รมว.พม.มอบของขวัญปีใหม่ ‘บ้านพอเพียง’ 11,500 ครอบครัวทั่วประเทศ  เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ-คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยภายในปี 2579


เพิ่มเพื่อน    

 

(นายจุติ รมว.พม. (ที่ 2 จากซ้าย) มอบบ้านพอเพียงชนบทหลังแรกที่ จ.อุบลราชธานี)   (ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และมลฑลทหารบกที่ 22 ที่สนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงฯ) 

 

   ‘จุติ  ไกรฤกษ์’ รมว.พม.ประเดิมมอบบ้านพอเพียงให้ผู้ด้อยโอกาสที่จังหวัดอุบลราชธานีและระยอง ตามโครงการ ‘มอบของขวัญปีใหม่จากใจรัฐบาลโดย พม.’ จำนวน 11,500 ครัวเรือนทั่วประเทศ โดยสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนครอบครัวที่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านชำรุดทรุดโทรมให้มีความมั่นคงแข็งแรง  เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย  ตามโครงการบ้านพอเพียงชนบทของ พอช.ที่ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  ทำให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

   ตามที่รัฐบาลมอบหมายให้ทุกหน่วยงานดำเนินโครงการ ‘มอบของขวัญปีใหม่จากใจรัฐบาล’ ให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย  เนื่องในโอกาสปีใหม่ พ.ศ.2563  ซึ่งในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ได้จัดเตรียมของขวัญด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยตามโครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ จำนวน  11,500 ครัวเรือนทั่วประเทศ 

   โครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นการสนับสนุนให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อย  มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  มีสภาพไม่ปลอดภัย  ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัย  เช่น  หลังคารั่ว  เสาเรือนผุ  บันไดโยกคลอน  พื้นบ้าน  ฝาบ้าน  ห้องน้ำ  ห้องครัวชำรุด  ฯลฯ  ได้ซ่อมแซมบ้านเรือนให้มีความมั่นคง  แข็งแรง  มีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย  โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 19,000 บาท

   ทั้งนี้โครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวง พม.  ดำเนินการโดย พอช. มีวิสัยทัศน์  คือ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”

   มีเป้าหมายครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน ในจำนวนนี้เป็นโครงการบ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 352,000 ครัวเรือน

 

รมว.พม.มอบบ้านพอเพียงฯ หลังแรกที่อุบลราชธานี

 

   โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และผู้บริหารกระทรวง พม. ได้เดินทางมาที่บ้านโนนสร้างคำ  ตำบลไร่ใต้  อ.พิบูลมังสาหาร  จ.อุบลราชธานี  เพื่อมอบของขวัญปีใหม่  2563 ‘บ้านพอเพียงชนบท’  หลังแรกในจังหวัดอุบลราชธานี (จากทั้งหมด 213 หลัง) ให้แก่ครอบครัวนางหนูจันทร์ เกาะแก้ว  ผู้มีรายได้น้อย  สภาพบ้านทรุดโทรม  โดยมีนายเธียรชัย  พุทธรังษี  รองผู้ว่า จ.อุบลราชธานี  นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  พันเอกชูชาติ  อุปสาร รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์  และชาวบ้านตำบลไร่ใต้ประมาณ 300   คนให้การต้อนรับ

   ทั้งนี้ครอบครัวนางหนูจันทร์ เกาะแก้ว  อายุ 54 ปี  ชาวบ้านตำบลไร่ใต้  มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเดิมเป็นบ้านไม้ทรุดโทรมผุพัง โดยชาวชุมชนและทหารจากมณฑลทหารบกที่ 22  จ.อุบลราชธานีช่วยกันสร้างบ้านใหม่  ขนาด 4X6 ตารางเมตร  โครงสร้างเป็นปูนและไม้  ก่อด้วยอิฐบล็อค  เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 25-30  มกราคม  ใช้เวลาก่อสร้าง 6 วัน   ใช้งบประมาณจาก พอช. 19,000 บาท  และงบสมทบจากขบวนองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายในจังหวัดอุบลฯ ประมาณ 10,500 บาท

(สภาพบ้านเดิมของนางหนูจันทร์และครอบครัว)

   นางหนูจันทร์และสามีมีอาชีพปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ 3 ไร่  แต่ได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูก  ทำให้ไม่มีรายได้  ต้องรับจ้างทำงานทั่วไป  แต่มีงานไม่มากนัก  เนื่องจากทั้งคู่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ  โดยนางหนูจันทร์ป่วยเป็นโรคไตและความดันโลหิตสูง   ส่วนสามีร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง

   “สภาพบ้านที่อยู่อาศัยเมื่อก่อน  เวลาฝนตกหลังคาที่มุงด้วยสังกะสีจะรั่ว ฝนจะสาดเข้ามาเพราะฝาบ้านใช้กระสอบป่าน กับถุงพลาสติกดำปิดเอาไว้  กันฝนไม่ได้  หน้าหนาวลมหนาวก็จะรอดเข้ามา  ส่วนครอบครัวก็หากินไปวันๆ  ไม่มีเงินจะซ่อมแซมบ้าน  เมื่อมีหน่วยงานและทหารมาช่วยสร้างบ้านให้ใหม่ก็ดีใจมาก  เพราะได้บ้านใหม่ที่แข็งแรง  กันลมฝนและลมหนาวได้  ไม่ลำบากเหมือนแต่ก่อน”  นางหนูจันทร์บอกความรู้สึก

 

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จับมือภาคี-ทหารขับเคลื่อนบ้านพอเพียงฯ

 

   โครงการบ้านพอเพียงชนบท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ดำเนินการโดย พอช. มีเป้าหมายทั้งหมด  352,000 ครัวเรือน   ปัจจุบัน (มกราคม 2563) ดำเนินการซ่อมสร้างแล้วเสร็จ   รวม 39,194 ครัวเรือน ในพื้นที่ 2,391 ตำบล ใช้งบประมาณ 713 ล้านบาทเศษ

   ส่วนการขับเคลื่อนโครงการบ้านพอเพียงชนบทนั้น  พอช.จะสนับสนุนให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน  โดยใช้องค์กรชุมชนในตำบลที่มีอยู่แล้ว  เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบล  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล  ฯลฯ  มาขับเคลื่อน  โดยเฉพาะ      ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ (จัดตั้งตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551) ซึ่งสมาชิกสภาฯ ประกอบด้วยผู้นำชุมชน  ปราชญ์ชุมชน  และผู้แทนชาวบ้านกลุ่มต่างๆ  มาร่วมกันจัดตั้งสภาฯ ถือเป็น ‘สภาของประชาชน’  ที่ทุกคนมีส่วนร่วมคิด  ร่วมทำ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น  นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ 

   นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม.กล่าวว่า  โครงการบ้านพอเพียงชนบทที่จังหวัดอุบลราชธานีขับเคลื่อนโดยสภาองค์กรชุมชนตำบล ถือเป็นเรื่องที่ดี  เพราะผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือมาจากการคัดเลือกของชุมชน  โดยราชการไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง  ใช้การประชาคมของชุมชนในการคัดเลือกครอบครัวที่มีความเดือดร้อนให้ได้รับการซ่อมสร้างบ้าน  เป็นการดำเนินการโดยชุมชนเอง ถือเป็นรากฝอยของประชาธิปไตย  โดยในขณะนี้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้วกว่า 7,700 แห่งทั่วประเทศ  ซึ่งสภาองค์กรชุมชนฯ จะต้องนำเรื่องบ้านพอเพียงไปขับเคลื่อนต่อไป  และต้องแสดงให้เห็นถึงพลังของสภาองค์กรชุมชนเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้รับรู้

   “โครงการบ้านพอเพียงชนบทความจริง พอช.ควรจะทำได้ถึง 400,000 หลังทั่วประเทศ  แต่ได้รับงบประมาณน้อยไม่ถึง หลังละ 20,000 บาท  จึงต้องใช้การบูรณาการของทุกภาคส่วน  มาร่วมกันสร้างบ้านให้ผู้ที่เดือดร้อน  เพราะวัสดุและค่าแรงสูงขึ้น  ผมจึงได้เรียนกับท่านนายกรัฐมนตรี  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2560  เพื่อขอให้ทหารช่างมาช่วยเหลือสร้างซ่อมบ้านให้แก่ชาวบ้าน  ซึ่งท่านก็ยินดี  สั่งการให้ทหารช่างมาช่วย  ทำให้ลดงบประมาณด้านค่าแรงลงได้  และวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น  ซึ่งจะต้องทำในจุดอื่นๆ ต่อไป”  รมว.พม.กล่าว

   นอกจากนี้ในวันดังกล่าว  รัฐมนตรี พม.ได้มอบป้ายโครงการบ้านพอเพียงชนบท ปี 2563 ที่จะดำเนินการในจังหวัดอุบลราชธานี  จำนวน  213  หลังคาเรือน  งบประมาณรวม 4,047,000 บาท ให้แก่ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี มอบงบประมาณซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ จำนวน 5 หลัง งบประมาณรวม 128,000 บาท  มอบงบประมาณซ่อมแซมบ้านผู้พิการ จำนวน 2 หลัง  งบประมาณรวม  40,000 บาท  มอบงบประมาณปรับสภาพแวดล้อมบ้านผู้สูงอายุ  “ส่งความสุข ลดทุกข์ปรับโถ” (ปรับปรุงห้องสุขา) 1 หลัง งบประมาณ  5,000 บาท   และมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัว จำนวน 8 ครอบครัว งบประมาณรวม 24,000 บาท

 

‘Kick Off มหกรรมบ้านพอเพียง’ ที่ระยอง

 

   ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์  รัฐมนตรี พม.ได้เดินทางไปที่ตำบลหนองบัว  อำเภอบ้านค่าย  จังหวัดระยอง  เพื่อเป็นประธานใน งาน ‘Kick Off มหกรรมบ้านพอเพียง : ซ่อมบ้าน สร้างโอกาส ส่งความสุข ปี 2563’   โดยการซ่อมสร้างบ้าน  10  หลังแรก  (จากทั้งหมด 1,525 หลังใน 8 จังหวัดภาคตะวันออก) และมอบบ้านพอเพียงหลังแรกที่สร้างบ้านใหม่ให้แก่ผู้สูงอายุครอบครัวนายอัมรินทร์ อุ่นเรือน  ซึ่งมีฐานะยากจน  บ้านเดิมเป็นเพิงก่อสร้างด้วยเศษไม้  หลังคาสังกะสี  สภาพผุผังทรุดโทรม  ถูกปลวกทำลาย  โดยชาวชุมชน  และช่างอาสาช่วยกันสร้างบ้านใหม่  ขนาด 5X7 ตารางเมตร  ชั้นเดียว  ก่อสร้างด้วยอิฐบล็อค  ใช้งบประมาณจาก พอช.  ตามโครงการบ้านพอเพียงชนบท 18,000 บาท  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดระยอง (พมจ.ระยอง) 40,000 บาท  งบจากศูนย์คนไร้ที่พึ่ง 2,000 บาท  และโถส้วมจากบริษัทสุภัทราแลนด์

(รมว.พม. (ที่ 3 จากขวา) มอบบ้านพอเพียงที่ จ.ระยอง)

   นายอัมรินทร์มีอายุ 62 ปี  อาศัยอยู่กับภรรยา  มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  เช่น  รับจ้างเก็บน้ำยาง  มีรายได้วันละประมาณ 150 บาท   ปลูกสร้างบ้านในที่ดินของน้องสาวมานานกว่า 20 ปี  ในช่วงปลายปี 2562 นายอัมรินทร์และภรรยาประสบอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้มทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ไหปลาร้า ทำให้ทำงานหนักไม่ได้ ประกอบกับมีผู้จ้างงานน้อย จึงไม่มีรายได้  เมื่อมีโครงการบ้านพอเพียงชนบท  คณะกรรมการในตำบล  ซึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้านและ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ได้มาสำรวจครอบครัวผู้เดือดร้อน  และเสนอให้มีการซ่อมสร้างบ้านให้แก่นายอัมรินทร์  แต่เนื่องจากสภาพบ้านเดิมผุผังทรุดโทรม  ไม่สามารถรื้อซ่อมแซมได้  จะต้องสร้างบ้านใหม่โดยการช่วยเหลือและสนับสนุนจากหลายฝ่าย

   “ผมรู้สึกดีใจที่ได้บ้านหลังใหม่  ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาช่วยกันหางบมาสร้างบ้านให้  ขอบคุณคนที่มาช่วยสร้างบ้านด้วย เพราะลำพังผมกับเมียก็ไม่มีปัญญาที่จะหาเงินมาสร้างใหม่  ยิ่งตอนนี้ไม่มีรายได้ แค่หากินไปวันๆ เท่านั้น”              นายอัมรินทร์บอกความรู้สึก

   นอกจากนี้รัฐมนตรี พม.ได้มอบงบประมาณบ้านพอเพียง ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ปี 2563  จำนวน 1,525 หลัง  งบประมาณรวม 27,360,000 บาท  มอบบ้านพอเพียงจังหวัดระยองที่สร้างเสร็จแล้วปี 2562 จำนวน 212 หลัง  มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่ช่างชุมชน  หน่วยงาน   ร้านค้าที่ให้การสนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบท  รวมทั้งมอบของขวัญปีใหม่สำหรับผู้สูงอายุจังหวัดระยอง “ส่งความสุข  ลดทุกข์ปรับโถ” (ซ่อมห้องสุขา) โดยภาคเอกชนจังหวัดระยอง  และมอบงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดระยอง  จำนวน 4 ล้านบาทจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองให้แก่ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน จ.ระยอง

