คุก‘ประสิทธิ์’ชิงเสื้อเกราะ ตู่แฉนักการเมืองลืมเพื่อน


เพิ่มเพื่อน    

 "จ่าประสิทธิ์" นอนคุก หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คุก 2 ปีไม่รอลงอาญา คดีครองเสื้อเกราะช่วงหลังสลายการชุมนุม นปช. 10 เม.ย.2553 ต้องรอศาลฎีกาสั่งให้ประกันตัวหรือไม่ต่อไป  ขณะที่ "จตุพร" ยกคณะเสื้อแดงเยี่ยมแกนนำ นปช.ที่ต้องโทษคดีล้มการประชุมอาเซียนซัมมิต เผยนักการเมืองมาเยี่ยมน้อยมาก

    เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ห้องพิจารณา 901 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.1937/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ฟ้อง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อายุ 53 ปี อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และแนวร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 15, 42 และรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
     กรณีเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2553 เจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถจำเลย พบมีเสื้อเกราะกันกระสุนและหมวกนิรภัยปราบจลาจล ซึ่งเป็นเครื่องยุทธภัณฑ์โดยมิได้รับอนุญาต ที่สูญหายไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. และขณะที่ ส.อ.ชนะยุทธ คมสาคร สังกัดกองทัพภาค 1 กำลังปฏิบัติหน้าที่ ได้มีคนร้ายมากกว่า 3 คนขึ้นไปร่วมกันใช้คันธงยาว 1 เมตร ตีประทุษร้ายและแย่งชิงหมวกนิรภัยปราบจลาจล ราคา 3,745 บาท ที่ ส.อ.ชนะยุทธครอบครองที่ศีรษะไปโดยทุจริต เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย เหตุเกิดที่แขวง-เขตดุสิต กทม. และที่อื่นเกี่ยวพันกัน โดยจำเลยให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว
     ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2561 ให้จำคุก จ.ส.ต.ประสิทธิ์ จำเลย ฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 เป็นเวลา 1 ปี และจำคุกฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 เป็นเวลา 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
    วันนี้ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ จำเลย เดินทางมาศาลพร้อมภรรยา
    ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารได้ตรวจสอบพบของกลางเสื้อเกราะและหมวกนิรภัยปราบจลาจลในที่เก็บของใต้กระโปรงรถยนต์ของจำเลย ขณะจำเลยขับรถไปบนถนนวิทยุและถูกเรียกตรวจค้น ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อสู้ประเด็นไม่รู้ว่าของกลางมาอยู่ท้ายรถได้อย่างไร จำเลยไม่มีเจตนาครอบครองนั้น จำเลยเบิกความว่าขณะปราศรัยบนเวที คนขับรถซึ่งเป็นญาติของจำเลยได้ขึ้นไปบอกจำเลยให้จำเลยประกาศหาเจ้าของเสื้อเกราะและหมวกนิรภัยปราบจลาจล เมื่อจำเลยลงเวทีได้รับแจ้งจากหญิงคนเสื้อแดงว่ามีทหารเคลื่อนพล จำเลยจึงขับรถออกไปดูทหารเคลื่อนพล เมื่อทหารตรวจพบของกลางในรถ จำเลยให้การไม่ทราบว่าของกลางอยู่ท้ายรถได้อย่างไร ภายหลังการ์ด นปช.ถามหา จำเลยบอกทหารยึดไปแล้ว และทราบภายหลังว่าการ์ด นปช.นำของกลางไปเก็บไว้ท้ายรถ
    ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยเขียนคำให้การเพิ่มเติมภายหลัง เป็นพิรุธเสริมแต่งคำให้การในชั้นสอบสวน และไม่ได้ให้พนักงานสอบสวนสอบคำให้การของการ์ด นปช. ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการ์ด นปช.ถูกคุมขัง จึงไม่สามารถนำไปสอบคำให้การได้นั้น เห็นว่าพนักงานสอบสวนไปสอบคำให้การจำเลยที่ถูกคุมขังที่เรือนจำได้ หากจำเลยประสงค์ให้พนักงานสอบสวนไปสอบคำให้การของการ์ด นปช.ก็ทำได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
    ประเด็นพยานการ์ด นปช.เบิกความในชั้นศาลว่าเห็นฝากระโปรงรถยนต์ของจำเลยเปิดแง้มไว้ จึงนำของกลางไปเก็บ ถือเป็นการผิดวิสัยของคนทั่วไป ที่ต้องล็อกกระโปรงรถยนต์ไว้เสมอ จำเลยเป็นแกนนำชุมนุมยิ่งต้องระมัดระวัง เพราะอาจมีฝ่ายตรงข้ามนำของอะไรมาใส่ได้ คำเบิกความไม่มีน้ำหนักรับฟัง ส่วนที่จำเลยปราศรัยหาเจ้าของของกลาง แม้จำเลยมีพยานเบิกความสนับสนุน แต่เป็นญาติ คนสนิทสนม อดีตเพื่อนร่วมงาน และเจ้าของรถเวที ซึ่งเป็นไปได้ในการเบิกความช่วยจำเลยไม่ให้รับผิด รวมถึงคำเบิกความมีความขัดแย้งกันเอง พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ ส่วนข้อหารับของโจร ศาลอุทธรณ์เห็นว่าของกลางเป็นทรัพย์สินที่ผู้ชุมนุม นปช.แย่งชิงจากเจ้าหน้าที่ผู้เสียหาย จำเลยเป็นแกนนำการชุมนุมและอดีตข้าราชการตำรวจ จำเลยย่อมรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการทำความผิด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย
     ประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีนี้มาจากการชุมนุมทางการเมือง แต่การที่ผู้ชุมนุมไปล้อมทหารที่กองทัพภาคที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดขวางเจ้าหน้าที่ เกิดการปะทะกัน มีการกระชากหมวกของผู้เสียหาย แย่งชิงทำร้ายผู้เสียหาย ขณะมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน มีทหารถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส หาใช่มีแต่ผู้ชุมนุมฝ่ายเดียว จึงไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ สันติ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่จำเลยมีหมวกนิรภัยไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันตัวอย่างเดียว ไม่มีเหตุรอการลงโทษ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน จำคุกจำเลย 2 ปี ไม่รอลงอาญา
     หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น จ.ส.ต.ประสิทธิ์ จำเลย เปิดเผยว่า จะขอสู้คดีในชั้นฎีกาต่อ โดยเตรียมหลักทรัพย์มา 7 แสนบาท เพื่อขอประกันตัว แต่หากการยื่นประกันสุดท้ายแล้วจะต้องส่งให้ศาลสูงพิจารณาคำร้อง แล้วส่งผลให้วันนี้ตนอาจต้องเข้าเรือนจำก่อน ตนก็ทำใจไว้แล้ว
    ต่อมา จ.ส.ต.ประสิทธิ์ จำเลย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เดิมจำนวน 2 แสนบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา มีคำสั่งประกันตัวต่อไป ดังนั้นจากนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็จะนำตัว จ.ส.ต.ประสิทธิ์ไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างรอคำสั่งเรื่องการประกันตัวจากศาลฎีกาต่อไป คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ศาลฎีกาจึงจะมีคำสั่งลงมา 
    วันเดียวกัน ที่เรือนจำพิเศษพัทยา นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมแกนนำ นปช. อาทิ นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย, นายสำเริง ประจำเรือ, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นายสิงห์ทอง บัวชุม, นายศักดา นพสิทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อชาติ  และนายพงษ์พิเชฐ สุขจินดาทอง ที่ต้องโทษคดีการเมืองจากคำพิพากษาศาลฎีกากรณีร่วมกันชุมนุมและขัดขวางการประชุมอาเซียนซัมมิต ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2552 
    นายจตุพรกล่าวภายหลังเข้าเยี่ยมว่า ทุกคนมีสุขภาพดี น้ำหนักลดบ้างเล็กน้อย และปรับตัวได้เป็นอย่างดี ส่วนนายพายัพ ปั้นเกตุย้ายไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากมีคดีอยู่ที่กรุงเทพฯ ตนได้ให้กำลังใจในฐานะที่เคยผ่านการติดคุกมาถึง 4 ครั้ง พร้อมสอบถามว่ามีใครมาเยี่ยมบ้าง ก็ทราบว่าส่วนใหญ่เป็นมวลชนคนเสื้อแดงและพี่น้อง นปช. ส่วนนักการเมืองมีมาเยี่ยมน้อยมาก ทั้งที่ นายวรชัย เหมะ และอีกหลายคนเป็นอดีต ส.ส. ก็ได้บอกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือยังมีพี่น้องเราอีกหลายเรือนจำที่ถูกจองจำ ทั้งที่อุบลราชธานี  อุดรธานี กรุงเทพมหานคร ที่รับชะตากรรมอยู่ขณะนี้ เพียงแต่หวังว่าพี่น้องเหล่านี้จะได้รับอิสรภาพโดยเร็ว เพระทั้งหมดเป็นเรื่องของชะตากรรม ดังนั้นบรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้ ฝ่ายที่ต่อสู้กันมาในช่วงกว่า 10 ปีคดีก็อยู่ในศาลกันทุกฝ่าย ทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ นปช. และ กปปส. เพียงแต่ของ นปช.จะเข้าคุกมากกว่ากลุ่มอื่น 
    ส่วนคดีที่เหลือของกลุ่มต่างๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี รวมถึงคดีของ นปช.ก็ยังอยู่ในศาลหลายคดี ซึ่งเป็นห่วงเวลาที่กระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีกับทุกฝ่าย โดยทั้ง 3 กลุ่มคดีสูงสุดมีโทษประหารชีวิตทั้งสิ้น
    นายจตุพรกล่าวด้วยว่า มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่ร่วมต่อสู้กันมา ก็มีความเข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ความขัดแย้งก็เป็นเรื่องของอดีต ส่วนเรื่องปัจจุบันและอนาคตนั้นเป็นเรื่องการทำความเข้าใจกัน ดังนั้นสิ่งที่จะต้องเดินหน้ากันต่อไปคือการอดทนรอวันที่เพื่อนๆ พี่น้องได้รับอิสรภาพ พร้อมเชิญชวนพี่น้อง ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดใดหรือภูมิภาคใด หากมีโอกาสก็มาเยี่ยมได้ทั้งที่เรือนจำพิเศษพัทยา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำอุบลราชธานี เรือนจําอุดรธานี เรือนจำมุกดาหาร และจังหวัดอื่นใดก็ตามที่ยังมีพี่น้องเสื้อแดงอยู่ ก็หมั่นมารดน้ำดูแลหัวใจกันเพราะอยู่ในคุกมีกำลังใจเป็นที่ตั้ง เพื่อให้กินได้ นอนหลับ ทำให้ระบบร่างกายเป็นปกติ แต่หากสูญสิ้นกำลังใจ ทุกอย่างก็รวนไปหมด ดังนั้นไม่อยากให้พี่น้องเราลืมกันว่ายังมีพี่น้องเราอยู่ในเรือนจำอีกจำนวนมาก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"