สามมิตรเขย่าซักฟอก 40ส.ส.โชว์พลังห้ามแตะโควตารมต./เคาะอภิปราย24-26ก.พ.


เพิ่มเพื่อน    

 “ชวน” ชี้ชัดไม่แก้ไขญัตติซักฟอก อ้างไม่ทราบข้อความใดเป็นเท็จ ให้ไปว่ากันตอนอภิปราย คอนเฟิร์มวันซักฟอก 24-26 ก.พ. เริ่ม 13.30 น. หากไม่จบขยายถึง 27 ก.พ. "วิษณุ" ยอมรับข้อกล่าวหารุนแรง โวรัฐบาลไม่สนิมสร้อย “สมคิด-อุตตม”นำทีมถก "กลุ่มสามมิตร" แสดงพลัง 40 ส.ส.ส่งสัญญาณถึงนายกฯ ห้ามขยับโควตา รมต. หลังลือสะพัด "สุวิทย์" เต็งหนึ่งถูกเขี่ยทิ้งหลังซักฟอก ขณะที่ "สนธิรัตน" ไม่ได้มาร่วมวงด้วย จับตาระดม ส.ส.ฮึดสู้ ด้าน ส.ส.พท.ลั่นมีหลักฐานมัดแน่น "ประวิตร-ประยุทธ์" เอื้อประโยชน์เจ้าสัว

    ที่รัฐสภา วันที่ 5 กุมภาพันธ์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีฝ่ายรัฐบาลขอให้แก้ไขญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่า คงไม่มีการแก้ไขแล้ว จากการตรวจสอบมีปัญหาเฉพาะลายเซ็นของผู้เสนอญัตติท่านหนึ่งที่เซ็นไม่เหมือนกับลายเซ็นที่ให้ไว้ ซึ่งสอบถามแล้ว และได้รับการยืนยันว่าเป็นของตัวเอง ส่วนที่มีการระบุว่ามีบางข้อความในญัตติเป็นเท็จนั้น ขอให้ไปว่ากันตอนอภิปราย เพราะไม่ทราบเช่นกันว่าข้อความใดเป็นเท็จหรือไม่เป็นเท็จ 
    "เมื่อถึงเวลาประชุมก็ต้องดูแลให้การอภิปรายเป็นไปโดยเรียบร้อย การอภิปรายมีปัญหาเป็นเรื่องปกติ เป็นการตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตย และถือเป็นการตรวจสอบที่เข้มข้นที่สุด เพราะฉะนั้นต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ว่าผู้เสนอเป็นผู้พูดฝ่ายเดียว อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิ์โต้ตอบเช่นกัน"
     ส่วนที่รัฐบาลเสนอให้อภิปรายวันที่ 25-27 ก.พ. ลงมติในวันที่ 28 ก.พ. นายชวนกล่าวว่า ตั้งใจจะกันวันที่ 28 ก.พ.ไว้สำหรับใช้ในการประชุมนัดพิเศษประจำเดือน เพื่อให้ญัตติที่ค้างอยู่นั้นได้พิจารณาให้ได้มากที่สุด เดิมตั้งใจไว้ว่าจะให้เป็นวันสะสางงานนอกจากนี้ก็ยังมีการประชุมร่วมรัฐสภาอีก จะมีวาระขอขยายเวลาและการพิจารณาแก้ไขประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ถ้าเสร็จทันก็จะเข้าสู่การพิจารณาในสมัยประชุมนี้เลย ส่วนที่ฝ่ายค้านเสนอว่าหากอภิปรายไม่เสร็จเสนอให้เปิดประชุมวิสามัญเพื่ออภิปรายต่อ คิดว่าไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น
    วันเดียวกัน นายชวนได้เป็นประธานการประชุมร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกำหนดวันประชุมสภาฯ พิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ,  นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
    จากนั้น นายวิรัชให้สัมภาษณ์ว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี ส่วนปัญหาญัตติมีถ้อยคำไม่เหมาะสมนั้น นายสมพงษ์บอกจะปรับให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการประท้วง ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องวันเวลา แต่จากเดิม 25-27 ก.พ. อาจจะให้เริ่มอภิปรายเป็นวันที่ 24 ก.พ. โดยให้เวลา 3 วัน ถ้าเสร็จได้ก็ดี ส่วนจะย้ายมาเริ่มวันที่ 19 ก.พ. ตามที่ฝ่ายค้านเสนอหรือไม่ เป็นข้อมูลที่มีการเสนอ แต่ช่วงวันที่ 19-21 ก.พ. รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายมีกำหนดการทำงาน เช่น นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ จะเดินทางไปต่างประเทศ
