พลิกโฉมคลองเปรมประชากร


เพิ่มเพื่อน    

 

(สภาพบ้านเรือนริมคลองเปรมประชากรที่ทรุดโทรมและปลูกสร้างลงไปในคลอง)    (ภาพกราฟฟิกสภาพชุมชนใหม่ริมคลองเปรมฯ)

     คลองเปรมประชากรเป็นคลองสายแรกที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อร่นระยะเวลาในการล่องเรือจากกรุงเทพฯ-บางปะอิน  รวมทั้งเพื่อขยายพื้นที่ทำนาสองฝั่งคลองออกไป  มีความยาวประมาณ 50  กิโลเมตร  กว้าง 12 เมตร  แต่ปัจจุบันสภาพลำคลองตื้นเขิน  น้ำเน่าเสีย  มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก  ทำให้กีดขวางทางเดินของน้ำ  การระบายน้ำในคลองเปรมฯ จากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพ  ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง

     รัฐบาลจึงมีแผนฟื้นฟูคลองเปรมประชากรทั้งระบบ  ใช้งบ 4,448  ล้านบาท  โดยให้ กทม.-กรมโยธาธิการ-กรมชลประทาน  สร้างเขื่อนระบายน้ำและขุดลอกคลอง  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ  ป้องกันน้ำท่วม  บำบัดน้ำเสีย  รวมทั้งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อรถ-ราง-เรือ  และให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.จัดทำแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตรองรับประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำคลองเปรมฯ ตามโครงการบ้านมั่นคง  จำนวน  38 ชุมชน  รวม 6,386 ครัวเรือน

     ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ให้แก่ชาวชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร  ที่ยินยอมพร้อมใจรื้อบ้านออกจากแนวคลองเปรมประชากรเป็นชุมชนแรก  เพื่อให้รัฐบาลเดินหน้าตามแผนงานการฟื้นฟูคลองเปรมฯ ทั้งระบบ

คลองสายแรกที่ขุดในสมัยรัชกาลที่ 5

     คลองเปรมประชากรเป็นคลองสายแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5  มีพระราชดำริให้ขุดขึ้นในปี พ.ศ. 2413  เพื่อเป็นคลองลัดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าด้วยกัน  เริ่มจากคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณหน้าวัดโสมนัสวิหาร  ไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางปะอิน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ระยะทางประมาณ  50.8 กิโลเมตร  มีความกว้างประมาณ 12 เมตร

     โดยมีพระราชประสงค์เพื่อย่นระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ  กับกรุงเก่า (อยุธยา) เนื่องจากเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมเป็นทางน้ำอ้อมวกเวียนใช้เวลาเดินทางนาน   และเพื่อขยายพื้นที่การทำนาริมสองฝั่งคลอง   เพราะเดิมพื้นที่แถบนี้เป็นป่ารกเต็มไปด้วยโขลงช้างป่า  ไม่มีใครไปบุกเบิกถากถาง  เพราะไม่มีคลองน้ำ  เมื่อขุดคลองขึ้นมาแล้ว  ประชาชนจะได้มีความสะดวกสบาย  ทั้งด้านการทำมาค้าขายและการสัญจรไปมา

     ดังที่พระองค์ทรงบันทึกเอาไว้ว่า  “จะให้ราษฎรได้ความเย็นใจ  ราษฎรชายหญิง  ทั้งคฤหัฐ  บรรพชิต  ลูกค้าวานิชและต่างภาษา  ค้าขายขึ้นล่องคลองนี้โดยสะดวกทุกท่าน” 

     จึงโปรดเกล้าฯ จ้างแรงงานคนจีนมาขุด  ใช้เวลาขุด 16 เดือน  ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  จำนวน  2,544 ชั่ง  2 ตำลึง (ประมาณ 203,520 บาท)  และพระราชทานนามว่า “คลองสวัสดิ์เปรมประชากร”

     ในการขุดคลองครั้งนั้นได้มีการปักหมุดหมายริมคลองเปรมฯ จากคลองผดุงกรุงเกษมถึงพระนครศรีอยุธยา  เพื่อบอกระยะทางทุกๆ 100  เส้น  หรือ 4 กิโลเมตร  รวม  13  หลัก   แต่ปัจจุบันหลักหมุดทั้งหมดได้หายไป  เหลือเพียงแต่ชื่อ  เช่น  หลักสี่  (กรุงเทพฯ)  และหลักหก (รังสิต)

แผนฟื้นฟูคลองเปรมฯ ทั้งระบบ  ใช้งบ 4,448  ล้านบาท

     จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554  สาเหตุหนึ่งมาจากการระบายน้ำในคลองสายหลักในกรุงเทพฯ ไม่มีประสิทธิภาพ  เนื่องจากมีบ้านเรือนปลูกสร้างรุกล้ำลำคลองจำนวนมาก   ทำให้ลำคลองคับแคบ  ตื้นเขิน  ในปี 2555  คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทก (กบอ.) ได้เสนอแผนงานการแก้ไขปัญหาและป้องกันน้ำท่วม  โดยจะมีการสร้างเขื่อนระบายน้ำและขุดลอกคลองในลำคลองสายหลักในกรุงเทพฯ  จำนวน 9 แห่ง  แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ได้ดำเนินการ

     ต่อมารัฐบาล คสช.  โดยพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ  มีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  เป็นประธาน  เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อเป็นแห่งแรกในปี 2559  โดยกรุงเทพมหานครรับผิดชอบก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าวฯ เพื่อป้องกันน้ำท่วม  ระยะทางทั้งสองฝั่งประมาณ 45 กิโลเมตร   

     สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนที่สร้างบ้านเรือนรุกล้ำคลอง  จำนวน 50 ชุมชน  รวม 7,069 ครัวเรือน  (ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว  จำนวน  35 ชุมชน  รวม 3,308  ครัวเรือน)

     ส่วนคลองเปรมประชากร  คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล คสช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562  เห็นชอบ แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลองและการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร  ระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี (พ.ศ.2562-2570) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ  ป้องกันน้ำท่วม  และบำบัดน้ำเสียในคลองเปรมประชากรทั้งระบบ  ความยาวทั้งหมด 50.8 กิโลเมตร 

(เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตหลักสี่และจิตอาสาช่วยกันเก็บขยะในคลองเปรม)

 