(รมว.พม.มอบใบประกาศเกียรติคุณให้ช่างชุมชนที่ช่วยสร้างบ้านให้ลุงอัมรินทร์)

   สมพงษ์  เวชกามา  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง กล่าวว่า  การดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบทในตำบลหนองบัวนั้น  สภาองค์กรชุมชนฯ ได้ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านทั้ง 11 หมู่บ้าน  สำรวจและคัดเลือกครอบครัวเป้าหมายที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและมีฐานะยากจน  หลังจากนั้นจึงจัดเวทีประชาคมเพื่อให้ชาวชุมชนช่วยกันตรวจสอบหรือรับรองสิทธิ์  เพื่อความโปร่งใสและให้ได้ครอบครัวที่มีความเดือดร้อนจริงๆ  แต่เนื่องจากงบประมาณโครงการบ้านพอเพียงมีจำกัด  ครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 19,000 บาท  ดังนั้นชุมชนจึงต้องบริหารงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด

   “ยกตัวอย่าง  บ้านของลุงอัมรินทร์สภาพทรุดโทรมอยู่แล้ว  หากรื้อลงมาก็ต้องสร้างบ้านใหม่  แต่งบที่ได้ไม่พออยู่แล้ว จึงต้องประสานขอแรงจากชาวชุมชนที่มีฝีมือทางช่างก่อสร้างมาช่วยกัน ในตำบลมี 11 หมู่บ้าน ขอแรงหมู่บ้านละ 2-3 คน  ทำให้มีช่างหมุนเวียนกันมาช่วยสร้างบ้านประมาณ  36 คน  นอกจากนี้ยังประสานขอความสนับสนุนไปยังหน่วยงานรัฐ  เช่น พมจ.ระยองให้งบประมาณมา 40,000 บาท  และมีบริษัทเอกชนในพื้นที่ช่วยสมทบ  ทำให้สร้างบ้านได้ไว  ประมาณ 7 วันก็ได้บ้านหลังใหม่  ถือเป็นความร่วมมือ  ร่วมใจของทุกหน่วยงาน”  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองบัวกล่าว 

พอช.หนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศปี 2563 รวม 21,115 ครัวเรือน

(สภาพบ้านเดิมของลุงอัมรินท์ที่ จ.ระยอง และบ้านใหม่ตามโครงการบ้านพอเพียงชนบท)

   ประเทศไทยมีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 21.32 ล้านครัวเรือน  มีผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและต้องการ ที่อยู่อาศัยประมาณ 3.5 ล้านครัวเรือน  ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี’ (พ.ศ.2560- 2579) ขึ้นมา  มีเป้าหมายรวม 1,053,702 ครัวเรือน (ส่วนที่เหลือประมาณ 2 ล้านครัวเรือน การเคหะแห่งชาติรับไปดำเนินการ)

   แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี แยกเป็น 1.แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมือง รวม 77 จังหวัด จำนวน 6,450 ชุมชน  รวม 701,702 ครัวเรือน (แยกเป็นบ้านมั่นคงทั่วประเทศ จำนวน 6,450 ชุมชน รวม 690,000 ครัวเรือน ชุมชนริมคลอง  กรุงเทพฯ 74 ชุมชน รวม 11,004 ครัวเรือน และคนไร้บ้าน 3 ศูนย์ กรุงเทพฯ/ขอนแก่น/ เชียงใหม่ รวม 698 ครัวเรือน) 2.แผนพัฒนาผู้มีรายได้น้อยในชนบท รวม 76 จังหวัด จำนวน 5,362 ตำบล  รวม 352,000 ครัวเรือน หรือ ‘โครงการบ้านพอเพียงชนบท’ เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนผู้มีรายได้น้อยในชนบท

 

แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ตั้งเป้า“คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัย-มีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”

 

   สมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี   มุ่งเน้นให้คนไทยทุกคนเข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ  โดยใช้เป็นกรอบในการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว  และเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีความเดือดร้อน โดยมีวิสัยทัศน์คือ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”

(นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผอ.พอช.)

 

   ผอ.พอช. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2563 ว่า  พอช.มีแผนงานสนับสนุนให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยในเมืองและชนบททั่วประเทศมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  รวม 21,115 ครัวเรือน  รวมงบประมาณ 1,708 ล้านบาทเศษ  แยกเป็น 1.โครงการบ้านมั่นคง จำนวน 5,500 ครัวเรือน  2.โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านที่ทรุดโทรม มีฐานะยากจน) จำนวน 11,500 ครัวเรือน  3.โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร 3,115 ครัวเรือน  และ 4.ที่อยู่อาศัยชั่วคราว  กรณีไฟไหม้  ไล่รื้อ  1,000 ครัวเรือน 

   “ส่วนโครงการบ้านพอเพียงชนบทนั้น  จะให้องค์กรชุมชนที่มีการจัดตั้งอยู่ในพื้นที่แล้ว  เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบล  กองทุนสวัสดิการตำบล  เป็นแกนหลักในการดำเนินโครงการ  เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา  เพื่อสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่มีความเดือดร้อน  โดยมีทีมช่างชุมชนช่วยสำรวจ  คำนวณวัสดุอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือน  นำข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนมาจัดเวทีประชาคมให้ชาวชุมชนช่วยกันรับรองสิทธิ  เพื่อให้ได้ครัวเรือนที่มีความเดือดร้อนจริง  จากนั้นชุมชนหรือสภาองค์กรชุมชนฯ จะเสนอโครงการมายัง พอช. เพื่ออนุมัติโครงการและงบประมาณ”  ผอ.พอช. พอช.ชี้แจงกระบวนการ

   ส่วนการซ่อมสร้างบ้านเรือนนั้น  ชุมชนและครัวเรือนที่เดือดร้อนจะช่วยกันซ่อมสร้าง โดยนำงบประมาณที่ได้รับมาจัดซื้อวัสดุพร้อมกันในปริมาณมาก  ทำให้ได้ส่วนลด ใช้แรงงานจิตอาสา  เช่น  หน่วยทหารในพื้นที่  และช่างชุมชน   ทำให้ซ่อมสร้างได้เร็วและประหยัดงบประมาณ  ในกรณีที่สภาพบ้านทรุดโทรมและผุพังมาก  ไม่สามารถรื้อเพื่อซ่อมแซมได้  จำเป็นต้องสร้างบ้านใหม่  ชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  อบต.  เทศบาล  รวมทั้งภาคเอกชนจะช่วยกันสนับสนุนงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติม  ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5-7 วันจนได้บ้านหลังใหม่  ถือเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  ทั้งภาครัฐ  เอกชน  และชุมชน