     ด้านนายสมพงษ์กล่าวว่า เนื่องจากมีผู้ขออภิปรายเป็นจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นข้อเสนอของรัฐบาลที่ให้เวลาในการอภิปรายระหว่างวันที่ 25-27 ก.พ. ฝ่ายค้านไม่มีทางยอมรับอย่างเด็ดขาด เพราะถือเป็นการบีบกันเกินไป ส่วนกรณีฝ่ายรัฐบาลขอให้แก้ไขเนื้อหาญัตตินั้น ฝ่ายค้านได้รับความชัดเจนจากประธานสภาฯ แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขอีก แต่ถ้าจะให้เอาใจรัฐบาลแล้ว ฝ่ายค้านก็พร้อมจะไม่อ่านเนื้อหาในญัตติในส่วนนั้น และคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพราะเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยาก
เคาะซักฟอก 24-26 ก.พ.
    ต่อมา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 5 ก.พ. ได้รับการประสานจากตัวแทนฝ่ายครม.ว่า ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันให้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในวันที่ 24 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 13.30 น. จนถึงวันที่ 26 ก.พ. และลงมติกันในวันที่ 27 ก.พ. หากการอภิปรายไม่จบภายใน 3 วัน จะขยายเวลาให้อภิปรายถึงวันที่ 27 ก.พ. และไปลงมติในวันที่ 28 ก.พ.
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า การกล่าวหาในครั้งนี้ถือว่ารุนแรง ถ้าถือว่ากล่าวหาคือกล่าวหามันก็ไม่มีอะไรหรอก ในที่สุดมันจะเบากว่านี้ หรือรุนแรงกว่านี้ ก็เอาไปตอบกัน และเอาเข้าจริงเขียนเบาก็สามารถที่จะบริภาษรุนแรงได้ในเวลาที่อภิปราย ประธานก็ค่อยคุมเกม เพราะข้อบังคับก็มีอยู่แล้ว ก็เอาไว้วินิจฉัยกันตอนที่พูด แต่ช่วงยื่นญัตติไม่มีข้อบังคับเขียนเอาไว้ เพราะก็ไม่คาดคิดว่าจะมีอย่างนี้ 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวมีองครักษ์พิทักษ์เหมือนกับคนอื่นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี ไม่เคยได้ยินและไม่คิดว่าจะต้องมีด้วย แต่ถ้ามี เข้าใจว่าเขาคงปกป้องระบบหรือระเบียบข้อบังคับ หรือส่วนที่จะกระทบต่อรัฐบาลมากกว่า แต่ถ้าเป็นการกระทบต่อส่วนตัวคงไม่มีองครักษ์คนไหนมาทำอะไรอย่างนั้น และบังเอิญรัฐบาลก็ไม่ได้สนิมสร้อยอะไรด้วย สำหรับรัฐมนตรีทุกคนก็ต้องเตรียมข้อมูล เพราะรู้ดีว่าตัวเองทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ยกเว้นบางเรื่องที่เป็นข้อมูลเชิงลึก ก็อาจต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปอยู่เตรียมข้อมูลที่สภาด้วย 
    "นายกฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล ความอยู่รอดหรือไม่รอดของหัวหน้ารัฐบาลก็คือความอยู่รอดหรือไม่รอดของ ครม.ทั้งคณะ ถ้านายกฯ พ้นจากตำแหน่ง ครม.ทั้ง 36 คนพ้นด้วย ดังนั้น การกล่าวหานายกฯ แม้นายกฯ คือนายกฯ แต่ความเป็นจริงคือความอยู่รอดของรัฐบาลทั้งชุด" นายวิษณุกล่าว 
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข  ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า โดยมารยาทของการร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยยึดมั่นและเชื่อว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 5 คน ทุกคนทำงานหนัก และทุ่มเท เสียสละ เราต้องให้การสนับสนุน พร้อมยกมือให้ แต่ทุกคนต้องรอฟังการชี้แจงในการอภิปรายญัตติดังกล่าว เพราะนี่เป็นกติกา ไม่ใช่ทะเล่อทะล่ายกมือให้โดยที่ไม่ฟังอะไรก่อนเลย เพราะเราต้องตอบสังคมให้ได้ ไม่ใช่พวกมากลากไป ถ้าฝ่ายค้านสามารถพิสูจน์ว่ารัฐมนตรีเหล่านั้นกระทำการมิชอบต่อบ้านเมืองแล้ว ตัวรัฐมนตรีเองไม่สามารถอธิบายได้ เราก็ไม่สนับสนุนรัฐมนตรีเหล่านั้น
