เสนอเก็บภาษีฝุ่น ก่อสร้างมีมลพิษ


เพิ่มเพื่อน    


    ค่าฝุ่นละอองเมื่อวันพฤหัสฯ เพิ่มขึ้นในหลายเขต สภาวิศวกรเสนอเก็บภาษีฝุ่นแก่โครงการก่อสร้างที่ก่อมลพิษ เอาจริงกับการตรวจจับควันดำ ตรวจเข้มรถเก่าและที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล กำหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 เท่าสากลคือไม่เกิน 25 เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงอันตราย ทำลายปอด สมอง "วราวุธ" เผยเสนอ ครม.อังคารหน้า ห้ามรถบรรทุกเข้า กทม.ชั้นในวันคี่
    ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่กรมควบคุมมลพิษระบุว่าจะอยู่ในเกณฑ์สูงขึ้น กระทบต่อสุขภาพมากที่สุดในรอบเดือนมกราคม เนื่องจากลักษณะความกดอากาศจะกดต่ำมากที่สุดในรอบเดือนนี้ มีรายงานจากกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM 2.5 เวลา 05.00-07.00 น. ใน 50 เขตของกรุงเทพมหานคร พบว่า ค่า PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพบว่ามีบางเขตที่กลับมามีค่าอากาศเกินมาตรฐาน ซึ่งค่ามาตรฐาน PM 2.5 จะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง มีเพียง 7 เขตที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจุดที่วัดค่าได้สูงสุดคือ บริเวณริมถนนวิภาวดีฯ เขตดินแดง สูงถึง 87 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนที่เหลือคือ เขตวังทองหลาง เขตบางคอแหลม เขตบางเขน เขตพระนคร เขตคลองเตย เขตหลักสี่ อยู่ระหว่าง 51-57 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
    ขณะที่กรมควบคุมมลพิษรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศประจำวันที่ 16 มกราคม 63 เวลา 12.00 น. ดังนี้ ผลการตรวจวัดใน 53 สถานี ตรวจวัดค่าได้ 29-59 มคก./ลบ.ม. โดยปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบทุกพื้นที่ โดยพบพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 10 พื้นที่ (พื้นที่สีส้ม) ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวควรลดทำกิจกรรมกลางแจ้งและติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ คพ.ยังคงรายงานสถานการณ์และแจ้งประสานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการควบคุม กำกับ ดูแล ภารกิจตามมาตรการ "ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ" อย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองให้กลับสู่ปกติ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศแบบ Real Time ได้ทางเว็บไซต์ Air4Thai.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ bangkokairquality.com
    ในส่วนของจังหวัดอื่นๆ ที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ต.บ้านเหนือ อ.เมือง กาญจนบุรี, ต.ในเมือง อ.เมือง ขอนแก่น, ต.แม่ปะ อ.แม่สอด ตาก, ต.ในเมือง อ.เมือง นครราชสีมา, ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง นครสวรรค์, ต.ในเวียง อ.เมือง น่าน, ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี, ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา, ต.หน้าเมือง อ.เมือง ราชบุรี, ต.พระบาท อ.เมือง ลำปาง, ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ ลำปาง, ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ สระบุรี, ต.ปากเพรียว อ.เมือง สระบุรี, ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ สระแก้ว, ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี, ต.นาอาน อ.เมือง เลย, ต.นาจักร อ.เมือง แพร่
    นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานว่า วันนี้ตนเองกับทีมงานใช้วิธีคาร์พูล ดังนั้น ถ้าใครบ้านใกล้กันขอให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน สลับกันใช้รถ อย่างไรก็ตาม โดยสภาพอากาศและมลพิษที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งเราต้องมาแก้ไขกันที่ปลายเหตุ เมื่อเรารู้ว่าสถานการณ์ฝุ่นยังไม่ดีขึ้น สภาพอากาศแย่มาก ก็อาจจะต้องพกหน้ากากติดตัวออกมาจากบ้าน
    นายวราวุธกล่าวว่า ทางรัฐบาลโดยคณะกรรมการควบคุมมลพิษเตรียมนำเสนอมาตรการเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 21 ม.ค.นี้ ที่จะห้ามให้รถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน โดยขีดเส้นไว้ที่ถนนกาญจนาภิเษก วงแหวนรอบนอก และให้เข้าเฉพาะวันคู่ ไม่ให้เข้าวันคี่ ซึ่งจะเป็นการสกัดต้นตอของสาเหตุ เนื่องจากตัวเลขที่ได้รับรายงานในกรุงเทพมหานคร ปริมาณ PM 2.5 ที่เกิดขึ้น 72% มาจากยวดยานพาหนะบนท้องถนน ดังนั้น แต่ละมาตรการที่จะออกมานั้นต้องเรียงจากการขอความร่วมมือ และเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเรื่องการทำความเข้าใจระหว่างทางกระทรวงกับผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกจะมีการหารือพูดคุยกัน นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมได้ติดต่อเข้ามาเพื่อระบุว่ายินดีช่วยลดปริมาณการผลิต อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ขอความร่วมมือนี้ไม่ใช่การบังคับใช้ทั้ง 365 วัน เรื่องรถบรรทุกขอความร่วมมือเพียงแค่เดือน ม.ค.และ ก.พ.เท่านั้น เพื่อบรรเทาสถานการณ์ลง 
    ที่สภาวิศวกร ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา1) ถนนรามคำแหง ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร พร้อมด้วย ดร.ประเสริฐ ตปนียางกูร คณะอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติ และ ผศ.ยุทธนา มหัจฉริยวงศ์ ประธานคณะทำงานศึกษาหาแนวทางป้องกันแก้ไขไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ร่วมแถลงข่าวแนวทางการรับมือฝุ่น PM 2.5 มหันตภัยร้ายควบคุมน่านฟ้า กทม.
    ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เพราะสถานการณ์ขณะนี้เริ่มวิกฤติและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเน้น 1.เพิ่มสถานีเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นให้เพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ ให้เกิดการเตือนและตระหนัก พร้อมจัดทำแผนที่พยากรณ์ฝุ่น และแจ้งเตือนประชาชนให้รู้ตัวก่อนเข้าพื้นที่ เพื่อให้เกิดการป้องกัน 2.การเก็บภาษีฝุ่นในการก่อสร้างอาคารสถานที่ แม้ว่าฝุ่นที่เกิดขึ้นจะเป็น PM 10 แต่ก็มีการเคลื่อนย้ายของอุปกรณ์ก่อการสร้าง นำ PM 2.5 เข้ามา ทั้งอิฐ หิน ทราย หากไม่มีการป้องกัน การก่อสร้างให้เกิดฝุ่นปริมาณมาก ก็ให้มีการเก็บภาษีเพิ่ม โดยเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับท้องถิ่น สามารถเข้าไปแก้ไข ควบคุมได้ 3.การเอาจริงกับมาตรฐานตรวจวัดระดับควันดำ หากจำเป็นต้องใช้รถยนต์เก่า ดีเซล ก็ควรมีการปรับปรุงเครื่องยนต์ และบังคับตรวจเครื่องยนต์ โดยเฉพาะรถที่มีอายุการใช้งาน 5-7 ปี โดยทั้งหมดนี้ใช้หลักกลไกทางวิศวกรรมเข้ามาแก้ไข 4.เพิ่มป้ายรถเมล์อัจฉริยะ มีเครื่องตรวจวัดฝุ่น และหากพบฝุ่นมีความหนาแน่น ควรมีพัดลมอัตโนมัติเปิดทำการไล่ฝุ่น เพราะฝุ่นจะกระจายได้จากลม
    อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่นด้วยการฉีดพ่นละอองน้ำไม่ได้ผล เพราะฝุ่นมีขนาดเล็กและมาจากที่สูง ระดับน้ำในอาคารไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อีกทั้งมาตรการบางอย่างสามารถทำได้ทันที ต้องแจ้งเตือนค่าฝุ่นก่อนเข้าพื้นที่ เนื่องจุดตรวจวัดฝุ่นมีมากขึ้น ขาดแค่การส่งต่อข้อมูลประชาชน 
    ด้าน ดร.ประเสริฐกล่าวว่า มีข้อพิสูจน์ออกมาชัดเจนว่าฝุ่นพิษเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า เมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกายลงปอดและสมองจะมีอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หรือแม้แต่คนที่มีสุขภาพแข็งแรง หากสูดฝุ่นเข้าไปนานๆ ก็ถือว่าเป็นอันตรายเช่นกัน จึงเรียกว่าตายผ่อนส่ง ดังนั้น ภาครัฐและประชาชนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและป้องกันสุขภาพ ด้วยการทำ 3 หยุด ดังนี้
    1.หยุดสูบบุหรี่ 2.หยุดการเผา และ 3.หยุดเครื่องที่ชำรุด พวกเครื่องยนต์ดีเซลที่วิ่งใช้งานมานาน จึงขอเสนอให้รัฐบาลเอาจริงกับพวกรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ ทุกคันต้องตรวจสภาพ ปรับแก้เครื่องยนต์ให้ดี หากไม่ดำเนินการแก้ไขต้องหยุดวิ่งทันที โดยเฉพาะพวกรถบรรทุก ปัจจุบันวิ่งอยู่ใน กทม.ประมาณ 1.4 แสนคัน และพวกรถวิ่งมานานเกิน 5 ปี ต้องมาตรวจควันดำเพื่อช่วยลดฝุ่น ต้องเร่งแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาโดยตรง
    "เหลือเวลาในการแก้ไขปัญหาฝุ่นอีก 8 เดือน ก่อนที่ปลายปีจะกลับมาซ้ำอีก ทั้งขอให้มีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานการวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เท่ากับมาตรฐานสากล ไม่ใช่อยู่ที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เหมือนที่ผ่านมา โดยควรเท่ามาตรฐานสากลที่ไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เพราะเป็นการค่ามาตรฐานและทำให้คนไทยเกิดความตระหนัก เกิดความจริงจัง โดยฝุ่นมีขนาดเล็กเข้าไปทำให้เกิดอันตรายถึงปอดและสมอง ส่งผลให้อัตราอายุขัยสั้นลง"