 

ใช้ “บ้าน” เป็นเครื่องมือพัฒนา

   ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า  โครงการบ้านพอเพียงชนบทจำนวน  11,500 หลังทั่วประเทศ  ขณะนี้กำลังดำเนินการในทุกภูมิภาค  แยกเป็น  1.ภาคเหนือ จำนวน 2,200 ครัวเรือน 2.ภาคอีสาน 2,700 ครัวเรือน 3.ภาคกลางและตะวันตก 2,200 ครัวเรือน   4. กรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก 2,200 ครัวเรือน และ 5.ภาคใต้ 2,200 ครัวเรือน งบประมาณไม่เกินครัวเรือนละ 19,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 218,500,000 บาท

   ทั้งนี้โครงการบ้านพอเพียงชนบท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มีเป้าหมายทั้งหมด  352,000 ครัวเรือน   ปัจจุบัน (มกราคม 2563) ดำเนินการซ่อมสร้างแล้วเสร็จ  รวม 39,194 ครัวเรือน ในพื้นที่ 2,391 ตำบล ใช้งบประมาณ 713 ล้านบาทเศษ ส่วนในปี 2563  มีเป้าหมาย 11,500  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณ  218.5 ล้านบาท  ตามแผนงานจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนมิถุนายนนี้   ส่วนในปีงบประมาณ 2564  ตั้งเป้าหมายจำนวน 49,326 ครัวเรือน

   อย่างไรก็ตาม  นอกจากการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการบ้านพอเพียงชนบทของ พอช.แล้ว  ในหลายพื้นที่  หลายตำบล  ชาวชุมชนได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนที่อยู่อาศัยหรือกองทุนบ้านพอเพียงฯ ขึ้นมา  เพื่อไม่ให้งบประมาณสนับสนุนจาก พอช.หมดไป  สามารถนำเงินกองทุนไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนรายอื่นต่อไปได้    บางชุมชนจะให้ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือสมทบเงินกลับคืนสู่กองทุน  เช่น  หากครอบครัวใดได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 19,000 บาท  จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเดือนละ 200-300 บาท  จนกว่าจะครบตามจำนวนเงินที่ได้รับการช่วยเหลือ  ทำให้กองทุนเติบโตขึ้น  สามารถนำไปช่วยเหลือหรือให้ผู้ที่เดือดร้อนกู้ยืมซ่อมสร้างบ้านได้

    “โครงการบ้านพอเพียงชนบท  แม้ พอช.จะใช้งบประมาณสนับสนุนไม่มากนัก  แต่ประเด็นสำคัญก็คือการใช้บ้านเป็นเครื่องมือในการพัฒนา  เพื่อให้คนในชุมชนและทุกภาคส่วนในท้องถิ่นเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ทำให้คนจนเข้าถึงบริการทางสังคม  ลดความเหลื่อมล้ำ  นอกจากนี้โครงการบ้านพอเพียงชนบทยังนำไปสู่การวางแผนเพื่อพัฒนาชุมชนในด้านอื่นๆ   เช่น  เรื่องสวัสดิการชุมชน  การสร้างอาชีพ  ธุรกิจชุมชน  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ชาวบ้านได้รวมพลังองค์กรชุมชนและภาคีต่างๆ   เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต”  ผอ.พอช.กล่าวในตอนท้าย

กองบุญคุณธรรมเพื่อการจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลิง  จ.สุรินทร์ “โนวเจีย เมียนเซาะ” ให้สมาชิกอยู่ดีมีสุข-ควายออกลูกให้เงิน 200 บาท      

((ซ้าย) นักเรียนและครูโรงเรียนกรูดหนองซำร่วมกันสร้างแหล่งอาหาร  (ขวา) ‘ควาย’ ต้นทางเกษตรอินทรีย์)

   จังหวัดสุรินทร์ไม่เพียงแต่จะเป็นเมืองหลวงของช้างเท่านั้น  แต่ชาวบ้านที่นี่ยังนิยมเลี้ยงควายเป็นสัตว์คู่ครัวเรือนด้วย  ข้อมูลจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์  ระบุว่าในปี 2562  มีเกษตรกรทั้งจังหวัดจำนวน  110,913 ราย   เกษตรกรเลี้ยงควายรวมกันจำนวน  112,790 ตัว  หรือเฉลี่ยครอบครัวละ 1 ตัว !!

   แต่จำนวนควายที่เลี้ยงนับวันจะมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ  เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ควายไถนาแล้ว  แต่หันไปใช้ควายเหล็กกันเกือบหมด  เพราะควายเหล็กไถนาได้เร็วกว่า  ควายทุยพื้นบ้านจึงมีค่าเป็นเพียงทรัพย์สินของครอบครัว  หากขัดสนขึ้นมาก็นำไปขายตัวละ 20,000-50,000 บาท  แต่หากควายตัวไหนสวย  รูปร่างลักษณะดี  เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ก็ว่ากันตัวละแสน  ตัวละล้านบาทก็มี !!

กองบุญคุณธรรมฯ จัดสวัสดิการอนุรักษ์ควายไทย

   กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นแนวคิดในการรวมกลุ่มชาวบ้านในแต่ละชุมชนให้มารวมตัวกัน  เพื่อช่วยเหลือกันในยามเจ็บไข้ได้ป่วย  หรือเรียกว่า “กองทุนสวัสดิการวันละ 1 บาท”  โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือเดือนละ 30 บาท  (หรือปีละ 365 บาทตามความสะดวก) แล้วนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิกตามระเบียบที่สมาชิกร่วมกันกำหนดเอาไว้ 

   เช่น  คลอดบุตรช่วยเหลือ 500   บาท  เจ็บป่วยช่วยค่ารถไปโรงพยาบาลหรือค่ารักษาคืนละ 100 บาท  เสียชีวิต 5,000 บาท  ฯลฯ  แม้จะเป็นเงินไม่มากนัก  แต่ก็ทำให้ชาวบ้านได้ช่วยเหลือจุนเจือกัน  หากสมาชิกลาออกก็จะไม่ได้รับเงินสมทบคืน  เพราะถือว่าเป็น “กองบุญ”

