ลาม!แฉคลิปเสียบบัตรแทนกัน


เพิ่มเพื่อน    

 เสียบบัตรแทนกันขยายวง คลิปแฉรอบใหม่ “ภท.-พปชร.” รายใหม่ส่อพฤติกรรม ประธานวิปรัฐบาลรอข้อเท็จจริงก่อน แต่ชี้ช่องเสียบไม่พอจำนวน ส.ส. “นิพิฏฐ์” ย้ำกรณี “นาที” เปิดรายละเอียดรายนาทีเทียบ แนะภูมิใจไทยตัดเนื้อร้าย “รัฐบาล-ฝ่ายค้าน” พร้อมใจยื่นชวนส่งศาลวินิจฉัยแต่คนละมาตรา เพื่อไทยพาเหรดขย้ำ “ประยุทธ์” เรียกร้องโชว์สปิริตลาออกหรือยุบสภา หากศาลตีความเป็นโมฆะ “วิษณุ” อรรถาธิบายยาว ยกตัวอย่างเทียบยุคยิ่งลักษณ์มีทั้งเหมือนและแตกต่าง

เมื่อวันพุธที่ 22 มกราคม มีประเด็นใหม่ต่อเนื่องจากกรณีนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีต ส.ส.พัทลุง ออกมาเปิดเผยข้อมูลกรณีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง และนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (พท.) ในการลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมช่วงลงมตินั้น 
โดยล่าสุดช่อง 7 เอชดีได้เผยแพร่คลิปโดยอ้างว่าเป็นเหตุการณ์การลงมติในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งปรากฏคลิปภาพนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรค ภท. ถือ บัตรลงคะแนนในมือมากกว่าหนึ่งใบ ก่อนเสียบบัตรลงคะแนนเข้าไปในเครื่องลงคะแนนมากกว่าหนึ่งครั้ง โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการลงมติเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2563 ขณะที่อีกภาพเป็นคลิปเหตุการณ์วันที่ 10 ม.ค.2563 ของ น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.หญิงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่วางบัตรลงคะแนนบนโต๊ะ 2 ใบ ก่อนหยิบบัตรลงคะแนนบนโต๊ะทั้ง 2 ใบเสียบเข้าไปในเครื่องลงคะแนนมากกว่า 1 ครั้ง 
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุเรื่องคลิปนี้ว่า ยังไม่ทราบเรื่อง ขอดูข้อเท็จจริงก่อน แต่ช่องเสียบบัตรในห้องประชุมไม่เพียงพอกับจำนวน ส.ส.
    ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขอตรวจสอบรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน ซึ่งเบื้องต้นเคยมีกรณีเทียบเคียงลักษณะพฤติกรรมแบบนี้มาแล้ว สามารถเอาผิดทางอาญากับ ส.ส.ที่เป็นผู้เสียบบัตรลงคะแนนแทนได้ ในฐานจงใจกระทำผิดต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
    ขณะที่นายนิพิฏฐ์ได้แถลงย้ำอีกครั้งถึงกรณีการกดบัตรแทนกันของนางนาที ว่านางนาทีและคณะได้เดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังเมืองเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 11 ม.ค.2563 ด้วยสายการบินไทยสมายล์เที่ยวบิน WE680 ซึ่งช่วงเวลาเดียวกับมีชื่อนางนาทีในการประชุมสภาลงคะแนนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณด้วย โดยนางนาทีเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 15.28 น. แต่เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปถึงการลงมติพบว่า ในเวลา 15.46 น. ได้ลงมติในมาตรา 49 ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประสำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก มาตรา 48 ว่าด้วยงบประมาณสำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค เวลา 15.19 น. มาตรา 47 ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เวลา 15.17 น. มาตรา 46 ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายสำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล เวลา 14.56 น. และมาตรา 45 ว่าด้วยงบประมาณสำหรับแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เวลา 14.51 น.
