จิ้มที่ไหนโกงที่นั่น!ระบาดทั่วปท.


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กตู่" ลั่นไม่เคยละเลยตรวจสอบทุจริต  โอ่สั่งเชือดไปหลายราย พร้อมยุบกองทุนซ้ำซ้อนอื้อ  "ป.ป.ช." พบโกงเงินอุดหนุนสงเคราะห์ชาวเขาเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างอีก เร่งสอบ จนท.ร่วมเอี่ยว "บอร์ดป.ป.ท." มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ประสาน "ปปง." สอบบัญชีทรัพย์สิน-เส้นทางเงินผู้เกี่ยวข้อง
    เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบพบการทุจริตในโครงการของรัฐหลายโครงการว่า เรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันดำเนินการมาโดยตลอด อยากให้มองว่าไม่ใช่แย่ลง เพิ่มขึ้น หรือดีขึ้น เรายังไม่รู้ทั้งหมด เพราะกลไกการทุจริตมีมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็อยากให้เปรียบเทียบดูการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตในช่วงรัฐบาลนี้ทำมากน้อยเพียงใด ถึงแม้จะมีอยู่ แต่ก็ดำเนินการต่อเนื่องไป หลายๆ คดีก็มีข้อยุติออกมาแล้ว และมีการพิจารณาใหม่ 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตส่วนใหญ่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบทั้งสิ้น ซึ่งไม่ได้รับการให้ความสนใจ แต่ก็อยู่ในการตรวจสอบจนมีผลสำเร็จหลายราย หรือมีการหลบหนีไปหลายราย ซึ่งต้องไปเปรียบเทียบตรงนี้ โดยเฉพาะกรณีของ 2-3 กระทรวง ก็ได้สั่งการไปแล้ว เบื้องต้นให้พ้นจากหน้าที่ให้หมด และให้ไปสอบสวนโดยเร็ว 
    "เรื่องกองทุนต่างๆ ก็เหมือนกัน ผมพยายามไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน หลายกองทุนก็ยุบเลิกไป หลายกองทุนก็ไปพิจารณาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) คณะกรรมการการศึกษาพิเศษ หรือกองทุนเรียนฟรี 15 ปี ที่ต้องหาวิธีการไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ทำมาทุกอย่าง" นายกฯ กล่าว
    ด้าน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า นายกฯ มีนโยบายเร่งรัดแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ถือเป็นนโยบายหลักรัฐบาลชุดนี้ที่เข้ามาแก้ไขปัญหา ในส่วน คสช.มีศูนย์รับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ หากพบมีประเด็นเกี่ยวกับการทุจริต ก็ต้องเข้าไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรม 
    "กองทัพไม่ได้มีหน้าที่หลักเข้าไปตรวจสอบ แต่ในฐานะ คสช. ที่มีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ทุกพื้นที่ หากมีการร้องขอให้เข้าไปช่วยเหลือประเด็นใดก็ตาม เรามีความพร้อมช่วยดำเนินการเต็มที่"  เลขาฯ คสช.กล่าว  
    ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่า ล่าสุด ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบพบการทุจริตของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพิ่มเติมอีก ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับเงินอุดหนุนสงเคราะห์ชาวเขา จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูล เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้อง  
    "เบื้องต้นพบมีเส้นทางทุจริตที่ชัดเจน น่าจะเอาผิดกับผู้ทุจริตได้ ส่วนการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งที่เชื่อมโยงกับศูนย์นิคมช่วยตนเอง ได้สั่งการให้สำนักไต่สวนภาค 3 ไปแสวงหาข้อเท็จจริงแล้ว เบื้องต้นพบการทุจริตมีรูปแบบคล้ายกรณีของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งต้องดูต้นทางการทุจริตว่ามีผู้บริหารระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ โดยขณะนี้ยังเร็วเกินไป หากจะเร่งสรุปว่ามีข้าราชการระดับไหนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง เพราะขั้นตอนการตรวจสอบต้องรอบคอบ และประสานข้อมูลอย่างละเอียดกับ ป.ป.ท." ประธาน ป.ป.ช.กล่าว
    วันเดียวกัน นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวถึงการสอบข้อเท็จจริงกรณีอาจารย์หัวหน้าภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ทุบหลัง น.ส.ปณิตา ยศปัญญา หรือน้องแบม และให้กราบขอโทษผู้กระทำผิดของศูนย์พักพิงคนไร้ที่พึ่งว่า ได้อ่านสำนวนการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งได้ตั้งข้อสังเกตผลการสอบและส่งข้อเสนอแนะ โดยเบื้องต้นได้พูดคุยด้วยวาจากับนายสัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดี มมส.แล้ว จากนั้นจะทำหนังสือแจ้งเป็นทางการภายในสัปดาห์หน้า 
