แล้งลามสู่ภาคใต้ นา2จว.จ่อพังยับ


เพิ่มเพื่อน    


    รมว.เกษตรฯ สั่งทุกหน่วยงานในสังกัดทำแผนปฏิบัติการรับมือภัยแล้งทั่วประเทศ จี้กรมชลประทานเร่งสร้างแหล่งน้ำ 421 โครงการให้แล้วเสร็จ ทหารส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วขุดลอกแม่น้ำยมหลังแห้งขอดประชาชนสองฝั่งเดือดร้อนหนัก อุปนายกโรงสีข้าวไทยเผย นาข้าวสงขลา-นครศรีธรรมราช 2 แสนไร่จ่อเสียหายยับ 2 พันล้านหากไร้ฝนถึงเดือนหน้า
    นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า ได้สั่งการด่วนที่สุดให้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร นำเสนอสถานการณ์น้ำและการบรรเทาผลกระทบต่อปลัดกระทรวง และ รมว.เกษตรฯ ทุกวัน อีกทั้งให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำแผนปฏิบัติการรับมือภัยแล้งทั่วประเทศ จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ ลดความเดือดร้อนประชาชนให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ กรมชลประทานจะเร่งก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และแก้มลิงที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้แล้วเสร็จรวม 421 โครงการ จะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,232,121 ไร่ และปริมาตรเก็บกัก 942 ล้านลูกบาศก์เมตร 
    สำหรับงบประมาณปี 2563 จะดำเนินโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 176,968 ไร่ และปริมาตรน้ำเก็บกัก 199.54 ล้าน ลบ.ม. จากสภาพฝนมีความผันแปรสูงมากในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำท่าและน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2562 ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ ใช้น้ำเกินแผนที่ได้จัดสรรไว้ ทำให้เกิดปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม ส่งผลต่อระบบนิเวศและคุณภาพน้ำด้านอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม ซึ่งต้องผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูแล้ง ปี 2562/2563 ปริมาตร 850 ล้าน ลบ.ม.
    นอกจากนี้ ยังสั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจัดหน่วยการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว 3 ชุด พร้อมปฏิบัติการทั่วประเทศในบริเวณที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าด้วย
    มีรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะพื้นที่แม่น้ำยม น้ำแห้งเร็วกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เหลือกักเก็บน้อยมาก บางช่วงเป็นแอ่ง บางช่วงเป็นดินทรายยาว ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงแล้ว ชาวบ้านเดือดร้อนไม่มีแหล่งน้ำทางการเกษตร ถึงแม้ว่าจะขุดเจาะบ่อบาดาลกลางแม่น้ำยมแล้วก็ตาม แต่พบว่าบ่อหลายแห่งอุดตัน ทางประชาชนในพื้นที่ ต.วังอิทก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จึงได้ร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐและทหาร ซึ่งทาง พ.อ.ณรงค์ชัย ไชยชนะ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการคลื่อนที่ 34 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้จัดชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว นพค.34 พร้อมยานพาหนะและเครื่องจักรกลเข้าทำการขุดลอกแม่น้ำยม หาน้ำให้เพียงพอสำหรับประชาชนทั้งสองฝั่งนำไปใช้แก้ปัญหาเบื้องตันในด้านการเกษตร ซึ่งโดยส่วนใหญ่ปลูกข้าวและข้าวโพด และหลังจากที่ได้ดำเนินการที่สถานีสูบน้ำที่ 1 หมู่ 5 ต.วังอิทก แล้ว จะไปดำเนินการขุดลอกท้องน้ำ ที่สถานีสูบน้ำจุดที่ 2 หมู่ 3 ต.วังอิทก และหลังจากนั้นจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันที่สถานีจุดที่ 3 หมู่ 2 ต.วังอิทก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน เป็น 2 หมู่ของ ต.วังอิทก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และอีก 1 หมู่ของ ต.กำแพงดิน จ.พิจิตร
    นอกจากการแก้ปัญหาภัยแล้งดังกล่าว หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 ยังได้ดำเนินการช่วยเหลือในพื้นที่อื่นๆ โดยการจัดตั้งกองอำนวยการแก้ปัญหาภัยแล้งขึ้นที่ ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยจัดชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว นพค.34 ใน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์, อ.ตาคลี อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ และ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์
    นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวและชาวนาภาคใต้ และอุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ชัดเจนว่าเกิดภาวะขาดแคลนน้ำจืดทำนาบริเวณพื้นที่ทำนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยฝั่ง จ.สงขลา ภาพรวมพื้นที่ปลูกประมาณ 200,000 ไร่ โดยเฉพาะ อ.ระโนด จ.สงขลา เป็นแหล่งปลูกข้าวรายใหญ่   กำลังรอน้ำจืดทำนาข้าว และหากฝนไม่ตกลงมาประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะได้รับผลกระทบทันที 80 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์จะได้ข้าวประมาณ 40,000-50,000 ไร่ อีก 80 เปอร์เซ็นต์ กว่า 100,000 ไร่ จะได้รับผลกระทบ จะสร้างความสูญเสียไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
    นายสุทธิพรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่นาข้าว จ.นครศรีธรรมราช ประมาณกว่า 100,000 ไร่ ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ภาพรวม 2 จังหวัดไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ยังไม่รวมถึงพัทลุง เพราะขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องกระทบภัยแล้ง
    “ชาวนาภาคใต้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาร่วม 2 ปี รวม 4 รอบ โดยเฉพาพื้นที่นาข้าว อ.ระโนด เมื่อคราวฤดูกาลที่ผ่านมา ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเค็มเกินขนาดเช่นกัน ขาดน้ำจืด ได้ผลผลิตประมาณ 300 กก./ไร่ จากเดิมประมาณ 700 กก./ไร่ ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของชาวนา และกระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม ทางรอดของชาวนา คือวันนี้รอฝนตกหนักลงมาระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และหากฝนไม่ตกลงมา ขอเรียนถึงรัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวนา ซึ่งขณะนี้ขวัญกำลังใจได้รับผลกระทบที่แรงมาก"
    นายสุทธิพรเสนอแนะด้วยว่า ทางออกคือการระดมน้ำจากลุ่มน้ำปากพนัง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ลงสู่ทะเลสาบสงขลา กันน้ำเอาไว้ลงสู่ในนา ระดมเครื่องสูบน้ำ และทำฝนเทียม เป็นต้น
    นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีภัยแล้งว่า ล่าสุดได้รับรายงานมีโรงพยาบาล 9 แห่งในจังหวัดสุรินทร์และชัยภูมิได้รับผลกระทบ เบื้องต้นได้ให้ทุกแห่งสำรองน้ำ พร้อมประสานหน่วยงานพื้นที่หาแหล่งน้ำสำรอง เตรียมขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อให้มีน้ำเพียงพอไม่กระทบต่อการให้บริการประชาชน
    นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เป็นพื้นที่เป็นเสี่ยงขาดน้ำประปาจากสภาวะฝนทิ้งช่วง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้ประสานหน่วยงานในพื้นที่นำเครื่องจักรเข้าขุดเจาะบ่อบาดาล จำนวน 4 บ่อ ส่วน จ.ชัยภูมิมีโรงพยาบาล 8 แห่ง ได้แก่ ภักดีชุมพล เกษตรสมบูรณ์ หนองบัวแดง ซับใหญ่ ภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ เทพสถิต คอนสาร และบ้านแท่น เป็นพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำประปา สสจ.ชัยภูมิได้เตรียมขุดเจาะบ่อบาดาลและปรับปรุงซ่อมแซมบ่อบาดาลเดิม พร้อมดำเนินการตามมาตรการของ สธ. โดยสำรองเก็บกักน้ำไว้ใช้ในงานบริการรักษาพยาบาล และการอุปโภคบริโภคของเจ้าหน้าที่ให้เพียงพออย่างน้อย 3 วัน และขอความร่วมหน้าที่และประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ โรงพยาบาลสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ
    "ขอให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งติดตามสถานการณ์ เตรียมแผนรับภาวะภัยแล้ง ทำแผนสำรองน้ำให้เพียงพอสำหรับบริการประชาชน และประสานหน่วยงานในท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล การประปาในพื้นที่ ฝ่ายความมั่นคง ในการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง หรือขุดเจาะบ่อบาดาล เพื่อไม่ให้กระทบบริการผู้ป่วย รวมทั้งจัดทำมาตรการประหยัดน้ำในโรงพยาบาลและบ้านพักเจ้าหน้าที่"
    นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า แนวโน้มปัญหาขาดแคลนน้ำของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นของประชากร การทำเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมากขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนสูง นับเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งการแก้ปัญหาด้านอุปทานผ่านโครงการต่างๆ ยังไม่พอ จะต้องลดอุปสงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าด้วย
    ดังนั้น สทนช.จึงได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำโครงการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคิดค่าน้ำ และจัดทำกฎหมายลำดับรองตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ (หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ) ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 เพื่อจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรน้ำสำหรับกิจกรรมการใช้น้ำ การกำหนดนิยาม ลักษณะและรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท และเสนอแนะกรอบอัตราค่าน้ำสาธารณะ 3 ประเภท คือ 1.เพื่อดำรงชีพทั้งอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือนและการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย 2.การใช้เพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่น และ 3.การใช้น้ำเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง
    นายสมเกียรติยืนยันว่า การเก็บค่าน้ำไม่กระทบเกษตรกรรายย่อยแน่นอน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ สทนช. ในฐานะหน่วยนโยบายด้านน้ำจะทำหน้าที่ในการออกมาตรการ และส่งต่อให้หน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องนำหลักการดังกล่าวไปคำนวณและประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าน้ำจากผู้ใช้น้ำในอัตราที่เหมาะสม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.นี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"