ทางแก้PM2.5 ในมุมมองเอ็นจีโอ ร้องปรับปริมาณฝุ่นพิษมาตรฐานองค์การอนามัยโลก          


เพิ่มเพื่อน    

                                                         

                หลังค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย พุ่งสูงติด 1 ใน 10 อันดับของโลก และสาหัสแบบนี้ทุกปีในช่วงเดือนธันวาคมลากยาวถึงเมษายน หลายภาคส่วนออกมาเรียกร้องรัฐบาลให้ลงมือปกป้องสุขภาพของประชาชนและจัดการกับวิกฤตฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง โดยเฉพาะแก้ที่ต้นเหตุอย่างเร่งด่วน  ไม่ใช่เพียงพ่นละอองน้ำ  แจกหน้ากากอนามัย ตามจุดเสี่ยงแล้วจบ หรือให้โรงเรียนประกาศหยุดการเรียนการสอนเลี่ยงผลกระทบจากฝุ่น  ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งต้องต่อสู้หาทางป้องกันตัวเอง สวมใส่หน้ากาก ซื้อเครื่องฟอกอากาศราคาแพงมาติดตั้งบ้าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันสุขภาพเหล่านี้

                ที่น่าวิตกมีหลักฐานชัดเจนการใช้ชีวิตภายใต้มลพิษทางอากาศ PM2.5  ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คนล้มป่วยมากขึ้น และเป็นอันตรายต่อชีวิตของประชาชน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองตีบ ถึงร้อยละ 58 นอกจากนี้ ส่งผลต่อการเพิ่มของการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ร้อยละ 18 และการเกิดโรคมะเร็งปอด ร้อยละ 6 ไม่รวมภัยฝุ่นจิ๋วฉุดเศรษฐกิจของประเทศให้พัง เพราะมลพิษที่ห่มคลุมทั่วเมือง ทั้งกรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปไม่เดินทางเข้ามาพักผ่อนเหมือนเคย

                หนึ่งในความเคลื่อนไหวใหญ่  กรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, Friend Zone, เมล์เดย์, Climate Strike Thailand และภาคประชาชน ร่วมเดินรณรงค์และยื่นแถลงการณ์ “พอกันที ขออากาศดีคืนมา” ถึงรัฐบาลลุงตู่เรียกร้องความชัดเจนในมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของภาครัฐ บริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยมีนายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นผู้รับข้อเรียกร้อง เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา  

                ในข้อเรียกร้องพุ่งเป้าไปที่มาตรการที่ภาครัฐจะต้องยกระดับให้ดีขึ้น ลดการปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก ทั้งในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งรถยนต์  และการปรับมาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศ ของประเทศไทยให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายชั่วคราวที่  3 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยที่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปี คือ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นเพดานกำหนดการปลดปล่อย PM 2.5 ตั้งแต่ต้นทาง ควบคุมการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นภาคคมนาคมขนส่ง ภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และครัวเรือน เพื่ออากาศดีของเราทุกคน

                 พิษฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรง นำมาสู่การประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในปีนี้ เมื่อวันที่  23 มกราคมที่ผ่านมา มีมติให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยมอบอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการแก้ปัญหาช่วงค่าฝุ่นวิกฤต พร้อมการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยการบูรณาการการดําเนินงานรวมกันในทุกภาคส่วน

                แผนดังกล่าว มีขั้นตอนการปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์วิกฤตปัญหาฝุ่นละออง ด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ในช่วงระหว่างเกิดสถานการณ์วิกฤต (ธันวาคม - เมษายน) เป็นขั้นปฏิบัติการช่วงปริมาณ PM 2.5  เกินมาตรฐานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอํา นาจหน้าที่สามารถปฏิบัติได้ทันทีตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ฝุ่น โดยได้กําหนดเป็น 4 ระดับ ดังนี้

                ระดับที่ 1 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัม(มคก.) ต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ให้ส่วนราชการทุกหน่วยต้องดําเนินการตามภารกิจ อํานาจหน้าที่ และกฎหมายที่มีอยู่ให้ครบถ้วนตามสภาวการณ์ปกติ
                ระดับที่ 2 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่น  PM2.5 มีค่าระหว่าง 51 - 75  มคก.ต่อ ลบ.ม. ให้ทุกส่วนราชการต้องดําเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น ในระดับนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ สําหรับส่วนราชการอื่นๆ เป็นหน่วยสนับสนุนในการปฏิบัติการ

