รพ.ป่วนหนัก ต้องซื้อน้ำใช้


เพิ่มเพื่อน    


    เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำเหลือน้อยสุดในรอบ 53 ปี ขณะที่เขื่อนจุฬาภรณ์ก็แห้งขอด โคราชประกาศเขตภัยแล้ง 7 อำเภอ เตือนพื้นที่ 7 แสนไร่ในเขตชลประทานห้ามทำนาปรัง แต่ยังมีผู้ฝ่าฝืน รพ.หนองมะโมงในชัยนาทถึงขั้นซื้อน้ำวันละ 2 หมื่นลิตรเพื่อใช้ผลิตน้ำประปา
    เมื่อวันอังคาร นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 (ขอนแก่น) เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ประจำปี 2563 พร้อมทั้งปล่อยขบวนรถประชาสัมพันธ์และรถบรรทุกน้ำ ช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคอีสานกลาง หลังพบว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก 
    นายศักดิ์ศิริกล่าวว่า เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีน้ำในระดับที่น้อยมาก โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ที่มีระดับน้ำเก็บกักเหลือเพียง 463.86 ล้าน ลบ.ม. น้อยที่สุดในรอบ 53 ปี ดังนั้นกรมชลประทานจึงต้องบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มาช่วยเขื่อนอุบลรัตน์ 
    มหาสารคาม หลายพื้นที่เริ่มประสบภาวะภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร นาย ณ.เณร วัฒนกูล ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขามหาสารคาม กล่าวว่า ได้ดำเนินการสำรวจและประเมินแหล่งน้ำดิบแม่น้ำชีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งหรือไม่ เพราะระยะเวลายังอีกหลายเดือน โดยได้เตรียมแผนดำเนินการสร้างฝายกั้นน้ำชั่วคราวด้วยบิ๊กแบ็ก 2 จุด ควบคู่กับการสำรวจแหล่งน้ำที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติม สำหรับใช้เป็นแหล่งน้ำดิบสำรอง พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานชลประทานมหาสารคาม ขอใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน เพื่อเตรียมความพร้อมหากจำเป็นต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำดิบสำรอง 
    นครราชสีมา นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 4 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา และเขื่อนลำนางรอง อีก 1 แห่งของ จ.บุรีรัมย์ ขณะนี้ภาพรวมมีปริมาณน้ำกักเก็บเหลืออยู่เพียง 286 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุเขื่อนทั้งหมด ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่คาดการณ์ไว้ โดยเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 143 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุเขื่อน, เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 20 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 13 ของความจุเขื่อน, เขื่อนมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 47 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 ของความจุเขื่อน, เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 76 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุเขื่อน และเขื่อนลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 22 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 18 ของความจุเขื่อน
    "ในปีนี้ทุกเขื่อนจะไม่มีการส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานประมาณ 700,000 ไร่ทำนาปรังโดยเด็ดขาด เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานรับทราบแล้ว แต่ก็ยังพบหลายพื้นที่มีการแอบลักลอบปลูกข้าวนาปรังกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรที่ฝ่าฝืนคำเตือนมีโอกาสเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำทำการเกษตร และผลผลิตได้รับความเสียหายสูงมาก" นายเกียรติศักดิ์ระบุ
    ส่วนที่ อ.โนนไทย ปัญหาภัยแล้งขยายวงกว้างครอบคลุมทั้งอำเภอ โดยเฉพาะสระจระเข้ บ้านสระจระเข้ ต.โนนไทย ซึ่งเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในตัว อ.โนนไทย ขณะนี้น้ำขอดจนเห็นดินก้นสระมาหลายเดือนแล้ว ทางเทศบาลตำบลโนนไทยต้องทำการขุดร่องน้ำก้นสระให้มวลน้ำไหลไปรวมกัน เพื่อสูบน้ำไปกักเก็บไว้ที่สระด้านบนเป็นน้ำดิบผลิตประปา ซึ่งสระด้านบนสามารถผลิตประปาแจกจ่ายได้อีกเพียงไม่เกิน 2 เดือน เบื้องต้นมีการผันน้ำจากลำตะคองมาช่วย และเปิดจ่ายน้ำเป็นเวลา คือ ช่วงเช้า เวลา 05.00-08.00 น. และช่วงเย็น 15.00-20.00 น. 
    นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (ภัยแล้ง) รวม 7 อำเภอ 52 ตำบล 512 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 13 ชุมชน ได้แก่ อำเภอแก้งสนามนาง เทพารักษ์ จักราช โชคชัย ปักธงชัย โนนสูง และโนนไทย ส่วนโรงพยาบาลที่มีน้ำใช้แค่เดือนมีนาคม คือโรงพยาบาลอำเภอแก้งสนามนาง, โรงพยาบาลอำเภอบัวลาย และโรงพยาบาลอำเภอเทพารักษ์
    นครสวรรค์ ที่หมู่บ้านเรือนแพในลำคลองบางเคียน ต.บางเคียน อ.ชุมแสง เรือนแพหลายสิบหลังคาจำต้องปล่อยให้เกยตื้นและลาดเอียงอยู่ในลำคลองจนได้รับความเสียหาย เนื่องจากน้ำแห้งขอดคลองซึ่งเป็นคลองสาขาของแม่น้ำยมไหลมาจาก จ.พิจิตร ที่แห้งขอดมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ชาวแพในพื้นที่บอกว่าปีนี้ประสบกับปัญหาภัยแล้งหนักหนาสาหัสกว่าทุกปี แพทุกหลังที่อาศัยอยู่ในคลองมีลักษณะเกยตื้นอยู่บนดินทั้งหมด ทำให้ลูกบวบไม้ไผ่ใต้แพแตกได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องมีการซ่อมแซมหลังละกว่า 1 หมื่นบาท 
    นอกจากนี้ ชาวนาในเขต อ.เก้าเลี้ยวจำนวนมากต้องตัดสินใจปล่อยทิ้งนาข้าวอายุข้าวเพียง 4 สัปดาห์ให้ยืนต้นตาย เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติและคลองสาธารณะแห้งขอดไม่เหลือใช้  
    ชัยนาท สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลทำให้โรงพยาบาลหนองมะโมง อ.หนองมะโมง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แหล่งน้ำบาดาลของโรงพยาบาลที่ใช้สูบน้ำขึ้นมาผลิตน้ำประปา จำนวน 2 แห่ง มีน้ำไม่เพียงพอ สูบน้ำได้เพียงวันละ 2.3 ลบ.ม. หรือ 2,300 ลิตรเท่านั้น ขณะที่โรงพยาบาลต้องใช้น้ำวันละ 40-50 ลบ.ม. หรือ 40,000-50,000 ลิตรต่อวัน ทำให้โรงพยาบาลต้องสร้างถังเก็บน้ำขนาดความจุ 50,000 ลิตร จำนวน 3 ถัง เพื่อไว้ใช้เก็บน้ำ และซื้อน้ำบาดาลจากแหล่งน้ำของเอกชนเป็นประจำทุกวัน วันละ 20,000 ลิตร เป็นเงินวันละ 400 บาท เข้าไปเก็บไว้ในถังเพื่อไว้ใช้ผลิตประปาแทน  
    นอกจากนี้ ได้ขอรับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลหนองมะโมงให้นำรถบรรทุกน้ำขนน้ำมาเติมถังให้ทุกวัน ส่วนสำนักงานชลประทานที่ 12 จะนำรถบรรทุกน้ำมาเติมให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อช่วยโรงพยาบาลให้มีน้ำใช้เพียงพอ ไม่กระทบกับผู้ป่วยและการรักษา รวมทั้งการดำเนินงานต่างๆ ภายในโรงพยาบาล    
    ลพบุรี หลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำในการประกอบการเกษตร ส่วนที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม ปกติแล้วช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นช่วงที่มีน้ำเต็มเขื่อน โดยเฉลี่ยจะมีน้ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของความจุ และมีกิจกรรมประกอบการท่องเที่ยวมากมาย อาทิ ขบวนรถไฟลอยน้ำ และทุ่งทานตะวันบาน ทั้งในพื้นที่เขื่อนและบริเวณโดยรอบ แต่ปีนี้พื้นที่รับน้ำตอนบนของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีค่าเฉลี่ยปริมาณต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ นักท่องเที่ยวหายไปจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าของฝากในเขื่อนเกือบทุกร้านขายของได้ลดลงมาก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"