     ทั้งนี้เนื่องจากคลองเปรมฯ เป็นลำคลองที่รับน้ำมาจากทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ  จากอยุธยา-ปทุมธานี-ลงมาถึงกรุงเทพฯ และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย  โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนงานหลักระยะเร่งด่วน  ปี 2562-2565  จำนวน 4 โครงการ  วงเงิน  4,448 ล้านบาท  ดังนี้

1.กรุงเทพมหานครดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ  จากถนนเทศบาลสงเคราะห์ – สุดเขต กทม.  ระยะทางทั้งสองฝั่ง 27.2  กิโลเมตร  วงเงิน 3,443 ล้านบาท

2.กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากรจากคลองบ้านใหม่ – คลองรังสิตประยูรศักดิ์  วงเงิน 980 ล้านบาท  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาและออกแบบ

3. กรมชลประทานดำเนินการขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี  จากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ – คลองเชียงรากน้อย  ระยะทาง 15.3 กิโลเมตร   วงเงิน 16 ล้านบาท

4. ขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จากคลองเชียงรากน้อย – สถานีสูบน้ำเปรมเหนือบางปะอิน  ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร  วงเงิน 9 ล้านบาท

ทั้งนี้ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา  กรุงเทพมหานครได้ก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำช่วงแรก  จากคลองบ้านใหม่ถึงหมู่บ้าน    แกรนด์คาแนล  เขตดอนเมือง  ระยะทางประมาณ 460 เมตรเสร็จแล้ว

(ภาพกราฟฟิกประตูระบายน้ำคลองเปรมฯ)

     นอกจากนี้  กรุงเทพมหานครยังมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองเปรมประชากรลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร  มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.7 เมตร  สามารถระบายน้ำได้ประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2563-2567  ใช้งบประมาณ 9,800 ล้านบาท  เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่เขตดอนเมือง  เขตหลักสี่  เขตบางเขน  เขตจตุจักร  ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 650 ตารางกิโลเมตร  เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่  รวมถึงยังช่วยรับน้ำฝนที่ระบายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ข้างเคียง คือ  นนทบุรีและปทุมธานี และสามารถสูบน้ำกลับเพื่อเจือจางน้ำเสียในคลองเปรมประชากรได้อีกด้วย

 

 

“คืนบ้านใหม่ให้พี่น้อง  คืนสายคลองให้ส่วนรวม”   พอช.สนับสนุนการสร้างบ้านใหม่  6,836 ครัวเรือน    

(ภาพกราฟฟิกบ้านใหม่ของชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร)

     นอกจากแผนการฟื้นฟูคลองเปรมประชากรดังกล่าวแล้ว  การพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบยังรวมถึงการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมฯ และพื้นที่ริมคลองด้วย  โดยการออกแบบวางผังพื้นที่ริมคลองให้องค์ประกอบต่างๆ  มีความสอดคล้องกัน  คือการพัฒนาที่อยู่อาศัย   การจัดระบบสาธารณูปโภคและผังเมือง   การปรับปรุงภูมิทัศน์  การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชุมชน   แผนพัฒนาจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ  ล้อ (รถยนต์) – ราง (รถไฟ-รถไฟฟ้า) – เรือ – ทางจักรยาน   และแผนพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชน   ฯลฯ

     ส่วนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชุมชนริมคลอง  จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำคลองเปรมฯ และวางผังเพื่อจัดระเบียบที่อยู่อาศัยใหม่   ดำเนินการตามโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  เช่นเดียวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับประชาชนในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ  พร้อมระบบสาธารณูปโภคต่างๆ  เช่น  มีระบบการจัดการน้ำเสียในครัวเรือน  การจัดการขยะ  มีศูนย์เด็กเล็ก  ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ   ศูนย์ฝึกอาชีพ  ศูนย์การเรียนรู้  ลานกีฬา  ฯลฯ  เพื่อให้ประชาชนมีสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี

     ธนัช  นฤพรพงศ์  ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  มีชุมชนริมคลองเปรมฯ จำนวน  32 ชุมชน   อยู่ในเขตจตุจักร  หลักสี่  และดอนเมือง  และอีก  6 หมู่บ้านอยู่ในเขต จ.ปทุมธานี  รวมทั้งหมด 6,386  ครัวเรือน  ซึ่งชุมชนเหล่านี้สามารถอยู่อาศัยในที่ดินเดิมได้ทั้งหมด  แต่จะต้องรื้อบ้านออกจากพื้นที่ริมคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนฯ  เพื่อปรับผังชุมชนแล้วก่อสร้างบ้านใหม่ทั้งหมด  เพื่อให้ทุกครอบครัวอยู่ในชุมชนเดิมได้  โดยได้รับสิทธิในที่ดินเท่ากันทุกครัวเรือน   เบื้องต้นขนาดบ้านและแบบบ้านจะมีทั้งบ้านชั้นเดียวและสองชั้น  ขนาด 4x7 และ 5x6 ตารางเมตร  ตามขนาดพื้นที่ของชุมชน 

     “ส่วนงบประมาณที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะสนับสนุนการก่อสร้างบ้านใหม่จะเหมือนกับที่ดำเนินการในชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ  โดยแบ่งเป็น 1.การปรับปรุงสาธารณูปโภค  อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ  เป็นต้น  รวมครัวเรือนละ 147,000 บาท  2.งบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย  วงเงินครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท  ผ่อนชำระ 20 ปี  อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4%”  ธนัชแจงรายละเอียดการสนับสนุนของ พอช.

