ศาลรับฟ้อง ผกก.สส.จชต.ภาค 9 ฟ้อง 'บิ๊กโจ๊ก' ข้อหาเบิกความเท็จ


เพิ่มเพื่อน    

31 ม.ค. 63 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ศาลอาญานัดฟังคำสั่งชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ในคดีหมายเลขดำที่ 2699/2552 พ.ต.อ.กฤษณะพงศ์ กัญจน์ชัยกิจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นจำเลย ในความผิดฐานฟ้องเท็จ เบิกความเท็จ

คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ปัจจุบันโจทก์เป็นตำรวจ ตำแหน่งผู้กำกับ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.จชต.) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 ก.ค.2554 จำเลยกระทำผิดอาญาโดยเจตนานำคดีอาญามาฟ้องโจทก์อันเป็นเท็จต่อศาลอาญา ในข้อหาหรือฐานความผิด ร่วมกันก่อ ใช้ สั่งการ ก่อ ใช้ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยจำเลยได้บรรยายฟ้องกล่าวหาโจทก์ว่า โจทก์กับพวก 12 คน (โจทก์เป็นจำเลยที่ 11) ได้ร่วมกัน สมคบกัน สั่งการ ก่อ ใช้ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด ได้บังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมาย” เรียกรับเงินส่วยจากร้านคาราโอเกะ เเละซ่อนเร้นและให้ความช่วยเหลือ นายเขตสยาม เนาวรังสี จำเลยตามหมายจับศาลจังหวัดนครพนม ในช่วงที่ศาลจังหวัดนครพนมได้ออกหมายจับเป็นเหตุ ยังมีการพูดจาใส่ร้ายโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยได้บอกแก่นายเขตสยามว่าจะถูกโจทก์อุ้มไปฆ่า จากการให้ข้อมูลกล่าวหาโจทก์ อันเป็นหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ ทำให้ผู้อื่นรู้สึกหวาดกลัว ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง มองโจทก์เป็นคนไม่ดี เป็นคนชั่ว

ซึ่งความจริง การที่นายเขตสยามร้องขอความเป็นธรรมเอง เนื่องจากนายเขตสยามเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลร้านคาราโอเกะ ชื่อ”ร้านโบว์ลิ่งเบียร์” โดยมีหลักฐานว่าเคยถูกจับกุมดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่อเดือน พ.ย. 2553 และเคยเบิกความที่ศาลจังหวัดนครพนม ในคดีจำเลยได้ฟ้องดำเนินคดีอาญากับนายเขตสยาม ข้อหาหมิ่นประมาทว่าเป็นผู้ประกอบการร้านคาราโอเกะดังกล่าวจริงและเป็นผู้ร้องเรียน ซึ่งการร้องเรียนไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบ.ช.ก.) และได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรธาตุพนม จังหวัดนครพนมนั้น เนื่องจากนายเขตสยามได้รับความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจริง โจทก์ไม่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดกับนายเขตสยามแต่อย่างใด และเป็นสิทธิโดยชอบธรรมที่จะร้องขอความเป็นธรรมที่ได้รับความเดือดร้อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาความเดือดจากกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ นายเขตสยามได้โทรศัพท์มาหาโจทก์ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่นายเขตสยามได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนถึง ผบ.ตร. และ ผบ.ช.ก. ด้วยตนเองแล้ว

