ปชช.ไม่พอใจแก้ภัยแล้ง! พปชร.ชงผันน้ำตะวันตก


เพิ่มเพื่อน    


    ประชาชนกังวลภัยแล้งวิกฤติหนักกว่าทุกปี ไม่พอใจการรับมือของรัฐบาล เดือดร้อนเกิดซ้ำซาก "เฉลิมชัย" วอนเกษตรกรงดทำนาปรัง ปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน พปชร.ชงผันน้ำตะวันตกช่วย ชาวบุรีรัมย์โอดควัก 1.3 หมื่นเจาะบ่อบาดาลเอง
    เมื่อวันที่่ 12 มกราคม “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,194 คน ระหว่างวันที่ 8-11 ม.ค.2563 เกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกรในหลายพื้นที่ และคาดว่าปัญหาภัยแล้งรอบนี้จะนานถึง 6 เดือน ขณะที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีแนวทางการรับมือกับภัยแล้ง เร่งดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำ พร้อมแผนดูแลทั้งระยะสั้น และระยะยาวเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน โดยสรุปผลได้ ดังนี้
         1.ประชาชนคิดอย่างไร? กับสถานการณ์ภัยแล้ง ณ วันนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 43.80 รู้สึกเป็นห่วงกังวล เข้าขั้นวิกฤติ รุนแรง แล้งหนักกว่าทุกปี, อันดับ 2 ร้อยละ 26.51 กลัวไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ประชาชนเดือดร้อน สงสารชาวนาและสัตว์ต่างๆ, อันดับ 3 ร้อยละ 22.19 ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการป้องกันและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน, อันดับ 4 ร้อยละ 16.14 สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร และกระทบเศรษฐกิจ, อันดับ 5 ร้อยละ 10.37 รัฐบาลต้องรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง บอกความจริง ไม่ปิดบัง 
        2.ประชาชนได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด? อันดับ 1 ร้อยละ 48.99  ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง คือ น้ำประปาเค็ม น้ำขุ่น ไม่สะอาด น้ำไม่แรง อากาศร้อนอบอ้าว มีผลต่อสุขภาพอนามัย ฯลฯ,  อันดับ 2 ร้อยละ 32.17 ได้รับผลกระทบมาก คือไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม พืชผลเสียหหาย สัตว์เลี้ยงเป็นโรค ขาดน้ำ ขาดอาหาร ฯลฯ, อันดับ 3 ร้อยละ 18.84 ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะสถานการณ์เพิ่งเริ่มต้น อยู่ในเมือง ใกล้แหล่งน้ำ มีน้ำสำรองไว้ใช้ได้นานหลายเดือน ฯลฯ
         3.ประชาชนคิดว่า ควรมีแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ณ วันนี้ อย่างไร? 3.1) “ประชาชน” ควรมีแนวทางการรับมือ คือ อันดับ 1 ร้อยละ 70.79 ใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้เท่าที่จำเป็น,  อันดับ 2 ร้อยละ 27.94 วางแผนการใช้น้ำ หาภาชนะ สำรองน้ำไว้ใช้, อันดับ 3 ร้อยละ 23.81 แนะนำบอกต่อให้ทุกคนรักษาสิ่งแวดล้อม 3.2) “ภาครัฐ” ควรมีแนวทางการรับมือ คือ อันดับ 1 ร้อยละ 52.43 ทุกฝ่ายช่วยกัน ทำงานรวดเร็ว แก้ปัญหาตรงจุด, อันดับ 2 ร้อยละ 33.66 หาแหล่งน้ำสำรอง ขุดเจาะน้ำบาดาล ฝนเทียม,  อันดับ 3 ร้อยละ 31.07 รณรงค์ ประกาศ แจ้งเตือน ให้ทุกคนตื่นตัว 
         4.ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการเตรียมการรับมือภัยแล้งของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด? อันดับ 1 ร้อยละ 47.44  ไม่ค่อยพึงพอใจ เพราะเกษตรกรยังคงได้รับความเดือดร้อน ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ไม่มีการแก้ปัญหาระยะยาว ฯลฯ, อันดับ 2 ร้อยละ 35.64 ไม่พึงพอใจเลย เพราะเป็นปัญหาซ้ำซากเกิดขึ้นทุกปี ไม่มีการเตรียมพร้อม ไม่มีการรับมือ ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเอง ฯลฯ, อันดับ 3 ร้อยละ 14.62 ค่อนข้างพึงพอใจ เพราะรัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือ อนุมัติงบประมาณ พยายามแก้ไขปัญหาน้ำ เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน ฯลฯ, อันดับ 4 ร้อยละ 2.30 พึงพอใจมาก เพราะนายกฯ ให้ความสำคัญ ดูแลใกล้ชิด
    นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ห่วงใยเกษตรกร 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งปลูกข้าวนาปรังฤดูแล้งไปแล้ว 2.25 ล้านไร่ ทั้งที่กระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่าไม่มีแผนการปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากกรมชลประทานไม่มีน้ำเพียงพอสนับสนุน จึงขอให้ผู้ที่คิดจะปลูกข้าวนาปรังหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือทำปศุสัตว์ตามคำแนะนำของหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้แย่งน้ำภาคการเกษตร อีกทั้งหากต้องสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะอย่างต่อเนื่อง หรือซื้อน้ำเพื่อเลี้ยงต้นข้าวจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
     ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ว่า เมื่อกรมชลประทานไม่มีน้ำส่งให้ นาปรังจะมีพื้นที่ปลูกข้าวเสียหายร้อยละ 50 จากพื้นที่ที่ปลูกแล้ว 1.59 ล้านไร่ คิดเป็น 800,000 ไร่ โดยเกษตรกรลงทุนปลูก 5,564 ล้านบาท แต่มูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 4,129 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ปลูกอีก 1.59 ล้านไร่ จะเสียหายร้อยละ 80 คิดเป็น 1.27 ล้านไร่ เกษตรกรลงทุนไปแล้ว 5,658 ล้านบาท แต่มูลค่าความเสียหายจะสูงถึง 6,662 ล้านบาท จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งเข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชอื่นแทนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้
    ที่พรรคพลังประชารัฐ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แถลงภายหลังการประชุมกลุ่ม ส.ส.ภาคตะวันตก ถึงแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งว่า จะนำน้ำจากภาคตะวันตกมาช่วยวิกฤติภัยแล้ง และผลักดันน้ำเค็ม เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณไม่เพียงพอ พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาประเทศมีความซับซ้อน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล คสช.มีจุดอ่อนขาดการยึดโยงกับประชาชนที่ไม่มีระบบผู้แทนราษฎร ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐจะนำข้อมูลจากประชาชนผ่าน ส.ส.มาเสนอต่อรัฐบาล    
    พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วิกฤติภัยแล้งที่ต้องการปริมาณน้ำกว่า 3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ภาคตะวันตกมีความสามารถสนับสนุนน้ำมาใช้ได้กว่าร้อยละ 50 จากเขื่อนศรีนครินทร์, เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนแม่กลอง คาดว่าจะปริมาณน้ำจะเพียงพอจนจบฤดูแล้งนี้ พร้อมยืนยันว่าชาวจังหวัดกาญจนบุรีและราชบุรีพร้อมเสียสละนำน้ำในพื้นที่ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเรื่องการขาดแคลนน้ำจืด เบื้องต้นรัฐบาลได้ดำเนินการผันน้ำจากภาคตะวันตกอยู่แล้ว และพร้อมเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลนำน้ำไปใช้เพิ่มเติม
    น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคจะหยิกยกปัญหาภัยแล้งให้เป็นวาระอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบปีต่อปี เพราะปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปี ดังนั้น ส.ส.ทุกภาคและผู้บริหารพรรคจะประสานไปยังรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว 
    ที่ จ.บุรีรัมย์ สถานการณ์ภัยแล้งยังน่าเป็นห่วง หลังจากหนองมะค่า หมู่ 4 บ้านหัววัว ต.เสม็ด อ.เมืองฯ สระน้ำกลางหมู่บ้านขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่เป็นแหล่งน้ำดิบใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ต.เสม็ด ได้แก่ บ้านหัววัว บ้านหนองขาย่าง บ้านสนวน และบ้านสำโรง มีสภาพแห้งขอดกลายเป็นดินแตกระแหง จึงไม่มีน้ำใช้ผลิตประปา อีกทั้งบาดาลของหมู่บ้านไม่พอต้องเปิด-ปิดน้ำเป็นเวลา ทำให้ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน จำนวน 900 ครัวเรือน กว่า 5,000 คน ต้องซื้อน้ำมาใช้กว่า 1 เดือนแล้ว เสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสัปดาห์ละ 250-300 บาท เป็นหมู่บ้านประสบกับภัยแล้งซ้ำซาก แต่ปีนี้หนักสุดเพราะฝนทิ้งช่วง จำเป็นต้องลงทุนเจาะบาดาลใช้เอง เสียค่าใช้จ่ายครัวเรือนละ 5,000-13,000 บาท เพื่อให้มีน้ำใช้เพื่ออุปโภคและทำการเกษตร    
    นางจันทร์ ยอดสวัสดิ์ ชาวบ้านบ้านหัววัว ม.4 ต.เสม็ด เผยว่า ปีนี้แล้งหนักกว่าทุกปี ไม่มีน้ำใช้ในครัวเรือนและทำการเกษตร ต้องลงทุนเจาะบ่อบาดาล รวมทั้งเครื่องปั๊มน้ำ เสียค่าใช้จ่าย 13,000 บาท
    ด้านนายเทิดพงศ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะลงพื้นที่เพื่อสอบถามความต้องการให้ช่วยเหลือ โดยในระยะเร่งด่วนจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำน้ำไปแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนในระยะยาวได้นำเรื่องเสนอไปยังกรมชลประทานแล้ว ซึ่งทราบว่ามีแผนที่จะทำโครงการขุดลอกแก้มลิง สำหรับกักเก็บน้ำในพื้นที่ ต.เสม็ด ไว้ 2 จุด เป็นงบของกรมชลประทาน 10 ล้านบาท และงบประมาณของทางจังหวัดอีก 8 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ช่วงเดือน ก.พ.นี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"