อิหร่านรับยิงแอร์ยูเครนตก


เพิ่มเพื่อน    

  โดนมิสไซล์ยิงจริง กองทัพอิหร่านออกแถลงการณ์ยอมรับแล้วว่ายิงเครื่องบินโดยสารโบอิ้งของสายการบินยูเครนตกเมื่อเช้ามืดวันพุธ "โดยไม่ได้เจตนา" ฆ่าคนบนเครื่องทั้งลำ 176 ศพ อ้างเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ที่เข้าใจว่าเป็นเครื่องบินของข้าศึก

    ก่อนหน้านี้รัฐบาลอิหร่านยืนกรานปฏิเสธคำกล่าวหาที่ว่ามิสไซล์ของอิหร่านยิงโดนเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737 ของสายการบินยูเครนอินเตอร์เนชันแนลลำนี้ เมื่อเช้ามืดวันพุธที่ 8 มกราคม 2563 ใกล้กรุงเตหะราน ไม่กี่ชั่วโมงภายหลังกองทัพอิหร่านยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้โจมตีฐานทัพของสหรัฐ 2 แห่งในอิรักเพื่อตอบโต้การสังหารนายพลกาเซม สุไลมานี
    เที่ยวบิน พีเอส 752 เที่ยวบินนี้เพิ่งขึ้นบินจากสนามบินเตหะรานได้ไม่กี่นาที เพื่อมุ่งหน้าไปยังนครโทรอนโตของแคนาดา โดยใช้เส้นทางผ่านกรุงเคียฟของยูเครน เจ้าหน้าที่สหรัฐและแคนาดาอ้างข้อมูลจากข่าวกรองและหลักฐานจากดาวเทียมว่าเครื่องบินลำนี้โดนมิสไซล์ยิงตก สื่อของสหรัฐคาดเดากันว่ากองทัพอิหร่านซึ่งกำลังเตรียมพร้อมรับมือการโต้กลับของสหรัฐอาจเข้าใจว่าเครื่องบินโดยสารลำนี้เป็นเครื่องบินรบ
    สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานคำแถลงของกองทัพพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ 10 มกราคม ยอมรับว่า อิหร่านยิงมิสไซล์โดนเครื่องบินพลเรือนลำนี้ "โดยไม่ได้เจตนา" เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็น "เครื่องบินข้าศึก" สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น "ความผิดพลาดของมนุษย์" หลังจากเครื่องบินลำนี้บินเข้ามาในระยะใกล้กับที่ตั้งที่มีความอ่อนไหวของกองทัพ คำแถลงให้คำมั่นด้วยว่าผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้นจะต้องรับผิดชอบ
    ด้านฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) ประธานาธิบดีอิหร่าน ทวีตข้อความว่าอิหร่าน “เสียใจอย่างยิ่งต่อความผิดพลาดอันใหญ่หลวงนี้” พร้อมแสดงความเห็นใจต่อผู้เคราะห์ร้าย และย้ำว่าอิหร่านจะเดินหน้าสอบสวนเพื่อ “ชี้ต้นตอและจัดการโศกนาฏกรรมครั้งนี้อย่างถึงที่สุด”
    โมฮัมหมัด จาวาด ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ได้ทวีตข้อความว่า “ความผิดพลาดของมนุษย์ในช่วงวิกฤติอันเกิดจากนโยบายที่สุ่มเสี่ยงของสหรัฐคือสิ่งที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้”
    ทั้งนี้ เที่ยวบินนี้มีผู้โดยสารเป็นชาวอิหร่าน 82 คน, แคนาดา 63 คน, ชาวยูเครนรวมถึงลูกเรือด้วย 11 คน, ชาวสวีเดน 10 คน, อัฟกัน 4 คน, เยอรมนี 3 คน และอังกฤษ 3 คน แต่ชาวต่างชาติหลายคนอาจถือสัญชาติอิหร่านด้วย
    ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา World War III วิกฤตการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา?กับอิหร่าน? โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ นายจรัญ มะลูลีม คณะรัฐศาสตร์, นายปณิธาน วัฒนายากร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายศราวุฒิ อารีย์ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    โดยนายจรัญกล่าวว่า สหรัฐอเมริกามีนโยบายต่อสู้กับอิหร่านมาช้านาน แต่ยังไม่มีประธานาธิบดีคนไหนที่กล้าทำ แต่โดนัลด์  ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีคนเดียวที่กล้าทำ นั่นคือการสังหารนายพลกาเซม สุไลมานี เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ประเทศรัสเซียเข้าไปมีอิทธิพลในซีเรียในการปราบไอซิส เนื่องจากรัสเซียเห็นความสามารถของสุไลมานี รวมทั้งในช่วงที่ไอซิสแผ่อิทธิพลมาที่ประเทศอิรัก ทางรัฐบาลอิรักร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศอิหร่าน ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 24 ชม. รัฐบาลอิหร่านโดยสุไลมานีตอบรับการเชิญของอิรักในการเข้าไปปราบไอซิส