 

พลเอกประยุทธ์เป็นประธานยกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ชุมชนริมคลองเปรมฯ

 

     ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและคณะ  ได้เดินทางมาประธานพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ให้แก่ชาวชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร  ซึ่งเป็นชุมชนแรกที่มีการรื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่จำนวนทั้งหมด 210 ครัวเรือน   โดยจะเริ่มสร้างบ้านเฟสแรกแรกจำนวน  20  หลัง 

(พลเอกประยุทธ์ประธานพิธียกเสาเอกบ้านมั่นคงริมคลองเปรมฯ หลังแรก)

     พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า  ชุมชนประชาร่วมใจ 2  เป็นชุมชนแรกในคลองเปรมประชากรที่มีการพัฒนา  จากเดิมที่ชุมชนอยู่อาศัยอย่างไม่ถูกต้อง   รัฐบาลก็ทำให้พี่น้องได้เช่าที่ดินอย่างถูกต้อง  เป็นบ้านที่ถูกกฎหมาย   โดยมอบสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ  เพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย   เพื่อให้คนไทยมีที่อยู่อาศัยทุกคนภายในปี 2579   และนอกจากจะดำเนินการพัฒนาในคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าวแล้ว  ต่อไปก็จะพัฒนาคลองสายอื่นในกรุงเทพฯ  รวมทั้งหมด 9 คลองด้วย

“โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความสำคัญ  เป็นโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่จะทำให้คูคลองมีความสะอาด       มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน   โดยให้ทุกฝ่าย  ทุกหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อน  ร่วมมือกันพัฒนา  เหมือนกับคลองลาดพร้าว  ทำให้บ้านน่าอยู่มีความสวยงาม  ซึ่งต่อไปชุมชนจะต้องทำเรื่องท่องเที่ยว  ทำเรื่องอาชีพ  และเรื่องสิ่งแวดล้อม  และให้ปลูกต้นไม้             มีสถานที่ให้เด็กได้พักผ่อน  มีที่ค้าขาย   และให้ทุกคนช่วยกันดูแลคลอง  เพื่ออนาคตของลูกหลานต่อไป”  พลเอกประยุทธ์กล่าวย้ำ

     ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เนื้อที่ 10 ไร่เศษ  และมอบใบอนุญาตก่อสร้างบ้านจำนวน 210  หลังให้แก่ผู้แทนชุมชนประชาร่วมใจ 2  ส่วนการก่อสร้างบ้านเฟสแรกจำนวน 20 หลัง  จะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน  หลังจากนั้นจะทยอยสร้างในเฟสต่อไป  รวมทั้งชุมชนอื่นๆ ที่มีความพร้อมก็จะทยอยรื้อย้ายเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ภายในปีนี้  ตามแผนงานการก่อสร้างบ้านในชุมชนริมคลองเปรมฯ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปทุมธานีทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน   จะแล้วเสร็จภายในปี 2565

(บ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวและเขื่อนระบายน้ำที่สร้างเสร็จแล้ว)

     ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เป็นชุมชนแห่งแรกในคลองเปรมประชากรที่ชาวชุมชนร่วมใจกันรื้อบ้านออกจากแนวคลองเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบ  โดยก่อนหน้านี้หน่วยงานต่างๆ  เช่น  พอช.  กองทัพภาคที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กรุงเทพมหานคร  กรมธนารักษ์  กรมส่งเสริมสหกรณ์  สำนักงานเขตต่างๆ  และหน่วยงานในท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี  ได้ร่วมกันจัดเวทีประชุมสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชน   โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมทั้งหมด  32 ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ  และ 6 หมู่บ้านในเขต จ.ปทุมธานี  รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน

     ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งหมดนี้  จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ  และปรับผังชุมชนเพื่อก่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่ในที่ดินเดิม  โดยชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลและร่วมกันบริหารจัดการโครงการ  และทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์อย่างถูกต้อง  เปลี่ยนสถานะจากผู้บุกรุกเป็นชุมชนที่เช่าที่ดินอย่างถูกกฎหมาย  ระยะเวลาเช่าช่วงแรก 30 ปี  อัตราค่าเช่าผ่อนปรน (ประมาณ 1.50-3 บาท/เดือน/ตารางวา) 

     ส่วนรูปแบบบ้านมีหลายขนาดเพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมออกแบบและเลือกให้ตรงกับความต้องการ  ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว  เช่น  บ้านแถวชั้นเดียว  ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร  ราคา 290,000 บาท  ผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท  บ้านแถวสองชั้น  ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร  ราคา 450,000 บาท  ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท  บ้านแถวสองชั้น  ขนาด 5 X 6 ตารางเมตร  ราคา 450,000 บาท  ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท   ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี

 

เปิดใจเจ้าของบ้านหลังแรก

 

     สมร  จันทร์ฉุน  ผู้นำชุมชน  ในฐานะประธานสหกรณ์เคหสถานประชาร่วมใจ 2  บอกว่า  ชาวบ้านในชุมชนรู้สึกตื่นเต้นและปลื้มใจที่นายกฯ เห็นความสำคัญในการพัฒนาชุมชนริมคลอง  และมาเป็นประธานในพิธียกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ซึ่งหากสร้างบ้านเสร็จแล้ว  ชาวชุมชนก็จะร่วมกันฟื้นฟูคลอง  เพราะเมื่อก่อนน้ำในคลองยังสะอาด  ชาวบ้านตักน้ำในคลองมาใช้   ตักใส่ตุ่มแล้วเอาสารส้มแกว่งให้ตกตะกอน  ในคลองก็ยังมีคนปลูกผักบุ้งขาย  แต่เดี๋ยวนี้เน่าสนิท  จึงอยากช่วยกันฟื้นฟูคลองให้ดีเหมือนเดิม 

     “ส่วนเรื่องการพัฒนาชุมชน  เราก็จะเว้นพื้นที่เพื่อให้มีสถานที่ออกกำลังกาย  มีสวนหย่อมเป็นที่พักผ่อน  รวมทั้งส่งเสริมอาชีพชาวชุมชนเพื่อให้มีรายได้  โดยเฉพาะคนที่อยู่บ้านเฉยๆ   ไม่มีงานทำ  รวมทั้งผู้สูงอายุ  เราจะประสานกับหน่วยงานให้เข้ามาส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ”  ผู้นำชุมชนกล่าว

     มณีรัตน์ ภู่บำรุง  เจ้าของบ้านหลังแรกที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธียกเสาเอกสร้างบ้าน  เล่าว่า  อาศัยอยู่ที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 มานานกว่า 30 ปี  อาชีพค้าขายข้าวเหนียวหมูปิ้ง  สมาชิกในครอบครัวมีทั้งหมด 5 คน  เมื่อก่อนคนยังอยู่ไม่เยอะ   น้ำในคลองจะใส  ไม่ดำเหมือนปัจจุบัน 

(เจ้าของบ้านหลังแรก)