    “ไม่ต้องกังวลว่าถ้ารัฐมนตรีคนนั้นชี้แจงได้ แล้วภูมิใจไทยจะไปต่อรองหรืองอแง ให้ครึ่งหนึ่งยกให้ อีกครึ่งหนึ่งไม่ยกให้ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ต้องเป็นห่วง ขอให้รัฐมนตรีแต่ละคนชี้แจงให้ได้ทุกอย่างก็จบ ซึ่งผมมั่นใจว่าทุกรัฐมนตรีสามารถชี้แจงได้" นายอนุทินกล่าว
    วันเดียวกัน เวลา 11.00 น. ที่โรงแรมสุโกศล ถ.ศรีอยุธยา พรรคแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดยนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง และหัวหน้าพรรค, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และกรรมการบริหารพรรค, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และกรรมการบริหารพรรค, นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท และรองหัวหน้าพรรค นัดรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับ ส.ส.ในกลุ่มประมาณ 40 คน โดยการนัดหมายครั้งนี้มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมด้วย โดย ส.ส.ที่มาปรากฏตัว มีทั้งภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคใต้ อาทิ นายภิญโญ นิโรธ ส.ส.นครสวรรค์, นายปริญญา ฤกษ์หร่าย ส.ส.กำแพงเพชร, นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี, นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี, นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา, นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ามี  ส.ส.กทม. 5 คน ได้แก่ นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา, น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์, น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์, น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ , นายศิริพงษ์ รัสมี มาปรากฏตัวครั้งนี้ด้วย
กลุ่มสามมิตรแสดงพลัง
    สำหรับบรรยากาศเป็นไปอย่างเป็นกันเอง โดยนายอุตตมได้เดินทักทายบรรดา ส.ส. พร้อมขอให้ร่วมมือกันในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้  อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารครั้งนี้ไม่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานและเลขาธิการพรรค เดินทางมาร่วมด้วย
    ด้านนายสุริยะ ในฐานะแกนนำกลุ่มสามมิตร กล่าวว่า ในวันนี้ได้นัด ส.ส.กลุ่มสามมิตรประมาณ 40 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยกเลิกกลุ่มไปแล้ว แต่เนื่องจากว่าทางพรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และอีก 5 รัฐมนตรี จึงเป็นเหตุผลที่ตนคิดว่ากลุ่มสามมิตรต้องมาช่วยระดมความคิด เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองในการเก็งข้อสอบ และเตรียมข้อมูลให้ เพราะหลายคนก็ผ่านการลงมติไม่ไว้วางใจมาแล้ว ซึ่งพวกเราเตรียมหาข้อมูล เพื่อมาช่วยเหลือนายกฯ จากการดูข้อมูลเบื้องต้นที่ฝ่ายค้านระบุในญัตติว่า ทั้ง “กร่าง” และ “เถื่อน” ซึ่งตนมองว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่เป็นประเด็นสำคัญที่มุ่งให้เกิดปัญหาทางการเมืองได้ ซึ่ง ส.