โพลตอกยํ้าผลงานรัฐบาล ไม่เชื่อน้ำยาแก้ฝุ่นPM2.5


เพิ่มเพื่อน    


    ประชาชนไม่มั่นใจรัฐบาลปราบฝุ่นพิษได้ ชี้แก้ปัญหาล่าช้า คนกรุงหายใจโล่งไม่เกินค่ามาตรฐานทุกพื้นที่ ขณะที่ลำปางยังวิกฤติต่อเนื่อง 21 วันจากไฟป่า พปชร.เปิดศูนย์ประสานงานสู้ PM 2.5 ผุดติดตั้งหัวฉีดดักจับฝุ่น
    เมื่อวันที่ 26 มกราคม กรมควบคุมมลพิษรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศ เวลา 15.00 น. ดังนี้ ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร จำนวน 54 สถานี ตรวจวัดค่าได้ 11-29 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับช่วงเที่ยง และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ ประชาชนสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ 
    ขณะที่จังหวัดลำปาง คุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีแดง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง วัดได้ 131 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่าสูงที่สุดในจังหวัดและในภาคเหนือ รองลงมาที่ ต.พระบาท อ.เมืองฯ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นเขตตัวเมืองลำปาง วัดได้ 103 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่ จ.ลำปาง ถือว่าค่าเฉลี่ย PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องมา 21 วันติดแล้ว และยังคงพบจุดความร้อนจากการเกิดไฟไหม้ป่ามากกว่า 300 จุด
    “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,376 คน ระหว่างวันที่ 21-25 ม.ค.2563 ถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ดังนี้ 1.ประชาชนติดตามข่าวสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มากน้อยเพียงใด? อันดับ 1 ร้อยละ 55.09 ติดตามเป็นประจำทุกวัน เพราะสถานการณ์รุนแรงเข้าขั้นวิกฤติ กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ฯลฯ, อันดับ 2 ร้อยละ 35.03 ติดตามบ้างเป็นบางวัน เพราะอยากรู้รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ฯลฯ, อันดับ 3 ร้อยละ 8.00 ไม่ค่อยได้ติดตาม เพราะทำให้รู้สึกเครียด กังวลกับสถานการณ์ที่เกิด ฯลฯ, อันดับ 4 ร้อยละ 1.88  ไม่ได้ติดตามเลย เพราะไม่มีเวลา  ฯลฯ
    2.ประชาชนรู้สาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 หรือไม่? อันดับ 1 ร้อยละ 84.30 รู้ สาเหตุคือเกิดจากตัวเราเอง การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ควันจากท่อไอเสียของรถที่มีจำนวนมากในท้องถนน การเผาไหม้ต่างๆ ฯลฯ, อันดับ 2 ร้อยละ 15.70 ไม่รู้ เพราะไม่สนใจ เป็นฝุ่นทั่วๆ ไป ยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ฯลฯ
    3.ประชาชนคิดว่าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีผลกระทบในเรื่องใดบ้าง? อันดับ 1 ร้อยละ 94.45 สุขภาพร่างกาย ระบบทางเดินหายใจ สมอง, อันดับ 2 ร้อยละ 22.65 เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว, อันดับ 3 ร้อยละ 12.94 การดำเนินชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมนอกบ้าน, อันดับ 4 ร้อยละ 10.17 สภาพอากาศ ทัศนวิสัยในการมองเห็น, อันดับ 5 ร้อยละ 4.31 สุขภาพจิต อารมณ์ 
    4.ประชาชนมีวิธีการที่จะไม่ให้เกิดฝุ่น หรือไม่เพิ่มฝุ่น ด้วยวิธีใดบ้าง? อันดับ 1 ร้อยละ 60.86 ใช้รถส่วนตัวน้อยลง ใช้บริการรถสาธารณะแทน ตรวจเช็กเครื่องยนต์, อันดับ 2 ร้อยละ 44.26 ไม่เผาไหม้ในที่โล่ง ไม่สูบบุหรี่ ปิ้ง ย่าง, อันดับ 3 ร้อยละ 24.80 ทำความสะอาดบ้าน ปลูกต้นไม้ รักษาสิ่งแวดล้อม 
    5.ประชาชนมีวิธีการป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 อย่างไร? อันดับ 1 ร้อยละ 96.00 สวมหน้ากากอนามัย, อันดับ 2 ร้อยละ 35.84 ลดการทำกิจกรรมนอกบ้าน อยู่บ้านมากขึ้น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีฝุ่น, อันดับ 3 ร้อยละ 11.68 ดูแลสุขภาพ กินอาหาร กินวิตามิน ติดตั้งเครื่องกรองอากาศ 
    6.ประชาชนคิดว่ารัฐบาลควรมีวิธีการป้องกันและแก้ไขอย่างไร? อันดับ 1 ร้อยละ 33.77 ออกมาตรการต่างๆ บังคับใช้อย่างจริงจัง เช่น จำกัดปริมาณรถส่วนบุคคล ให้ใช้รถสาธารณะ ห้ามเผาไฟ, อันดับ 2 ร้อยละ 31.36 ตรวจจับรถทุกประเภทที่มีควันดำ กำหนดเวลาวิ่งของรถบรรทุก, อันดับ 3 ร้อยละ 26.97 ฉีดน้ำ พ่นละอองน้ำ ทำฝนหลวง, อันดับ 4 ร้อยละ 24.78 แจกหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน มีระบบแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นแต่ละวัน,  อันดับ 5 ร้อยละ 16.45 ควบคุมการปล่อยควันพิษของโรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้างต่างๆ 