     ส่วนเรื่องบ้านมั่นคง  ชาวบ้านที่นี่ได้ไปดูตัวอย่างที่คลองลาดพร้าว  เห็นแล้วเราก็อยากได้บ้านแบบนั้นบ้าง  เพราะมันสวยและดูเป็นระเบียบ  ส่วนสภาพบ้านของเราก็เก่าและทรุดโทรมแล้ว  เพราะอยู่กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่  จึงพร้อมใจเข้าร่วมโครงการ   อีกไม่กี่เดือนก็จะได้บ้านหลังใหม่  เป็นบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 4×7  ตารางเมตร   ผ่อนชำระให้สหกรณ์ฯ เดือนละ 2,820 บาท  ราคาบ้านทั้งหลังประมาณ 430,000 บาท  ซึ่งถือว่าเป็นราคาบ้านที่ไม่แพงมาก  เรามีกำลังที่จะส่งไหว

     “ดีใจมากที่นายกฯ มาเป็นประธานลงเสาเอกให้  และรู้สึกดีใจที่ได้บ้านในโครงการนี้  อยากขอบคุณรัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือโครงการนี้   เพราะแต่ก่อนที่เราอยู่   มันไม่ใช่ที่ของเรา  ตอนนี้เราได้บ้านมั่นคงมาเป็นบ้านของเรา เป็นที่ของเราถูกต้องตามกฎหมาย   ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาไล่ที่เรา”  เจ้าของบ้านหลังแรกบอกถึงความรู้สึก

 

9 ขั้นตอนสร้าง ‘บ้านมั่นคงริมคลอง’

               

     โครงการ  ‘บ้านมั่นคง’ ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546  มีหลักการสำคัญ  คือ  “ให้ชาวบ้านหรือผู้ที่เดือดร้อนรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหา  ส่วน พอช. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายสนับสนุน”    จนถึงปัจจุบัน พอช.สนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงไปแล้วทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศ  รวม  1,231 โครงการ จำนวน 112,777 ครัวเรือน

     ธนัช  นฤพรพงศ์  ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง พอช.  กล่าวว่า  โครงการบ้านมั่นคงในคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อ  รวมทั้งคลองเปรมประชากร  ต่างก็มีกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัยเหมือนกัน  โดยมีกระบวนการ 9 ขั้นตอน  ดังนี้  1.สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่  โดย พอช.จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชน

 2.ทบทวนข้อมูลชุมชน  โดย พอช.ร่วมกับชุมชน  สำรวจข้อมูลครัวเรือนและชุมชน  สำรวจปัญหาและความต้องการของชุมชน  จำนวนผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัย  ฯลฯ 

3.จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อสร้างวินัยการออมและเป็นทุนในการสร้างบ้าน  และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล  สำหรับทำนิติกรรมสัญญา  เช่น  เช่าที่ดินราชพัสดุ  และบริหารจัดการโครงการ  โดยมีคณะกรรมการที่มาจากชาวชุมชน 

4.รังวัด  เช่าที่ดิน  ออกแบบ  วางผังชุมชน  เนื่องจากพื้นที่ชุมชนริมคลองมีเนื้อที่และจำนวนครัวเรือนไม่เท่ากัน  บ้านบางหลังมีเนื้อที่มาก  จึงต้องรังวัดและออกแบบให้ทุกครอบครัวสามารถอยู่ในชุมชนเดิมได้  โดยทุกครอบครัวจะได้สิทธิ์ในที่ดินเท่ากัน  และออกแบบผังชุมชนให้ตรงกับความต้องการของชาวชุมชน  และที่สำคัญคือการเช่าที่ดินราชพัสดุอย่างถูกต้อง

5.อนุมัติโครงการและงบประมาณ  ชุมชนที่จัดทำกระบวนการตามข้อ 1-4 เสร็จแล้ว  จะต้องส่งโครงการเข้ามาเพื่อให้ พอช.อนุมัติโครงการและงบประมาณ  6.ขออนุญาตก่อสร้างบ้าน  รื้อบ้าน  รื้อระบบประปา  ไฟฟ้า  จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมสร้างบ้านสร้างชุมชนใหม่  7.เบิกจ่ายงบประมาณ  

8.ก่อสร้างบ้านและสาธารณูปโภค  โดยสหกรณ์เคหสถานที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นมาจะบริหารจัดการก่อสร้าง  โดยการจ้างผู้รับเหมา  และมีคณะกรรมการตรวจสอบ  ตรวจรับงาน  9.พัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ  หลังจากสร้างบ้านเสร็จทั้งชุมชน  แต่ละชุมชนจะมีแผนการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  เช่น  ด้านสิ่งแวดล้อม  ปลูกต้นไม้  ปรับภูมิทัศน์  จัดการขยะ  บำบัดน้ำเสีย  ส่งเสริมอาชีพและกิจกรรมต่างๆ  ทั้งเด็ก  เยาวชน  แม่บ้าน  ผู้สูงอายุ  และผู้พิการ

     “โครงการบ้านมั่นคงริมคลองนี้เมื่อแล้วเสร็จ  จะทำให้ชาวชุมชนที่เคยรุกล้ำคลอง  ก่อสร้างบ้านไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  เปลี่ยนมาเป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง  โดยการเช่าที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์  และได้รับใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน  เมื่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ  ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในทุกมิติ  รวมทั้งจะร่วมกันฟื้นฟูและดูแลคลองให้มีสภาพดีขึ้น  เป็นการคืนบ้านใหม่ให้พี่น้อง  คืนสายคลองให้ส่วนรวมอย่างแท้จริง”  ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง พอช.กล่าวในตอนท้าย

 

เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาฯ เพื่อยกระดับกองทุนฯ ให้เข้มแข็งมี กม.รองรับเป็นระบบสวัสดิการของประเทศ

(การจัดงาน ‘พลังสวัสดิการชุมชน  เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2020’ เมื่อเร็วๆ นี้ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการฯ)

     เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนเตรียมเสนอ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน พ.ศ...... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยกระดับสวัสดิการชุมชนให้เข้มแข็ง  มีกฎหมายรองรับเป็นระบบหนึ่งของสวัสดิการสังคมของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาคุณภาพชีวิต  เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนกิจการของกองทุนได้   ขณะที่มีกองทุนสวัสดิการชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศแล้ว 5,997 กองทุน  มีเงินกองทุนรวมกัน 15,987 ล้านบาท  ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิด-ตายรวมเป็นเงินกว่า 2,100 ล้านบาท

     สวัสดิการสังคมถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย  เพราะแต่ไหนแต่ไรมา  กลุ่มคนที่จะมีสวัสดิการช่วยเหลือในยามเจ็บไข้ได้ป่วย  เสียชีวิต  ช่วยเหลือบุตร  ฯลฯ  ส่วนใหญ่คือข้าราชการ  พนักงานรัฐวิสาหกิจ  พนักงานบริษัทเอกชน   ส่วนชาวไร่  ชาวนา  ชาวบ้านธรรมดาๆ ประชาชนที่ไร้สังกัดทั้งในเมืองและชนบท  ล้วนแต่ไม่มีสวัสดิการใดๆ มารองรับ 

     พวกเขาจึงได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกันเอง  เช่น  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มฌาปนกิจ  กลุ่มผู้สูงอายุ  กลุ่มเกษตรกร  กลุ่มอาชีพต่างๆ  โดยการสะสมเงินเข้ากองทุนร่วมกัน  แล้วนำเงินกองทุนมาบริหารจัดการ  ช่วยเหลือสมาชิกตามวัตถุประสงค์ของกลุ่ม

     ส่วนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการอย่างเป็นทางการของภาคประชาชน  เริ่มขึ้นในช่วงปี 2548   โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’  สนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ รวมกลุ่มกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการในระดับตำบลขึ้นมา  มีพื้นที่นำร่อง 99 ตำบล  โดยนำแนวคิดมาจาก ‘ครูชบ  ยอดแก้ว’ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ผู้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์บ้านน้ำขาว  อ.จะนะ  จ.สงขลา  โดยนำผลกำไรจากการปล่อยเงินให้สมาชิกกู้ยืมมาจัดเป็นสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย

     แต่กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลที่ พอช.สนับสนุนนี้  จะเน้นให้ชาวบ้านออมเงินเข้ากองทุนวันละ 1   บาท  ถือเป็นการ ‘ออมบุญ’ เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือกัน  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “กองทุนสวัสดิการวันละบาท” (เดือนละ 30 บาท  หรือปีละ 365 บาท  ตามความสะดวกของสมาชิกและการบริหารจัดการ)  โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากสมาชิกเข้ามาบริหารจัดการ  เมื่อกองทุนมีเงินมากขึ้น  ผู้ที่เป็นสมาชิกมาแล้วอย่างน้อย  6 เดือนจึงจะได้รับการช่วยเหลือตามข้อตกลงของแต่ละกองทุน   

     เช่น  ช่วยเหลือสมาชิกที่คลอดบุตรรายละ 500-1,000 บาท  ช่วยในยามเจ็บป่วย  ช่วยทุนการศึกษาบุตรหลาน  คนพิการ  ผู้สูงอายุ  ช่วยสมาชิกเสียชีวิตรายละ 3,000 บาทขึ้นไป  ฯลฯ  แม้ว่าจะเป็นเงินไม่มากนัก  แต่ชาวบ้านก็มีกองทุนเอาไว้ช่วยเหลือกันในยามจำเป็น  บางกองทุนยังนำเงินมาส่งเสริมอาชีพในชุมชน  เช่น  ให้กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ  รวมทั้งขยายไปทำเรื่องอื่นๆ  เช่น  ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม  การจัดการขยะในชุมชน  แก้ปัญหาที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัย  สร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส  ดูแลสุขภาพคนในชุมชน  ฯลฯ

     ต่อมาในปี 2553 รัฐบาลขณะนั้น  เห็นความสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชนจึงได้สนับสนุนกองทุนฯ โดยสมทบเงินผ่าน พอช.เข้ากองทุนฯ  ในอัตรา 1 บาท/คน/วัน (ไม่เกินคนละ 365 บาท/ปี)  รวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น  เช่น  อบต.หลายแห่งได้สมทบเงินเข้ากองทุนด้วยเช่นกัน  เพื่อให้กองทุนเติบโต  ช่วยเหลือสมาชิกได้ทั่วถึง

ตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว 5,997 กองทุน เงินกองทุนรวมกัน 15,987 ล้านบาท

     นายแก้ว  สังข์ชู  ผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติ  กล่าวว่า  ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว  จำนวน  5,997 กองทุน  มีสมาชิกรวมกัน 5,911,137 คน  มีเงินกองทุนรวมกัน 15,987 ล้านบาท  เงินกองทุนทั้งหมดประมาณ  60% มาจากสมาชิก  ส่วนทิศทางหลักการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการในปี 2563 นี้  คือต้องการเห็นกองทุนเชิงคุณภาพ 

     “ปี 2563 จะทำอย่างไรให้เกิดคุณภาพให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   หลักคิดสำคัญต้องดูแลคนทุกกลุ่มแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิก   มุ่งเป้าหมายที่คนเดือดร้อน  คนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้   เราไม่ได้ทำแข่งกับหน่วยงานของรัฐ  แต่มาช่วยเสริม  โดยในปี 2563-2565 จะเน้นทำให้กองทุนสวัสดิการมีคุณภาพ”  นายแก้วกล่าว

 

     โดยมีเป้าหมาย  ระดับตำบล  คือ   ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง  กองทุนสวัสดิการเป็นมรดกของลูกหลาน  เป็นสมบัติของแผ่นดิน   ให้กองทุนมีความเข้มแข็ง  คนทุกกลุ่มเข้าถึงกองทุนได้ง่าย

     ระดับจังหวัด ต้องพัฒนาความสามารถเครือข่ายสวัสดิการชุมชน  กองทุนสวัสดิการจะโดดเดี่ยวไม่ได้  เชื่อมโยงผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  และมีการสอบทานกันเอง  ต้องจัดทำรายงานทุกปีเพื่อให้ท้องถิ่น  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)  รับรู้เรื่องราวของกองทุนสวัสดิการชุมชน  และทำงานร่วมกัน

     ระดับภาค  ตอนนี้ทำทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ  แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน  ระดับภาคขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาระบบข้อมูล องค์ความรู้สวัสดิการชุมชน องค์ความรู้มีความสำคัญ  ต้องรู้ว่ากองทุนไปทำเรื่องบ้าน  เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการศึกษาจำนวนเท่าไหร่  ข้อมูลเป็นหัวใจของการพัฒนา  ข้อมูลจะถูกลำเรียงจากระดับล่างสู่ระดับบน

     ระดับนโยบาย  ขับเคลื่อนนโยบายภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 43 (4)  คือ จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน  โดยขณะนี้กำลังยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน  เพื่อจะเสนอเป็นกฎหมายโดยการเข้าชื่อ

“เราต้องการยกกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นนิติบุคคล  กฎหมายนี้เป็นกฎหมายส่งเสริม  คิดว่าหากเรามีระเบียบ มีกฎหมายรองรับไว้   เพื่อป้องกันความเสี่ยง  ผมเชื่อว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นนวัตกรรมทางสังคม  เริ่มจากประชาชน รัฐหนุนเสริมกองทุนสวัสดิการร่วมกัน  เพื่อทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนมีความเข้มแข็ง”  นายแก้วกล่าว

(กองทุนสวัสดิการชุมชนในจังหวัดสระแก้วช่วยเหลือสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส)

 

เตรียมผลักดัน ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน  พ.ศ.....’