ส.กลุ่มสามมิตรจะช่วยท่านตรงนี้ได้  และยังมีประเด็นที่ระบุว่านายกฯ “สืบทอดอำนาจ” และ “เป็นเผด็จการ “ ซึ่งไม่เป็นความจริง และถ้าฝ่ายค้านหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ก็ไม่มีน้ำหนัก เพราะนายกฯ เข้ามาตามกระบวนการ นอกจากนี้ตนจะให้การบ้าน ส.ส.เพื่อไปเตรียมข้อมูลต่างๆ ส่งให้กับทางพรรคด้วย
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความกังวลของพรรคร่วมรัฐบาลในการโหวตสนับสนุนนายกฯ และรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่  นายสุริยะกล่าวว่า ตนต้องชมเชยพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศออกมาแล้วว่าจะช่วยถ้าหากฝ่ายค้านอภิปรายนอกประเด็น
    เมื่อถามว่า การรวมตัวของกลุ่มสามมิตรอีกครั้ง สะท้อนถึงความแตกแยกในพรรคหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ไม่มี การมารวมตัวครั้งนี้นายอุตตมเข้าใจ ยืนยัน ส.ส.ทุกคนในพรรคโหวตสนับสนุนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคน ยืนยันว่าการรวมตัวของส.ส.กลุ่มสามมิตรในวันนี้ไม่เกี่ยวกับการแสดงพลังในการปรับครม.หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เพื่อช่วยเหลือรัฐมนตรี เมื่อการอภิปรายจบลงกลุ่มสามมิตรก็จะสลายตัว
    ถามว่าการแสดงพลังในวันนี้สะท้อนให้เห็นว่าห้ามแตะต้องรัฐมนตรีในกลุ่มสามมิตร หากต้องมีการปรับ ครม.หลังอภิปรายฯ หรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ไม่เลย เพราะรัฐมนตรีกลุ่มสามมิตรไม่มีใครถูกอภิปราย
    นายสมศักดิ์ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าหารือว่า เตรียมความพร้อมเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราจะคุยกันว่ารัฐมนตรีและ ส.ส.แต่ละคนจะต้องมีความตื่นตัว เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการอภิปรายตัวนายกฯ ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะหากนายกฯ พลาดพลั้ง ก็จะล้มเหลวไปทั้งหมด เราจะปล่อยให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะพวกเราพรรค พปชร. แต่เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะต้องทำการบ้านมาพร้อมกัน ถ้าหากว่าเราเริ่มนำให้แต่ละพรรคได้เห็นพรรคอื่นจะได้ทำตามกัน ส่วนการรวมตัวของกลุ่มสามมิตรไม่ได้มีการต่อรองอะไรทั้งนั้น และคงไม่ต้องเอาเข้าที่ประชุมพรรค เราทำกันตรงนี้ก่อน เชื่อว่าต่อไปจะไปเพิ่มในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะต้องทำงานร่วมกันเรามีความห่วงใยผู้นำรัฐบาลที่จะต้องอยู่ให้ครบ 4 ปี 
ขวางไม่ให้เขี่ย"สุวิทย์"
    ส่วนนายสมคิดกล่าวว่า ไม่มีนัยอะไร เป็นเพียงทางกลุ่ม ส.ส. มาประชุมหารือกันว่าจะดูแลการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างไร เพื่อให้เป็นการอภิปรายที่สมบูรณ์ เป็นเรื่องของการให้ข้อมูล การวางตัว วางแผนในการอภิปรายให้ดีที่สุด เพราะเรื่องการอภิปรายเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายค้านมีหน้าที่ในการตรวจสอบ รัฐบาลก็ต้องมีการชี้แจงให้เข้าใจกัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียง ทางกลุ่มจึงได้มีการมาหารือกัน ได้แจ้งมายังนายอุตตมและตน เพื่อให้กำลังใจเท่านั้นเอง คนทำงานจะได้มีกำลังใจ