    ทั้งนี้ ทำไมการสังหารสุไลมานีถึงมีผลกระทบต่ออิหร่านอย่างมาก เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับผู้นำคนปัจจุบันของอิหร่าน และเป็นที่รักของคนอิหร่าน อย่างที่เราเห็นในการจัดงานศพของสุไลมานี ประชาชนร่วมไว้อาลัยมืดฟ้ามัวดิน อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาคือหลังจากการสังหารสุไลมานีโดยสหรัฐจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ ตนคาดว่าสงครามโลกคงไม่เกิด เพราะจากที่เห็นทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีจุดยืนคือไม่ต้องการสงคราม และต้องการเจรจา แต่หลังจากเหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะคนที่มาแทนสุไลมานี ที่ได้สั่งโจมตีฐานทัพสหรัฐบอกว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น ยังจะมียกที่ 2
    นายปณิธานกล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐอาจจะเริ่มต้นเข้าสู่สถานการณ์ใหม่ แต่ความขัดแย้งพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยนเพราะสหรัฐต้องการลดอิทธิพลของอิหร่านลง ซึ่งเขามองว่าเป็นภัยคุกคามสนับสนุนการก่อการร้าย รัฐบาลสหรัฐมีการถกเถียงกันว่ามีภัยคุกคามเฉพาะหน้า จึงต้องมีความจำเป็นโจมตีรถยนต์โดยสารของผู้นำทางทหารของอิหร่าน ซึ่งนายพลสุไลมานีเป็นสัญลักษณ์ของอิหร่าน ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นการสังหารเพื่อตัดตอนลดอิทธิพลในภาพรวม
    ในส่วนเรื่องปัจจัยภายในของสหรัฐ โดยเฉพาะเมื่อการเมืองเข้มข้นมักจะมีเรื่องต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันมีความขัดแย้งกันมาต่อเนื่อง ตั้งแต่สงครามเวียดนามและสงครามอื่นๆ เพื่อดึงคะแนนเสียงขึ้นมา ซึ่งทำแบบนี้ทีไรหุ้นบริษัทขายอาวุธขึ้นทุกตัว และขายอาวุธดีทั้งจีนและรัสเซีย
    อย่างไรก็ตาม การโจมตีในครั้งนี้ถือว่ามีความรุนแรงและชัดเจนขึ้น ถ้าฟังสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีทรัมป์ทุกครั้งเห็นว่าไม่เหมือนเดิม สงสัญญาณพร้อมเผชิญหน้ากับใครก็แล้วแต่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ทุกประเทศต่างคิดจริงจังแล้วว่าควรต้องติดอาวุธนิวเคลียร์ ไม่งั้นก็จะถูกย่ำยี ถูกรุกรานอธิปไตย ซึ่งสหรัฐทำแบบนี้ไม่ได้เลยกับเกาหลีเหนือ
    นายปณิธานยังกล่าวอีกว่า ท่าทีของนานาชาติอย่างเป็นทางการต่อจุดยืนในเหตุความรุนแรงระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่เป็นกลาง เรียกร้องให้ยุติความรุนแรง ลดความตึงเครียดของทั้ง 2 ฝ่าย อย่างเช่นยุโรป แต่ท่าทีต่อต้านสหรัฐก็มี อย่างเช่นรัสเซียที่ออกประณามการกระทำของสหรัฐ ส่วนกลุ่มที่ต่อต้านสหรัฐ อย่างเช่นสภาคองเกรสของสหรัฐ ที่มีมติควบคุมอำนาจในการทำสงครามกับต่างประเทศ โดยไทยจึงต้องศึกษาแนวทางและท่าทีต่างๆ ของต่างประเทศ ในส่วนของอาเซียนในเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ข้างใคร แต่มีความเห็นว่าถ้าทำแบบนี้ทุกประเทศก็จะเสียหายกันหมด
    น?ายศราวุฒิกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของวิกฤติคือการยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านโดยทรัมป์ ซึ่งเป็นความขัดแย้งสำคัญ และอีกประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือหลังช่วงปี 2003 สหรัฐช่วยอิหร่านในการล้มซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีอิรักลงจากตำแหน่งนั้น ทำให้อิหร่านสามารถแผ่อิทธิพลในอิรัก โดยเฉพาะการเมืองที่เป็นการสนับสนุนพรรคการเมืองในอิรักเพื่อขึ้นสู่รัฐบาล ซึ่งพอเกิดวิกฤติที่ไอซิสบุกเข้าอิรัก สุไลมานีก็ได้เข้ามาแผ่อิทธิพลอย่างต่อเนื่อง เมื่อปราบไอซิสได้หมด กองกำลังอิหร่านในอิรักยังคงเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เกิดการท้าทายอำนาจของสหรัฐที่เคยมีอิทธิพลในพื้นที่ดังกล่าวอย่างยาวนาน
    อย่างไรก็ตาม หลายสิ่งในตะวันออกกลางเปลี่ยนไปจากระเบียบเดิมที่มีผู้เล่นหลักอย่างสหรัฐที่เป็นใหญ่ แต่วันนี้เราเห็นบทบาทของจีนกับรัสเซียในตะวันออกกลางมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น นั้นทำให้ระเบียบเดิมแบบนี้กร่อนเซาะ และอำนาจของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลางลดน้อยลง.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"