 

     นายปาลิน  ธำรงรัตนศิลป์  คณะทำงานติดตามและพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน  กล่าวว่า  ขณะนี้เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศได้เตรียมการผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน พ.ศ...... เพื่อนำไปเสนอเป็นกฎหมาย โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนสามารถเข้าชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาได้   มีเป้าหมายเพื่อยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีฐานะเป็นนิติบุคคล  มีคุณภาพ  มีกฎหมายรองรับให้เป็นระบบหนึ่งของสวัสดิการสังคมของประเทศ  โดยในเร็วๆ นี้คณะผู้แทนเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จะเข้าพบกับนายชวน  หลีกภัย  ประธานสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อขอคำแนะนำในการเสนอร่าง พ.ร.บ.และผลักดันร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ภายในปีนี้

     นายปาลินกล่าวด้วยว่า  การขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมสวัสดิการของชุมชนฯ  เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560  หมวด 3  สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 43  ที่ระบุว่า  “บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ (4) จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน  สิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรค 1 หมายรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย”

     ส่วนเหตุผลในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  เนื่องจากกลุ่มและองค์กรชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ได้รวมตัวกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลเพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือกันตั้งแต่ปี 2548   โดยมีแนวคิดหลักคือ “การให้อย่างมีคุณค่า  และรับอย่างมีศักดิ์ศรี”   มีหลักการสำคัญคือ  สมาชิกกองทุนฯ จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท  เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือกันตามข้อตกลงของสมาชิกแต่ละกองทุน  เช่น  คลอดบุตร  ช่วยเหลือ 500  บาท  เสียชีวิตช่วยตั้งแต่  3,000-30,000 บาท  ฯลฯ  โดยมีองค์กรปกครองท้องถิ่น  และหน่วยงานรัฐ  ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนในสัดส่วน 1 ต่อ 1   เพื่อให้กองทุนเติบโต

     “แต่เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนสวัสดิการชุมชนยังไม่มีกฎหมายรองรับ  หน่วยงาน  องค์กรปกครองท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้ามาให้การสนับสนุน  รวมทั้งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่  กองทุนสวัสดิการชุมชนก็อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง   ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสร้างสวัสดิการให้กับประชาชนในชุมชน  ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาคุณภาพชีวิต   เปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถเข้ามาสนับสนุนกิจการของกองทุน   และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมที่เกื้อกูลกัน เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศและภาคีเครือข่ายจึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้”  นายปาลินกล่าว

     นอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  ยังเสนอให้มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชนแห่งชาติ’  โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน   มีหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี  ด้านนโยบายการจัดสวัสดิการของชุมชน  ให้มีหรือแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ  มาตรการด้านการเงิน การคลัง การภาษีอากร  ประสานนโยบายและแผน สร้างความร่วมมือกับส่วนราชการ ท้องถิ่น เอกชน  รวมทั้งมีมาตรการส่งเสริม สนับสนุนการจัดตั้งและพัฒนาความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชน  ฯลฯ

     โดยขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงเนื้อหาให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น  โดยมีองค์กรภาคีต่างๆ ร่วมให้การสนับสนุนและผลักดัน พ.ร.บ.  เช่น  สถาบันพระปกเกล้า  สถาบันพัฒนศาสตร์  ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เครือข่ายสวัสดิการชุมชน  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

     ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว  จำนวน  5,997 กองทุน  มีสมาชิกรวมกัน 5,911,137 คน  จำนวนหมู่บ้านที่ร่วมจัดตั้งกองทุน 52,784 หมู่บ้าน  มีเงินกองทุนรวมกัน 15,987 ล้านบาท  ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิด-ตาย   จำนวน  2,024,788  คน   รวมเป็นเงินกว่า 2,100 ล้านบาท  (ในปี 2562 ที่ผ่านมา  รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้กองทุนสวัสดิการชุมชนรวม 461 ล้านบาท)

     นอกจากนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนหลายแห่งยังขยายงานสวัสดิการชุมชนไปสู่การพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  เช่น  ส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ  จัดการขยะ  นำขยะไปรีไซเคิล  ส่งเสริมอาชีพสมาชิก  ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  ผู้พิการ  ผู้สูงอายุด้านที่อยู่อาศัย  ฯลฯ

 

เปิด บ้านโฮมแสนสุข จ.ขอนแก่น

      เปิดฝันของ คนไร้บ้าน

(พิธีเปิดบ้านโฮมแสนสุข)

     เมื่อวันที่  17 มกราคมที่ผ่านมา  มีพิธีเปิด ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน    บ้านโฮมแสนสุข จังหวัดขอนแก่น  โดยมีนายไมตรี  อินทุสุต  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นประธานในพิธี   มีนายปานทอง สระคูพันธ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น  พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมแสดงความยินดี   โดยมีผู้แทนสมาคมคนไร้บ้าน  ภาคีเครือข่ายการพัฒนา  และประชาชนเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน

     ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน  บ้านโฮมแสนสุข  ตั้งอยู่ที่ถนนเหล่านาดี  ตำบลในเมือง อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น  ขนาดเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ  ได้รับงบประมาณสนับสนุนการซื้อที่ดินและก่อสร้างจากรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.จำนวน  24.7 ล้านบาทเศษ  นอกจากพิธีเปิดในวันนี้แล้ว  ยังมีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน คนเปราะบาง และคนจนผู้เข้าไม่ถึงสิทธิ์ในจังหวัดขอนแก่น  โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ร่วมลงนาม  เช่น  เครือข่ายคนไร้บ้าน  นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น  รองผู้ว่า จ.ขอนแก่น  ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง   ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน   ฯลฯ