    นายสุภัทรกล่าวว่า ข้อสังเกตที่พบจากการสำนวนการสอบสวน คือ 1.อาจารย์หัวหน้าภาคซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของนิสิตด้วยนั้น ทราบเรื่องที่นิสิตกรอกแบบฟอร์มแทนชาวบ้าน และเกิดความรู้สึกกังวลไม่สบายใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่อาจารย์ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ กว่าที่จะลงพื้นที่ที่ศูนย์พักพิงฯ ถือว่าอาจารย์ที่ปรึกษาสนองตอบต่อปัญหาช้าเกินไป หรือไม่ใส่ใจ ซึ่งความใส่ใจต่อปัญหาคงไม่ใช่แค่ตอบผ่านไลน์ 2.กรณีเมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาพบปัญหาแล้ว และได้ลงพื้นที่ที่ศูนย์พักพิงฯ ทั้งมีการสอบถามเจ้าหน้าที่ พม. ซึ่งเป็นอาจารย์ภาคสนาม ใช้เวลา 10 นาที ก็ตัดสินใจให้นิสิตกราบขอโทษโดยยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด ทำให้นิสิตเกิดความเครียด อาจเป็นจุดที่ทำให้นิสิตตัดสินใจนำเรื่องแจ้ง ป.ป.ท. 3.กรณีภายหลังจากที่อาจารย์ที่ปรึกษาทราบเรื่องว่า นิสิตแจ้งเรื่องกับ ป.ป.ท.แล้ว และได้เรียกตัวนิสิตทั้ง 4 คนมาพบ และเกิดเหตุการณ์ทุบไหล่นั้น สรุปว่ามีการทุบไหล่จริง
    “เรื่องการทำพัฒนานิพนธ์ เป็นเรื่องภายในมหาวิทยาลัย แต่จากสำนวนการสอบสวน พบนิสิตไม่ได้เปลี่ยนหัวข้อ แต่เป็นการเปลี่ยนพื้นที่การเก็บข้อมูล โดยนิสิตทั้ง 4 คนยืนยันขออยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาคนเดิม แต่การเปลี่ยนพื้นที่นั้น อาจส่งผลต่อระยะเวลาของการเก็บข้อมูลที่อาจทำให้จบการศึกษาช้าได้ ซึ่งผมได้ขอให้อธิการบดีช่วยดูแล ซึ่งอธิการบดีก็ยืนยันว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการจบการศึกษาของนิสิต" เลขาฯ กกอ.กล่าว
    ส่วนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ ประธานคณะกรรมการสำนักงาน ป.ป.ท. (บอร์ดป.ป.ท.) ประชุมบอร์ด ป.ป.ท. เพื่อพิจารณาสำนวนคดีทุจริต โดยวาระแรกมี พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท. และ พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 ได้เสนอสำนวนที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นในการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บอร์ด ป.ป.ท.มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนความผิดการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต พร้อมประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและเส้นทางการเงินบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่พบทรัพย์สินที่น่าเชื่อว่าทำให้ร่ำรวยผิดปกติ เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งต่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
    พ.ต.ท.วันนพกล่าวว่า การทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตนั้น เป็นลักษณะการโอนเงินทุนการศึกษาของกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเข้าบัญชีของบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2551-2561 ระยะเวลารวม 10 ปี เป็นจำนวนเงินกว่า 88 ล้านบาท ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาว่าโกงเงินนั้นเป็นข้าราชการหญิงระดับซี 8 และมีเกี่ยวข้องอีก 4 ราย สำนักงาน ป.ป.ท.จะตรวจสอบและหาข้อมูลการกระทำความผิดข้าราชการคนดังกล่าว รวมไปถึงสอบสวนไปถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย
    ที่ จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 9 จ.สงขลา ลงพื้นที่บ้าน ม.2 ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ตรวจสอบข้อเท็จจริงการโกงเงินชาวบ้าน ในโครงการเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือเงินอุดหนุน เงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและไร้ที่พึ่ง ปี 2560 พบผู้ที่มาให้ข้อมูลไม่เคยส่งเอกสารใดๆเลย และไม่เคยได้รับเงินในโครงการดังกล่าว แต่เมื่อตรวจสอบมีหลักฐาน สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และใบสำคัญรับเงิน พร้อมเซ็นชื่อและลงชื่อเรียบร้อย ซึ่งผู้ให้ข้อมูลบอกว่าไม่ใช่ลายเซ็นของเจ้าตัวเป็นลายเซ็นปลอม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"