เศรษฐกิจไทย 63 ยังหืดจับ


เพิ่มเพื่อน    

 

       ปี 2563 เป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทยต้องเจอกับหลายปัญหาที่มีผลต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวมทั้งปี ทั้งปัจจัยภายใน อย่างความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ตามหลักแล้วควรจะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 ซึ่งถือเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 แต่ก็มีเหตุทำให้ไม่สามารถใช้งบประมาณได้ตามกำหนดเวลา แต่ล่าสุดรัฐบาลคาดว่าจะสามารถใช้งบประมาณดังกล่าวได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งเหลือเวลาใช้งบประมาณอีกไม่มาก ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องสั่งการให้ส่วนราชการทั้งหมดเตรียมความพร้อมในการเบิกจ่ายงบลงทุน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

                นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากนอกประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เหนือการควบคุม ทั้งปัญหาสงครามการค้า ที่แม้ว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก่อนหน้านี้ปัญหาดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดการค้าโลกให้ชะลอตัวลง ซึ่งแน่นอน “ภาคการส่งออกของไทย” ก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงนั้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัจจัยเสี่ยงล่าสุด ซึ่งยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าปัญหาจะคลี่คลายได้รวดเร็วแค่ไหน นั่นคือ “การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา” ที่ขณะนี้ยังหาวิธีควบคุมไม่ได้ และดูเหมือนจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

                แน่นอนว่าปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดมีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทยประเทศเดียวเท่านั้น โดยในส่วนของไทยปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนอย่างเห็นได้ชัด จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการทั้งการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน และมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อให้เป็นฟันเฟืองที่ช่วยหมุนให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในยามที่ภาคการส่งออกยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว

                “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้โตได้ถึง 2% ก็ถือว่าทำได้ดีพอสมควรแล้ว หลังจากนี้รัฐบาลต้องสนับสนุนให้โครงการอีอีซีเกิด เพื่อเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนได้ โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้

                ขณะที่ “คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)” ก่อนหน้านี้ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิมมาก และการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคด้วย สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ

                โดยทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีชะลอตัวลง บางเรื่องก็เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ซึ่งยังไม่รู้ว่ามากน้อยขนาดไหน ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 2.8% ซึ่ง กนง.ขอประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่ชัดเจน ก่อนทบทวนประมาณการใหม่ในการประชุมรอบเดือน มี.ค.นี้

                ส่วนภาคเอกชนอย่าง “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)” ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2563 เหลือ 2.1% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.7% จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว โดย EIC คาดว่าผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยน่าจะมีมากที่สุดในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค.นี้ และจะเริ่มฟื้นตัวได้หลังจากนั้น และความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณ ที่จะส่งผลให้การลงทุนของภาครัฐลดลงค่อนข้างมากในช่วงไตรมาส 1/2563

                อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการสนับสนุนการลงทุน มาตรการดูแลภาคเอสเอ็มอี และจะมีการออกมาตรการในการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคในประเทศออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่ามาตรการทั้งหมดที่ออกมาจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชน และมีส่วนช่วยประคองให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในภาวะที่มีมรสุมปัจจัยลบเช่นนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"