    วันเดียวกัน ที่กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจจราจร (กก.5 บก.จร.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อม พล.ต.ต.คมศักดิ์ สุมังเกษตร ผบก.จร. และ พ.ต.อ.พายัพ สมบูรณ์ ผกก.กก.5 บก.จร. ร่วมเปิดโครงการศูนย์ติดตามตรวจวัดรถยนต์ควันดำเพื่อประชาชน อันเนื่องมาจากปัญหาฝุ่นละอองพิษ PM 2.5 เกินกว่ามาตรฐานกระจายหลายพื้นที่รอบตัวเมืองใหญ่ พร้อมปล่อยแถวตำรวจจราจร 102 นาย ออกปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดตรวจวัดมลภาวะทั่วทั้งกรุงเทพฯ 17 จุด พร้อมสาธิตการตรวจวัดควันดำชนิดทึบแสง
    พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าวว่า บช.น.ได้ขานรับนโยบายรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณเกินกว่าค่ามาตรฐาน เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้น ส่วนหนึ่งมาจากควันดำที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่นำมาขับขี่บนท้องถนน ตำรวจนครบาลจึงจัดตั้งศูนย์ติดตามการตรวจวัดควันดำ โดยบริการตรวจเช็กฟรี เพื่อให้ผู้ใช้รถได้ทราบว่ารถยนต์ของตนเองมีค่าควันดำเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หากมีค่าเกินกว่ามาตรฐานจะได้นำรถยนต์ไปแก้ไขปรับปรุงต่อไป
    ศูนย์จะให้บริการตรวจวัดควันดำให้แก่ประชาชนตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 มกราคมนี้ ระหว่างเวลา 09.00-15.00 น. ยกเว้นวันอาทิตย์ รวม 3 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 อาคารประสารราชกิจ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.0-2537-8015-6 จุดที่ 2 สถานีตำรวจคู่ขนานลอยฟ้า แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ โทร.0-2888-3249 และจุดที่ 3 เต็นท์ให้บริการบริเวณทางคู่ขนานถนนเทพรัตน์ กม.2 ขาเข้า ระหว่างซอยบางนา 14-16 ก่อนถึงไบเทค บางนา โทร.09-7356-4146
    สำหรับมาตรการการบังคับใช้กฎหมาย ตำรวจนครบาลจะตั้งจุดตรวจวัดมลภาวะครอบคลุมทั้งกรุงเทพมหานครรวม 17 จุด โดยเน้นเส้นทางเข้าและออกรอบนอกกรุงเทพฯ เป็นหลัก เช่น ทิศเหนือ บนถนนวิภาวดี-พหลโยธิน และถนนบางนา-ตราด ในทิศตะวันออก เพื่อป้องกันไม่ให้รถที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานมาใช้บนท้องถนนในเขตกรุงเทพฯ โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) สายด่วน 1197 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางแอปพลิเคชัน M-Help Me 
    ส่วน พ.ต.อ.พายัพกล่าวว่า จากนี้ตำรวจจราจรยังต้องหารือร่วมกับกรมการขนส่งฯ ถึงมาตรการทางกฎหมายอีกครั้ง ว่าจะมอบหมายให้ตำรวจมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการกับรถยนต์ควันดำได้อย่างไรบ้าง เนื่องด้วยปัจจุบันตำรวจได้รับมอบอำนาจจากกรมควบคุมมลพิษที่จะสั่งห้ามใช้รถยนต์ที่มีควันดำเกินมาตรฐาน ซึ่งเกณฑ์การตรวจวัดจะกำหนดค่าควันไม่เกินร้อยละ 50 ด้วยระบบกระดาษกรอง และไม่เกินร้อยละ 45 ด้วยระบบตรวจวัดความทึบแสง หากพบเกินกว่าที่กำหนดก็จะปิดสติกเกอร์สีเหลืองที่หน้ารถ เพื่อห้ามใช้ชั่วคราว และนำไปปรับปรุงแก้ไขภายใน 30 วัน ก่อนกลับมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะถูกปิดสติกเกอร์สีแดงสั่งห้ามใช้เด็ดขาด ซึ่งการขับขี่รถยนต์ควันดำเป็นความผิดอาญา มีโทษปรับสูงสุด 1,000 บาท สำหรับรถขนาดเล็ก และมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท สำหรับรถขนาดใหญ่. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"