‘นิพิฏฐ์’ทิ้งบอมบ์ภูมิใจไทย มีเสียบบัตรแทนสส.พัทลุง


เพิ่มเพื่อน    

  ฉาวโฉ่อีกแล้ว! "นิพิฏฐ์" ทิ้งระเบิดใส่ภูมิใจไทย แฉมีคนเสียบบัตรแทน ส.ส.พัทลุงภูมิใจหนู ระหว่างโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ "ฉลอง" ยอมรับไปรับศพญาติ เปิดงานวันเด็กระหว่างโหวตจริง  เสียบบัตรคาไว้ที่สภาแต่ไม่รู้ใครกดแทนหรือไม่ "ชวน" สั่งสอบแล้ว

    เมื่อวันที่ 20 มกราคม นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคและอดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า จากการตรวจสอบเกี่ยวกับการลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของสภาผู้แทนราษฎร พบว่ามี ส.ส.กดบัตรแทนกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 10 ม.ค. เวลาประมาณ 20.50 น. คือนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง เขต 2 พรรคภูมิใจไทย โดยนายฉลองได้เดินทางไปยังสนามบินหาดใหญ่ แต่กลับปรากฏชื่อนายฉลองร่วมเป็นองค์ประชุม  และมีชื่อนายฉลองร่วมลงมติในร่างกฎหมายดังกล่าวมาตลอด จนถึงมาตรา 39 ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม และปิดการประชุมในเวลา 01.07 น. 
    จากนั้นก็ได้กลับมาเปิดประชุมอีกครั้งในวันที่ 11 ม.ค. เวลา 11.10 น. ที่มีการลงมติมาตรา 40 ว่าด้วยงบประมาณสำหรับแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ก็ยังปรากฏชื่อนายฉลองร่วมลงมติอีก แม้แต่ช่วงเวลา 17.34-17.38 น.ก็ยังมีชื่อนายฉลองลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทั้งที่ในวันที่ 11 ม.ค.ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาตินั้น มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายทางเฟซบุ๊กของเทศบาลตำบลอ่างทอง จังหวัดพัทลุง ว่านายฉลองได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันเด็กแห่งชาติ รวมทั้งในวันเดียวกันยังพบว่านายฉลองได้ไปเปิดงานวันเด็กแห่งชาติที่ อบต.ชะมวง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และที่สำคัญนายฉลองเดินทางกลับ กทม.จากสนามบินนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ในเวลา 11.55 น. ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่านายฉลองไม่ได้อยู่ที่สภาในวันดังกล่าว
    "อาจมีการอ้างว่าเป็นการเสียบบัตรทิ้งไว้ที่เครื่องลงคะแนน แต่อยากจะอธิบายว่าโดยปกติเมื่อสภามีการปิดประชุม เจ้าหน้าที่ของสภาจะดึงบัตรออกในวันนั้นหรือไม่ก็ตอนเช้าก่อนประชุมเพื่อเคลียร์ระบบ  ถ้าไม่เช่นนั้นจะเซตระบบไม่ได้ จึงเป็นที่สงสัยว่าเมื่อมีการปิดประชุมไปแล้วและกลับมาประชุมอีกครั้ง ทำไมถึงมีชื่อนายฉลองมาโหวตในช่วงดังกล่าวได้"    
    นายนิพิฏฐ์กล่าวอีกว่า การลงมติงบประมาณตั้งแต่มาตรา 39 เป็นต้นไปย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการเสียบบัตรแทนกัน ส่วนจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณหรือไม่ เป็นหน้าที่ของ ส.ส.และเชื่อว่าการที่ออกมาตรวจสอบในเรื่องนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด เรื่องนี้สภาต้องตรวจสอบต่อและหาทางที่จะไม่ให้กฎหมายฉบับนี้มีปัญหาเหมือนกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 3-4/2557  กรณีการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท
    "ผมตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. กว่าท่านจะได้เข้ามามีการใช้เงินเยอะนะ แล้วเรื่องก็ยังค้างอยู่ที่กกต.ด้วย ที่ผมไปร้องว่ามีการซื้อเสียงเหลือเรื่องนี้เรื่องเดียว ขอฝากถึง กกต.ด้วยว่าท่านกลั่นกรองคนเข้าสภาอย่างไรให้มาทำหน้าที่อย่างนี้ในสภา แล้วจะกระทบต่อประเทศชาติ" นายนิพิฏฐ์กล่าว
    เมื่อถามว่าการออกมาพูดเรื่องนี้จะไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในการร่วมรัฐบาลหรือ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่าตนตรวจสอบเฉพาะบุคคล แล้วไม่พูดเลยก็ไม่ได้ ส่วน ส.ส.คนอื่นเท่าที่รู้ก็มีแต่ไม่ตรวจสอบเพิ่มเติม และหากสภาจะเริ่มต้นดำเนินการตรวจสอบและเรียกตนไปให้ข้อมูลก็ยินดีให้ความร่วมมือ ยืนยันว่าเอกสารทั้งหมดที่นำมาแถลงเป็นเอกสารเปิดเผยทั้งหมด สื่อสามารถตรวจสอบได้
    ถามอีกว่าในฐานะเป็นนักกฎหมาย มองว่าหากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเป็นโมฆะจะส่งผลอย่างไรบ้าง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า ความเห็นของตนอาจจะไม่ตรงกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ได้ ต้องไปถามท่าน แต่ส่วนตัวเห็นว่าต้องทำให้ไม่เป็นโมฆะ โดยต้องกลับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยว่ากระบวนการร่างกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเป็นโมฆะ แต่เรื่องงบต้องทำให้ข้อเท็จจริงต่างจากเรื่องเงินกู้ ตนคิดอย่างนี้แต่ไม่อยากจะพูด เพราะอาจจะขัดแย้งกับนักกฎหมายคนอื่น คือต้องทำให้ชอบ ถ้าทำอย่างนี้ก็ต้องมีปัญหา
    ต่อข้อถามว่าเกรงหรือไม่ว่าฝ่ายค้านจะหยิบกยกเรื่องนี้ไปโจมตีได้ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่าตนไม่ได้คิดไปถึงขั้นนั้น แค่ทำหน้าที่เท่านั้น ส่วนใครจะเอาไปเป็นประโยชน์ก็เป็นเรื่องที่ว่ากันต่อไป ซึ่งตนในฐานะนักกฎหมายมองว่าเรื่องนี้มีทางออก 2-3 ทางที่สามารถทำได้ แต่พรรคภูมิใจไทยต้องให้ความร่วมมือ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวของนายนิพิฏฐ์ ปรากฏว่านายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ได้ลงมาพบกับนายนิพิฏฐ์พร้อมกล่าวชื่นชมว่านายนิพิฏฐ์กัดไม่ปล่อย และยอมรับว่านายฉลองอาจไม่รอบคอบ
    ขณะที่นายฉลองยอมรับว่า ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรบางช่วงของการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2563 จริง เนื่องจากญาติเสียชีวิต 5 ศพจึงต้องไปจัดการเรื่องศพ และในวันเสาร์ที่ 11 มกราคมได้เดินทางไปร่วมงานวันเด็ก ที่ตำบลอ่างทอง อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงว่าไม่ได้เอาบัตรลงคะแนนกลับมาจากสภาผู้แทนราษฎร โดยปกติจะวางไว้หรือเสียบค้างไว้ในห้องประชุม และตอนเย็นจะมีเจ้าหน้าที่มาเก็บ หลายครั้งที่ตนได้ไปเอาบัตรคืนจากหน้าที่ ส่วนใครจะเสียบบัตรแทนหรือไม่ตนไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าไม่ได้ฝากใครหรือให้ใครเสียบบัตรกดลงคะแนนแทน
    "ผมพร้อมรับการตรวจสอบยืนยันว่าบริสุทธ์ใจ อย่างไรก็ตามจะปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ในพรรคภูมิใจไทยถึงประเด็นดังกล่าวอีกครั้งก่อน" นายฉลองกล่าว
    นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าว่า หลังจากปรากฏข่าวเบื้องต้นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มาสั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และให้รายงานผลให้ทราบโดยเร็ว