    เมื่อถามว่า เป็นห่วงเรื่องการอภิปรายประเด็นเศรษฐกิจหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า นายกฯ ตอบได้ทุกคำถามอยู่แล้ว หน่วยงานใดกระทรวงใดที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยนายกฯ ชี้แจงได้อยู่แล้ว ถือเป็นเรื่องปกติ ข้อมูลอยู่ในหัวท่านอยู่แล้ว เพียงแต่หยิบมาใช้ในเรื่องที่เป็นประเด็น ทั้งนี้ นายกฯ ไม่ได้มอบหมายใครชี้แจง ท่านก็ดูของท่าน ส่วนคนที่เกี่ยวข้องก็ช่วยชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง 
    นายอุตตมกล่าวว่า ในส่วนของพรรค พปชร. เราเตรียมตัวเต็มที่ ส.ส.ของพรรคก็มาทานข้าวกัน มาให้กำลังใจกัน ยืนยันว่าไม่ได้มีเพียงแค่ ส.ส.ในกลุ่มสามมิตร เพราะทุกกลุ่ม ทุกคน ก็มีการให้กำลังใจกัน รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลในการทำงานด้วยกัน ถือเป็นกระบวนการปกติ ตนไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะเราอยู่ร่วมกัน เราอยู่ด้วยกันหมด เดินมาถึงขั้นนี้แล้ว พรรคพลังประชารัฐคือหนึ่งเดียว และต่อไปหากมีกลุ่มไหนในพรรคพปชร.จัดงาน ตนก็พร้อมจะไปร่วม และสุดท้ายก็ต้องมีคุยร่วมกันหมด
    เมื่อถามว่า จำเป็นต้องมีการเจอกันของพรรคร่วมรัฐบาลก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายอุตตมกล่าวว่า คิดว่าคงมีเวทีเช่นนั้น แต่ตอนนี้เราก็เร่งดำเนินการอยู่ การรวมตัวในวันนี้ไม่ได้เป็นการแสดงพลังเพื่อต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี หากมีการปรับ ครม.หลังอภิปราย แต่เป็นการเตรียมการในสภาปกติ
    ภายหลังการหารือ นายอนุชา นาคาศัย เปิดเผยว่า งานวันนี้มีนายอุตตมและนายสมคิดเป็นเจ้าภาพ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และสะท้อนไปทั้งในพรรค พปชร.และพรรคร่วมรัฐบาล โดยระหว่างรับประทานอาหารร่วมกันไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการอภิปราย เพราะเป็นเรื่องเก่า ยังไม่มีประเด็นที่ชัดเจน โดยนายสมคิดได้กล่าวให้ ส.ส.ทราบว่า หากนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ต้องการข้อมูลในการอภิปราย สามารถประสานที่นายอุตตมและตนได้ทันที ส่วนที่มีข้อกังวลว่า ส.ส.จะช่วยเฉพาะนายกฯ และ พล.อ.ประวิตรเท่านั้น คิดว่าคงช่วยทุกคน ส่วนที่นายสนธิรัตน์ไม่เดินทางมาร่วมด้วย ตนไม่ทราบ เพราะนายอุตตมและนายสมคิดเป็นโต้โผจัดงาน
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรค พปชร.ถึงการนัดกินข้าวของกลุ่มสามมิตรว่า เกิดขึ้นหลังจากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่นายสมคิดได้เรียกนายอุตตมพร้อมด้วยนายสุริยะ เพื่อต้องการจัดกิจกรรมกินข้าวโชว์พลัง ส.ส.ของกลุ่ม ซึ่งมี ส.ส.ถึง 40 คน โดยการกินอาหารนั้นก็ไม่ได้มีการพูดคุยถึงแผนการปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์แต่อย่างใด หลายฝ่ายยังยืนยันในข้อสังเกตว่า การกินข้าวในมื้อนี้จะเป็นการโชว์พลังและจำนวน ส.ส. เพราะภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น จะมีการปรับ ครม.และมีรายชื่อของนายอุตตม นายสนธิรัตน์ และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษาฯ ที่เป็นศิษย์รักของนายสมคิด ที่อาจถูกปรับออก 