         "ผมเพียงมาแถลงความจริงว่ากระบวนการตราร่างกฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วน ส.ส.จะดำเนินการอย่างไรก็แล้วแต่ ซึ่งผมกำลังพยายามคิดช่วยอยู่ว่าจะให้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ไม่เป็นโมฆะ แต่พรรคภูมิใจไทยต้องยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาร่างกาย โดยทั้งนางนาทีและนายฉลองต้องยอมรับสารภาพว่าไม่ได้กดบัตรลงด้วยตัวเองในมาตราใดบ้าง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญแยกการพิจารณาออกมาได้ และเพื่อไม่ให้กระทบเสียงส่วนใหญ่ของการพิจารณางบประมาณ แต่หากทั้งสองคนไม่ยอมรับเท่ากับว่าจะเป็นไปตามแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยแล้ว” นายนิพิฏฐ์กล่าว
    ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสรุปรายงานการตรวจสอบกรณีเสียบบัตรเเทนกันแล้ว โดยพบว่ามีการเสียบบัตรแทนกันจริง ไม่พบมีการเสียบบัตรค้างไว้ข้ามคืน ซึ่งเบื้องต้นมีความเห็นร่วมกันกับฝ่ายเลขาธิการสภาฯ ว่าถ้าจะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต้องไม่มีปัญหา ซึ่งขณะนี้มีเวลาอีก 3 วันที่สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้งสองสภาจะเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ภายใน 3 วัน
    “ผมคงไปยุให้สมาชิกทำไม่ได้ ว่าควรหรือไม่ควรที่จะเข้าชื่อเพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ควรมีปัญหา และต้องไม่มีอะไรเคลือบแคลงสงสัย กระบวนการอาจจะเสียเวลาไปบ้าง แต่ก็ดีกว่ามาเคลือบแคลงกันทีหลัง” นายชวนกล่าว
    นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเป็นโมฆะหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีการยื่นเรื่องต่อศาลพิจารณาหรือไม่ และศาลจะวินิจฉัยอย่างไร ซึ่งพฤติกรรม ส.ส.เสียบบัตรแทนกันนั้นมีมาก่อนหน้านี้แล้ว จนครั้งล่าสุดก็ส่งผลถึงขั้นทำให้กฎหมายสำคัญเป็นโมฆะมาแล้ว ซึ่งได้กำชับให้เฝ้าระวังอยู่แล้ว แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการจัดหาเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ ประกอบกับช่วงนี้การก่อสร้างห้องประชุมสุริยันยังไม่เสร็จ ทำให้สภาผู้แทนฯ ต้องมาใช้ห้องประชุมจันทราของวุฒิสภา ซึ่งมีจำนวนเครื่องเสียบบัตรลงคะแนนไม่เพียงพอต่อจำนวน ส.ส. ทำให้ ส.ส.จำนวนหนึ่งต้องมีการใช้เครื่องเสียบบัตรแสดงตนร่วมกันในการลงมติคราวเดียวกัน อาจทำให้เกิดความสับสนและเฝ้าระวังการออกเสียงแทนกันยาก
วิปรัฐบาลถามศาลยิบ
    ต่อมาในช่างบ่าย นายวิรัชแถลงว่า วิปรัฐบาลได้นำเรื่องขอให้นายชวนนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ด้วยปรากฏว่ามี ส.ส.ลืมบัตรลงคะแนนประจำตัว และปรากฏว่ามีการลงมติในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในขณะที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภา เพื่อให้ร่างกฎหมายนี้เป็นไปด้วยความถูกต้องของรัฐธรรมนูญ และตามข้อบังคับการประชุมสภา จึงได้รวบรวมรายชื่อสมาชิกเท่าที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของทั้งสองสภา ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนี้ 1.กระบวนการตราร่างกฎหมายดังกล่าวขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 หรือไม่ 2.หากมีปัญหาจะมีปัญหาทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตราที่มีปัญหา 2.หากขัดจะเป็นผลให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณต้องตกไปทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตราที่พบว่ามีการออกเสียงแทนกัน และหากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณตกไป จะเข้าข่ายว่าสภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่แล้วเสร็จภายใน 105 วันนับตั้งแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งมาถึงสภาตามมาตรา 143 ระบุไว้หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นให้ถือว่าสภาเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ใช่หรือไม่ และ 3.หากร่างกฎหมายตกทั้งฉบับหรือบางมาตราที่มีปัญหาจะดำเนินการอย่างไร 