ศูนย์คนไร้บ้าน ศูนย์ตั้งหลักชีวิต

     สุชิน  เอี่ยมอินทร์  หรือ ลุงดำ นายกสมาคมคนไร้บ้าน  บอกว่า  กลุ่มคนไร้บ้านถือเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางในสังคม  บางคนมีปัญหาครอบครัว  เจ็บป่วย  พิการ  ตกงาน  ไม่มีรายได้  หรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะหาที่อยู่อาศัย  บางคนเพิ่งพ้นโทษไม่มีที่ไป  บางคนชอบชีวิตอิสระ  จึงออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ  เช่น  ใต้สะพาน  สวนหย่อม  สถานีรถไฟ  สถานีขนส่ง  หรือที่รกร้างว่างเปล่า   ส่วนใหญ่จะมีอาชีพเก็บขยะรีไซเคิลขาย  หรือรับจ้างทั่วไป  มีรายได้ไม่แน่นอน  แต่ไม่อยากจะเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ของทางราชการ  เพราะมีกฎระเบียบ  มีการกำหนดเวลาเข้า-ออก  ห้ามเอาของเก่าที่เก็บมาขายเข้าไป  จึงไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไร้บ้านที่ต้องออกเก็บขยะรีไซเคิลตั้งแต่เช้ามืด  และกลับตอนค่ำ 

     “ดังนั้นการมีศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจึงเป็นทางออกหรือเป็นแสงสว่างของกลุ่มคนไร้บ้าน  และถือเป็น ศูนย์ตั้งหลักชีวิต เพราะทำให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง  เมื่อมีที่อยู่อาศัย  มีรายได้ ก็จะทำให้คนไร้บ้านคิดถึงอนาคต  และสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาใหม่  โดยมีหน่วยงานต่างๆ เป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุน  เช่น  เครือข่ายสลัมสี่ภาค  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  สมาคมคนไร้บ้าน  พมจ.  พอช.  ฯลฯ  โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างศูนย์ฯ ผ่าน พอช.  มีทั้งหมด 3 แห่ง  คือ 1. เชียงใหม่  เปิดดำเนินการแล้ว  รองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ  70 คน  2.ขอนแก่น  และ 3.ปทุมธานี  กำลังก่อสร้าง”  ลุงดำบอก

     ศูนย์ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพบุคคลและสร้างชุมชนคนไร้บ้าน  บ้านโฮมแสนสุข  เป็นการดำเนินงานตาม แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   โดยมีเป้าหมายพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ 1,050,000  ครัวเรือนทั่วประเทศ  ประกอบด้วย   1.โครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท  2.โครงการบ้านพอเพียง  3.การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  คลองบางซื่อ  และคลองเปรมประชากร  และ 4.กลุ่มคนไร้บ้าน (จังหวัดเชียงใหม่  ขอนแก่น  และปทุมธานี  รวม 698 ราย  งบประมาณรวม 118 ล้านบาทเศษ)

     อย่างไรก็ตาม  จากข้อมูลการสำรวจจำนวนคนไร้บ้านในปี 2562 ที่ผ่านมา  พบคนไร้บ้านในเขตเทศบาล  และเมืองใหญ่ทั่วประเทศจำนวน  2,774 คน  ในจังหวัดขอนแก่นพบจำนวน 137 ราย  โดยในวันที่ 24 มกราคมนี้  จะมีการจัดงานสัมมนาที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ   เพื่อนำข้อมูลการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศมาวางแผนแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายต่อไป 

ชีวิตใหม่ที่บ้านโฮมแสนสุข

     ศูนย์ฟื้นฟูฯ คนไร้บ้าน  บ้านโฮมแสนสุข มีเนื้อที่ประมาณ 3   ไร่เศษ  เริ่มก่อสร้างในปี 2561  ใช้งบประมาณทั้งหมด 24.7 ล้านบาทเศษ  ภายในแบ่งเป็นห้องพัก  รองรับคนไร้บ้านได้ 68 ราย (หมุนเวียนกันเข้ามาอยู่อาศัย)  โดยแบ่งเป็น 1. ห้องชั่วคราว (พัก 1-2 สัปดาห์)  2.ห้องประจำ (อยู่ 1 เดือนขึ้นไป)  และ 3. ห้องมั่นคง (อยู่ระยะยาวสำหรับคนที่มีเป้าหมายจะตั้งหลักชีวิต)  ปัจจุบันมีคนไร้บ้านอยู่ห้องมั่นคงแล้ว 17 ราย  และหมุนเวียนมาอาศัยต่อเดือนประมาณ 50 ราย

     นอกจากนี้สมาชิกภายในศูนย์ฯ ได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนคนไร้บ้านขึ้นมา  คือ  1.ออมเพื่อที่อยู่อาศัย  สร้างอนาคตใหม่  2.ออมเพื่อสุขภาพ  การรักษาพยาบาล  และ  3.ออมเพื่ออาชีพ โดยแต่ละคนจะต้องออมเงินอย่างน้อยคนละ 60 บาทต่อเดือน ปัจจุบันมีเงินออมรวมกันประมาณ 30,000 บาท 

(ดวงใจ หงษ์กา ในห้องพักขนาดกว้างประมาณ 2.50 X 3 เมตร)

     ดวงใจ  หงษ์กา  อายุ 34 ปี  ผู้แทนศูนย์คนไร้บ้าน บ้านโฮมแสนสุข  บอกว่า  ตอนนี้มีคนไร้บ้านเข้ามาอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้จำนวน 17 คน   โดยคนไร้บ้านจะบริหารจัดการกันเอง  มีการตั้งกฎระเบียบในอยู่อาศัย  เช่น  ห้ามดื่มเหล้า  ห้ามสูบบุหรี่  ห้ามเล่นการพนัน  ห้ามลักขโมย  ห้ามส่งเสียงรบกวนคนอื่น  ต้องช่วยกันออกค่าน้ำ  ค่าไฟ  ค่าบำรุงที่พัก  ฯลฯ 

