ชื่นมื่นถกBRN นัดต้นมีนาคม เจรจาอีกรอบ!


เพิ่มเพื่อน    

 “วัลลภ” เจรจา “บีอาร์เอ็น” ครั้งแรกบรรยากาศชื่นมื่น แม้ยังไม่มีข้อเสนอ เผยเหตุไม่สานต่อคุย “มาราปาตานี”  เพราะ BRN มีอิทธิพลที่สุด เชื่อเป็นตัวจริง คุยครั้งต่อไปต้น มี.ค. 

        เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มกราคม พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงผลความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเมื่อวันที่ 20 ม.ค. คณะพูดคุยฯ พร้อมผู้แทนทั้ง 6 คนจาก สมช., กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้พบปะพูดคุยร่วมกับคณะผู้แทนของกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ที่นำโดยนายอานัส อับดุลเราะห์มาน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีตันซรี อับดุล ราฮีม มูฮัมหมัดนูร์ ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก
    พล.อ.วัลลภกล่าวว่า การพูดคุยครั้งนี้เป็นเจตจำนงร่วมกันที่ต้องการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี มีการออกแบบการพูดคุยและยอมรับกันว่าจะใช้รูปแบบนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ใช้เวลาร่วมกันในการทำความรู้จัก และรับทราบกรอบแนวทางการทำงานร่วมกันในระยะต่อไป รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการพูดในช่วงต่อไปให้มีความก้าวหน้าและต่อเนื่อง บรรยากาศเป็นไปเชิงสร้างสรรค์ ทั้ง 2 ฝ่ายมีท่าทีที่ดีในการที่จะร่วมมือกันต่อไป
    พล.อ.วัลลภแถลงอีกว่า การสร้างสันติสุขที่ยั่งยืน เกิดจากพูดคุยจากผู้มีความเห็นที่แตกต่าง โดยใช้แนวทางสันติวิธี ทั้งรับฟังความคิดเห็นและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เราจะใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการผลักดันกระบวนการพูดคุยสันติสุขนำมาสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายคือสร้างสันติสุขและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 
“การพูดคุยครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ขอบคุณทางฝ่ายมาเลเซียที่มีความพยายามนำกลุ่มเหล่านี้มาพูดคุยกับฝ่ายไทย ยืนยันว่าการพูดคุยเราจะใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ตกผลึกในแนวความคิด หรือกระบวนการที่เราจะไปตกลงหรือหารือ ขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ เพราะกระบวนการอาจมีอุปสรรคมากมายเหมือนที่เรามีประสบการณ์มาแล้ว บางทีการพูดคุยไปไม่ถึงไหนก็ล้มเลิก จึงอยากให้การพูดคุยครั้งนี้เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องยาวนาน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย”
    ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นที่มาร่วมพูดคุยทุกครั้งมักถูกถามเสมอว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า เขาแนะนำตัวในที่ประชุมว่าเป็นผู้นำหัวหน้าคณะพูดคุยจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ดังนั้นการที่เขาแนะนำตัวเองเช่นนี้ และคำยืนยันจากมาเลเซีย จึงค่อนข้างมั่นใจ เราคิดว่าเป็นอย่างนั้น
    เมื่อถามว่าเมื่อบีอาร์เอ็นเข้ามาแล้ว กลุ่มมาราปาตานียังอยู่ในกระบวนการพูดคุยหรือไม่ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า เบื้องต้นเรายังพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้ามีส่วนร่วม เราต้องการพูดคุยกับทุกกลุ่มทุกฝ่าย ในระยะต่อไปอาจเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มมาราปาตานีเข้ามาร่วมพูดคุย
    ถามต่อว่า การพูดคุยครั้งนี้ถูกมองกลับว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ เพราะกลับมาคุยกับบีอาร์เอ็นอีกครั้ง พล.อ.วัลลภตอบว่า ถือว่าเป็นความต่อเนื่องจากครั้งแรกที่ได้ประชุมกัน คือกลุ่มบีอาร์เอ็น และเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มมาราปาตานี และกลับมาเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งแล้วแต่แนวทางและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ครั้งนี้เขาก็เปลี่ยนตัวคนรุ่นใหม่เข้ามา ซึ่งมาเลเซียได้มั่นใจว่าเป็นผู้ที่เป็นตัวจริงเข้ามาพูดคุย
    ถามอีกว่า การพูดคุยครั้งนี้ได้มีการยื่นข้อเสนอหรือไม่ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า มีการพูดคุยตามกรอบแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติสุข ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการต่างๆ แต่ยังไม่มีการยื่นข้อเสนอต่อจากการพูดคุยครั้งที่แล้ว เพราะยังเป็นเพียงการพบปะสร้างบรรยากาศที่ดี สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและคุ้นเคยกัน
    เมื่อถามถึงปัจจัยที่เราต้องเลือกคุยกับบีอาร์เอ็นมากกว่าสานต่อกับกลุ่มมาราปาตานี พล.อ.วัลลภกล่าวว่า เราอยากพูดกับที่มีอิทธิพลในพื้นที่ ซึ่งบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุด ส่วนหนึ่งในกลุ่มมาราปาตานีก็มีตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วย ทั้งนี้ แกนนำคนก่อนๆ ของบีอาร์เอ็นที่พูดคุยก็อยู่กลุ่มบีอาร์เอ็น แต่อาจเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทในกระบวนการ
    ถามต่อว่า จะดึงนักการเมือง หรือ ส.ส.ในพื้นที่เข้าร่วมวงพูดคุยในกระบวนการหรือไม่ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า เราต้องการความมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจากทั้งภาคประชาชนและนักการเมือง เพื่อให้ความคิดตกผลึกและนำไปหารือต่อไป
    เมื่อถามถึงข้อเสนอของนายกฯ มาเลเซียให้ไทยเปิดใจรับข้อเสนอให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถพูดคุยกันได้หรือไม่ พล.อ.วัลลภกล่าวว่า เราจะเปิดใจรับฟังแล้วมาพิจารณาดู ทั้งนี้ ถือเป็นบรรยากาศที่ดีที่พูดคุยระหว่างกัน ยืนยันว่าหลักการของเรายังคงเดิม การเริ่มต้นพูดคุยครั้งนี้แสดงว่าทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมยอมรับข้อคิดเห็นข้อแตกต่างของกันและกัน ถ้าเรารักษาบรรยากาศอย่างนี้ไปได้ เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี โดยการพูดคุยครั้งต่อไปมีขึ้นในต้นเดือน มี.ค.นี้
      วันเดียวกัน ณ ห้องประชุม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ให้การต้อนรับ พล.อ.จีรศักดิ์ ชมประสพ รองประธานคณะกรรมาธิการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา พร้อมคณะ ในโอกาสลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศึกษาดูงานพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  
    สำหรับการประชุมในครั้งนี้ กมธ.ได้รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ถึงผลการดำเนินงานด้านการพัฒนา และด้านงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, แนวทางการดำเนินงานด้านการศึกษาเพื่อความมั่นคงของศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) รวมทั้งแนวทางการทำงาน สถิติของสถานการณ์ ผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานข่าวกรองแห่งชาติ ภาค 5 นอกจากนี้ กมธ.ได้ร่วมปรึกษาหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะได้นำไปวิเคราะห์และเป็นข้อมูลเพื่อนำไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"