                ระดับที่ 3 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่น  PM2.5 มีค่าระหว่าง 76 - 100  มคก.ต่อ ลบ.ม. ให้เป็นอํานาจและหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าฯ จังหวัดที่ประสบปัญหาฝุ่นในการใช้กฎหมายที่มีอยู่ เช่น พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นต้น 

              ระดับที่ 4 เป็นระดับที่ปริมาณฝุ่น  PM2.5 มีค่ามากกว่า 100  มคก.ต่อ ลบ.ม.หรือสีแดง  แนวทางปฏิบัติกําหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋ว โดยจะต้องนําเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาสั่งการที่เป็นแนวทางหรือมาตรการลดมลพิษ
             2. การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง  มุ่งให้ความสําคัญควบคุมและลดการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกําเนิด รวมถึงลดจํานวนแหล่งกําเนิดมลพิษ มีมาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2562 - 2564) และมาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567) โดยควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ มาตรการระยะสั้น เช่น  ส่งเสริมให้มีการนําน้ำมันเชื้อเพลิงมีกํามะถันไม่เกิน 10 ppm มาจําหน่ายก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่  Euro 5 ภายในปี 2564 ให้เร่งรัดให้มีการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ เป็นต้น  มาตรการระยะยาว เช่น ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกํามะถันไม่เกิน 10 ppm ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2566 และบังคับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีกํามะถันไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 6 ภายในปี 2565 สนับสนุนส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
            ถัดมาควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตร มาตรการระยะสั้น เช่น ส่งเสริมให้มีการจัดการเศษวัสดุทางการทําเกษตร โดยการนํามาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ห้ามไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ชุมชน ริมทาง และเผาขยะโดยเด็ดขาด กำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อยเพื่อเป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย เป็นต้น มาตรการระยะยาว เช่นให้มีการกําหนดระเบียบหรือแนวปฏิบัติในการจัดการเศษวัสดุจากการทําเกษตรประเภทต่างๆ พิจารณาการพัฒนาระบบหรือยกระดับโดยผนวกมิติด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการกําหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นต้น

            ควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมือง มาตรการระยะสั้น เช่น กําหนดกฎระเบียบมาตรการและเกณฑ์ปฏิบัติที่ดีในการควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างประเภทต่างๆ ส่งเสริมให้มีการจัดทํา ผังเมืองและการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ต้องคํานึงถึงปัจจัยที่จะมีผลต่อการระบายอากาศและการสะสมของมลพิษทางอากาศ เป็นต้น มาตรการระยะยาว เช่น ส่งเสริมการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองให้ได้ตามมาตรฐานสากล 

            ควบคุมและลดมลพิษจากอุตสาหกรรม มาตรการระยะสั้น เช่น กําหนดมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศในรูป Loading ในพื้นที่ที่มีปัญหาฝุ่นละออง โดยคํานึงถึงความสามารถหรือศักยภาพในการรองรับมลพิษทางอากาศของพื้นที่ การจัดทําเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ เป็นต้น มาตรการระยะยาว เช่น ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

            ควบคุมและลดมลพิษจากภาคครัวเรือน มาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567) โดยเป็นการดําเนินงานต่อเนื่อง สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มและเตาปิ้งย่างปลอดมลพิษ พัฒนาและส่งเสริมการใช้เตาเผาอิฐและถ่านปลอดมลพิษ
                และ 3. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ทส. เป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือ กลไกในการบริหารจัดการ รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และกํา หนดแนวทางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น (พ.ศ. 2562 - 2564) และมาตรการระยะยาว (พ.ศ. 2565 - 2567) พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยเป็นการดํา เนินงานต่อเนื่องในการขยายเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและให้ท้องถิ่นติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ของตนเอง พัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นในการดํา เนินการติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศเพื่อให้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่
                ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ประกอบด้วยการกําหนดค่ามาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ยรายปีให้เป็นไปตามเป้าหมายระยะที่ 3 ขององค์การอนามัยโลก  การปรับปรุง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 รวมทั้งศึกษาความเหมาะสม 

            ส่งเสริมการวิจัย/พัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบ การตรวจวิเคราะห์และนวัตกรรมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ เพื่อนําไปประยุกต์ใช้ด้านการจัดการคุณภาพอากาศ รวมถึงเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่วนการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน เช่น การขับเคลื่อนการดํา เนินงานตามข้อตกลงเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน : ขับเคลื่อนการดํา เนินงานตามโรดแมปอาเซียนปลอดหมอกควันข้ามแดน และข้อตกลงเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน

                จัดทําบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกําเนิด เช่น การจัดทําบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกําเนิดเป็นระยะๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการกําหนด ปรับปรุงแนวทางและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังที่เป็นหนึ่งเดียว บูรณาการระบบข้อมูลสารสนเทศอย่างเป็นระบบ ทั้งแหล่งกําเนิด ปริมาณมลพิษในบรรยากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพเพื่อการวางแผนการบริหารจัดการและสื่อสารแจ้งเตือน พัฒนาระบบ เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากมลพิษทางอากาศและการรายงานผล สร้างความเข้มแข็งของประชาชน ชุมชนในการดูแลป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ

            พัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองมาตรการ ระยะสั้น (พ.ศ. 2562 - 2564)  เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการทบทวน ปรับปรุงมาตรการและแนวทางป้องกันและแก้มลพิษในระยะต่อไป ทั้งนี้ แผนดังกล่าวได้เรียบเรียงข้อมูลรายละเอียดความเป็นมา สถานการณ์ฝุ่นจิ๋ว สาเหตุหลักของปัญหา  ขั้นตอนการจัดทำแผน และแผนปฏิบัติการที่มีกรอบแนวคิด ตัวชี้วัด มาตรการและแนวทางการดำเนินงานพร้อมหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างละเอียด

                อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้  วันที่  21 ม.ค. ผลจากการประชุม ครม. ระบุว่า “ สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน” มีมติเห็นชอบให้ยกระดับมาตรการในการป้องกันและ แก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในช่วงสถานการณ์วิกฤต 12 ข้อ แต่มาตรการดังกล่าวนักวิชาการด้านมลพิษชี้ขาดเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่มีฐานข้อมูลที่มาจากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง

                ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ในขณะที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กของไทยส่อเค้ารุนแรงขึ้น คำพูดของผู้นำประเทศ นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ  รัฐมนตรี กลับสื่อสารออกมาว่าสถานการณ์ไม่ได้เลวร้าย สร้างวิกฤตศรัทธา ทั้งที่รัฐบาลมีหน้าที่บริหารประเทศอย่างยั่งยืนและปกป้องสิ่งแวดล้อม  แต่นายกฯ บอกยังแข็งแรง ยัวไหว ไม่เป็นไร แต่มลพิษทางอากาศเป็นเรื่องของชีวิต เรื่องความเป็นความตายของทุกคน  โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่ทำงานกลางแจ้ง ไม่มีศักยภาพซื้อหน้ากากป้องกันตัวหรือเครื่องฟอกอากาศ รัฐบาลกลับบอกให้ดูแลตัวเอง ทั้งที่ประชาชนและเด็กๆ มีสิทธิที่จะได้รับอาหาร น้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

                "  ตั้งแต่ปี .2561 ที่ภาครัฐประกาศดัชนีคุณภาพอากาศใหม่รวม PM 2.5 มาจนถึงปัจจุบัน ได้เห็นข้อมูลสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ทั้งผลกระทบและระดับความรุนแรงของฝุ่น PM 2.5 ที่อันตรายและส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่กลับบอกว่า ปริมาณฝุ่นยังไม่ถึงค่า 50 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. ทั้งที่ไม่มีค่าที่ปลอดภัยสำหรับคำว่า มลพิษทางอากาศ  เราสูดฝุ่นเข้าไปแล้วมากหรือน้อย ก็เข้าสู่ร่างกาย ส่งผลกระทบเรื้อรัง  " ธารา กล่าว  

                สอดคล้องกับงานศึกษาผลกระทบสุขภาพจากฝุ่นพิษ PM2.5 ทั้งขององค์การอนามัยโลก สหภาพยุโรป และองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา รายงาน State of Global Air ในปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็น สาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในประเทศไทย ประมาณ 37,500 คนต่อปี ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอย่างเป็นทางการให้ฝุ่นพิษ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง  เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขในสังคมไทย

                หากจำกันได้แรงกดดันและความตระหนักของประชาชนต่อผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM2.5 ทำให้รัฐบาลกำหนดให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมี ทส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562

                แต่ ธารา บอกว่า น่าเสียดาย สิ่งที่ไม่มีในแผนปฏิบัติการฯ นี้ เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 คือ ทีมเตรียมพร้อมรับมือภาวะฉุกเฉิน และระบบการสื่อสาร สาธารณะที่รวดเร็ว ฉับไว แม่นยำ เที่ยงตรง และเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและรอบด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องดูแลสุขภาพ ของตนและครอบครัวได้ทันท่วงที สิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอต่อสาธารณะ คือความ เพิกเฉยต่อปัญหา สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศ และโยนภาระมาให้ประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษี

                 สำหรับการปกป้องประชาชนจากผลกระทบฝุ่นพิษ PM2.5 ผอ.กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องปรับ มาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศของประเทศไทย ให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายชั่วคราวที่ 3 ของ WHO โดยที่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง คือ  35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีคือ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ.2563  ขณะเดียวกันเพื่อลดปริมาณฝุ่นพิษ PM 2.5 ใน สิ่งแวดล้อม รัฐบาลต้องเน้นมาตรการการลดการปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษ  จนถึงทุกวันนี้ยังไม่เคยมีกฎหมายกำหนดมาตรฐานการปล่อยฝุ่นพิษ PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก  ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมรถยนต์  โรงงานอุตสาหกรรมยังถูกควบคุมด้วยค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองรวม ทั้งที่ความเป็นพิษหรืออันตรายของฝุ่นแต่ละขนาดมีไม่เท่ากัน และการตรวจวัดก็ต่างกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในต้นตอสร้างฝุ่นขนาดเล็ก แต่ไม่ได้รับการพูดถึงเท่าไหร่ ทั้งที่ได้รับผลประโยชน์จากการประกอบกิจการ

                มาตรการลดปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 ในเมืองใหญ่ ธารา กล่าวว่า รัฐบาลต้องตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน นอกจากนี้ ให้นำพื้นที่จากหน่วยงานรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือเป็นหน่วยงานกลางเมืองที่ประชาชนไม่ได้ติดต่อเป็นประจำย้ายไปนอกเมืองและสร้างสวนธารณะขึ้นแทน มีงานวิจัยระบุมีพื้นที่สีเขียวมากพอจะลดปริมาณฝุ่นได้เฉลี่ยร้อยละ 7 - 24

                ส่วนการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จากภาคเกษตรกรรม ผอ.กรีนพีซ ประเทศไทย ชี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของอภิสิทธิชนและการส่งเสริมบทบาทกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษ ทางอากาศและการใช้สารเคมีการเกษตรร้ายแรงของประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไข มาตรการของรัฐบาลที่เพิ่งประกาศให้มีการลดการเผา จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ทั้งในแง่การใช้มาตรการที่เข้มงวดให้ ผู้ประกอบการไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผา ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างแรงจูงใจให้ เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยน การพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการเศษซาก ในระยะยาวต้องลดพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยว ทั้งข้าวโพดและอ้อย เพราะนอกจากผลตอบแทนจะต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นหลายเท่าตัวแล้ว ยังเกิดผลกระทบกว้างขวาง  วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้น ผลจากแรงกดดัน ทางสังคม รัฐบาลประกาศมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวออกมาอย่างต่อเนื่องส่วนใหญ่ไม่ได้ผล

    ทางออกจากวิกฤตนี้ ธารา ย้ำว่า  นอกจากการรับมือเฉพาะหน้าแล้ว ต้องอาศัยการทำงานในระยะยาว และเครื่องมือที่สำคัญคือ กฏหมาย  เช่น กฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก  ทั้งโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมหรือรถยนต์ ,การจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ , กฏหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม  หรือ EIA  ที่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของมลพิษในพื้นที่และผลกระทบข้ามพรมแดน , กฏหมายกำหนดระยะแนวกันชนระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับแหล่งชุมชน      หรือแม้แต่การดึงหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้แก้ปัญหามลพิษ ทั้งมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ การประกันความเสี่ยง

                ธารายังยกตัวอย่างความสำเร็จของประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐในการควบคุมปริมาณ PM2.5 จนมีค่าเฉลี่ยทั้งประเทศต่อปีต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และการปล่อยมลพิษทางอากาศ 6 ชนิดรวมกัน ( PM2.5, PM10, SO2, NOx, VOCs, CO and Pb) ลดลง ร้อยละ 74 ระหว่างปี  2513-2561 ในขณะที่จีดีพีเพิ่มขึ้นมาจากการออกแบบระบบกฏหมายสิ่งแวดล้อมมายาวนานและพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ต่อยอดจากฐานทางกฏหมายที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ถ้าไทยเริ่มต้นรื้ออุปสรรคเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่ถูกต้อง จะสามารถฝ่าวิกฤต มลพิษทางอากาศนี้ได้ เพื่อสุขภาวะที่ดีและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในสังคมไทย

                ด้าน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า  โลหะหนักในอากาศที่อยู่ใน PM 2.5 ที่เราหายใจเข้าไป ในช่วงที่เข้มข้นมากๆ จะมีผลทำลายสมองและระบบประสาท หากว่า เราได้รับเข้าไปในร่างกายบ่อยๆ  เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้น อยากเห็นพรรคการเมืองแต่ละพรรค พูดออกมาเลยว่า จะมีแนวทางอย่างไรที่จะให้อากาศของกรุงเทพฯ และของประเทศไทยสะอาดขึ้น ให้ประชาชนหายใจได้เต็มปอดและหายใจอย่างสบายใจได้ อยากให้ช่วยตอบด้วยว่า แต่ละพรรคจะทำอย่างไรกับมรดกทางกฎหมายหลายฉบับที่ คสช. ทำทิ้งไว้ จะมีการแก้ไขหรือไม่ หรือจะทำอย่างไรได้บ้าง เช่น คำสั่งตามมาตรา 44 หลายข้อ ที่ไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสิทธิของประชาชน รวมถึงกฎหมายหลายฉบับที่มีการเร่งให้ออกมาในขณะนี้ บางฉบับเป็นกฎหมายที่ดี แต่ฉบับที่เป็นปัญหาหรือจะเป็นปัญหาในวันข้างหน้า จะดำเนินการอย่างไร


                        เพ็ญโฉม ระบุว่า ประเทศไทยมีปัญหายังไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัด PM 2.5 ที่ปลายปล่อง แต่เป็นการตรวจวัดฝุ่นทุกขนาดโดยรวม อีกทั้งไม่มีกฎหมายกำหนดให้ติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นละออง กฎหมายที่มีอยู่กำหนดเฉพาะสำหรับโรงงานขนาดใหญ่บางประเภทเท่านั้น ที่ต้องตรวจวัดปลายปล่องและต้องมีการดักจับเพื่อลดการปล่อยฝุ่นสู่สิ่งแวดล้อม  ก่อนหน้านี้ ทางกรีนพีซพยายามเจรจากับกรมควบคุมมลพิษให้รวม  PM 2.5 เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศของ กทม. เพื่อให้มีการรายงานฝุ่น PM 2.5 ให้ประชาชนทราบ จนปี 2561 ก็มีการรวมค่า PM2.5 รายงานออกมา นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลว่าด้วยบัญชีรายชื่อมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเรายังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเราไม่มีบัญชีรายชื่อมลพิษ  จะไม่สามารถบอกได้เลยว่า ทุกวันนี้ฝุ่น PM 2.5 เกิดมาจากแหล่งไหนหรือเกิดจากอะไรบ้าง มีปริมาณเท่าไหร่ หน่วยงานราชการอาจมีการคำนวณเบื้องต้นว่า ประเทศไทยมีรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลกี่คัน รถยนต์จำนวนเท่านี้น่าจะก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เท่าไหร่

                บ้านเรามีการพัฒนาอุตสาหกรรมมาต่อเนื่อง แต่เราขาดข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศปล่อยอากาศเสียออกมาปริมาณเท่าไหร่ต่อปี ในอากาศเสียมีสารมลพิษอะไรบ้าง ทั้งที่สารมลพิษในอากาศหลายชนิด ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ด้วย ถ้าหากว่าโรงงานแต่ละโรงมีเครื่องมือตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ปลายปล่อง มีการรายงานข้อมูลนี้ให้หน่วยงานรัฐ และจัดทำเป็นฐานข้อมูล รัฐบาลจะบอกได้ว่า ระดับฝุ่น PM 2.5 มีมาก มีน้อย อย่างไร แต่ประเทศไทยยังไม่มีค่ามาตรฐาน PM 2.5 ปลายปล่องโรงงาน ดังนั้น การที่กระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า รัฐบาลได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่มีโรงงานไหนปล่อย PM 2.5 เกินมาตรฐานนั้น เราจึงมีคำถามว่า เทียบจากมาตรฐานอะไร

                "  ฝุ่น PM 2.5 หรือแม้กระทั่งปัญหามลพิษทางอากาศ จะอยู่กับประเทศไทยไปอีกนาน เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขง่ายๆ ยิ่งรัฐบาลมุ่งส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมและขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่สมดุลอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในวันข้างหน้า " เพ็ญโฉม กล่าวสถานการณ์มลพิษทางอากาศในไทยมีแต่จะทำลายสิ่งแวดล้อมและบั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชาชน
 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"