    7.ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลจะแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้มากน้อยเพียงใด? อันดับ 1 ร้อยละ 52.90 ไม่มั่นใจเลย เพราะไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน รัฐบาลแก้ปัญหาล่าช้า กระทบต่อสุขภาพของประชาชน ฯลฯ, อันดับ 2 ร้อยละ 40.70 ไม่ค่อยมั่นใจ เพราะประชาชนต้องดูแลตัวเอง สถานการณ์ฝุ่นยังมีทุกพื้นที่ แก้ไขได้ยาก ฯลฯ, อันดับ 3 ร้อยละ 4.80 ค่อนข้างมั่นใจ เพราะรัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายช่วยกันอย่างเต็มที่ ฯลฯ, อันดับ 4 ร้อยละ 1.60 มั่นใจมาก เพราะมีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับปัญหา ปีที่ผ่านมาสามารถแก้ไขได้ ฯลฯ
    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการประเมินการปฏิบัติที่ผ่านมา ยังไม่สามารถควบคุมปริมาณค่าฝุ่นละอองที่จะไม่ให้กระทบต่อประชาชนได้ ดังนั้น ในระยะต่อไปนับจากนี้ ได้สั่งการเน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ติดตาม กวดขัน และ เตรียมแผนการใช้มาตรการอย่างเข้มข้น ในการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเข้าใจในการปฏิบัติ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการสัญจรและการใช้ชีวิตประจำวันบ้าง  
    ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย ส.ส. กทม. อาทิ น.ส.ภาดา วรกานนท์ ผอ.ศูนย์ประสานงาน PM 2.5 แถลงข่าวเปิดศูนย์ประสานงาน PM 2.5  
    โดยนายสนธิรัตน์กล่าวว่า การเปิดศูนย์ประสานงาน PM 2.5 ของพรรค เพื่อรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วน เป็นศูนย์กลางในการจัดการแก้ไขปัญหา เพราะขณะนี้นอกจากปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว ยังมีเรื่องของไวรัสโคโรนาที่ต้องสร้างความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนได้ป้องกันไปในช่วงเวลาเดียวกัน โดยพรรคมี 10 วิธีเร่งด่วนที่จะเป็นต้นแบบขยายผลไปสู่ภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหา อาทิ ติดตั้งระบบอนุภาคกำแพงละอองน้ำดักจับฝุ่น PM2.5 โดยมีหัวจ่ายละอองน้ำขนาดเล็ก หรือพีเอ็ม 5 ที่จะเสนอนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขยายผลไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะที่ภาคครัวเรือนสามารถซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงเกินไป ประมาณ 1,000 บาทต่อ 10 หัว สำหรับติดตั้งบริเวณที่อยู่อาศัยเพื่อลดปริมาณของฝุ่น เป็นต้น
    นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะประสานเรื่องการลดราคาค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไส้กรองของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล เพื่อลดปัญหาควันดำที่เป็นสาเหตุสำคัญของ PM 2.5 ขณะที่ในวันที่ 1 มี.ค. จะเร่งติดตั้งหัวจ่ายน้ำมัน B10 สำหรับรถยนต์ และ B20 ในรถบรรทุกในทุกปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม จะมีการเข้มงวดในการตรวจจับรถควันดำอย่างเข้มข้นมากขึ้น และหากมีช่วงวิกฤติฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานรุนแรง พรรคพลังประชารัฐจะจัดหาพื้นที่ชั่วคราวเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาหลบฝุ่นได้
    เมื่อถามถึงกรณีผลโพลระบุว่า ประชาชนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาฝุ่นได้ นายสนธิรัตน์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องฝุ่นละอองเป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหา PM 2.5 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาของรัฐบาลทุกประเทศทั่วโลก แต่มาตรการบางอย่างนั้นไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ทัน เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมา รัฐบาลทราบดีถึงความรู้สึกของพี่น้องประชาชน ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียนั้น มีการตรวจสอบอยู่ แต่ถ้าจะแก้ให้จบต้องใช้ยาแรงมาก หลายอย่างในประเทศไทยทำไม่ได้
    จากนั้น นายสนธิรัตน์ได้นำคณะเดินรณรงค์แจกหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 บริเวณสวนจตุจักร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"