โจทก์กับนายเขตสยามไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แจ้งว่าได้รับคำแนะนำจากนายดาบตำรวจสิทธิศักดิ์ หรือดาบโจ เสียงเย็น ซึ่งรับราชการอยู่ที่เดียวกันคือ กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ให้ปรึกษาถึงเหตุการณ์ที่ได้ไปร้องเรียน พันตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล จำเลย เนื่องจากไม่พอใจที่พูดจาไม่ดีและเรียกเก็บส่วยเพิ่มขึ้นทุกเดือน อีกทั้งได้เล่ารายละเอียดให้ฟังว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขู่ว่าทำร้าย ทำให้นายเขตสยามมีความหวาดกลัว เมื่อโจทก์ได้รับรู้เรื่องราวจากคำบอกกล่าวของนายเขตสยามเช่นนั้น จึงเห็นว่าโจทก์เป็นข้าราชการตำรวจและรับผิดชอบภารกิจป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ มีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของข้าราชตำรวจผู้ที่ตนไปร้องเรียนกล่าวหาว่า ประพฤติปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงแนะนำว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงก็ให้ระมัดระวังตัวอาจเกิดอันตรายได้ ซึ่งเป็นการแนะนำโดยทั่วไปตามวิสัยของวิญญูชนที่ได้รับทราบเรื่องราวแล้วเกิดความเป็นห่วงเป็นใยกันเท่านั้น ไม่ได้พูดคุยเรื่องอื่นนายเขตสยามก็วางโทรศัพท์ไป หลังจากนั้นโจทก์ได้สอบถามจากดาบตำรวจสิทธิศักดิ์หรือดาบโจ เสียงเย็น ถึงเหตุการณ์ที่ได้รับทราบจากการบอกเล่าของนายเขตสยามก็ได้รับแจ้งจากดาบตำรวจสิทธิศักดิ์ว่าเป็นความจริง

ส่วนที่กล่าวอ้างในฟ้องว่า “โจทก์ปกปิดซ่อนเร้นและให้ความช่วยเหลือนายเขตสยาม จำเลยตามหมายจับศาลจังหวัดนครพนม ในช่วงที่ศาลจังหวัดนครพนมได้ออกหมายจับเป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย จากกรณีมีพฤติการณ์หลบหนีที่จำเลยได้ยื่นฟ้องนายเขตสยาม โดยมีนายเขตสยามให้ถ้อยคำยืนยันในบันทึกคำให้การที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรธาตุพนม จังหวัดนครพนม ว่าโจทก์เป็นผู้ให้ดูแลนายเขตสยาม และในช่วงที่หลบหนีไปอยู่ประเทศลาว นายเขตสยามติดต่อกับคนที่โจทก์ให้ดูเเลตลอดเวลา”นั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์เพียงแค่ได้เคยพูดคุยกับนายเขตสยาม เมื่อครั้งที่นายเขตสยามโทรศัพท์มาภายหลังจากไปยื่นหนังสือร้องเรียนเท่านั้น โจทก์ไม่เคยเดินทางไปประเทศลาวหรือให้ความช่วยเหลือนายเขตสยาม

ประเด็นที่จำเลยอ้างว่า ได้ดุด่าว่ากล่าวโจทก์ในเรื่องการทำงาน จนเกือบจะถูกจำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง จากกรณีเกียจคร้านละเลยไม่รับผิดชอบงานในหน้าที่นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะก่อนหน้านั้นในรอบปี 2552 โจทก์ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี ว่าเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่น สมควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ข้าราชการตำรวจ และในรอบปี พ.ศ.2553 หากมีการกล่าวหาโจทก์ว่าเกียจคร้านจริงก็ต้องถูกดำเนินการทางวินัย แต่โจทก์ก็ไม่เคยถูกดำเนินการทางวินัยดังกล่าวแต่อย่างใด

ซึ่งจำเลยฟ้องโจทก์ด้วยเอกสารอันเป็นเท็จ ที่มุ่งใส่ร้ายกลั่นแกล้งโจทก์ ให้ถูกดำเนินคดีอาญา และรู้ว่าไม่มีความผิดเกิดขึ้น จัดวางรูปแบบในหนังสือกล่าวหาโจทก์ เพื่อมุ่งมีเจตนาให้โจทก์ได้รับโทษทางอาญาและทางวินัย แต่ความจริง โจทก์มิได้กระทำความผิดอาญาโดยได้ร่วมกัน สมคบกัน สั่งการ ก่อ ใช้ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับจำเลยอื่นตามคำฟ้องของจำเลยแต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มิได้ร่วมกันสมคบ สั่งการ ก่อ ใช้ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใด แต่อย่างใด และเป็นการฟ้องโจทก์อันเป็นเท็จต่อศาลโดยไม่มีมูลกระทำความผิดอาญาตามข้อกล่าวอ้างของจำเลย การฟ้องเท็จของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติยศ ส่งผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้า ต่อตำแหน่งหน้าที่การงานในการรับราชการ