    ด้านนายสรศักดิ์กล่าวว่า นายชวนได้เรียกไปพบและสั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งในวันที่ 21  ม.ค. เวลา 09.30 น.จะเรียกประชุมคณะกรรมการเสนอความเห็นด้านข้อกฎหมายมาประชุมกัน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องที่เกิดขึ้นว่ามีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันหรือไม่ ต้องดูให้ละเอียดรอบคอบ ยังไม่ทราบว่าจะสรุปข้อเท็จจริงได้ในวันที่ 21 ม.ค.หรือไม่ แต่จะพยายามทำให้เร็วที่สุด
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ซึ่งวิปรัฐบาลก็กำชับกวดขันให้ทุกพรรคเข้าร่วมประชุมและลงมติด้วยตนเอง  และวิปรัฐบาลไม่มีหน้าที่ตรวจสอบ คงจะต้องให้สภาเป็นผู้ตรวจสอบ แต่จะมีผลทำให้ร่างกฎหมายเป็นโมฆะและอาจส่งผลให้เกิดการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยมิชอบหรือไม่นั้น นายวิรัชย้ำว่ายังไม่มีความกังวลเรื่องนี้ เพราะยังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงและยังมีเวลาตรวจสอบอยู่
    ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หวังว่านายชวนจะดูแลการตรวจสอบ ถ้าผลการสอบสวนออกมาในลักษณะมวยล้มต้มคนดู สังคมจะมองว่าประธานสภากำลังปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนยอมละทิ้งหลักการ เพราะหากกระบวนการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าวมีปัญหา จนนำไปสู่การตีความให้กลายเป็นโมฆะในภายหลัง จะส่งผลถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ทันที เพราะเป็นการลงมติรับร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 
    ที่สำคัญไม่ใช่การลงมติกฎหมายทั่วไป หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา  รัฐบาลประยุทธ์ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก จึงทำให้มีคนจ้องตรวจสอบว่ามีการลงมติแทนกันหรือเปล่า เพราะมันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ในครั้งนี้หลักฐานของนายนิพิฏฐ์ชัดเจน ประกอบกับ ส.ส พัทลุงที่ถูกกล่าวหาออกมายอมรับแล้วว่านายนิพิฏฐ์พูดเรื่องจริง ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาแล้วว่าจะกล้าตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่ และหลังตรวจสอบจะกล้าสรุปผลสอบเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ เพราะเรื่องนี้มีเดิมพันสูงเกี่ยวข้องกับชะตากรรมของ  พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง และอาจมีผลถึงขั้นต้องเปลี่ยนรัฐบาล
    รองโฆษก พท.กล่าวว่า ในโลกโซเชียลมีคนเสนอให้สภาใช้เครื่องสแกนนิ้วมือในการลงมติต่างๆ  เพื่อแก้ปัญหากดบัตรแทนกัน ตนเห็นด้วยเพราะคราวนี้หากจะลงมติแทนกันต้องตัดนิ้วตัวเองแล้วฝากเพื่อนไปสแกนให้ คนสติดีๆ คงไม่ยอมเสียสละตัดนิ้วมือตัวเองฝากคนอื่นให้ลงมติแทนอย่างแน่นอน  นอกจากนี้ยังเป็นการพิสูจน์ตัวบุคคลและเวลาในการลงมติที่น่าเชื่อถืออีกด้วย และปัจจุบันในองค์กรทั่วไปก็ใช้เครื่องสแกนนิ้วอย่างแพร่หลาย เชื่อว่างบประมาณไม่น่าจะสูงเกินไปถ้าหากสภาจะติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว น่าจะเป็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่คงจะไม่คัดค้าน เพราะยังมีประโยชน์กว่าการเอาเงินไปซื้อรถเก๋งประจำตำแหน่งราคาแพงๆ แจกผู้บริหารของสภาเป็นไหนๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"