ลดดอกเบี้ยต่ำประวัติศาสตร์ ลุ้นฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    


    ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ “ต่ำที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” เนื่องจาก กนง.ประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และปัญหาภัยแล้ง
    ทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีชะลอตัวลง บางเรื่องก็เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะส่งผลกระทบมาก-น้อยขนาดไหน ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 2.8%  ซึ่ง กนง.ขอประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่ชัดเจน ก่อนทบทวนประมาณการใหม่ ในการประชุมรอบเดือน มี.ค.นี้
    ทั้งนี้ กนง.ระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ถึงเวลาหรือจำเป็นแล้วหรือยังที่ต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบติดลบ แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในครั้งนี้ ถือเป็น Policy Space ที่ กนง.ได้มีการหารือ และเตรียมไว้ใช้ในภาวะที่จำเป็น ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องเพิ่มสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น แต่ยังไม่จำเป็นต้องถึงขั้นใช้มาตรการคิวอี เพราะสภาพคล่องในระบบไม่ได้มีปัญหา
    เกี่ยวกับเรื่องนี้ “กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ยังถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 นับตั้งแต่เดือน ส.ค.2562 ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงมาที่ 31.25 ต่อดอลลาร์ และนับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทได้กลับทิศปรับลดลงเกือบครึ่งหนึ่งของการแข็งค่าในปี 2562 และกลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในเอเชีย โดยอ่อนค่าลง 3.9% จากการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของไวรัสโคโรนา
    โดยความเห็นของ กนง.ได้แสดงถึงมุมมองที่สนับสนุนนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนอย่างชัดเจน ทำให้ “กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์” มองว่าการตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับต่ำสุดครั้งใหม่นี้ถือเป็นการเปิดทางให้มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้อีก ถ้าหากสถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม แม้ว่าเรายังไม่แน่ใจถึงประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
    ขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้นำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MLR ตาม โดยทิศทางดอกเบี้ยในประเทศที่ลดลง น่าจะมีผลช่วยเสริมกับมาตรการผ่อนคลายทางการคลังต่างๆ ที่รัฐบาลทยอยบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ต่อประชาชนและภาคส่วนธุรกิจต่างๆ ที่ถูกซ้ำเติมจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ส่วนผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์นั้น เป็นการย้ำภาพที่สถานการณ์ผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2563 จะอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยเฉพาะเมื่อธนาคารพาณิชย์ที่ทยอยประกาศปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ ประมาณ 0.03-0.07% ต่อปี หรือคิดเป็นผลกระทบต่อกำไรสุทธิในปี 2563 ประมาณ 2-5%
    อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าสถานการณ์สินเชื่อใหม่ยังอ่อนแอตามภาวการณ์ใช้จ่าย โดยสินเชื่อเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวกว่าที่คาดมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2562 ทำให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยคงปิดปี 2562 ประมาณ 2.2% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3%
    ทั้งนี้ ภายหลังจาก กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ออกมาธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อสนองนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง เริ่มที่ “ธนาคารกสิกรไทย” เป็นธนาคารแรกที่นำร่องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทันที โดยลดอัตราดอกเบี้ย MRR สำหรับลูกค้าบุคคล และลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลง 0.25% จากเดิม 6.87% เหลือ 6.62% พร้อมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.10-0.12% ต่อปี และเงินฝากประจำลง 0.05-0.25% ต่อปี สวนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาไม่ได้ปรับลด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา
    ตามมาด้วย “ธนาคารไทยพาณิชย์” ที่ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MLR ลง 0.25% ต่อปี มาอยู่ที่ 5.77% ต่อปี พร้อมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นิติบุคคลลง 0.15-0.25% ต่อปี และลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.05-0.25% ต่อปี แต่ไม่ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา
    มาถึงฝั่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ นำทีมโดย “ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)” ที่ออกมาประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125-0.250% ต่อปี แบ่งเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR จาก 6.000% ต่อปี ลดลงเหลือ 5.875%  ต่อปี, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR จาก 6.500% ต่อปี เหลือ 6.375% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR จาก 6.750% ต่อปี เหลือ 6.500% ต่อปี ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยที่ต่ำที่สุดในระบบสถาบันการเงินในปัจจุบัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.2563
    “ธนาคารออมสิน” ตามมาติดๆ ด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกอัตราลง 0.25% ต่อปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ลดลงมาอยู่ที่ 6.495% ต่อปี จากระดับ 6.745% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.25% ต่อปีด้วย สำหรับประเภทเงินฝากประจำ เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ แต่ไม่ปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประเภทเผื่อเรียก เงินฝากกระแสรายวันพิเศษ
    ด้าน “ธนาคารกรุงไทย” ก็เป็นอีกหนึ่งสถาบันการเงินที่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.25% ต่อปี จากอัตรา 6.025% ต่อปี เหลือ 5.775% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.2563 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งนี้ ทางกรุงไทยหวังว่าจะมีส่วนช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงิน รวมถึงผลักดันเศรษฐกิจไทยโดยรวมด้วย ด้าน “ธนาคารกรุงเทพ” ได้ออกมาประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ย MOR ลงอีก 0.125% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ.เช่นกัน
    และ “ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์” ก็เป็นอีกหนึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ออกมาขานรับนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย โดยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Prime Rate เหลือ 5.958% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.00% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.เป็นต้นไป
    อย่างไรก็ดี แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะทยอยออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากลง เพื่อเป็นการขานรับนโยบายการเงินแบบผ่อนปรน แต่ฟากฝั่งรัฐบาล อย่าง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังมองว่า การที่ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% เป็นการตัดสินใจที่ช้าไปหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญญาให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ย กนง.ก็ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย ไม่มีประโยชน์ จะลดทำไม อยากให้ ธปท.ไปทุบธนาคารพาณิชย์ ให้ลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ กระตุ้นให้การลงทุนขยายตัว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"