    โดยเฉพาะนายสุวิทย์ เป็นเบอร์ 1 ที่จะถูกเสนอให้ปรับออก เพราะตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จจนเป็นรัฐมนตรี ไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ กับทางพรรค และไม่มีการสนับสนุน ส.ส. จึงเป็นเบอร์ 1 ที่ถูกจับตาว่าจะถูกเขี่ยทิ้งเป็นคนแรก เพื่อแบ่งให้กับกลุ่มการเมืองในพรรค พปชร. ดังนั้นการนัดกินข้าวในครั้งนี้ จึงเป็นการส่งสัญญาณให้นายกฯ รับทราบว่าทางกลุ่มสามมิตรมี ส.ส.อยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้นการปรับ ครม.หลังการอภิปรายจะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อน
     ขณะเดียวกัน การไม่มาร่วมการประชุมของนายสนธิรัตน์ ทำให้เกิดข้อสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะนายสนธิรัตน์ถือเป็นคนสนิทของนายสมคิด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่านายสนธิรัตน์เวลานี้คุมกระทรวงใหญ่อย่างกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีกลุ่มทุนใหญ่อยู่ในสังกัด และมีข่าวว่านายสนธิรัตน์ได้เรียกอดีตผู้สมัคร ส.ส. รวมถึงอดีตนักการเมืองหลายคนไปทำงานที่กระทรวงพลังงานหลายคน และช่วงหลังปีใหม่เป็นต้นมา นายสนธิรัตน์มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น โดยทุกวันอาทิตย์จะมีการแถลงข่าว มี ส.ส.มาร่วมกิจกรรมด้วยจำนวนหนึ่ง
พท.ถล่ม"ป้อม-ตู่"เอื้อเจ้าสัว
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ยังเดินหน้าตั้งทีมวอร์รูมตอบโต้ฝ่ายค้านนอกสภา สัปดาห์หน้า โดยจะเชิญอดีต ส.ส. อดีตนักการเมืองนอกสภาที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมายาวนาน อาทิ นายอำนวย คลังผา,  นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ, นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล, นายฉลอง เรี่ยวแรง, นายทวี สุระบาล, นายธีรทัศน์ เตียวเจริญโสภา, นายธีรยุทธ์ วานิชชัง, นายสมเกียรติ ศรลัมพ์, นายสิทธิชัย จรูญเนตร,  นายทศพล เพ็งส้ม, นายเอกภาพ พลซื่อ เป็นต้น ซึ่งมีข้อมูลข้อเท็จจริงของฝ่ายค้านได้แจ้งความจำนงมาร่วมเป็นทีมวอร์รูมจำนวนมาก เพื่อพูดคุยเตรียมพร้อมในการทำงานของคณะเราอย่างเข้มข้น
    "อย่าพยายามสร้างหลักฐานเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีนายกฯ และคณะ รมต.ทั้ง 5 ท่าน อย่าขุดคุ้ยเรื่องอดีตที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ถ้ายังใช้วาทกรรมใส่ความอันเป็นเท็จ และอภิปรายนอกญัตติ เราจะเปิดโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้นอกสภาทันที เราจะชี้แจงข้อมูลที่เลวร้ายที่ประชาชนคนไทยยังไม่ทราบจะได้รับรู้รับทราบความเสียหายอันร้ายแรงในอดีตของคนที่อยู่เบื้องหลังพรรคฝ่ายค้าน" นายสุภรณ์กล่าว
      ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจทำใจลำบากที่จะต้องถูกขึงพืด ตรวจสอบ แต่ขอให้ทำความเข้าใจว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เลือกที่จะยังอยู่สืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง ตัวช่วยมากมายที่เคยมี อาจเหลือไม่เท่าเดิม จะหวังให้เป็นการยอวาที เหมือนอยู่กับแม่น้ำ 5 สายคงเป็นไปไม่ได้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะทวงบุญคุณ อย่ามาทวงกับประชาชน ให้ไปทวงกับแม่น้ำ 5 สาย ที่สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เหมือนปล้นเช็คเปล่าจากประชาชน ไปกรอกจำนวนเงินตามอำเภอใจ ทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาส พล.อ.ประยุทธ์จะตอบได้หรือไม่ ผ่านหรือไม่ผ่าน ประชาชนดูอยู่ ตัดสินและประเมินผลได้ ทุกฝ่ายควรทำหน้าที่สร้างสรรค์ สิ่งที่ประชาชนไม่สบายใจ 
     นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร เพราะมั่นใจในข้อมูลเด็ดที่มีอยู่ ซึ่งเป็นหลักฐานที่มัดแน่น ส่อไปทางทุจริตของทั้งสอง และยังโยงไปถึงเจ้าสัวใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งข้อมูลที่มีนั้นผู้กระทำผิด ไม่ใช่แค่ผู้มีอำนาจ แต่โยงไปถึงเจ้าสัวที่มีส่วนร่วมด้วย ตนจะทำให้ประชาชนเห็นการกระทำผิดที่ชัดเจน แล้วนำไปสู่การลงโทษคนที่ร่วมกระทำความผิดทั้งหมดอย่างสาสม เพราะหลักฐานที่นำมาแสดงเป็นที่ประจักษ์มัดแน่น เมื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเห็นต้องนำไปดำเนินการต่อเพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ หากเห็นหลักฐานแล้วไม่ทำอะไร เจ้าหน้าที่เองที่จะกลายเป็นผู้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอาญามาตรา 157 แล้วมีความผิดเสียเอง
    ขณะที่นายสุภดิช อากาศฤกษ์ รักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) พร้อมด้วย ส.ส.อีก 4 คนของพรรค ร่วมแถลงถึงจุดยืนของพรรค โดยนายสุภดิชกล่าวว่า ที่พรรคตัดสินใจออกจากฝ่ายค้านนั้น เพราะส่วนใหญ่มติพรรคมักจะไม่ตรงกับมติวิปฝ่ายค้าน ซึ่งที่ผ่านมาจะถือมติพรรคเป็นหลัก ยึดถือประชาธิปไตย ยอมรับในความเห็นต่าง และรัฐธรรมนูญก็ได้ให้เอกสิทธิ์ ส.ส.แต่ละคนไว้ เราจึงให้เกียรติ ส.ส.ทุกคน แต่เมื่อมีมติพรรค เราก็ทำตามมติพรรค ส่วน ส.ส.คนใดที่ไม่เห็นด้วยกับมติพรรค เราก็รับฟังความเห็นต่างโดยเสมอมา เมื่อมติของพรรคกับวิปฝ่ายค้านไม่ตรงกัน เราจึงขอถอนตัว ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นความขัดแย้ง แต่เป็นการพัฒนาทางการเมือง
    เมื่อถามว่า แนวทางของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรค ศม. คืออยู่กับฝ่ายค้าน แล้วหากนายมิ่งขวัญโหวตสวนมติพรรคบ่อยๆ จะขับออกจากพรรคหรือไม่ นายสุภดิชกล่าวว่า ไม่ว่า ส.ส.คนใดจะโหวตไม่เป็นไปตามมติพรรค ก็ถือเป็นเอกสิทธิ์ ซึ่งนายมิ่งขวัญก็ไม่ได้ทำอะไรผิด เราก็ไม่ขับออกจากพรรคอย่างแน่นอน
    ถามต่อว่า หลังจากออกจากพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้ว ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะโหวตให้ทางรัฐบาลหรือไม่ นายสุภดิช กล่าวว่า การจะโหวตอะไรก็ตาม ต้องโหวตตามมติพรรค วันนี้จึงยังบอกไม่ได้ว่าจะโหวตให้ฝ่ายใด เราต้องขอรอดูข้อมูลของแต่ละท่านก่อนว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจะมาหารือกับที่ประชุมเพื่อหามติ เราไม่เคยเปลี่ยนจุดยืน แต่เราทำตามมติพรรคมาโดยตลอด ยืนยันว่าขณะนี้รัฐบาลไม่ได้ประสาน และไม่มีเรื่องผลประโยชน์ใดๆเข้ามาเกี่ยวข้อง และจะไม่อภิปรายกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการลอยแพนายมิ่งขวัญ แต่ถือเป็นการให้เอกสิทธิ์ วันนี้ท่านยังเป็นสมาชิกพรรค และเรายังคงรับฟังความคิดเห็นท่านอยู่.


       


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"