นปช.ระทึก!ฎีกาคดีบุกบ้านป๋า


เพิ่มเพื่อน    

  แกนนำ นปช.ระทึก! ศาลฎีกานัด 6 ก.พ. อ่านคำพิพากษาคดีชุมนุมปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ปี 50 "ทนาย" ยันจำเลยมาศาลแน่ "จตุพร" ทำใจบอกแกนนำสลับหน้ากันเข้าคุก "ธิดา" ลั่นเมื่อภารกิจยังไม่บรรลุการต่อสู้ก็ขับเคลื่อนต่อไป

    ที่ศาลอาญา วันที่ 5 ก.พ. มีรายงานว่า ในวันที่ 6 ก.พ. เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 709 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีชุมนุมปิดล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อปี 2550 หมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ฟ้องนายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน, นายวันชัย นาพุทธา, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ
    กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไม้เสาธงตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ.ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส
    คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย.2558 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ และให้ยกฟ้องนายวีระศักดิ์และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 ริบของกลางทั้งหมด
    ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า พวกจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม เพียงกรรมเดียว จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ยกฟ้องจำเลยที่ 2-3
    โดยก่อนหน้านี้ ในการนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2562 ศาลได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากก่อนวันนัด นายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่เคยปฏิเสธความผิด ขอต่อสู้คดี โดยได้ยื่นคำให้การใหม่ เป็นให้การเป็นรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดี ศาลอาญาจึงต้องส่งคำพิพากษาศาลฎีกาคืนให้ศาลฎีกาพิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป จนกระทั่งล่าสุดมีการนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 6 ก.พ.นี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ยังคงยืนยันให้การปฏิเสธ เพราะยังมีหลักฐานสู้คดีเป็นใบรับรองแพทย์
    ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายธำรงค์ หลักแดน หนึ่งในทีมทนายความ นปช. เปิดเผยว่า แกนนำ นปช. เท่าที่ได้คุยยืนยันจะมาฟังคำพิพากษา 
    ซักว่าจะมีการยื่นคำร้องอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่ นายธำรงค์ ระบุว่า ไม่ยื่น
    ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการหยิบข่าวมาคุย ถึงกรณีศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีชุมนุมล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ในวันที่ 6 ก.พ. ว่าจะเดินทางไปให้กำลังใจ ซึ่งช่วง 10 ปีมานี้ในฐานะที่เข้าคุกบ่อยมากกว่าคนอื่น ก็ได้มีโอกาสคุยกับมิตรสหายและน้อมรับชะตากรรม เพราะการเข้า-ออกคุกในช่วง 10 ปีมานี้สลับกันเข้า-ออกมาตลอด บางคนอาจจะมากบางคนอาจจะน้อย แต่ก็ต้องทำใจว่า นปช.แทบจะไม่เหลืออยู่ในทางการเมือง 
    "จะติดคุกกี่วันก็ตาม หลังจากพ้นโทษจะต้องบวกโทษทางการเมือง 10 ปี เช่นเดียวกันกับกลุ่มพันธมิตรฯ คดียึดทำเนียบรัฐบาลก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปีเช่นกัน ดังนั้นผลคำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ก็ว่ากันตามนั้น" นายจตุพรกล่าว
    ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษา นปช. โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “การก่อเกิดและชีวิตของขบวนการประชาชนทางการเมือง” ตอนหนึ่งระบุว่า แกนนำ นปช.เดิมๆ ส่วนมากก็เวียนกันเข้าคุกและต่อสู้คดียาวนานนับสิบๆ ปี ขาและแขนก็ถูกพันธนาการโดยโซ่ตรวนทางกฎหมาย (ที่ประชาชนไม่ได้เขียนและไม่ได้ใช้อำนาจ) และบ้างก็ไปสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ กัน ทั้งที่เป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยและพรรคฝ่ายเผด็จการ ถ้ายึดผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก หวังผลตอบแทนจนได้เข้าอยู่เป็นอำนาจรัฐ ภาวะนักต่อสู้ก็จะหมดไป บางคนไม่หมดก็จริง แต่ภาวะนักต่อสู้หรือนำการต่อสู้จะจางไปเรื่อยๆ นี่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
    "หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลา (และเรื่องราว) พิสูจน์คน ว่าเป็นนักต่อสู้ประชาชนจริงหรือไม่ แต่ไม่ต้องวิตกไป เพราะมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอ การต่อสู้ของประชาชนที่ก้าวหน้านั้นมีชีวิต ไม่ได้หยุดนิ่ง ยึดติดกับบุคคลหรือองค์กรใดๆ นี่เป็น 13 ปีของการต่อต้านเผด็จการที่ยาวนานกว่าการต่อสู้ของขบวนการประชาชนใดๆ ที่เคยมีมาในอดีต เมื่อภารกิจยังไม่บรรลุ การต่อสู้ของประชาชนก็จะขับเคลื่อนต่อไป” นางธิดากล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"