     มีการทำกิจกรรมร่วมกัน  เช่น  ปลูกผัก  เลี้ยงเป็ด  ไก่  เลี้ยงปลาดุก  เพาะเห็ด  เพื่อเอามาทำอาหาร  มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการช่วยเหลือดูแลกัน  ทำให้ชีวิตคนไร้บ้านดีขึ้นกว่าเดิม  เพราะมีที่พักเป็นหลักแหล่ง  ไม่ต้องเร่ร่อน  มีเพื่อนพูดคุยปรับทุกข์  มีรายได้จากการเก็บของเก่า  ขายซื้อผ้ามือสอง  ทำงานฝีมือ  เอายางรถยนต์เก่ามาทำเป็นกระถางต้นไม้ส่งขาย  และรับจ้างทั่วไป

     “เมื่อก่อนหนูอาศัยอยู่แถวศาลหลักเมือง  ตอนนี้อยู่กับแฟนในศูนย์ฯ หนูมีอาชีพเก็บของเก่าขาย ส่วนแฟนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป  เมื่อก่อนจะเก็บของเก่าเอาไปขาย 3-4 วันครั้งหนึ่งจะได้เงินประมาณ 1,000 บาท  แต่ตอนนี้ได้ไม่ถึง  เพราะของเก่าราคาตก  อยู่ในศูนย์ทุกคนก็ต้องช่วยกันออกค่าน้ำเดือนละ  75 บาท   ค่าไฟเฉลี่ยกันจ่ายตามมิเตอร์   ค่าที่พักถ้าอยู่เป็นห้องเป็นครอบครัวเดือนละ 500 บาท  คนโสดหรือไม่มีรายได้ไม่ต้องเสีย  หนูตั้งใจว่าจะอยู่ที่นี่อีกประมาณ 2 ปีก็จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกกับแฟน หรืออาจจะเข้าร่วมกับโครงการบ้านมั่นคงของ พอช. เพื่อจะได้มีบ้านเป็นของตั2.5วเอง  ตอนนี้กำลังเก็บเงินฝากเอาไว้ในกลุ่มออมทรัพย์  และถ้าหนูออกไปอยู่ข้างนอก  คนไร้บ้านคนอื่นก็จะได้เข้ามาอยู่แทน” ดวงใจบอกถึงแผนชีวิตในวันข้างหน้า

     ทุกสัปดาห์  สมาชิกบ้านโฮมแสนสุขจะออกไป เดินกาแฟ คือ  เอาน้ำดื่ม  ขนม  กาแฟ  ฯลฯ ไปให้คนไร้บ้านในเมืองขอนแก่นที่ยังใช้ชีวิตในที่สาธารณะ  เพื่อเยี่ยมเยียน  ให้คำแนะนำการใช้ชีวิต  หากใครสนใจอยากจะมาอยู่ที่บ้านโฮมแสนสุขก็ต้องลองเข้ามาใช้ชีวิต  ปฏิบัติตามระเบียบที่มีอยู่  หากใครผ่านด่านทดสอบเบื้องต้นก็จะได้เป็นสมาชิกใหม่ของบ้านโฮมแสนสุข

(สมาชิกบางส่วนของบ้านโฮมแสนสุข)

ไร้บ้าน  แต่ไม่ ไร้ฝัน

     ฉัตรชัย  ทองคำ  อายุ 29 ปี  ชาวอุดรธานี  เล่าว่า  พ่อแม่มีฐานะยากจน  ไม่มีที่ดินทำกิน  จึงพาตนเองออกเร่ร่อนไปรับจ้างทำงานต่างๆ ตั้งแต่อายุได้เพียง 10 ขวบ  ได้เรียนบ้าง  ไม่ได้เรียนบ้าง  เพราะต้องร่อนเร่ตามพ่อแม่ไปเรื่อยๆ จนโตเป็นหนุ่มจึงมาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น  อาศับหลับนอนตามที่สาธารณะต่างๆ  มีรายได้จากการเก็บของเก่าขาย  และรับจ้างทำงานทั่วไป  พอให้มีรายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง  ส่วนพ่อแม่ตอนนี้มีอาชีพเร่ขายน้ำมะพร้าวอ่อน  ยังอาศัยหลับนอนอยู่ในที่สาธารณะ

     “ผมมาอยู่ที่นี่ก่อนที่จะสร้างบ้านโฮมแสนสุขเสร็จ  เพราะมีแฟนแล้ว  จึงไม่อยากจะเร่ร่อนอีก  พอมาเจอกลุ่มคนไร้บ้านชวนให้มาอยู่  ผมกับแฟนจึงมาอยู่ที่นี่  ช่วยกันทำงานรับจ้างก่อสร้างและถีบซาเล้งเก็บของเก่าขาย  บางวันที่ไม่มีงานผมจะไปตกปลาที่บึงหนองโคตร (บึงสาธารณะขนาดใหญ่ใน อ.เมือง จ.ขอนแก่น) ได้ปลานิล  ปลากด  ปลาสวาย  เอาปลาไปขายได้ประมาณวันละ 300 บาท  และเก็บเอาไว้กินด้วย  ทุกเดือนผมจะออมเงินเข้ากลุ่มออมทรัพย์เดือนละ 200 บาท  ตอนนี้มีเงินออมประมาณ 1,400 บาท  ถ้าเก็บเงินได้เยอะ  ผมกับแฟนจะไปหาบ้านอยู่ข้างนอก  ไม่อยากให้ลูกเกิดอยู่ในนี้”  ฉัตรชัยบอก

     ขณะที่ชายหนุ่ม (สงวนชื่อ) สมาชิกบ้านโฮมแสนสุขอีกคน  บอกว่า อยากให้ อาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์  ศัลยกำธร) มาช่วยสอนเรื่องเกษตรพอเพียง  และให้ โจน  จันได มาสอนเรื่องทำบ้านดินให้แก่คนไร้บ้านที่นี่  โดยยึดหลักเกษตรพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  เชื่อว่าจะทำให้คนไร้บ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น

     “ถ้าผมเก็บเงินได้สัก 4 หมื่นบาท  ผมจะไปหาซื้อที่ดินข้างนอก  เพราะอำเภอรอบนอกยังหาซื้อที่ดินในราคานี้ได้  ผมจะทำเกษตรพอเพียงแบบในหลวง  จะขุดบ่อเลี้ยงปลา  เอาดินที่ขุดมาสร้างบ้านดิน  เอาน้ำบ่อมาปลูกผัก  มีอาหาร  มีบ้านเป็นของตัวเอง  ไม่ต้องเร่ร่อนไปไหนอีก” 

นี่คือฝันของคนไร้บ้านที่บ้านโฮมแสนสุข !!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"