   วิเชียร  สัตตธารา  เลขานุการกองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง  อ.จอมพระ  จ.สุรินทร์  เล่าว่า กองบุญฯ เริ่มจัดตั้งในปี 2551 มีชาวบ้านในตำบลสมัครเป็นสมาชิกเริ่มต้นประมาณ 200 ราย  กำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนปีละ 2 ครั้ง  (กุมภาพันธ์และสิงหาคม) ครั้งละ 185 บาท  หรือปีละ 370 บาท  ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน  2,030 คน  มีเงินกองทุนประมาณ  2,158,000 บาท 

   ช่วยเหลือสมาชิก  13  ด้าน   เช่น  คลอดบุตร 500 บาท  เสียชีวิต (ตามอายุการเป็นสมาชิก) 2,500-15,000 บาท  ภัยพิบัติ  ไฟไหม้ 1,000 บาท  บวช  เกณฑ์ทหาร  1,000 บาท  แต่งงาน 10,000 บาท  (มีเงื่อนไข คือต้องเป็นสมาชิก 10 ปีขึ้นไป  ไม่ท้องก่อนแต่งงาน  ป้องกันการท้องก่อนวัย) ฯลฯ

   “นอกจากนี้กองบุญฯ ยังมีสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกที่เลี้ยงควาย  หากควายออกลูกเราจะให้เงินช่วยเหลือตัวละ 200 บาท  เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกกองบุญฯ เลี้ยงและอนุรักษ์ควายเอาไว้  เพราะควายมีแนวโน้มที่จะลดลง  ชาวบ้านหันไปใช้ควายเหล็กกันหมด   กองบุญฯ จึงส่งเสริมการเลี้ยงควาย  เพื่อนำมูลควายไปทำปุ๋ย  ลดต้นทุนการทำไร่นา  ลดปัญหาสุขภาพจากสารเคมี  โดยเริ่มให้สวัสดิการควายที่ออกลูกตั้งแต่ปี 2559  ตอนนี้จ่ายสวัสดิการควายไปแล้ว   248 ตัว  รวมเป็นเงิน  49,600 บาท”  วิเชียรบอกความเป็นมา

“โนวเจีย เมียนเซาะ”  สร้างความมั่นคงทางอาหาร

   “โนวเจีย  เมียนเซาะ” เป็นภาษาเขมรสุรินทร์  มีความหมายว่า “อยู่ดี  มีสุข”  เป็นเป้าหมายของกองบุญฯ ที่จะให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดี  มีความสุข  มีความมั่นคงทางอาหาร  ดังนั้นนอกจากกองบุญฯ จะช่วยเหลือสมาชิกในยามเจ็บไข้ได้ป่วยตามระเบียบของกองบุญฯ แล้ว  ยังขยายไปทำเรื่องอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร  โดยการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์  สร้างป่าชุมชน  มีเห็ด หน่อไม้  ไข่มดแดง  อนุรักษ์แหล่งเพาะพันธุ์ปลา ฯลฯ  เพื่อเป็นแหล่งอาหารของชุมชน

   “ผมถือว่าควายเป็นต้นทางของการทำเกษตรอินทรีย์  จึงส่งเสริมให้สมาชิกเลี้ยงควาย  เพื่อเอามูลควายไปทำปุ๋ย ตอนนี้ในตำบลเมืองลีงมีควายทั้งหมดประมาณ  1,020 ตัว  เป็นควายของสมาชิกจำนวน 882 ตัว  มีสมาชิกเลี้ยงควาย 221 ครอบครัว  ได้มูลควายปีละ 1,865 ตัน  เอาไปใช้ในไร่นาได้มากพอ  และให้ผลดี  ช่วยลดต้นทุนการซื้อปุ๋ย  และไม่มีสารเคมีตกค้าง”  วิเชียรเล่าต่อ

   ละเอียด  สุขจิต  สมาชิกกองบุญฯ เล่าว่า  ครอบครัวเลี้ยงควายมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า  เพื่อเอาไว้ไถนา  ตอนนี้มีควายอยู่ 6 ตัว แต่ไม่ได้ใช้ควายไถแล้ว  แต่ยังได้ประโยชน์จากควาย  คือเอามูลไปทำปุ๋ย  ผสมกับเปลือกลูกตาลแล้วหมักเอาไว้  ปีหนึ่งจะได้ประมาณ 50-100 กระสอบ (50 กิโลกรัม) เอาไปใส่ในนาข้าว 3   ไร่  ใส่แปลงผัก  หรือขายปุ๋ยมูลควายกระสอบละ 30-50 บาท  และเคยได้สวัสดิการควายออกลูกแล้ว 7   ตัวๆ ละ 200 บาท  หากครอบครัวต้องการใช้เงินก็จะขายควาย  ถ้าเป็นลูกควายหย่านมแล้ว  ราคาตัวละ 20,000 บาท  ควายตัวเมียราคา 30,000 บาทขึ้นไป

   วิเชียรบอกด้วยว่า  ตำบลเมืองลีงเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญแห่งหนึ่งจังหวัดสุรินทร์  มีประชากร  10,300 คน  มีพื้นที่ทั้งหมด  35,215  ไร่  เป็นพื้นที่ทำนา  25,206 ไร่  ได้ผลผลิตปีละ 10,586 ตัน  ผลผลิตกินเอง  1,127 ตันต่อปี  ที่เหลือส่งขายประมาณ  9,458 ตันต่อปี

   “ตำบลเมืองลิงผลิตข้าวได้พอกินตลอดปี  และยังเหลือขายปีละเกือบหนึ่งหมื่นตัน  หากเราผลิตข้าวปลอดสารเคมี  และผักอินทรีย์  โดยใช้ปุ๋ยจากมูลควายทั้งหมด  จะทำให้เราเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย  สามารถส่งไปขายได้ทั่วโลก  ทำให้คนปลูกและคนกินปลอดภัย  และขายได้ราคาดีกว่าการใช้สารเคมีด้วย”  วิเชียรบอก

หนุนโรงเรียน-ชุมชนสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย

   นอกจากการสนับสนุนชุมชนเลี้ยงควายและทำเกษตรอินทรีย์แล้ว  กองบุญฯ ยังขยายแนวคิดไปยังโรงเรียนในตำบลหลายแห่ง  เช่น  โรงเรียนกรูดหนองซำ  (ประถมศึกษา)  โดยกองบุญฯ ได้ประสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดหางบประมาณจำนวน 28,000 บาท  เพื่อมาจัดทำกระบวนอบรมเพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนและนักเรียนทำแปลงเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ประมาณ  6 ไร่  เริ่มตั้งแต่ปี 2561