”การบรรยายฟ้องดังกล่าวเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดในข้อหาหรือฐานความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จในการปฏิบัติหน้าที่ ตามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162
การกล่าวอ้างในคำฟ้องของจำเลยนั้นเป็นกล่าวอ้างทำให้โจทก์เสียหายและทำให้คำฟ้องดูน่าเชื่อถือมากขึ้น อาจทำให้ศาลเชื่อว่าโจทก์ได้มีพฤติการณ์ดังกล่าวจริง

เเละวันที่ 25 ธ.ค.2555 เวลากลางวัน จำเลยมีเจตนาเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อศาลอาญาหมายเลขคดีดำที่ อ.2826/2554 มีข้อความว่า

“จำเลยได้ถูกข้าฯ ดุด่าว่ากล่าว จนเกือบจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงจากกรณีเกียจคร้าน ละเลยไม่รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย จึงเชื่อว่า เหตุดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 11 (โจทก์) และ 12 ไม่พอใจข้าฯ จึงสมรู้ร่วมคิดกันกับนายเขตสยาม โดยการพานายเขตสยามไปพบจำเลยที่ 3 ที่สำนักงานจเรตำรวจ และจำเลยที่ 11, 12 ยังสมรู้ร่วมคิดกันจัดทำหนังสือกล่าวหาข้าฯ ในฉบับต่างๆ ที่มีการใช้ข้อความในลักษณะเดียวกัน อันเป็นการบิดเบือนเพื่อกล่าวหาข้าฯ กับพวก “ และ “ช่วงเวลาที่ข้าฯ ฟ้องนายเขตสยามต่อศาลจังหวัดนครพนม ปรากฏว่านายเขตสยามหลบหนี นอกจากพฤติการณ์หลบหนีในครั้งแรก นายเขตสยามได้ให้ถ้อยคำยืนยันในบันทึกคำให้การของผู้กล่าวหาว่า ในช่วงที่ตนเองหลบหนีไปอยู่ประเทศลาวได้ติดต่อกับจำเลยที่ 12 ตลอดเวลา ทั้งยังติดต่อกับจำเลยที่ 11 (โจทก์ในคดีนี้) ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 11 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 12 (นายหรือนายดาบตำรวจสิทธิศักดิ์ เสียงเย็น) และเคยให้จำเลยที่ 12 ไปดูแลนายเขตสยาม””

การเบิกความต่อศาลอาญาดังกล่าวเป็นการเบิกความอันเป็นความเท็จทั้งสิ้น และเป็นการเบิกความใส่ร้ายโจทก์ในลักษณะที่เบิกความต่อศาลให้เห็นว่า โจทก์ได้กระทำความผิดอาญาข้อหาหรือฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จในการปฏิบัติหน้าที่ ตามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 แต่ความจริงนั้น โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่อยู่ในกรอบของกฎหมายและคำสั่งของผู้บังคับบัญชาการ

ซึ่งการเบิกความเท็จของจำเลยดังกล่าวเป็นสาระสำคัญในคดี ศาลอาจมีสั่งว่าคดีของจำเลยมีมูลและประทับรับฟ้อง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายถูกดำเนินคดีอาญา และต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี รวมทั้งอาจมีผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการตำรวจของโจทก์ต่อไปในอนาคตได้ ส่วนกรณีที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อศาลอาญาตามคำให้การพยานของจำเลย

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 2826/2554 ศาลอาญาได้มีคำสั่งว่าฟ้องของโจทก์ในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ข้อหาความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จ และข้อหาหมิ่นประมาทจำเลยนั้น ฟังไม่ได้ว่าโจทก์จะได้กระทำความผิดตามที่จำเลยระบุในฟ้อง ฟ้องโจทก์กรณีดังกล่าวจึงไม่มีมูล หลังจากนั้นจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญา ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2557 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์กับพวก และคดีถึงที่สุดแล้ว เหตุตามฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นที่ศาลอาญา แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย เนื่องจากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีเอง

โดยภายหลังไต่สวนมูลฟ้องเเล้ว ศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้อง เเล้วนัดพร้อมสอบคำให้การในวันที่ 30 มี.ค. นี้ เวลา 13.30 น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"