พรรคการเมืองแบบ Startup เป็นเช่นไร?


เพิ่มเพื่อน    

    คุณกรณ์ จาติกวณิช กับคุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์เมื่อสัปดาห์ก่อนเพื่อตั้งพรรคใหม่ที่ประกาศว่าจะทำ “การเมืองแบบใหม่แนว Startup”
    ที่น่าสนใจคือคำที่ทั้งสองใช้เรียกแนวทางของพรรคใหม่ว่าเป็นแบบ “ปฏิบัตินิยม” หรือ Pragmatism
    ตีความได้ว่าคุณกรณ์กำลังจะเสนอ “ทางเลือกที่สาม” ให้กับสังคมไทยที่ไม่ใช่ทั้งซีกรัฐบาลปัจจุบันและไม่ใช่แนวของพรรคอนาคตใหม่
    หรืออาจวิเคราะห์ได้ว่าเป็นทางเลือกที่ไม่เน้น “อุดมการณ์ทางความคิด” แต่ต้องการให้ความสำคัญ “สิ่งที่นำมาปฏิบัติได้”
    อีกทั้งคงจะต้องการตอกย้ำว่าพรรคใหม่นี้ต้องการจะดึงคนไทยออกมาจากความขัดแย้งที่กลายเป็นกับดักของประเทศ กลายเป็นความร้าวฉานที่ทำให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าไม่ได้
    ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งที่คุณกรณ์เน้นในการให้สัมภาษณ์หลายสื่อคือ จะสร้างพรรคการเมืองใหม่ด้วยการดึงเอาคนเก่งๆ จากวงการต่างๆ ที่ทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมือง
    คุณกรณ์ดูเหมือนจะมองว่านักการเมืองปัจจุบันไม่ค่อยจะมีความรู้หรือความสันทัดต่อปัญหาของโลกที่กำลังเผชิญกับ disruption อันเกิดจากเทคโนโลยีที่กำลังปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและรุนแรง
    ฟังคุณกรณ์พูดแล้วพอจะเห็นภาพว่า เขาเห็นว่าเอกชนในวงการต่างๆ มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่จะแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ดีกว่านักการเมืองที่โตมาพร้อมกับวิธีคิดและธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดิมๆ
    คุณอรรถวิชช์บอกว่าจะระดมเอา “จอมยุทธ์” ในทุกวงการมาร่วมกันตั้งพรรคใหม่นี้
    และเมื่อคิดแบบ startup แล้วก็ต้องให้พรรคการเมืองใหม่นี้สร้าง Unicorn ขึ้นมาให้ได้
    ในภาษาของวงการสตาร์ทอัพนั้น คำว่า Unicorn หมายถึงธุรกิจเกิดใหม่ที่สามารถสร้างรายได้เกิน 1,000 ล้านเหรียญฯ แล้ว
    วันนี้ยังไม่มีสตาร์ทอัพไทยเป็น Unicorn แต่หากทำการเมืองแบบสตาร์ทอัพก็อาจจะสร้างการเมืองแบบยูนิคอร์นได้กระมัง
    นั่นคือ ความฝันและความหวังของคุณกรณ์และคุณอรรถวิชช์ ณ วันที่เพิ่งจะลาออกมาได้หนึ่งวันและได้ตอบคำถามของสื่อหลายสำนัก
    ในเฟซบุ๊กเพจของคุณกรณ์วันที่ยื่นใบลาออกจากพรรคนั้น เขาเขียนไว้บางตอนว่า
    “....ผมมีความฝันที่อยากจะสร้างการเมืองแห่งความเปลี่ยนแปลง การเมืองที่กล้าคิด กล้าทำ มีความรอบคอบแต่ไร้ความกลัว มีความเด็ดเดี่ยวแต่มีคุณธรรม เป็นการเมืองที่จะชวนผู้คนในสังคมไทยที่มีศักยภาพ มาร่วมกันออกแบบและขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน
    “ตลอดเวลาที่ทำงานการเมือง ผมได้มีส่วนร่วมกับประชาชนหลากหลายกลุ่ม ทำให้ผมได้มองเห็นประเทศไทยและสังคมการเมืองไทยในภาพที่กว้างขึ้นและลึกขึ้น ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้ผมตัดสินใจเดินหน้าสร้างทางเลือกทางการเมืองที่คนไทยแสวงหา เป็นการเมืองที่ต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าแม้แต่จะพลั้งพลาด และเป็นการเมืองที่มั่นใจในศักยภาพของคนไทย เป็นการเมืองที่มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงประเทศในหลากหลายมิติ ด้วยความเชื่อว่าหากเราไม่กล้าเปลี่ยน ไม่กล้าท้าทายตัวเอง คนไทยจะลำบาก เพราะเราจะแข่งขันไม่ได้...”
    วลีที่คุณกรณ์บอกว่าเป็น “การเมืองแห่งความเปลี่ยนแปลง การเมืองที่กล้าคิด กล้าทำ มีความรอบคอบแต่ไร้ความกลัว มีความเด็ดเดี่ยวแต่มีคุณธรรม” นั้นบางคนอาจตีความว่าสิ่งเหล่านี้คุณกรณ์ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ในพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องผละออกมาเพื่อสร้างกลไกการเมืองใหม่ในอันที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น
    คุณกรณ์ไม่วิพากษ์พรรคประชาธิปัตย์ เพราะถือเป็นเรื่องไม่เหมาะกับมารยาทกัน แต่มุ่งจะวาดภาพว่าสิ่งที่อยากทำนั้นมีหน้าตาและเนื้อหาอย่างไร
    การเมืองแบบ “ทางเลือกที่ 3” ในจังหวะนี้ของประเทศไทยน่าสนใจ เพราะพรรคใหญ่และเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยกำลังมีอาการ “ขาลง” และตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมไทย
    พรรคใหญ่ที่มีองคาพยพที่เทอะทะ กระบวนการตัดสินใจที่ซับซ้อนและล้าสมัย และการต้องรักษาไว้ซึ่งกระบวนทัศน์เดิมๆ กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก
    ไม่ต่างอะไรกับธุรกิจยักษ์ในหลายๆ วงการที่กำลังถูกเทคโนโลยี “ป่วน” หรือ disrupt อย่างรุนแรง จนหลายๆ แห่งกำลังตกอยู่ในสภาวะโซซัดโซเซ
    การเมืองก็เช่นกัน กำลังถูกกระทบและกระแทกจากความเปลี่ยนแปลงทั้งในโครงสร้างประชากร, พฤติกรรมของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม, เทคโนโลยี, โซเชียลมีเดียทั้งหลายทั้งปวง
    การสร้างอะไรใหม่อาจจะง่ายกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าการพยายามจะซ่อมแซมหรือแก้ไขของเก่า
    แต่เป็นที่รับรู้กันในวงการ startup ธุรกิจว่า โอกาสของความสำเร็จนั้นมีเพียง 2-3% เท่านั้น นอกนั้นก็ล้มหายตายจากไปด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ
    พรรคการเมืองแบบ startup จะประสบชะตากรรมทำนองเดียวกันหรือไม่
    พรุ่งนี้คุยกันต่อครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"