   ครูศิริกานต์  วาที  ผู้รับผิดชอบโครงการเกษตรอินทรีย์  บอกว่า  เดิมพื้นที่แปลงเกษตรของโรงเรียนปล่อยทิ้งร้าง  ไม่ได้ใช้ประโยชน์  และขาดแหล่งน้ำ  เมื่อมีแนวคิดทำแปลงเกษตรจึงต้องระดมทุนจากชาวบ้านและหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อทำแหล่งเก็บน้ำ  โดยใช้ตุ่มยักษ์ขนาดความจุประมาณ 1,500 ลิตร  จำนวน 40 ใบเป็นแหล่งน้ำเพื่อทำเกษตร  และมูลนิธิมีชัย  วีระไวทยะ  สนับสนุนด้านอุกรณ์และโรงเรือนเกษตร  มีการอบรมให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนในการทำการเกษตรปลอดภัย  โดยไม่ใช้สารเคมี  ใช้ปุ๋ยหมักจากมูลวัว  ควาย  หมู  ไก่  ใช้น้ำหมักชีวภาพป้องกันแมลงศัตรูพืช

   ปลุกผักสวนครัวต่างๆ  เช่น  ผักบุ้ง  คะน้า  ผักกาด  ต้นหอม  ผักชีลาว  ผักชีฝรั่ง  มะนาว  พริกขี้หนู  กะเพรา  โหระพา  มะเขือเทศ  ฯลฯ เพาะเห็ดต่างๆ  เลี้ยงปลาดุก  กบ  และหมูป่า  ผลผลิตที่ได้ส่งขายในหมู่บ้านและขายให้โรงเรียนเพื่อทำอาหารกลางวัน  เช่น  ผักบุ้งกิโลกรัมละ 25 บาท  เห็ดนางฟ้า 60 บาท  นำรายได้เป็นกองทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียน 

   “ปีนี้ขายผักไปแล้ว 2 รอบๆ ละ 400-500 บาท  แม้รายได้จากการขายผักจะไม่มาก  แต่ก็ถือเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักการทำเกษตรปลอดภัย  ไม่ใช้สารเคมี  ใช้ปุ๋ยที่โรงเรียนและชุมชนมีอยู่  ทำให้เด็กมีส่วนร่วม  เริ่มตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ป. เด็กเล็กจะช่วยรดน้ำ  เด็กโตช่วยดูแลแปลงผัก-เลี้ยงหมูป่า   ผลผลิตส่วนหนึ่งขายให้โรงเรียนเพื่อทำอาหารกลางวัน  เช่น  ผัดผักบุ้ง  แกงจืด  ต้มยำเห็ด  ก๋วยเตี๋ยวใส่ผักที่เด็กปลูกเอง  ทำให้เด็กและครูได้กินอาหารที่ปลอดภัย  ตอนนี้กำลังจะปลูกเมล่อนในโรงเรือน  ไม่ใช้สารเคมี  เริ่มปลูกประมาณ 50 ต้น  ผลผลิตจะเอาไปขาย  ทำในเชิงธุรกิจ”  ครูศิริกานต์บอกถึงผลที่เกิดขึ้นและแผนงานที่จะทำต่อไป 

(แปลงเกษตรโรงเรียนกรูดหนองซำ)

   นอกจากนี้กองบุญฯ ยังร่วมกับสมาชิกและชุมชนสร้างป่าครอบครัวขึ้นมา  โดยใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่วิเชียรซื้อมาเนื้อที่ประมาณ  38 ไร่มาฟื้นฟู   ปลูกไม้ยืนต้นต่างๆ เพิ่มเติม  ให้ธรรมชาติคอยดูแล  เทวดาช่วยรดน้ำ   ไม่นานป่าก็เริ่มกลับมาสมบูรณ์   เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ  มีเห็ดป่าต่างๆ ที่กินได้กว่า 40 ชนิด  มีหน่อไม้  ผักหวาน  ไข่มดแดง  น้ำผึ้งป่า  ฯลฯ  ให้ชาวบ้านทั่วไปเข้ามาเก็บกินและขาย  สร้างรายได้และเป็นแหล่งอาหารให้ชาวบ้านนับร้อยครอบครัวในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน  เรียกว่า “โรงทานธรรมถาวร”

   รวมทั้งยังร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่อยู่ในลำน้ำชีที่ไหลผ่านตำบลด้วย  โดยการทำซั้งหรือบ้านปลาจากยางรถยนต์หลายร้อยเส้น  เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ปลาหายากต่างๆ  นับร้อยชนิด  เช่น  ปลากระทิง  ปลากา  แปบควาย  เทโพ  กาแดง  ตะเพียนทอง  พรมหัวเหม็น  แก้มช้ำ  หมอช้างเหยียบ  ฯลฯ 

   ส่งเสริมให้ชุมชนใช้พื้นที่ว่างตามหัวไร่ปลายนาเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว  เช่น  ปลูกอ้อย  มันสำปะหลัง  เป็นเกษตรผสมผสาน  สร้างแหล่งอาหาร  ลดการใช้สารเคมี  มีสมาชิกเข้าร่วม 75 ครอบครัว  มีพื้นที่ทำเกษตรผสมผสาน  1,500 ไร่   ฯลฯ

นี่คือรูปธรรมการสร้างความมั่นคงทางอาหาร  สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ   เพื่อให้คนเมืองลีงทั้งตำบล  “โนวเจีย  เมียนเซาะ”  คือ อยู่ดี  มีสุข  “กินอิ่ม  นอนอุ่น  ทุนมี  หนี้ลด”   และขยายแนวคิดไปยังตำบลอื่นๆ ต่อไป !!

 

(หน้า 7 สกรีนพื้น)

สภาองค์กรชุมชนตำบลจับมือ ‘สภาลมหายใจ’ แก้ไขปัญหาฝุ่นควันคลุมเชียงใหม่ เผยยอดตายพุ่ง เสนอทางออก ‘เพาะเห็ดป่า-ถ่านไบโอชาร์-จานใบไม้-ปุ๋ย’ ลดการเผา

(ควันจากการเผาไหม้พื้นที่ป่าไม้และเกษตรกรรม (ซ้าย) ชาวบ้านและจิตอาสาช่วยกันทำแนวป้องกันไฟป่า  เพื่อป้องกันไฟป่าลุกลาม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน (ขวา))

   สภาองค์กรชุมชนตำบล จ.เชียงใหม่จับมือ ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ แก้ปัญหาฝุ่นควันคลุมเมือง  โดยใช้พื้นที่ที่จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนนำร่อง 32 ตำบลและขยายเป็น 210 ตำบลครอบคลุมทั้งจังหวัด  ชี้รากเหง้าปัญหามาจากการพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่  ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อ (ซ้าย) มอย่างรุนแรง  เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากฝุ่นควันในภาคเหนือพุ่งพรวดจาก 93 รายในปี 2560  เป็น 225 รายในปี 2563    ด้าน ม.แม่โจ้จัดอบรมชาวบ้านเพาะเห็ดป่าแก้ปัญหาเผาป่าเพื่อเก็บเห็ด  นำเศษซากพืชมาใช้ประโยชน์  เช่น  ทำถ่านชีวภาพ  ทำปุ๋ย  ผลิตจานจากใบไม้  ฯลฯ  ลดการเผา  ลดฝุ่นควัน

   จากปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานนับสิบปี  และรุนแรงมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา  จนทำให้จังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับ 1 ของโลกที่มีปัญหาฝุ่นควันมากที่สุด  ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน  ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  การท่องเที่ยว  ฯลฯ  ทำให้ชาวเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง  ประกอบด้วย  นักวิชาการ  แพทย์  ผู้ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม  ชาวบ้าน  ศิลปิน  ภาครัฐ  สถาบันการศึกษา  หอการค้า ภาคเอกชน  ฯลฯ  ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ขึ้นมา  ในเดือนกันยายน  2562  เพื่อรณรงค์และร่วมมือกับทุกภาคส่วนหาทางแก้ไขปัญหา

 

ชี้รากเหง้าปัญหาฝุ่นควันมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ-ยอดตายพุ่ง

 

   นายชัชวาลย์  ทองดีเลิศ  ผู้ริเริ่มก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่  กล่าวว่า  รากเหง้าของปัญหาฝุ่นควัน  คือ  การพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่  มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง   โดยมีสาเหตุหลัก 5 ประการ  คือ  1.การจัดการทรัพยากรของรัฐมีปัญหา  ไม่สามารถจัดการทรัพยากรให้ยั่งยืนได้  ทำให้พื้นที่สีเขียวลดลงตลอดเวลา  2.การเข้ามาของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว  เช่น  ไร่ข้าวโพด  ซึ่งส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวแล้วใช้การเผาไร่เพื่อปลูกใหม่ 

   3.ระบบนิเวศป่าไม้เสียสมดุล  ป่าที่เชียงใหม่มีลักษณะเป็นป่าผลัดใบและป่าดิบชื้น  โดยทั่วไปในเขตป่าผลัดใบ  ต้นไม้จะมีการทิ้งใบจากต้นและเกิดการไหม้เองตามธรรมชาติจนลามไปถึงอีกเขต  และถูกความชื้นของป่าเขตนั้นหยุดยั้งไฟโดยอัตโนมัติ  แต่ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันทำให้กระบวนการนี้แปรปรวน  ความชื้นจากเขตป่าดิบชื้นไม่สามารถหยุดยั้งการลามของไฟป่าได้  ทำให้ชาวบ้านต้องชิงเผาเพื่อควบคุมไฟป่า

   4.ฝุ่นควันจากยานพาหนะ  การเผาขยะ  การเปิดแอร์  ควันไฟจากการทำครัว  การปิ้งย่าง  ฝุ่นควันจากโรงงาน  และ 5.ฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการเผาเศษพืชไร่  ประกอบกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกที่ร้อนขึ้น  รวมถึงมีภาวะการกดอากาศสูงจากประเทศจีนเข้ามาปกคลุมเมืองเชียงใหม่  ซึ่งสภาพภูมิศาสตร์เป็นแอ่งกระทะ  จึงทำให้ฝุ่นควันเกิดการสะสม  เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา

   ขณะที่ข้อมูลจาก  นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์  ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลทางวิชาการพบว่า ในปี 2552  มีตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศจากฝุ่นมรณะ  จำนวน 38,410 คน  สูงเป็น 4 เท่าของการเกิดอุบัติเหตุ  และทำให้ประชากรมีอายุสั้นลง 0.98 ปี  ในขณะที่ภาคเหนือปี 2560  มีผู้เสียชีวิต 93 ศพ  ปี 2561 เสียชีวิต 107 ศพ  และปี 2562  เสียชีวิต 225 คน  เป็นตัวเลขที่ก้าวกระโดด  หรือเพิ่มขึ้น 60% จากโรคหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ และติดเชื้อ  

   “รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักและคิดให้ออกว่าจะแก้ไขปัญหาฝุ่นมรณะที่ทำให้คนเสียชีวิตจริงๆ นี้อย่างไร  โดยไม่คำนึงเพียงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและจิตวิทยาเท่านั้น”  นพ.ชายชาญกล่าว

   ทั้งนี้นับแต่ก่อตั้ง ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ในเดือนกันยายน 2562  สภาฯ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้ปัญหาให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ล่าสุดมีการจัดกิจกรรม ‘มหกรรมรวมพลังเชียงใหม่ลมหายใจเดียวกัน’ เมื่อวันที่  19 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา  มีกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้ยานยนต์หันมาปั่นจักรยาน  กิจกรรมระดมทุนสู้ฝุ่นควัน  เวทีเสวนาวิชาการ  การ  ซุ้มกิจกรรมให้ความรู้  ลดการใช้พลาสติก  ผลิตภัณฑ์จากใบไม้  การทำถ่าน ไบโอชาร์  ฯลฯ

สภาองค์กรชุมชนตำบลเชียงใหม่ 210 ตำบลจับมือสภาลมหายใจฯ แก้ปัญหาฝุ่นควัน

   สภาองค์กรชุมชนตำบลจัดตั้งขึ้นตาม  ‘พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็ง  สมาชิกองค์กรชุมชน  และประชาชนทั่วไปในตำบลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน  โดยการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมาในแต่ละตำบล  เพื่อเป็นเวทีในการปรึกษาหารือ  เวทีในการวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชนท้องถิ่น  และสามารถนำเสนอข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานรัฐ  ทั้งในระดับจังหวัด  รวมถึงคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการได้  ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว 7,778  สภาฯ

   อุดม  อินทรจันทร์  รองประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า  ในจังหวัดเชียงใหม่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลแล้ว  210 ตำบลใน 25 อำเภอ  เมื่อมีการจัดตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน  สภาองค์กรชุมชนตำบลจึงเข้าร่วมด้วย  เนื่องจากสภาองค์กรชุมชนฯ เป็นองค์กรของชาวบ้านในพื้นที่อยู่แล้ว  และเป็นการดำเนินการตามภารกิจของสภาองค์กรชุมชนฯ ตามมาตรา 21 ที่ระบุว่า  ให้สภาองค์กรชุมชนตำบลมีภารกิจต่างๆ เช่น 

   (2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ  การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

   (3) เผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกองค์กรชุมชน รวมตลอดทั้งการร่วมมือกันในการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

