โพลไล่ส.ส.เสียบบัตรพ้นเก้าอี้


เพิ่มเพื่อน    

  นิด้าโพลเผย เสียงประชาชนให้ไล่ตะเพิด ส.ส.ฉาว เสียบบัตรแทนกันลาออกไปได้แล้ว เหตุเป็นการกระทำที่ไร้จิตสำนึก พลังประชารัฐชี้เปรี้ยง ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ฉบับช่วยกันเสียบ ไม่โมฆะทั้งฉบับ ยกคําวินิจฉัยศาล รธน.ปี 2551 เทียบเคียง 

    นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้กังวล เพราะเคยคิดว่างบประมาณจะได้ใช้แบบเต็มรูปแบบภายในเดือน ก.พ. แต่เมื่อเกิดปัญหาที่มีผู้ร้องว่ามี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันในวันลงมติ จึงต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด อาจใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง และเนื่องจากไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 เป็นการใช้จ่ายงบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายรายจ่ายประจำและโครงการที่มีความต่อเนื่อง ดังนั้นรัฐบาลอาจต้องขยายวงเงินเบิกจ่ายจากที่ไตรมาสแรกที่เรามีเพดาน 30% ดังนั้นควรจะให้สามารถเบิกจ่ายเงินได้ก่อนเพิ่มเป็น 60-65% โดยควบระหว่างไตรมาสที่ 1 และ 2 ใช้ไปก่อน น่าจะพอสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ เพราะเป็นเหตุการณ์จำเป็น ซึ่งตนคิดว่าหากนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมคงจะเห็นด้วยอยู่แล้ว เชื่อว่าทุกฝ่ายจะเห็นด้วย ไม่ว่าจะฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพราะมีปัญหาเดือดร้อนกันหมด เราต้องช่วยกันรับผิดชอบร่วมกัน เรื่องนี้ควรต้องออกมาโดยเร็ว ขอวิงวอนขอศาลรัฐธรรมนูญ เร่งแก้ปัญหาให้จบโดยเร็ว บ้านเมืองจะได้ไม่ต้องเกิดความวุ่นวาย ขอให้ศาลท่านเป็นพระเอกช่วยแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด 
    ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวเช่นกันว่า คำวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ 2563 น่าจะสอดคล้องกับแนวของคําวินิจฉัยที่ 8 /2551 วันที่ 8 ก.ค.2551 เรื่องนายกรัฐมนตรีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติสํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ซึ่งแม้ว่าคดีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.… ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นอันตกไปก็ตาม แต่เหตุที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตกไป ปรากฏในคำวินิจฉัยที่ 8/2551 มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าประชุมเพียง 50 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น คือ 121 คน จึงมีจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ครบองค์ประชุม และถือว่าการประชุมเพื่อลงมติในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการเป็นการประชุมโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 126 วรรคหนึ่ง 
    นายไพบูลย์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 126 วรรคหนึ่ง คือการกำหนดจำนวนของสมาชิกสภาที่มีจำนวนมากเพียงพอที่จะมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแสดงเจตนาในลักษณะของมติที่ประชุมในการพิจารณาร่างกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการประชุมสภาที่ใช้อยู่ในนานาประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีบทบัญญัติว่าด้วยองค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้มีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาจึงจะเป็นองค์ประชุม เพื่อให้การประชุมพิจารณาตรากฎหมายนั้นเป็นไปอย่างรอบคอบในการพิจารณาทุกวาระ
    นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดองค์ประชุมไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภา ย่อมมีความหมายว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม จะถือว่าเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยองค์กรสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ และหากมีการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ครบองค์ประชุม จะถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรที่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่ได้
    "การยื่นคำร้องกรณี ส.ส.มีการใช้บัตรแสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม ข้อเท็จจริงมีจำนวนเพียง 2-3 เสียงเท่านั้น แม้การออกเสียงดังกล่าวจะไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีผลใดๆ ที่จะทำให้การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ไม่ครบองค์ประชุม จึงเห็นว่าด้วยแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 8/2551 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 ซึ่งตราขึ้นโดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกเสียงลงคะแนนครบองค์ประชุมและการลงมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 120 ทั้งวาระ 2 และ 3 จึงเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ" นายไพบูลย์กล่าว 
    วันเดียวกันนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค.2563 จากประชาชน 1,254 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับกรณี ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 
    ผลสำรวจพบว่า เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข่าว ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.14 ระบุว่าเป็นการกระทำที่ไร้จิตสำนึกของ ส.ส. รองลงมา ร้อยละ 13.56 ระบุว่าเป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นบ่อย, ร้อยละ 9.81 ระบุว่าเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจประเทศ หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณต้องตกไป 
    ส่วนร้อยละ 5.18 ระบุว่าเป็นเรื่องของความประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของ ส.ส., ร้อยละ 2.31 ระบุว่าเป็นเรื่องของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ต้องการแก้แค้นที่สอบตก ส.ส.พัทลุง และร้อยละ 0.96 ระบุอื่นๆ ได้แก่ เป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ 2560
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงผู้ที่ควรรับผิดชอบต่อกรณี ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 45.85 ระบุว่า ส.ส.ที่มีส่วนร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ควรลาออกจากตำแหน่ง รองลงมา ร้อยละ 19.62 ระบุว่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรร่วมรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง, ร้อยละ 19.54 ระบุว่า สภาควรมีมติขับไล่ ส.ส. ที่มีส่วนร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ให้ออกจากตำแหน่ง, ร้อยละ 11.96 ระบุว่า ส.ส.ที่มีส่วนร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ควรเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต 
    นอกจากนี้ พบว่า ร้อยละ 11.56 ระบุว่าพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ควรร่วมรับผิดชอบด้วยการถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล, ร้อยละ 10.13 ระบุว่า ส.ส.ที่มีส่วนร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ต้องจ่ายค่าเสียหายให้รัฐ ที่ทำให้การใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องล่าช้าออกไป 
    นอกจากนี้ ร้อยละ 9.01 ระบุว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล ควรร่วมรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ร้อยละ 8.61 ระบุว่า พรรคการเมืองที่มี ส.ส.ร่วมในการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ต้องจ่ายค่าเสียหายให้รัฐ ที่ทำให้การใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องล่าช้าออกไป 
    ส่วนร้อยละ 1.99 ระบุว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ,  ร้อยละ 2.39 ระบุอื่นๆ ได้แก่ นายชวน หลีกภัย ควรร่วมรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภาไทย ขณะที่บางส่วนระบุว่า คณะรัฐบาลควรร่วมรับผิดชอบด้วยการยุบสภา และร้อยละ 10.13 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"