผิดปกติ เช่น ดูหงุดหงิด วิตกกังวล มีความกลัว ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากคุยกับใคร หรือมีร่องรอยตามร่างกาย ผู้ปกครองควรสร้างบรรยากาศแห่งความไว้ใจ ชวนคุยให้เขาเล่าปัญหาเพื่อช่วยหาทางออก หารือกับครูที่ปรึกษา ข้อสำคัญคือการเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้เด็กนำสิ่งเหล่านี้ไปแก้ปัญหา เลี้ยงดูเชิงบวก และอยากเสนอให้โรงเรียนมีมาตรการครูแนะแนวปรึกษาปัญหา เปิดพื้นที่สำหรับเด็ก กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนในโรงเรียน เมื่อเกิดเหตุให้แจ้งทันที” นางสาวฐาณิชชากล่าว
    นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เครื่องมือที่ช่วยลดความรุนแรง คือการเปิดพื้นที่เรียนวิชาชีวิตกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะทุกครั้งที่มีข่าวการบูลลี่ ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ทางบ้านกาญจนาฯ จะนำมาถอดบทเรียน เพื่อระดมความคิด ร่วมหาคำตอบด้วยกัน ดังนั้นหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กที่เปราะบางคงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองและครูบาอาจารย์ ควรเพิ่มพื้นที่ให้เด็กเหล่านี้มากขึ้น.
    
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"