         เมื่อถามว่า เรื่องนี้ได้ประสานนายกรัฐมนตรีเพื่อชะลอการทูลเกล้าฯ ถวายหรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว ส่วนกรณีศาลวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.ตกทั้งฉบับต้องรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ
         ในช่วงเย็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ร่วมกันลงชื่อทั้งหมด 84 คน เพื่อยื่นประธานสภาฯ ส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยตามมาตรา 148 (1) ว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ตราขึ้นชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีเสียบบัตรแทนกันของนายฉลอง ซึ่งแตกต่างกับที่วิปรัฐบาลยื่นให้พิจารณาในมาตรา 120 โดยคำร้องรัฐบาลยื่นในส่วนของการออกเสียงแทนกันในการลงคะแนน แต่ของฝ่ายค้านเห็นว่ากระบวนการตราไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ  
    “หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องของเราว่ากระบวนการตราไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ถ้าบทบัญญัตินั้นเป็นสาระสำคัญเป็นอันให้กฎหมายฉบับนั้นตกไป โดยต้องรอผลการวินิจฉัยของศาล ซึ่งหากโมฆะรัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา” นพ.ชลน่าน 
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค ปชป. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยังไม่รู้เรื่อง ให้เป็นเรื่องสภา ส่วนจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือไม่นั้น นายนิพิฏฐ์บอกแล้วว่าเป็นคนของประชาชนคนหนึ่งจึงออกมาพูด แต่จะถูกต้องหรือไม่ สภาต้องไปตรวจสอบ 
เมื่อถามว่า สมาชิก ปชป.ออกมาทำแบบนี้ จะมีมาตรการอย่างไร นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ทั้งหมดต้องไปดูข้อเท็จจริงก่อน เพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย คิดว่าสภาดำเนินการอยู่แล้ว และไม่ทำให้พรรค ภท.โมโห เพราะไม่เกี่ยวกัน รวมทั้งไม่รู้สึกหนักใจกับลูกพรรค เราพูดกันรู้เรื่องอยู่แล้ว ต้องดูและต้องแยกให้ออกว่าเขาพูดในเรื่องอะไร
เสี่ยหนูตำหนิ'ฉลอง'
“ท่านคงมีความคิดและความรับผิดชอบ ฉะนั้นไม่ใช่ว่าท่านจะทำอะไรส่งเดชได้ เพราะพรรคเป็นองค์กร และเป็น ส.ส.อยู่ ต้องให้เกียรติท่าน และต้องรู้ว่าในส่วนของท่านควรทำอะไร ไม่ควรจะทำอะไร พูดคุยกันแบบผู้ใหญ่พูดคุยกัน” นายเฉลิมชัยกล่าวถึงท่าทีของสมาชิกพรรคที่ออกมาป่วนรัฐบาลในช่วงนี้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. ระบุว่า ขอปฏิเสธที่จะให้ความเห็นประเด็นนายนิพิฏฐ์ แต่ได้กำชับเรื่องการโหวตลงคะแนนในสภา เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ และได้ตำหนินายฉลองไปแล้วเรื่องการจัดลำดับความสำคัญว่าควรทำหน้าที่โหวตในสภาหรือทำเรื่องส่วนตัว ซึ่งให้ไปดูสภาพอาการของเจ้าตัวเองว่าเป็นอย่างไรหลังจากถูกตนตำหนิ ส่วนความเห็นของนายกฯ ในเรื่องนี้ไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้คุยกัน แต่คาดว่าไม่มีปัญหาอะไร
         มีรายงานข่าวจาก ภท.แจ้งว่า บรรยากาศการประชุม ส.ส.ของพรรคเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยนายอนุทินได้ตำหนินายฉลองในที่ประชุม พร้อมกำชับว่าอย่าให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก 
สำหรับความคิดเห็นของรัฐมนตรีต่างๆ นั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องปัญหาการเสียบบัตรแทนกันจะทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ชะงักงันหรือไม่ ว่าไม่รู้ เป็นเรื่องของสภา เป็นเรื่องทางกฎหมาย ให้สภาว่าไป ส่วนต้องพูดคุยกับแกนนำพรรค ภท.ให้ควบคุมสมาชิกให้มากกว่านี้หรือไม่ หลังทำให้เกิดผลกระทบขึ้นนั้น สื่อก็ไปพูดกับเขาสิ ไปบอกเขาสิ จะให้ไปบอกอย่างไร แต่ยืนยันว่าไม่รู้สึกน้อยใจกับพรรคร่วมรัฐบาล
ในช่วงเช้า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ได้คุยกับนายกฯ เป็นการส่วนตัวถึงเรื่องนี้แล้ว แต่เป็นการพูดกันแบบไม่ได้เป็นทางการ ซึ่งยอมรับว่าจะกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้ล่าช้า แต่ไม่คิดว่าจะทำให้เกิดความเสียหายอะไร แค่ล่าช้าเท่านั้น 
“หากมีการร้องต่อศาล เราก็ต้องรอ ความช้านั้นมันมีแน่ และเราได้คิดเอาไว้แล้วว่าถ้าช้าเราจะทำอย่างไร แต่ยังบอกไม่ได้ รอให้ชัดเจนก่อน” นายวิษณุกล่าว