   “ในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา  สภาลมหายใจเชียงใหม่ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน  โดยการลงพื้นที่ในตำบลที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนฯ มีพื้นที่นำร่อง 32 ตำบลใน 25 อำเภอ  เพื่อหาข้อมูลหาสาเหตุปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและอาชีพของชาวบ้านอย่างไร  รวมทั้งให้ชาวบ้านเสนอความเห็นว่าหากจะแก้ไขปัญหาฝุ่นควันควรจะมีวิธีใดที่เหมาะสมแก่ชุมชนนั้นๆ”  อุดมกล่าวถึงภารกิจ

   อุดมยกตัวอย่างว่า  บางตำบลปัญหาฝุ่นควันเกิดจากการเผาซังข้าวโพด  เผาเศษฟางในนาข้าวก่อนทำนารอบใหม่การตัดแต่งกิ่งลำไยแล้วนำมาเผา  การ ‘ชิงเผาป่า’ เพื่อเป็นแนวป้องกันไม่ให้ไฟป่ารุกลาม  รวมทั้งการเผาใบไม้-กิ่งไม้ในสนามกอล์ฟ   นอกจากนี้บางตำบลชาวบ้านจะเผาป่าในช่วงหน้าแล้งก่อนฝนตก  โดยมีความเชื่อว่าการเผาป่าจะทำให้ผักหวาน  และเห็ดต่างๆ  โดยเฉพาะเห็ดถอบออกเยอะ  ราคาขายกิโลกรัมละ 300-400  บาท  บางครอบครัวมีรายได้เฉพาะช่วงเห็ดถอบออก (พฤษภาคม-มิถุนายน) ประมาณ 100,000 บาท  ทำให้มีการเผาเศษซากพืชและเผาป่าหมุนเวียนตลอดทั้งปี  แต่ปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่จะรุนแรงในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม

เสนอทางออก ‘เพาะเห็ดป่า-ถ่านไบโอชาร์-จานใบไม้-ปุ๋ย’ ลดการเผา

   จากข้อมูลปัญหาที่พบ  สภาลมหายใจเชียงใหม่ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงใหม่และภาคีเครือข่าย  เช่น  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  นำข้อมูลที่ได้มาศึกษาเพื่อเสนอเป็นทางออกให้แก่ชาวบ้านและชุมชน  โดยศูนย์วิจัยเห็ดป่า  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  จัดอบรมการเพาะเชื้อเห็ดป่า  เช่น  เห็ดฮ้า (เห็ดตับเต่า) ให้แก่ชาวบ้านแม่กำปอง  อำเภอแม่ออน  ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา  โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมอบรมประมาณ 50 คน  และมีแผนอบรมการเพาะเชื้อเห็ดป่า  เห็ดถอบ  ในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลใน 5 อำเภอในช่วงต่อไป

(การรณรงค์แก้ปัญหาฝุ่นควัน)

   การฝึกอบรมการทำถ่านไบโอชาร์ (Biochar) หรือถ่านชีวมวลจากใบไม้  กิ่งไม้  หญ้า  ฟางข้าว  เหง้ามันสําปะหลัง  ซังและต้นข้าวโพด  โดยสำนักงานพลังงานจังหวัด  เพื่อนำถ่านไบโอชาร์มาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงดิน  ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร  ลดระยะเวลาการปลูก  ใช้เป็นวัสดุเพาะต้นกล้า ช่วยทำให้พืชเติบโตได้ดี  เช่น  ไบโอชาร์เปลือกกาแฟใช้เพาะต้นกล้วย ไบโอชาร์แกลบใช้เพาะผัก    โดยใช้เพียงดินปลูกผสมไบโอชาร์ตามสูตรแม่โจ้   สามารถใช้ปลูกผักสลัด  ผักสวนครัว  โดยที่ไม่ต้องเติมปุ๋ยเพิ่มเติม  และช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช   ช่วยลดต้นทุนการผลิต  ฯลฯ

   ส่งเสริมการทำวนเกษตร  ปลูกพืชยืนต้น  หรือพืชหลายชนิดแทนพืชเชิงเดี่ยว  เช่น  กาแฟ  ไผ่  ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน  นำฟางข้าว  กิ่งลำไยมาบดย่อยทำปุ๋ยอินทรีย์  การทำแปลงสาธิตเปรียบเทียบการชิงเผา-ไม่เผาเพื่อเป็นแนวป้องกันไฟป่าฯลฯ  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังคิดค้นนวัตกรรมจากเศษซากวัสดุทางการเกษตร  เช่น  นำใบไม้นำมาทำจานใส่อาหาร ทดแทนการใช้พลาสติก  และลดการเผาใบไม้  ฯลฯ

ข้อเสนอจากสภาลมหายใจ-สภาองค์กรชุมชนฯ

   อุดม  อินทรจันทร์  รองประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า  จากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของสภาลมหายใจเชียงใหม่   สภาองค์กรชุมชนตำบล  และภาคีเครือข่ายในช่วงที่ผ่านมา  ทำให้มีข้อมูลปัญหาและข้อเสนอทางออกที่มาจากชาวบ้านในพื้นที่  โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลจำนวน  32 ตำบล (จากทั้งหมด 210 ตำบลใน 25 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่) และได้นำข้อมูลมานำเสนอเป็นนโยบายสาธารณะต่อหน่วยงานระดับจังหวัด  รวมทั้งมีการเชื่อมประสานความร่วมมือกับประชาชนในเขตเมืองเพื่อจัดการปัญหาฝุ่นควันร่วมกัน  เช่น 

   1.ขอให้มีการสนับสนุนงบประมาณตำบลที่มีพื้นที่ติดป่าเพื่อเพิ่มมาตรการป้องกัน  ตั้งแต่การทำแนวกันไฟ  ชิงเผา  การลาดตระเวน  การดับไฟ  2.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้งบกลางในการสนับสนุนชุมชนป้องกันฝุ่นควัน  3.ให้มีกองทุนเพื่อดูแลนักผจญไฟป่า  เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต  4.การทำแปลงสาธิตเปรียบเทียบระหว่างแปลงจัดการไฟป่าโดยใช้ไฟ-ไม่ใช้ไฟ  5.ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นสร้างห้องปลอดฝุ่นที่ศูนย์เด็กเล็ก  ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ  6.อบรมให้ความรู้เรื่องฝุ่นควัน  การป้องกัน  การทำห้องปลอดฝุ่นควัน  7.ให้มีการสื่อสารเตือนภัยฝุ่นควัน  คุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง   ฯลฯ

   “ล่าสุดนี้  ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว  จำนวนประมาณ 1,800,000 บาท  โดยทางเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจะนำไปขับเคลื่อนในตำบลต่างๆ  เพิ่มเติมจากพื้นที่สภาองค์กรชุมชนตำบลนำร่อง 32 ตำบล  ขยายเป็น  210 ตำบลต่อไป”  รองประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในตอนท้าย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"