ต่อมาในช่วงบ่าย นายวิษณุอธิบายเรื่องนี้อีกครั้งว่า ต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง คือ 1.ต้องไปดูกันว่าการแสดงตนหรือการใช้สิทธิ์ของ ส.ส.ในการลงมติทำถูกต้องหรือไม่ หรือมีการเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ 2.ผลจากการนี้จะกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าวอย่างไร แม้เกี่ยวกันแต่ต้องแยกกันเป็นคนละประเด็น เพราะความผิดต่างกัน โทษต่างกัน ผลกระทบต่างกัน ในกรณีของการกระทำนั้นจะเป็นความผิดหรือไม่นั้น อยู่ที่สภาตรวจสอบ 
นายวิษณุยกตัวอย่างว่า เคยมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 2 เรื่อง เรื่องแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 คราวขอแก้ไขและธรรมนูญ ซึ่งครั้งนั้น นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย นำบัตรลงคะแนนของ ส.ส.คนอื่นประมาณ 4-5 คนไปเดินเสียบลงคะแนน ซึ่งถูก น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ถ่ายคลิปวิดีโอไว้แล้วนำไปเปิดในชั้นศาล ซึ่งศาลวินิจฉัยเฉพาะเรื่องการลงมติว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ที่ร่างกฎหมายนั้นตกไป เพราะมีปัจจัยอื่น 4-5 สาเหตุมาประกอบกัน
วิษณุแจงยิบข้อแตกต่าง
นายวิษณุกล่าวว่า กรณีปี 2557 ผู้กระทำเป็นคนเดียวกันคือ นายนริศร เป็นการกระทำในเวลาที่ต่อเนื่องกัน กรณีร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าการลงมติในวันนั้นมิชอบ แต่กรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกับในอดีต 
“ผมไม่ขอตอบ และไม่ชี้นำว่าผลเป็นประการใด หรือจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้ต้องรอให้สภาสรุปผลสอบข้อเท็จจริงออกมาให้ได้เสียก่อนว่าเป็นการเสียบบัตรแทนกัน หรือเสียบคาไว้ หรือเป็นความบกพร่องของระบบเครื่องลงคะแนน และเมื่อได้ความกระจ่างแจ้งออกมาก็จะเห็นว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างจากในอดีต” นายวิษณุกล่าว
    นายวิษณุย้ำว่า กรณีเมื่อปี 2556 และ 2557 เป็นการเสียบบัตรแทนกันหลายใบ ขณะนั้นศาลเชื่อว่าอาจมีมากกว่า 4-5 ใบ แต่กรณีล่าสุดนี้ชัดเจนว่ามีเพียงหนึ่งใบ เว้นแต่จากนี้ไปจะปรากฏความชัดเจนออกมาว่ามีใบที่ 2 หรือ 3 ตามมา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อยากให้เห็นความแตกต่าง และหากใครยังรู้สึกมีความคลางแคลงใจสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะฉะนั้นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจะโมฆะหรือไม่ อย่าเพิ่งไปใช้คำนั้น การลงมติแบบนั้นจะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องไปด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
    รองนายกฯ อธิบายอีกว่า ข้อควรเข้าใจต่อไปคือ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับกฎหมายสองฉบับในอดีต หากการลงมติที่ไม่ถูกต้องนั้นเกิดขึ้นในวาระสามจะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องทั้งฉบับก็ต้องจบไปทั้งฉบับ แต่กรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต่างจากกฎหมายฉบับอื่น เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 143 กำหนดว่า สภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน แม้ครบกำหนดเวลาถ้ายังไม่เสร็จต้องถือว่าเสร็จ หรือเห็นชอบตามที่รัฐบาลเสนอ จุดนี้เป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องไปตีความให้รัฐบาลว่าตอนนี้เกินเวลา 105 วันมาแล้ว ถ้ามตินั้นไม่ถูก จะทำให้ร่างกฎหมายนั้นต้องเสียไปทั้งฉบับหรือเสียไปเฉพาะการลงมติวาระสองและวาระสามที่มิชอบนั้น หากถือว่ามตินั้นมิชอบ ก็เท่ากับว่าสภาไม่ได้พิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน
“ผมไม่ตอบ ไม่ชี้นำ ไม่วินิจฉัย และไม่รู้ สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นประเด็นที่จะต้องนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ผลการวินิจฉัยในอดีตไม่ได้เป็นบรรทัดฐาน 100% ต่อคดีในปัจจุบันทุกกรณี เว้นแต่ศาลมองว่าเป็นรูปแบบเดียวกัน เพราะบางเรื่องกฎหมายก็ต่างกัน” นายวิษณุกล่าว และและย้ำว่า ไม่ต้องเกรงใจว่าจะเกิดผลกระทบอะไรที่มีลักษณะวิบัติ แต่ยอมรับว่าช้าแน่นอน เพราะติดขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญ
    นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงินลงทุนในโครงการลงทุนที่อยู่ในปีงบประมาณ 2563 เป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลเตรียมไว้ หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 มีผลบังคับใช้ล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้    
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ไม่ได้หารือเรื่องดังกล่าว ส่วนที่มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร หารือกันถึงเรื่องนี้อย่างเคร่งเครียดนั้น ไม่ทราบ โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา และมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่คิดว่าจะขยายใหญ่จนเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่พรรคที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจง และเป็นเรื่องของสภาที่ต้องตอบคำถาม ส.ส.ที่ตั้งคำถามกับเรื่องนี้ 
พาเหรดบี้ลาออก-ยุบสภา
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. กล่าวว่า ประชาชนกำลังจับตาดูท่าทีต่อเรื่องนี้ของรัฐบาล ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องไม่รู้แพ้รู้ชนะอะไร แต่เป็นการกระทำความผิดอย่างชัดเจน ซึ่งประชาชนรอดูความรับผิดชอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะลาออกหรือไม่
ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรค พท. กล่าวเช่นกันว่า สังคมกำลังรอฟังท่าทีที่ชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.เป็นโมฆะ โดย พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรพูดปัดความรับผิดชอบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของสภาและไม่เกี่ยวกับตัวเอง เพราะรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองหากกฎหมายการเงินไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาอย่างถูกต้อง 
“เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความบกพร่องเฉพาะตัวของ ส.ส.ไม่กี่คน แต่เป็นความชำรุดของระบบการเมืองทั้งระบบที่เป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญ 2560” ร.ท.หญิงสุณิสากล่าว
ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการหยิบข่าวมาคุยทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีซทีวี ว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในสมัยอดีตรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์กรณีเสียบบัตรแทนกันว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นบรรทัดฐานให้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณต้องอยู่ในสถานะโมฆะด้วยเช่นกัน โดยปลายทางเรื่องนี้เชื่อว่างบปี 2563 ซึ่งล่าช้าอยู่แล้ว ต้องล่าช้าออกไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน
“เรื่องเสียบบัตรกดเสียงแทนกันนั้นเป็นทุกขลาภของนายอนุทิน เพราะรัฐมนตรีของพรรคโดนข้อหารุกป่ามาแล้ว ต้องมาเจอกับเรื่อง ส.ส. 2 คนของพรรคถูกข้อหาเสียบบัตรแทนอีก และต่อไปไม่รู้จะเจอเรื่องอะไรอีก แต่สิ่งที่ต้องทำในวันนี้คือการสร้างบรรทัดฐานของประเทศไทย ผมว่าคนที่ต้องคิดมากคือคนที่เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ท่านไม่คิดว่าจะมีคนมาทำปืนลั่นใส่ คนไม่เข้าร่วมประชุม แต่แสดงตนเองตลอด ไม่คาดคิดว่าจะมีการรอจับกันในเรื่องนี้" นายจตุพรกล่าว
นายจตุพรกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องคิดมากถึงนอนไม่หลับ ดูสีหน้าแสดงออกทางแววตาก็รู้ว่าเต็มไปด้วยความวิตกกังวล เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้แล้ว ต้องโมฆะตาม เพราะเป็นพระราชบัญญัติฐานะเท่ากับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านทุกประการ ไม่มีอะไรแตกต่าง ส่วนการจะเกิดอภินิหารทางกฎหมายนั้น ขอเตือนก่อนว่าอย่าไปทำ เพราะบ้านเมืองสิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องความเป็นธรรมและความอยุติธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมาเขียนใหม่มาหักล้างกับเหตุผลของตัวเองด้วยแล้ว มันเป็นเรื่องที่ยากและสังคมรับไม่ได้.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"